Written by 3:01 am Culture, Memoir, Staff's Picks

เกิดบนเรือนมลายู – 11

โต๊ะบอมอ

สมัยก่อนการสารธารณสุขยังไม่ดีนัก โดยเฉพาะพื้นที่ห่างไกลจากตัวเมืองใหญ่นั้นแทบจะไม่รู้เลยว่าโรงพยาบาลมีหน้าตาเป็นอย่างไร อย่างมากที่รู้จักก็คือสถานีอามัยซึ่งมีอยู่เฉพาะในตัวอำเภอเท่านั้น คนที่อยู่ในหมู่บ้านรอบนอกตัวอำเภอ ยามเจ็บไข้ได้ป่วยใดๆก็ล้วนแล้วแต่ต้องพึ่งพาหมอพื้นบ้านหรือที่รู้จักกันในภาษามลายูว่า “โต๊ะบอมอ” ซึ่งก็มีหลากหลายประเภททั้ง “โต๊ะบอมอ”เป็นหมอรักษาอาการเจ็บไข้ได้ป่วย “โต๊ะบีแด”เป็นหมอตำแยทำคลอดและรักษาดูแลเรื่องระบบร่างกายของสตรี “โต๊ะมูเด็ง”เป็นคนทำหน้าที่เข้าสุนัต(พิธีขลิบปลายอวัยวะเพศชายของเด็กมุสลิม)หรือแม้กระทั่ง “บอมอฮาตู” ที่เป็นหมอผีทำการรักษาทางคุณไสย์ขจัดปัดเป่าเคราะห์ร้ายทั้งปวง ทำนายทายทักและนั่งทางในหาของที่สูญหาย บอมอฮาตูหรือหมอผีนี้มักจะแอบเปิดสำนักในที่ห่างไกลเร้นลับพอสมควร ด้วยค่านิยมและวิถีของมุสลิมนั้นเป็นเรื่องผิดต่อหลักศาสนาอิสลาม บอมอฮาตูจึงไม่เป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้านนัก ต่างจากโต๊ะบอมอประเภทอื่น

โต๊ะบอมอโดยส่วนใหญ่แล้วเป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้าน ไม่ว่ากรรมวิธีการรักษาของโต๊ะบอมอจะเป็นการใช้สมุนไพร การนวดจับเส้นหรือการปัดเป่าน้ำมนต์ก็ล้วนได้รับความเคารพทั้งสิ้น ทั้งนี้การแพทย์แผนใหม่ทั้งสถานที่รักษาพยาบาลและเวชภัณฑ์ต่าง ๆ นั้นเป็นเรื่องที่ชาวบ้านรอบตัวอำเภอเข้าถึงได้ไม่ง่ายนัก และถึงแม้ว่ายารักษาโรคพื้นฐานบางชนิด ประเภทยาแก้ปวดแก้ไข้จะมีขายอยู่บ้างตามร้านของชำใหญ่ ๆ แต่ก็เป็นสิ่งฟุ่มเฟือยราคาแพงสำหรับคนหลาย ๆ คน และส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยเชื่อถือและไว้ใจการแพทย์สมัยใหม่

ผมรู้จักสนิทสนมกับครอบครัวโต๊ะบอมอครอบครัวหนึ่ง ครอบครัวนี้เป็นทั้งโต๊ะบอมอที่เชี่ยวชาญในการรักษาเกี่ยวกับกระดูก กล้ามเนื้อและเส้นเอ็นต่าง ๆ ประเภทกระดูกหัก ข้อต่อหลุด กล้ามเนื้อตึง เส้นเอ็นยึด เลือดลมเดินไม่สะดวก อัมพฤกษ์อะไรประมาณนี้ และเป็นโต๊ะมูเด็งที่ทำหน้าที่เข้าสุนัตด้วย เป็นโต๊ะบอมอและโต๊ะมูเด็งมาตั้งแต่รุ่นพ่อ รุ่นปู่ ตกทอดกันมาในครอบครัวตลอดมา จนมาถึง “แบแซ” ที่ผมจะพูดถึงนี้ละครับ ที่ผมสนิทสนมกับครอบครัวนี้เพราะลูกชายคนโตของแบแซเป็นเพื่อนผมและแบแซก็สนิทสนมกับพ่อผมเป็นอย่างดี ครอบครัวเราไปมาหาสู่เกื้อกูลกันอยู่เสมอ ประกอบกับครอบครัวแบแซเลี้ยงม้าแกลบ(Kuda Padi)ไว้สำหรับบรรทุกของและใช้ขี่เดินทางไปสวนของแกซึ่งอยู่บนเขาภูเขาท้ายหมู่บ้าน ผมจึงไปบ้านแกบ่อย ๆ เพื่อไปเล่นกับม้าที่แกเลี้ยง ถึงแม้ว่าบ้านแกจะอยู่ในหมู่บ้านที่ห่างจากบ้านผมไปหลายกิโลเมตรก็ตาม

