นอกเหนือจากเมืองปัตตานี, ยะหริ่ง, หนองจิก, สายบุรี, ยาลอ, ราห์มันและระแงะ ซึ่งเป็นบรรดาเมืองใน 7 หัวเมืองปตานีที่เป็นที่รู้จักกันแล้ว ยังมีเมืองบริวารขนาดเล็กที่ปกครองโดยรายาท้องถิ่นอยู่อีกหลายเมืองในปตานี โดยเฉพาะในเขตแผ่นดินตอนในและบางพื้นที่ในเขตเมืองสาย เมืองเหล่านี้มักปรากฏร่องรอยเป็นคูเขตเมืองขนาด ประมาณ 5 – 50 ไร่ ล้อมรอบด้วยกำแพงเป็นเนินดินสูงประมาณ 1 เมตร กระจายเป็นบริเวณกว้างหลายแห่งในเขตแผ่นดินตอนใน เช่น ในอำเภอเบตง จังหวัดยะลา, เขตตำบลบาตงและบ้านกอตอ ตำบลรือเสาะ อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส, เขตภูเขาในอำเภอศรีสาคร จังหวัดนราธิวาส ตลอดจนไปถึงบางพื้นที่ในเขตป่าลึกของประเทศมาเลเซีย รวมทั้งที่บ้านดูกู อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส
ในตำนานหรือเรื่องเล่าท้องถิ่นที่บอกเล่าต่อๆกันมากล่าวถึงเมืองขนาดเล็กที่ปรากฏรายทางในเขตแผ่นดินตอนในว่าเกี่ยวโยงไปถึงรายาเบอร์ซียง (Raja Bersiong) หรือราชาเขี้ยวที่ปรากฎเรื่องราวใน Hikayat Mahawangsa (ตำนานเมืองเคด้าห์) ตำนานเรื่องนี้ได้เล่าว่า รายาผู้ครองเมืองในขณะนั้นเป็นรายาที่ทรงอำนาจและปกครองด้วยความโหดร้าย ในวันหนึ่งขณะที่มีการเตรียมอาหารประจำวันให้รายา เจ้าพนักงานที่ปรุงอาหารถวายได้ทำมีดบาดนิ้วมือจนทำให้ เลือดตกไปในอาหารที่กำลังปรุง เมื่อรายาทานอาหารมื้อนั้น ปรากฏว่ารสชาติอร่อยกว่าที่เคยทานมาทุกครั้ง จึงทำการสอบสวนจนได้ความว่าที่อาหารมีรสชาติดีกว่าทุกครั้งที่เคยทานนั้นเพราะมีเลือดมนุษย์ผสมอยู่ในอาหาร หลังจากนั้นรายาจึงสั่งให้นำเลือดของนักโทษที่ต้องโทษประหารมาผสมในอาหารทุกๆมื้อไป เมื่อเริ่มทานอาหารที่ผสมเลือดมนุษย์ ริมฝีปากของรายาก็เริ่มปรากฏเขี้ยวงอกยาวออกมาเรื่อยๆ ทำให้ชาวเมืองเรียกพระองค์ว่า รายาเบอร์ซียงหรือราชาเขี้ยว เมื่อนักโทษประหารหมดรายาก็เริ่มใช้เลือดจากนักโทษในคดีลหุโทษ เรื่อยมาจนท้ายสุดถึงขนาดให้ทหารคร่ากุมชาวบ้านที่ไม่มีความผิดมาประหารเพื่อนำเลือดมาผสมในอาหารทุกมื้อ จนชาวเมืองเคียดแค้นและรวมตัวกันลุกฮือมาขับไล่รายาองค์นั้น ทำให้รายาเบอร์ซียงต้องหนีออกจากเมืองพร้อมข้าราชบริพารส่วนหนึ่งจากเคดาห์ข้ามภูเขามาในเขตเบตง(ในจังหวัดยะลา) บาตง กอตอ(ในอำเภอรือเสาะ) จืองาสปอฮง(ในอำเภอศรีสาคร) ตามรายทางเรื่อยมาจนสุดท้ายเข้าไปในเขตภูเขาด้านรัฐกลันตันของมาเลเซีย ซึ่งเมืองที่ปรากฏร่องรอยกำแพงคันดินหลายๆเมืองนั้น ก็คือเมืองที่รายาเบอร์ซียงและข้าราชบริพารหยุดพักในระหว่างหลบหนีการตามล่าของชาวเมืองนั่นเอง
