Written by 1:05 pm Environment

ขยะนอกสมทบขยะใน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้สำลักเศษพลาสติก

ภาพประกอบ : ผลงานการเก็บขยะของนักวิ่งเก็บขยะปัตตานีเมื่อเช้าวันที่ 27 เม.ย.2019


นอกจากเก็บขยะที่ผลิตเองไม่หมด เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังเจอขยะพลาสติกจากนอกประเทศจนอ่วม ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย และประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ล้วนตกเป็นเป้าหมายการดั้มท์หรือทิ้งขยะจากประเทศร่ำรวยโดยเฉพาะจากสหรัฐฯ

ซีเอ็นเอ็นรายงานวันนี้ 27 เม.ย.ว่ารัฐบาลมาเลเซียได้ดำเนินการกวาดจับบรรดาผู้คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำเข้าขยะพลาสติกเพื่อนำมารีไซเคิลในประเทศอย่างไม่ได้รับอนุญาต ล่าสุดผู้สื่อข่าวได้รับเชิญให้ไปดูการจับกุมบรรดาคนงานและผู้เกี่ยวข้องในโรงงานรีไซเคิลในสวนอุตสาหกรรมนอกเมืองแห่งหนึ่งที่ตกเป็นเป้าหมาย ทั้งนี้เพราะนำเข้าขยะพลาสติกโดยไม่ได้รับอนุญาต

ขยะพลาสติกที่มีผู้นำเข้าไปในมาเลเซียนั้นเพิ่มมากขึ้นหลังจากที่จีนยกเลิกไม่นำเข้าขยะพลาสติกจากต่างประเทศอีกต่อไป ซีเอ็นเอ็นระบุว่า ตั้งแต่ปี 2561 ทางการมาเลเซียปิดโรงงานรีไซเคิลผิดกฎหมายไปแล้ว 148 ราย ขยะส่วนใหญ่มาจากต่างประเทศ โดยฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้วรวมไปถึงสหรัฐฯ

การรีไซเคิลขยะไม่ใช่เรื่องง่ายหรือได้กำไรเสมอไป ในรายงานของซีเอ็นเอ็นซึ่งสัมภาษณ์มาร์ติน เบอร์ก แห่งกลุ่มอาสาสมัครอีโคโลจีเซ็นเตอร์ในเบอร์คเลย์ สหรัฐฯ บอกว่า ของที่รีไซเคิลได้และช่วยประหยัดทรัพยากรคือกระดาษ อลูมิเนียมและดีบุก แต่ขยะส่วนใหญ่ที่เข้าโรงงานมักจะเป็นพวกพลาสติกที่รีไซเคิลไม่ได้หรือทำได้แต่ยาก เพราะทำจากพลาสติกเกรดที่ยากแก่การรีไซเคิล หรือไม่ก็เป็นพลาสติกที่มีเศษอาหารหรืออย่างอื่นปนเปื้อน หรือไม่ก็ไม่มีตลาดรองรับ พลาสติกกลุ่มนี้เบิร์กบอกว่า ยังหาวิธีรีไซเคิลแล้วไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมมากขึ้นไม่ได้ จึงควรจะต้องใช้วิธีกลบฝังเท่านั้น เพราะหากส่งออกไปมันจะไปทำลายสิ่งแวดล้อมในประเทศอื่น

เบิร์กบอกว่า กลุ่มของเขาเคยตามรอยขยะที่ออกไปจากโรงงานและพบว่า เส้นทางขยะไปจบลงที่จีนและมาเลเซีย จำนวนมากกลายไปเป็นเศษขยะอุดตามท่อน้ำและแหล่งน้ำตามธรรมชาติ ส่วนที่ได้เข้าโรงงานรีไซเคิลนั้น ก็ยังมีรายงานว่าโรงงานเหล่านั้นไม่ได้ดูแลเรื่องน้ำเสียและสภาพการทำงานในโรงงานก็ไม่ดีต่อสุขภาพ

ก่อนหน้านี้ขยะพลาสติกมักไปลงเอยที่จีน เพราะอุตสาหกรรมของจีนต้องการวัตถุดิบ จีนจึงรับซื้อ แต่ทว่าเมื่อเดือนม.ค. 2561 จีนได้ยกเลิกการซื้อขยะพลาสติกจากภายนอกทั้งหมดเพื่อจะทำความสะอาดสิ่งแวดล้อมของตน ส่งผลให้ขยะพลาสติกจากบรรดาประเทศอุตสาหกรรมลงเอยในหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่นมาเลเซียที่จำนวนขยะพลาสติกนำเข้าเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าทันที