แบแซ มีตำแหน่งทางสังคมอีกอย่างหนึ่งนอกเหนือจากการเป็นหมอพื้นบ้านก็คือ แกได้รับการคัดเลือกจากชาวบ้านในหมู่บ้านของแกให้เป็นผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งคำว่า “แบ” ที่ผมหรือใคร ๆ เรียกแกนั้นมาจากการกร่อนจากคำว่า “โต๊ะแนแบ”ในภาษามลายูที่แปลว่าผู้ใหญ่บ้าน ตามด้วยชื่อแก “แซ” ที่กร่อนจากชื่อเต็มๆของแก “อาแซ” หรือ “ฮาซัน” นั่นเองครับ การที่ผมมักไปเล่นกับม้าที่บ้านแกบ่อย ๆ เลยทำให้สนิทกับแกมากและทำให้ผมมีโอกาสได้เห็นคนที่มาให้แกรักษาอาการต่าง ๆ อย่างใกล้ชิดอยู่บ่อยครั้ง

มีอยู่ครั้งหนึ่งที่ผมไปบ้านแกและมีคนมารักษาอาการหัวไหล่หลุดหรือแขนหักอะไรสักอย่าง ผมกับเพื่อนเล่นกับม้าอยู่ข้างบ้านแก พลันก็มีเสียงร้อง อาโด้วววห์ อาโด่ววห์ โหยหวนเสียลั่นบ้าน (อาโดห์ Adoh เป็นเสียงร้องอุทานของคนมลายู คล้ายๆ อาโย่วหรือ อั๊ยหย่าของคนจีน) เราเลยเข้าบ้านไปดูกัน เห็นคนเจ็บร้องอยู่ตลอดเวลา พร้อมทั้งขอให้แบแซเบามือสักหน่อย แต่แบแซไม่สนใจ คนป่วยจะร้องก็ร้องไป แกก็ดึงเส้นจัดกระดูกของอกไป จนแกพอกสมุนไพร เอาไม้ไผ่มาดามเข้าเฝือกและอ่านดุอาห์(บทสวดขอพรจากพระเจ้าของศาสนาอิสลาม)จนเสร็จกรรมวิธีและพิธีกรรมการรักษาของแก หลังจากที่คนเจ็บกลับไปแล้ว ผมก็เปรย ๆ กับแกว่า “สงสารเขานะ คงเจ็บน่าดูถึงได้ร้องเสียลั่นบ้าน” แบแซหัวเราะแล้วบอกกับผมว่า “รายนี้มันสำออย มันใจเสาะ มันไม่ได้ร้องเพราะเจ็บหรอก กูเจอมาเยอะแล้ว คนที่เจ็บจริงไม่ร้องอย่างนี้ ถ้าเกิดตอนแตะหรือนวดเขา แล้วคนเจ็บร้อง โอ๊ะ เสียงสั้น ๆ หนัก ๆ แบบนั้นละถึงจะเจ็บจริง ต้องรีบหยุดมือ ไม่งั้นสลบคามือ” แกหันไปสอนลูกชายแกว่า “มึงจำไว้นะ ร้องแบบนี้ มันสำออย มันใจเสาะ ยังจับ ยังนวด ยังดึงได้ ไม่ต้องสนใจเสียงร้องมัน มันอยากร้องก็ปล่อยให้มันร้องไป มึงอย่าว่อกแว่กเสียสมาธิตามมัน ฮ่า ๆ ๆ”

