Written by 9:00 am Memoir

เกิดบนเรือนมลายู 2

บนโต๊ะกินข้าว

ครอบครัวเรามักจะกินข้าวพร้อมหน้าพร้อมตากันเสมอ โดยเฉพาะมื้อค่ำที่แทบจะเป็นกฏหล็กที่พ่อวางไว้เลยว่า ลูกๆทุกคนต้องกินข้าวพร้อมกัน ยกเว้นแม่ที่ถึงแม้ว่าจะนั่งร่วมโต๊ะด้วย แต่ก็ไม่ค่อยจะยอมกินพร้อมกับทุกคน แม่จะมีความสุขกับการบริการลูกๆ คอยเติมกับข้าว คอยแกะก้างปลา จนต้องกินข้าวทีหลังแทบทุกครั้ง ส่วนพ่อไม่ต้องบริการอะไร นอกจากแม่จะตักข้าวทัพพีแรกในหม้อให้พ่อก่อนเสมอ แม่บอกว่าเป็นการให้เกียรติ์แก่พ่อที่เป็นผู้นำครอบครัว

อาหารมื้อค่ำของครอบครัวเราจะกินกันตอนประมาณหนึ่งทุ่ม เป็นเวลาที่เสร็จจากการละหมาดมัฆริบ ทุกๆเย็นหลังจากที่แม่และพี่สาวซื้อกับข้าวก็จะเข้าครัวเพื่อเตรียมทำมื้อค่ำกัน ส่วนผมและน้องๆก็ถึงเวลาที่จะต้องเข้าคิวกันอาบน้ำ โดยมีพี่สาวคนหนึ่งทำหน้าที่ควบคุมและตรวจสอบ ที่ต้องเข้าคิวผลัดกันอาบก็เพราะครอบครัวเราไม่ได้อาบน้ำที่บ่อน้ำโล่งๆกลางลานเหมือนครอบครัวอื่น ครอบครัวเรามีห้องน้ำและห้องอาบน้ำที่มิดชิดอยู่ในเรือนครัว โดยมีลานปูนเชื่อมระหว่างส่วนที่เป็นครัวกับห้องน้ำ อยู่ภายใต้หลังคาเดียวกับเรือนครัว บ่อน้ำของครอบครัวเราก็อยู่ในเรือนครัว เป็นบ่อน้ำที่ลึกมากทีเดียว พ่อเลยติดตั้งปั๊มสูบน้ำที่ใช้ไฟฟ้าจากเครื่องปั่นไฟ ไปสูบเก็บในแท็งค์ปูนแล้วส่งไปตามท่อเหล็กไปลงในโอ่งในห้องน้ำอีกที

การอาบน้ำจากโอ่งก็ใช้กระบวยหรือขันจ้วงเอาน้ำในโอ่งมาอาบกัน พี่สาวก็จะใช้วิธีฟังเสียงที่เราจ้วงน้ำในโอ่งว่า ใครอาบกี่ขัน หยุดถูสบู่และสระผมบ้างหรือเปล่า เสร็จแล้วก็ต้องทาแป้ง แต่งตัวให้เรียบร้อยเพื่อรอเวลาละหมาดมัฆริบพร้อมกันโดยมีพ่อเป็นอิหม่ามนำละหมาด เสร็จจากละหมาดมักริบจึงจะเป็นเวลาทานอาหารมื้อค่ำ ก่อนจะถึงเวลาละหมาดอีชาในอีกชั่วโมงถัดไป แป้งที่เราใช้โรยตัวหลังอาบน้ำเป็นแป้งในกระป๋องกระดาษทรงกระบอกสีน้ำเงินกรมท่า ฝากระป๋องทำด้วยพลาสติกสีชมพู ตราฮอลลีวูด เห็นยี่ห้อนี้ยี่ห้อเดียว ใช้กันทั้งบ้านยกเว้นแม่ แม่จะมีแป้งตลับสี่เหลี่ยมเล็กๆ ที่ปิดฉลากรูปสาวจีนฮ่องกงแต่งตัวทำผมทันสมัย ไม่รู้ว่ายี่ห้ออะไร มีแต่ตัวอักษรจีน แป้งชนิดนี้ของแม่เราจะเรียกกันว่า “บือเดาะอ์ ตือลอ บอยอ” แปลว่าแป้งไข่จระเข้ มันเป็นดินสอพองที่ปั้นเป็นก้อนกลมๆหลายลูกในตลับ เวลาใช้ก็จะเอาบดในฝ่ามือ หยดน้ำลงไปสองสามหยด แล้วเอามาประตามตัว ผมมักจะขอแม่มาใช้หลังอาบน้ำตอนเที่ยงอยู่บ่อยๆ มันเย็นสบายดี ในคืนฤดูร้อนที่อากาศอบอ้าวแม่จะแอบเอาแป้งไข่จระเข้นี้ประตัวน้องๆตอนหลับเพื่อให้หลับสบาย ตอนตื่นน้องไม่ค่อยยอมให้ประแป้งแบบนี้ เพราจะลายพร้อยไปทั้งตัวเหมือนตุ๊กแก