หนังสือตำนานเจ้าเมืองกอตอซึ่งเป็นเมืองท้องถิ่นที่อยู่ในเขตอำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาสในปัจจุบัน เป็นหนังสือจากบันทึกของ “ฮายีอับดุลรออุฟ มุฮัมหมัด” เล่มนี้คัดลอกโดย อาจารย์เสนีย์ มะดากะกุล ได้เล่าถึงเรื่องราญาเบอร์ซียงและเมืองกอตอเมืองในตำนานที่บอกเล่าสืบต่อมานานหลายร้อยปี จนมีผู้คัดลอกเรียบเรียงเป็นบันทึกขึ้น อาจารยเสนีย์ บันทึกไว้ว่าต้นฉบับเขียนด้วยหมึกดำบนกระดาษที่ไม่มีเส้นบรรทัด เป็นบันทึกที่ปู่ของอาจารย์เสนีย์เป็นผู้คัดลอกเก็บไว้ ผู้เขียนบันทึกชิ้นนี้คือ “ฮายี อับดุลรออุฟ บิน มูฮัมหมัด ดาแฆ อาฆง” (Haji Abdulraufbin Muhammad Dagang Agung) เกิดเมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๙ ในวัยหนุ่มเป็นที่รู้จักกันในนาม “มุฮัมหมัด ดาแฆ” เคยเป็นครูฝึกซีลัตให้บุตรเจ้าเมืองรามันและได้เดินทางไปมักกะฮฺ เมื่อ พ.ศ.๒๔๔๓ ต่อมายามแก่เฒ่าถูกเลือกให้เป็นอีหม่ามของมัสยิดบ้านนากอ และเรียกท่านในนาม “โต๊ะโอะห์” (Tok Oh)
“บ้านกอตอ” ที่กล่าวถึงนี้ อยู่ห่างจากตลาดรือเสาะราว ๕ กิโลเมตร เป็นพื้นที่เมืองท้องถิ่นแห่งหนึ่งซึ่งมีร่องรอยคูน้ำคันดินล้อมรอบ ตามตำนานเมืองกอตอแห่งนี้มีฐานะเป็นเมืองบริวารของเมืองรามันห์ ซึ่งเป็นเมืองที่มีความอุดมสมบูรณ์เพราะมีแร่ธาตุจำพวกดีบุก และมีฐานะทางเศรษฐกิจดีเนื่องจากเมืองรามันห์เป็นศูนย์กลางการค้าช้างป่าเป็นสินค้าส่งออก เราจึงได้เห็นภาพที่สะท้อนจากตำนานเรื่องเล่าเช่นนี้ว่า มีบ้านเมืองน้อยใหญ่ต่างๆ ที่อยู่ในระบบรายาเชื่อมกันด้วยความสัมพันธ์ทางเครือญาติ (Cognatic relationship) ตลอดบ้านเมืองทั้งสองฝั่งมหาสมุทรในคาบสมุทรมลายู
เนื้อหาของหนังสือเป็นขนบเล่าเรื่องแบบตำนานเมืองหรือ “ฮิกกายัต” ตำนานเรื่องนี้เล่าถึง “รายาเบอร์ซียง” รายาแห่งเมืองเคดาห์ ซึ่งภายหลังชอบกินแกงผสมเลือดคน จึงถูกขับออกจากบ้านเมืองของตนแล้วหนีเข้ามาทาง ชายแดนปตานี โดยสันนิษฐานจากตำนานเมืองเคดาห์ “ฮิยากัต มะโรงมหาวังสา” ว่า “รายาเบอร์ซียง” น่าจะคือ “องค์มหาพริตาดาริยา” (Ong Maha Perita Daria) ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากมะโรงมหาวงศ์ในช่วงก่อนคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖ ก่อนศาสนาอิสลามจะเข้ามาถึงดินแดนแถบนี้
ร่องรอยคูเมืองกำแพงดินของเมืองท้องถิ่นแผ่นดินตอนในปตานี
(Visited 191 times, 1 visits today)