ผมเคยตั้งคำถามด้วยความอยากรู้ว่า ระหว่างสมุนไพรที่แกพอกให้คนเจ็บกับดุอาร์(บทสวดขอพร)ที่แกอ่านและเป่าให้คนเจ็บอย่างไหนจะช่วยรักษาคนเจ็บได้ดีกว่ากัน อ่านและขอดุอาร์โดยที่ไม่ต้องพอกสมุนไพรคนเจ็บจะหายไหม ? … แกหัวเราะเสียงดัง แล้วตอบว่า “ไอ้เด็กนี่ มึงมาสงสัยอะไรกับคาถากับดุอาร์ของกูวะ … กระดูกหักแล้วอ่านดุอาร์อย่างเดียว ไม่พอกสมุนไพร มันก็หายได้เว้ย กระดูกเวลาหักแล้วเราจัดให้รอยต่อมันมาชิดกัน ดามไม้ไม่ให้มันเคลื่อน มันก็จะงอกมาต่อมาสมานเองได้ อัลลอฮ์(พระเจ้า)สร้างกระดูกมาแบบนี้… แต่ก็นานหน่อยละกว่าจะสมานกันดี แล้วก็จะเจ็บมากกว่าไม่พอกสมุนไพร สมุนไพรที่กูใช้นี่มันช่วยปรับให้กล้ามเนื้อและไขกระดูกบริเวณที่มันหักอยู่ในสภาพที่เอื้อให้กระดูกต่อกันง่ายขึ้น ยาสมุนไพรช่วยรักษากล้ามเนื้อและอาการเจ็บ ส่วนดุอาร์ช่วยรักษาสภาพจิตใจ รักษาขวัญของเขาและเป็นสิริมงคลด้วย ตัวกูเองที่เป็นหมอก็จะมีสติที่จะตระหนักว่าที่เขาหายนั้นไม่ใช่เพราะกูเก่งมาจากไหน แต่เป็นเพราะอัลลอฮ์ช่วยทำให้เขาหายเป็นปกติต่างหาก”

ถึงแม้ว่าแบแซจะถ่อมตัวอยู่เสมอว่าที่แกรักษาคนเจ็บคนป่วยที่มีปัญหาจนเกือบพิการให้หายได้นั้นเป็นเพราะความเมตตาและความประสงค์ของอัลลอฮ์ แต่โดยส่วนตัวแล้วผมเชื่อว่าแกเป็นหมอกระดูกที่เก่งจริงคนหนึ่ง จำได้ว่าครั้งหนึ่งเมื่อเพื่อนของพ่อผมที่เป็นมุสลิมจากกรุงเทพฯบอกพ่อว่าน้องของเขาประสบอุบัติเหตุจนกระดูกสันหลังเสียหาย แพทย์ที่โรงพยาบาลบอกว่าต้องผ่าตัดดามเหล็กและมีโอกาสสูงมากที่จะพิการไม่สามารถยืนและเดินได้ตลอดชีวิต เมื่อพ่อรู้ข่าวก็เลยพาแบแซไปกรุงเทพฯโดยที่มีผมติดตามไปด้วย ตอนที่เห็นสภาพคนเจ็บที่ถูกรถชน แบแซก็บ่นใส่พ่อผมทันที ไม่ใช่เพราะอาการหนักหนาสาหัส แต่เพราะแบแซคิดว่าคนเจ็บเป็นผู้ชาย แกบ่นว่าทำไมไม่บอกใช้ชัดก่อนว่าคนเจ็บเป็นหญิงสาว แกจะได้พาภรรยาแกมาด้วย เพราะแกไม่กล้าที่จะนวดหญิงสาว แกบอกพ่อว่าปัญหาที่เกี่ยวกับกระดูกสันหลังนั้นจำเป็นที่จะต้องนวดสะโพกและพื้นที่ที่ใกล้กับส่วนเร้นลับ แกบ่นพ่อผมว่า “นี่จะทำไงดี ตอนชวนมานึกว่าจะได้บุญ พอมาถึงกลับจะได้บาปเสียแล้ว” พ่อก็เอ็ดแกกลับไปว่า “แกนี่คิดเยอะเสียจริง เมียแกหรือคนอื่นมือถึงพอที่จะรักษาอาการขนาดนี้หรือ แกเป็นหมอ แกมีเจตนาที่บริสุทธิ์ไม่ได้คิดลามกอุบาทย์อะไร จะเป็นไรไป แกตั้งใจรักษาไปเถอะ ใช้ผ้าม่านมากั้น แกใช้มือคลำโดยไม่ต้องมองก็รักษาได้ไม่ใช่หรือ” แกอิดออดอยู่นานกว่าจะยอมรักษาให้ 