โตีะอาหารและสำรับภายในห้องครัวบนเรือนมลายู


ก่อนที่จะเล่าเรื่องบนโต๊ะอาหาร ก็ขอเล่าเรื่องวัฒนธรรมในครอบครัวผมสักนิด ครอบครัวผมมีสองวัฒนธรรม เป็นวัฒนธรรมต่างกันสุดขั้วที่พ่อกับแม่คุ้นชินติดตัวมา ด้วยความที่แม่เป็นคนปัตตานี เป็นคนเมืองติดชายทะเล นิยมจารีตและขนบมลายู ส่วนพ่อเป็นคนในแถบภูเขาของแผ่นดินตอนใน มีฐานะจากการทำสวนยางพารา ติดนิสัยความทันสมัยและชอบเทคโนโลยีสมัยใหม่จากการไปเรียนหนังสือที่เมืองเมกกะห์ตั้งแต่เด็ก แม่จะเป็นผู้ดีแบบมลายูแทบจะทุกกระเบียดนิ้ว พูดเพราะ ไม่ชอบพูดเสียงดัง และอะไรอีกหลายๆอย่าง โดยเฉพาะยายมักจะมาพักกับครอบครัวเราบ่อยๆ ก็ยิ่งทำให้นิสัยผู้ดีตามจารีตมลายูของแม่ไม่เคยจางหายเลย แม้จะมาอยู่กับพ่อในแถบภูเขาเสียนานแล้วก็ตาม ส่วนพ่อผมที่โตมากับโอรังอัสลีซาไกที่ปู่และทวดเลี้ยงอุปถัมภ์ไว้เพื่อบุกเบิกที่ดินทำสวน ไปโตเป็นหนุ่มและเรียนศาสนาที่ตะวันออกกลางหลายปีตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง ในช่วงที่ประเทศซาอุดิอารเบียเพิ่งก่อตั้งประเทศใหม่ๆ ทำให้พ่อชอบเทคโนโลยีใหม่ๆ แต่ก็ยังติดนิสัยการกินอยู่ง่ายๆสมัยเด็กที่โตมากับโอรังอัสลี
.กับข้าวที่พ่อชอบจะเป็นพืชผักลวกสารพัดชนิดจิ้มกินกับบูดู โดยเฉพาะ “ฮูโม๊ะ ตือปุห์” และ “ฮูโม๊ะ รอแต” ซึ่งเป็นหน่ออ่อนของต้นกระวานและต้นหวาย เอามาลวกจิ้มน้ำบูดู พ่อจะกินข้าวแบบไม่แยแสกับอย่างอื่นเลย ส่วนแม่จะชอบกับข้าวแบบมลายูประเภทแกงจืด แกงกะทิใส่กุ้งและปลาทูหรือปลาข้างเหลืองย่าง ไม่ค่อยชอบกินปลาน้ำจืดสักเท่าไหร่ ทำให้ผมและพี่น้องส่วนหนึ่งไม่กินปลาน้ำจืดเลยยกเว้นปลากือเลาะห์(ปลาพลวงชมพู) เพราะมีกลิ่นคาวและก้างเยอะ ไม่ค่อยชอบกินผัก ไม่กินสะตอ บูดูหรืออาหารประเภทที่มีกลิ่น

