Written by 5:07 pm Guest speaker, Interviews

วิธีเอาตัวรอดของชาวสวนยางรายเล็ก

“กรีดยางมานาน ตอนนี้อายุ 46 แล้วยังไม่เคยเจอยางราคาถูกแบบนี้ ขี้ยางสี่โลยังซื้อปลาทูสดไม่ได้สักโลเลย”

อาแซ อาเล็ม ชาวสวนยางบ้านสิเดะ  ตำบลสะดาวา อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี พูดถึงราคายางพาราในปัจจุบัน

ตำบลสะดาวามีที่นาที่ยกร่องปลูกยาง สวนยางของคนย่านนี้มีสภาพเป็นแปลงขนาดเล็ก บางคนมีหลายแปลงและแต่ละแปลงไม่ได้อยู่ติดกัน เหมือนสวนยางของอาแซ มันเป็นสภาพที่แตกต่างจากการทำสวนยางที่อื่นบางพื้นที่ที่เป็นแปลงขนาดใหญ่ ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่ราบหรือเชิงภูเขาที่เป็นพื้นที่ที่เหมาะสมมากกว่า

อาแซบอกว่าสวนยางที่พลิกผันมาจากพื้นที่นา ต้นยางมักไม่ค่อยโตมากนัก น้ำยางออกน้อยกว่าเนื่องจากดินนาที่ผ่านการทำนามาจนสภาพของดินนั้นเหนียว และในช่วงนี้ฝนตก เขาบอกว่าบางทีก็ไม่ได้ออกไปกรีด

ชาวบ้านที่นี่ส่วนใหญ่จะกรีดยางขายเป็นขี้ยาง พวกเขาไม่ทำยางแผ่นหรือขายน้ำยางเหมือนในพื้นที่อื่น เพราะการที่มีเนื้อที่น้อยทำให้เก็บน้ำยางได้ไม่มากพอที่จะทำเป็นยางแผ่นได้แม้แต่หนึ่งแผ่น การทำขี้ยางจึงเป็นทางออก

อันที่จริงอาแซมีสวนยางเพียงแปลงเดียว เนื้อที่น้อยนิด หากแต่ว่าในแต่ละวันเขาจะกรีดยางจากหลายแปลงซึ่งเป็นของเจ้าของสวนที่มีเนื้อที่น้อยเช่นเขา จึงจ้างให้กรีดแทนและใช้วิธีแบ่งรายได้กัน

“สวนยางที่นี่เป็นที่นามาก่อนจากการจับจองของบรรพบุรุษในการทำนาในอดีต ใครทำไหวได้แค่ไหนก็จองกันแค่นั้น จองกันด้วยปาก สวนยางแต่ละรายจึงมีเนื้อที่ประมาณ 1 ไร่ หรือ 3 งาน ไม่เหมือนที่อื่นที่เป็นสวนยางแปลงใหญ่ๆ 10-30 ไร่”

อาแซกรีดยางสองคนกับภรรยา “เรากรีดกันสองคนรวม 7 แปลง ประมาณ 7-10 ไร่ ไร่ละประมาณ 70-100 ต้น ต้นละประมาณ 20 วินาที” พวกเขาออกกรีดยางตอนเช้ามืด คือหลังละหมาดซุโบร์ (ละหมาดก่อนรุ่งอรุณ) สวนยางส่วนใหญ่อยู่ไม่ไกลจากบ้าน กรีดเสร็จประมาณเกือบเก้าโมงเช้า หากวันไหนมีฝนช่วงกลางคืนและต้องคอยเทน้ำที่ค้างอยู่ในถ้วยกะลาที่รองน้ำยางออก หรือเอาขี้ยางออกจากกะลาก็อาจจะทำเวลาช้าลงเล็กน้อย การขายขี้ยางเปียกมีผลกระทบต่อรายได้ เขาว่า เพราะร้านรับซื้อขี้ยางซึ่งอยู่ในหมู่บ้านใกล้เคียงจะหักเงินออกจากการที่ขี้ยางเปียก

“ถ้าเราเอาขี้ยางไปตากแดดมันก็เสียเวลา แล้วพอขี้ยางแห้งน้ำหนักก็ลดลงอีก สรุปคือพอๆ กัน เก็บแล้วขายเลยดีกว่า ไม่ต้องกลัวถูกขโมยหรือมาตากอยู่อีก เสร็จไปเลย”