เวบไซท์ Waste trade stories มีรายงานของ GAIA ซึ่งเป็นกลุ่มที่รณรงค์เรื่องสังคมปลอดขยะประกอบด้วยกลุ่มต่างๆจำนวนร่วม 800 กลุ่มจาก 90 ประเทศที่ออกมาเรื่องปัญหาขยะพลาสติกรายงานชื่อ Discarded: Communities on the Frontlines of the Global Plastic Crisis ระบุว่า สามประเทศใหญ่ๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่รับขยะจากภายนอกเข้าไปเพิ่มมากขึ้นนั้น นอกจากมาเลเซียแล้วก็มีไทยและอินโดนีเซีย

ในส่วนของไทยนั้น รายงานระบุว่า หลังจากที่จีนยกเลิกการนำเข้าขยะอุตสาหกรรม ตัวเลขนำเข้าขยะจากต่างประเทศของไทยสูงขึ้นกว่า 1,000% ขยะส่วนมากที่นำเข้ามาถูกส่งไปยังโรงงานกำจัดขยะที่มีอยู่แล้วในประเทศ และแม้ว่าเจ้าหน้าที่จะพยายามเข้าดำเนินการกับขยะที่ถูกนำเข้ามาที่แหลมฉบัง แต่ไม่สามารถจัดการได้ทั้งหมด ยังคงมีที่เล็ดลอดเข้าสู่ประเทศได้ และพื้นที่รอบแหลมฉบังดูจะได้รับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมหลายแห่ง

ปัญหาที่เกิดขึ้นนั้น รายงานระบุว่า แม้ว่าจะมีโรงานกำจัดขยะที่สะอาดและถูกต้อง แต่ในขณะเดียวกันก็มีสถานที่กำจัดขยะที่ไม่ได้มาตรฐานซุกซ่อนอยู่ ที่สำคัญขยะที่นำเข้ากลายเป็นแหล่งรายได้ที่มีกลุ่มต่างๆได้ประโยชน์ ขยะจะได้รับการ “กรอง” อย่างเป็นขั้นตอน สิ่งของที่ยังมีคุณค่าจะถูกคัดสรรออกไปโดยกลุ่มที่เข้าถึงขยะกลุ่มแรกๆเพื่อแยกไปขายทำกำไร ที่เหลือจะกลายเป็นขยะที่ไม่มีใครต้องการและกลุ่มสุดท้ายลงเอยเป็นขยะที่ทำลายสภาพแวดล้อม นักรณรงค์สิ่งแวดล้อมที่ทำงานในปัญหานี้หลายคนต่างถูกข่มขู่ทำร้ายมาแล้วเพราะในขั้นตอนของการนำขยะมา “รีไซเคิล” ดังกล่าวนั้นมีผลประโยชน์หลายฝ่ายซ้อนกันอยู่

ส่วนที่ฟิลิปปินส์ สัปดาห์ที่ผ่านมานี้ประธานาธิบดีดูแตร์เต้ประกาศกร้าวให้แคนาดานำขยะอุตสาหกรรมจากท่าเรือของฟิลิปปินส์จำนวนกว่า 100 คอนเทนเนอร์ที่ทิ้งไว้ตั้งแต่ปี 2556 กลับออกไปไม่เช่นนั้นฟิลิปปินส์จะ “ประกาศสงคราม” กับแคนาดา

ด้านแคนาดาบอกว่า กำลังพยายามดำเนินการแก้ไขความผิดพลาดที่เกิดขึ้นเนื่องจากหลายสาเหตุทำให้บริษัทแคนาดาชื่อโครนิคอิงค์ส่งคอนเทนเนอร์จำนวนดังกล่าวมาที่ฟิลิปปินส์ ซึ่งเมื่อเปิดดูแทนที่จะเป็นเศษพลาสติกที่รีไซเคิลได้ กลับกลายเป็นขยะอุตสาหกรรม ขยะของใช้จากครัวเรือน เช่นผ้าอ้อม ผ้าอนามัยรวมไปถึงถุงพลาสติกและแม้แต่ของเหลวที่เป็นเคมีอันตราย แม้ว่าศาลฟิลิปปินส์จะมีคำสั่งให้บริษัทนำขยะเหล่านั้นออกจากท่าเรือฟิลิปปินส์ แต่จำนวนมากยังคงถูกทิ้งไว้ที่เดิม

(Visited 76 times, 1 visits today)
Close