Written by 7:08 am Patani Notes

“การยอมรับในความหลากหลายคือสิ่งที่เราได้เรียนรู้ว่ามันสำคัญหากจะอยู่ด้วยกัน”

การได้ออกจากพื้นที่ของตัวเองนั้นสำหรับหลายคนน่าจะเป็นโอกาสที่ดีของชีวิต ได้เรียนรู้ทั้งโลกกว้าง ในขณะที่ได้ทำความรู้จักตัวเองไปด้วยในเวลาเดียวกัน Patani Notes ได้มีโอกาสพบกับอิสมาแอ ตาฮา หรือปะดอ หนุ่มมลายู อดีตสมาชิกของกลุ่มเปอร์มัสที่ไปร่ำเรียนในเชียงใหม่ เมืองใหญ่อันดับสองของประเทศไทยและเป็นเมืองเอกของภาคเหนือ ที่ซึ่งมีวัฒนธรรมแบบล้านนา และเป็นศูนย์กลางการติดต่อระดับภูมิภาคใกล้เคียง เขาบอกเล่าให้ฟังถึงประสบการณ์ในการย้ายถิ่นเพื่อไปเรียนปริญญาโทในสาขาชาติพันธุ์และการพัฒนาที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ การดูดซับสิ่งใหม่ๆที่สะท้อนออกมาเป็นมุมมองต่อหลายสิ่งหลายอย่าง การเติบโต การเรียนรู้ การเมือง และภาพฝันต่ออนาคตที่เขามีต่อบ้านเกิด

Patani Notes: ทำไมถึงมาเรียนที่เชียงใหม่

อิสมาแอ: ตอนเรียนปริญญาตรีที่มอ.ปัตตานีได้สมัครเรียนต่อไว้สองที่คือที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่กับมหาวิทยาลัยอาลีการ์ในอินเดีย แต่พอมาสัมภาษณ์ที่เชียงใหม่และเขาก็รับ พอไปปรึกษากับที่บ้าน พวกเขาไม่อยากให้ไปเรียนที่ไกลเกิน และอีกอย่างชอบบรรยากาศที่เชียงใหม่มากเลยตัดสินใจเรียนที่นี่

Patani Notes: อยู่เชียงใหม่ต้องปรับตัวเยอะไหม

อิสมาแอ: ไม่น่ะ ไม่ต้องปรับตัวมาก มีร้านอาหารมุสลิม คนที่นี่ก็ใจกว้าง เราเคยโดนแซวแค่ครั้งเดียว คนที่นี่เปิดใจยอมรับ ในฐานะคนมลายูเรารู้สึกดีมาก และ เพื่อนร่วมชั้นเรียนก็น่าสนใจ บางคนเป็นพระ มีคนที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ มีมุสลิมกรุงเทพ เราอยู่กันได้เพราะเรายอมรับความแตกต่างของกันและกัน

Patani Notes: อะไรคือการเรียนรู้ที่คิดว่าสำคัญที่สุดเมื่อตัดสินใจออกมาเรียนที่เชียงใหม่

อิสมาแอ: การยอมรับในความหลากหลายคือสิ่งทีเราได้เรียนรู้ว่ามันสำคัญหากจะอยู่ด้วยกัน ถ้าเรายอมรับคนอื่นเราก็อยู่ได้ และมีโอกาสได้ลงพื้นที่ ไปดอย เราได้เรียนรู้ปัญหาของพื้นที่ ขณะเดียวกันการอยู่ด้วยกันมันมีสิ่งที่ต่างกัน เมื่อมีความไม่เข้าใจมันต้องรีบอธิบาย ต้องรีบถามให้เคลียร์ แม้จะเป็นเรื่องพื้นฐานก็ตาม 

Patani Notes: สิ่งที่เหมือนและต่างระหว่างปาตานีกับเชียงใหม่คืออะไร

อิสมาแอ: บริบทเชียงใหม่และปาตานีมันต่างกัน เพราะคนมลายูมันมีสายใยความสัมพันธ์ที่เหนียวแน่น และแน่นอนที่ความขัดแย้งในพื้นที่มันทำให้คนต้องสนใจเรื่องการเมือง

เชียงใหม่เป็นอีกแบบ มันเป็นเมืองท่องเที่ยว มีความเสรีอยู่ในตัว คนเข้าออกเยอะ และมีข้อมูลไหลเยอะ ขณะเดียวกันที่เชียงใหม่มันมีปัญหาในตัวเองเยอะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องชาติพันธ์ที่ไม่อาจสื่อสารให้ส่วนกลางเข้าใจได้ มันเลยต้องคุยกันเองสูงมาก และการที่มันมีมหาวิทยาลัยอย่างเชียงใหม่ที่พยายามทำความเข้าใจปัญหาของคนตัวเล็กๆ เชียงใหม่และปาตานีจึงมีความเหมือนกันมากคือทั้งคู่ต่างเป็นชายขอบของศูนย์กลางอำนาจที่กระจุกอยู่แต่ในกรุงเทพ