การกรีดยางทำขี้ยางหรือยางก้อนก็คือ กรีดให้น้ำยางไหลลงถ้วยหรือกะลาที่รองรับน้ำยาง บางรายอาจใส่เส้น (ผิวของต้นยางที่กรีดขณะนั้น) ลงไปด้วยเพื่อเพิ่มปริมาณและน้ำหนักให้ก้อนขี้ยาง แล้วปล่อยให้น้ำยางแห้งไปเอง กรีดให้น้ำยางลงถ้วยไปทุกวันจนขี้ยางเต็มถ้วยจึงแคะออกจากถ้วยไปขาย วิธีนี้ทำให้พวกเขาไม่ต้องเก็บน้ำยางทุกวันเหมือนในยามที่ต้องการขายน้ำยางสดหรือเก็บน้ำยางไปทำแผ่น ทำให้มีเงินเข้ากระเป๋าทุกวันแม้ว่าจะเพียงวันละเล็กน้อยก็ตาม

นี่เป็นเหตุผลที่อาแซบอกว่า ถ้าจะต้องเลือกระหว่างการทำนากับกรีดยาง เขาขอกรีดยางดีกว่า เพราะยางสามารถกรีดได้เกือบทุกวัน ขายได้ตลอด ได้เงินมาหมุนเวียน หากทำนาอย่างเดียว จะทำได้เพียงปีละครั้งเพราะในพื้นที่ของพวกเขาต้องทำนาจากน้ำฝนเท่านั้น และครอบครัวของอาแซแม้จะมีที่นาแต่ก็ไม่มากเช่นกัน แต่เขาและภรรยาก็ทำนาทุกปี เป้าหมายหลักก็เพื่อจะเอาข้าวไว้กินให้ได้ตลอดปีโดยไม่ต้องซื้อ เป็นการประหยัดค่าใช้จ่าย

ครอบครัวของอาแซอยู่ได้ด้วยการพยายามหารายได้เก็บเล็กผสมน้อยจากหลายๆทาง เขาไปเป็นลูกมือหัดซ่อมรถมอเตอร์ไซค์ และที่บ้านตอนนี้เขารับซ่อมมอเตอร์ไซค์ แต่ก็เช่นเดียวกันกับเรื่องยาง รายได้จากการรับซ่อมรถลดลงเช่นกัน มันเหมือนกับว่า เมื่อราคายางหล่น ทุกอย่างที่เคยดีก็ได้หนีหายไปพร้อมกับราคายาง

“ตอนราคายางดีๆ ซ่อมรถก็ได้ราคาดี ลูกค้ามาซ่อม อะไรที่ไม่ดีเขาตัดสินใจได้เร็วให้เปลี่ยนอะไหล่ เปลี่ยนทีนึงก็เปลี่ยนไปครบชุด เดี๋ยวนี้ปะได้ซ่อมได้ก็ทำก่อน ใครๆ ก็ต้องใช้จ่ายอย่างคุ้มค่า” แต่เขาก็ทำต่อไป เพื่อให้มีรายได้เรื่อยๆผสมผเสกับรายได้จากการขายขี้ยาง


พืชอีกอย่างที่คนในย่านนี้มักปลูกกันก็คือมะพร้าวซึ่งให้ผลผลิตทั้งปีเพราะสามารถนำไปเป็นส่วนผสมในอาหารได้หลากหลาย แต่พวกเขาก็ไม่ได้มีมะพร้าวมากมาย

เพื่อจะช่วยเหลือประชาชนในเรื่องการทำมาหากิน ที่ผ่านมารัฐมีโครงการบางอย่างเช่นนำพันธุ์สัตว์มาให้เลี้ยง แต่ดูจะไม่ค่อยประสบผล “เป็ดไก่เขาก็เคยให้มาเลี้ยง เลี้ยงไม่เป็นก็ตายหรือไม่โต เราไม่ได้เลี้ยงแต่แรก เขาให้มาแล้วจบ ไม่มีตลาด ถ้าจะให้มาเลี้ยงคือเลี้ยงวัวดีที่สุด ต้นทุนต่ำ ให้กินหญ้าก็ได้แล้ว ดูแลไม่ยาก” อาแซยังเล่าว่า ที่ผ่านมาเคยลองเลี้ยงปลา “เคยซื้อปลาดุกมาเลี้ยงตัวละบาท เมื่อน้ำจะท่วมเขาจะเอาตัวละ 15 บาท ถ้าเราไม่ขายเมื่อน้ำท่วมปลาก็จะออกหมด เวลาขาย 2-3 ตัวได้กิโลนึง เราก็ต้องขาย”