การที่รสนิยมในการกินของคนในครอบครัวต่างกันมาก ทำให้แม่ต้องเตรียมกับข้าวหลายอย่างในแต่ละมื้อเพื่อให้ถูกปากของทุกคน หลายๆจานเป็นประเภทพืชผัก น้ำบูดูและน้ำพริกสองสามอย่าง ทั้งน้ำพริกกะปิและไม่มีกะปิ กับข้าวที่ปรุงจากเนื้อ ไก่ ปลาทูย่าง กุ้งต้มหวาน และบางครั้งก็มีกับข้าวแปลกที่เราไม่คุ้นเคย เรียกชื่อไม่ถูก รสชาติแปลกๆ ซึ่งเป็นกับข้าวที่บรรดาพี่สาวหัดทำตามสูตรจากหนังสือขวัญเรือนหรือตำราอาหารเท่าที่มีวางขาย บรรยากาศบนโต๊ะยาวสำหรับทานอาหารค่อนข้างวุ่นวายกับบรรดามือที่ตักกับข้าวข้ามไขว้ไปมา จนวันหนึ่งพ่อก็ทนไม่ไหวต้องประกาศกฏให้แยกพวกเสือกับพวกแพะไว้คนละฟาก จัดเรียงกับข้าวที่มีพวกพืชผักและน้ำบูดูให้พวกแพะ ส่วนพวกเสือให้นั่งใกล้ๆกับข้าวประเภทเนื้อ

ที่ว่าพวกเสือนั้นคือพวกที่กินเนื้อไม่กินผักและปลาน้ำจืด มีข้อยกเว้นสำหรับปลาน้ำจืดชนิดหนึ่งที่พวกเสือยอมกินคือปลากือเลาะห์(ปลาพลวงชมพู) ปลากือเลาะห์เป็นปลาน้ำจืดที่อาศัยอยู่แถวต้นน้ำแม่สายบุรีและแม่น้ำปัตตานี เป็นปลาขนาดใหญ่ หน้าตาคล้ายปลาตะเพียร เป็นปลาที่หายาก ราคาแพง บางตัวใหญ่มาก สมัยที่ผมเด็กๆบางตัวใหญ่เท่าๆกับผู้ใหญ่คนหนึ่งเลยทีเดียว เวลาแบกปลา หางปลาจะเรี่ยจนจรดพื้น สำหรับครอบครัวเราปลากือเลาะห์และกุ้งก้ามกราม(กุ้งแม่น้ำ)ถือเป็นอาหารอันโอชะที่ไม่มีใครปฎิเสธ แม้กระทั่งพ่อที่เกือบทุกมือทานแต่พืชผักก็ชอบทานปลากือเลาะห์ ซื้อทุกครั้งเวลาที่มีคนจับได้และมาขายที่บ้าน

วันหนึ่งมีชาวบ้านจากกัวลากาเว(อำเภอศรีสาคร จังหวัดนราธิวาส)เอาปลากือเลาะห์มาขายพ่อที่บ้าน พ่อควักเงินไปหลายบาททีเดียวสำหรับการซื้อปลาตัวนี้ เพราะปลาตัวใหญ่เหลือเกิน ปลาตัวนี้แม่กับพี่สาวช่วยกันทำ “มาแซ ปือดะห์ (Masam Pedas)” หรือต้มส้ม กันตั้งแต่ตอนสายวันนั้นเลย เพื่อที่จะได้กินปลาสดๆและให้ทันมื้อเที่ยง เมื่อเสร็จแล้วแม่ก็จัดแจงเลือกชิ้นส่วนที่เป็นหัวปลาและเนื้อปลาใส่ในถ้วยซุปขนาดใหญ่ยกสำรับให้พ่อกิน ส่วนที่เหลือก็เก็บให้สมาชิกในครอบครัวคนอื่นๆ รวมทั้งแบ่งต้มส้มปลากือเลาะห์อีกครึ่งหนึ่งให้เพื่อนบ้านได้ทานด้วย