ที่ปาตานีเราเหมือนจะเน้นคุยเฉพาะเรื่องประวัติศาสตร์และเรื่องในเชิงรัฐศาสตร์แต่ไม่สนใจเรื่องอื่นเลย เช่น รายได้ อาชีพ วิทยาศาสตร์ นวัตกรรมทางสังคม ซึ่งต่างจากเชียงใหม่ ที่มหาวิทยาลัยพยายามจะสร้างความโดดเด่นในทุกด้าน ที่เชียงใหม่แม้มันจะมีวัฒนธรรมประดิษฐ์เพื่อสร้างความภาคภูมิใจของคนท้องถิ่นแต่มันก็ตอบโจทย์ในเชิงเศรษฐกิจด้วย 

Patani Notes: กระแสการเลือกตั้งในปาตานีและเชียงใหม่ต่างกันมากไหม

อิสมาแอ: ถ้าดูในโซเชียลมีเดียเราจะเห็นเลยว่าทั้งที่เชียงใหม่และปาตานีนั้นคึกคักมาก สำหรับคนรุ่นใหม่นี่จะเป็นการเลือกตั้งครั้งแรก คนรุ่นใหม่อย่างเรามันหิวกระหายทางการเมืองมาก มันรู้สึกได้ลึกเข้าไปถึงจิตวิญญาณ เพราะเรารู้สึกว่าสังคมและรัฐไม่ตอบโจทย์ความต้องการของคนรุ่นใหม่ เราอยู่ในระบบที่ทหารเป็นนายกรัฐมนตรี มีมาตรา 44 ที่เรารู้สึกได้ว่ามันคือการเอารัดเอาเปรียบ

ในส่วนของปัญหาปากท้องเราสัมผัสได้เลย เพราะผมเองสนิทกับพ่อแม่มาก ผมรู้สึกว่าเศรษฐกิจกำลังแย่ และรู้สึกได้เลยว่าเราอยู่ในระบอบที่ทำให้เศรษฐกิจมันแย่ลงมาก

ผมเชื่อว่าอย่างน้อยในระบอบประชาธิปไตยเรามีพื้นได้มากกว่านี้ เราสามารถส่งเสียงถึงปัญหาที่เรากำลังประสบได้ เราถกกันได้ แม้ในพื้นที่ที่ไม่เป็นทางการ

Patani Notes: อนาคตที่วาดฝันไว้เป็นอย่างไร บอกได้ไหม

อิสมาแอ: อยากเห็นคนไทยยอมรับความแตกต่างหลากหลายที่มันมีในประเทศนี้ที่ไม่ยอมรับความต่างอะไรเลย เครื่องมือของรัฐไม่ทำให้เกิดการยอมรับความแตกต่างที่มีอยู่ ขณะที่คนทั่วไปรู้ว่าสังคมมันมีคนหลายแบบ ซึ่งการที่รัฐเป็นแบบนั้นมันทำให้มีผลกับปัญหาปาตานีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เวลามองอนาคตเราอยากให้มีพื้นที่สร้างสรรค์มากกว่านี้ มีพื้นที่สาธารณะที่รัฐไม่มาควบคุม เช่น ที่เชียงใหม่มันมีพื้นที่สาธารณะที่รัฐไม่มาควบคุม เช่น ลานวัฒนธรรมตรงประตูท่าแพ ซึ่งปลอดจากการควบคุมดูแลโดยรัฐ ผมรู้สึกว่าอยากให้มีพื้นที่สาธารณะในปาตานีที่ปลอดจากการควบคุมดูแลโดยรัฐ โดยเฉพาะกับคนรุ่นใหม่ อยากให้ทุกคนโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ได้แสดงความคิดเห็นได้อย่างสร้างสรรค์และเสรี

Patani Notes: มองว่าการเลือกตั้งหนนี้มีนัยอย่างไรต่อคนในประเทศ

อิสมาแอ: ถ้ามองในฐานะคนไทยแน่นอนเรื่องปากท้องคือเรื่องสำคัญที่สุดที่หลายคนคาดหวังจากการเลือกตั้ง แต่ในฐานะคนมลายูปาตานี มันคือปัญหาเชิงโครงสร้างที่รัฐควรจะเข้าใจและต้องสัมผัสคนในระดับชุมชน โดยเฉพาะในประเด็นสังคมการเมืองของปาตานี แล้วต้องเข้าไปแก้ไขปัญหารากเหง้าที่เป็นต้นเหตุของความขัดแย้ง ซึ่งนั่นก็คือความต้องการทางการเมืองของพวกเขาที่อยากจะกำหนดชะตากรรมของพวกเขาเอง และยังไม่มีพรรคไหนกล้าพูด ผมคิดว่ามันเป็นปัญหาหลักของคนในพื้นที่ และยังไม่มีพรรคการเมืองไหนที่พูดได้อย่างชัดเจนเลย

(Visited 55 times, 1 visits today)
Close