แบแซรักษาอยู่นานหลายวันจนน้าจรูญสามารถขยับตัวลุกขึ้นมานั่งเองได้ อาการดีพอที่แบแซมั่นใจว่าจะหายเป็นปกติ เราก็เลยร่ำลาเพื่อจะเดินทางกลับบ้าน ก่อนกลับครอบครัวของคนป่วยเอาเงินใส่ซองให้แกหนึ่งหมื่นบาท เมื่อรู้ว่าในซองเป็นเงิน แกก็ถามว่าเงินค่าอะไร เมื่อได้คำตอบว่าเป็นค่าจ้างในการรักษา แบแซก็โกรธคนให้เงิน โวยวายเป็นภาษาไทยผสมภาษามลายูเสียยกใหญ่ แกประท้วงว่าให้เงินค่าจ้างรักษาแกไม่รับ ขอแค่ค่ายกครูสิบกว่าบาทก็พอแล้ว ผมถามแบแซระหว่างนั่งรถไฟกลับบ้านว่าทำไมไม่รับเงิน พ่อผมได้ยินก็หัวเราะ แต่แบแซตาเขียวใส่ผม แล้วบอกว่า “กูมาเพราะพ่อมึงชวนมา กูรักษาเขาเพราะพ่อกูสอนว่าการเป็นหมอรักษาคนนั้นได้บุญ แล้วกูก็ไม่ได้ยากจนขัดสนอะไรสักเท่าไร ครอบครัวคนป่วยก็ไม่ได้ร่ำรวยมาจากไหน มึงคิดบ้างไหมว่า ถ้ากูรับเงินเขาแล้วครอบครัวเขาอาจลำบากและกูคงไม่ได้บุญ ถ้ากูอยากได้เงิน กูรีดเงินพ่อมึงไม่ง่ายกว่าหรือ” พ่อผมนี่หัวเราะลั่นโบกี้รถไฟตู้นอนเลยทีเดียว

เรื่องความใจดีของแบแซในการรักษาคนป่วยโดยไม่หวังค่าจ้างนั้นแกทำของแกตลอดทั้งชีวิตนั่นแหละครับ ด้วยความที่แบแซมีตำแหน่งเป็นผู้ใหญ่บ้านด้วย ทุกครั้งที่แกต้องเข้าตัวอำเภอมาประชุมหรือมาธุระอื่น แกมักแวะไปที่สถานีอนามัยเสมอเพื่อไปดูว่ามีใครเจ็บป่วยที่แกสามารถช่วยเหลือได้บ้าง ใครที่แกช่วยได้ แกช่วยหมดโดยไม่สนใจว่าจะเป็นใครที่ไหน ช่วยโดยไม่รับค่าตอบแทนใดๆ บางครั้งก็ชักเงินในกระป๋วยช่วยเป็นค่ารถให้คนเจ็บอีกต่างหาก หมอที่สถานีอนามัยและคนเจ็บก็มักยินดีให้แกช่วยรักษาด้วยรู้กิติศัพท์แกดีว่าความสามารถในการรักษาอาการเกี่ยวกับกระดูกหักหรือกล้ามเนื้อเส้นเอ็นบาดเจ็บนั้นแกมีความสามารถจริงๆ

เอื้อเฟื้อภาพโดย คุณอุสมาน สามะอากา

(Visited 606 times, 1 visits today)
Close