“มาแซ ปือดะห์” หรือต้มส้มจะมีหน้าตาคล้ายๆซุปปลาน้ำใส เป็นอาหารพื้นบ้านอย่างหนึ่ง ใส่ตะไคร้ ข่า หอมแดง กระเทียม พริกขี้หนู ปรุงรสให้เปรี้ยวด้วยส้มแขก ช่วงหน้าฝนที่ฝนตกตลอดทั้งวันทั้งคืน การได้กินข้าวสวยร้อนๆที่หุงจากข้าวไร่และซดแกงส้มปลา เป็นรสชาติที่อร่อยเกินบรรยาย

มื้อเที่ยงวันนั้น ผมได้ทานข้าวพร้อมกับพ่อ แม่และพี่สาว ปกติมื้อเที่ยงที่บ้านเราจะมีสมาชิกไม่มากนัก เพราะหลายๆคนออกนอกบ้านตามแต่ธุระของแต่ละคน น้องๆก็มักจะเล่นกับเพื่อนบ้านจนเพลิน มื้อเที่ยงวันนั้น วันที่มีต้มส้มปลากือเลาะห์ พ่อก็ไม่สนใจใยดีกับผักลวกที่เป็นกับข้าวยอดนิยมตามปกติของพ่ออีกต่อไป พ่อตั้งหน้าตั้งตาซดน้ำแกงร้อนๆพร้อมเคี้ยวเนื้อปลาที่หั่นเป็นลูกเต๋าชิ้นโตอย่างเอร็ดอร่อย ผมก็กินข้าวไปตามปกติ หยิบกับอย่างอื่นกินสลับกับการซดน้ำแกงต้มส้ม จนผมเอื้อมมือจะช้อนหัวปลา พ่อก็หันมามองพร้อมทำเสียงเครียดๆ ดุๆ ว่า

“อย่ากินเนื้อปลาตรงแก้ม ริมฝีปากและลูกตาปลาน่ะ … กินไม่ได้”

ผมชะงักไปชั่วขณะพร้อมกับความสงสัย ปกติปลากือเลาะห์จะกินได้ทั้งตัว ยกเว้นกระดูกเท่านั้นที่ไม่มีใครกิน การทำปลากือเลาะห์จะไม่มีใครขอดเกล็ดมันออก ทำเป็นอาหารพร้อมทั้งเกล็ด รสชาติของเกล็ดปลากือเลาะห์จะกรุบๆเหมือนเคี้ยวกระดูกอ่อน การที่พ่อห้ามผมไม่ให้กินแก้ม ริมฝีปากและลูกตาปลา ทำให้ผมลังเลว่าทำไมพ่อถึงได้ห้ามกิน จนต้องถามพ่อให้กระจ่าง

“ทำไมถึงกินไม่ได้ล่ะพ่อ มันมีพิษกินแล้วเมา หรือศาสนาอิสลามเราห้ามกิน ?”
“ไม่หะรอมหรอกลูก… มันฮาลาล แล้วก็ไม่เมา ไม่เป็นพิษด้วย ปลาใหญ่ๆแบบนี้ สามส่วนนี้อร่อยที่สุด”
“อ้าว … แล้วทำไมผมกินไม่ได้ล่ะ” ผมประท้วงด้วยความสงสัย
“ปลาตัวนี้พ่อเป็นคนซื้อ ส่วนที่อร่อยที่สุดต้องเป็นของพ่อ แกไม่มีสิทธิกิน ใครๆก็ไม่มีสิทธิ คนอื่นพ่อไม่ยอมให้กินหรอก ส่วนอื่นของปลากือเลาะห์ ใครจะกินเท่าไหร่ก็ได้ แต่ไอ้สามอย่างนี้พ่อไม่ยอมให้ใคร แกต้องหาเงินซื้อปลาเอง แกถึงกินได้” พ่อหัวเราะชอบใจที่ผมไม่กล้าหยิบกินอีกต่อไป พ่อชำเลืองมองดูแม่ แล้วพูดว่า

“นอกจากพ่อแล้ว พ่อยอมให้แม่แกคนเดียว”

แม่ยิ้มให้พ่อ แล้วตักเนื้อส่วนแก้มของปลาลงในจานข้าวผม … มันเป็นเนื้อปลากือเลาะห์ที่อร่อยที่สุดจริงๆอย่างที่พ่อบอก เนื้อปลาส่วนที่ดีที่สุดที่ปรุงด้วยความรักของแม่

(Visited 417 times, 1 visits today)
Close