ความหวังของอาแซอยู่ที่ราคาขี้ยาง เขาอยากเห็นราคาสูงขึ้น ขณะที่พูดคุยกันวันนั้น ราคาขี้ยางยังไม่ถึง 20 บาท “ ขายขี้ยางสี่กิโลยังซื้อปลาทูสดกิโลหนึ่งไม่ได้เลย” เขาว่า ภาระสำคัญในวันนี้คือการส่งลูกสี่คนเรียนให้จบ ลูกบางคนกู้ยืมเงินเรียน แต่พ่อและแม่ยังต้องหาเงินสนับสนุนค่าใช้จ่ายอื่นๆ ความหวังสำคัญคือเมื่อลูกจบมาจะมีงานทำ

ลูกคนโตของอาแซเรียนศึกษาศาสตร์ ตั้งเป้าว่าถ้าจบมาแล้วจะเป็นครู จะเป็นครูที่ไหนไม่สำคัญ เขาว่า ขอเพียงให้ได้งานทำก่อนในภาวะเช่นนี้ ลูกคนรองเรียนที่ทหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์หรือม.อ.ปัตตานี ที่ผ่านมาอาแซบอกว่าดูเหมือนลูกๆเข้าใจสภาพเศรษฐกิจ บางวันก็กลับมากินข้าวที่บ้าน แต่เมื่อมองงานในอนาคตของลูก เขาคิดว่าคงไม่มีใครในหมู่ลูกๆที่จะมาเป็นชาวสวนแบบพ่อและแม่ แต่ก็เชื่อว่าถ้าไม่มีงานจริงๆลูกอาจกลับมาช่วยงานก็ได้ แต่ก่อนจะไปถึงวันนั้นต้องให้ลูกเรียนจนจบและหางานให้ได้ก่อน ตอนนี้พวกเขาจึงยึดหลักสำคัญคือประหยัด

“ตลาดนัดก็งดไป แถวนี้มีตลาดนัดวนกันทุกวัน เรารอซื้อจากโชเล่ย์ที่มาขายหน้าบ้านก็พอ แกงอย่างเดียวก็พอกิน ปลูกข้าวไว้กินเองเอง ปลูกผักไว้ข้างบ้าน ก็ลดรายจ่ายไปได้เยอะ” ชาวสวนยางอย่างอาแซมีความอดทนเป็นเลิศ หนทางของเขาในวันนี้นั้นผ่านการคิดและประเมินมาแล้วอย่างรอบคอบ ไม่ใช่การเพียงแต่ทำตามที่เคยทำไปวันๆ

“เราต้องสู้ อยู่กันต่อไป จนกว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้น จะไปทำอย่างอื่นก็ไม่เป็น ทำงานที่บ้าน ไม่ต้องไปทำงานที่อื่น ไม่ต้องจ่ายค่าเช่า ยังไงอยู่บ้านเราก็ดีที่สุดแล้ว”

ท่ามกลางสถานการณ์เช่นนี้ การมีที่ดินเอาไว้สำหรับการทำมาหากินจึงเป็นเรื่องใหญ่ เขาเชื่อว่าผู้คนจะเก็บที่ไม่คิดขาย แม้ว่าจะมีโครงการตัดถนนเข้ามาจนชิดที่ดินแต่เมื่อมีคนมาหาทางกว้านซื้อจำนวนมากเขาเชื่อว่ายากที่จะทำได้ “อาจจะได้บ้างรายสองราย แต่ซื้อมากๆผมว่าไม่มีคนขาย” เพราะผู้คนตระหนักว่าที่ดินคือปัจจัยสำคัญของการทำมาหากิน สำหรับอาแซและภรรยา อย่างน้อยที่ดินนี้จะทำให้พวกเขาพึ่งพาตัวเองมีรายได้ไปเรื่อยๆ

(Visited 34 times, 1 visits today)
Close