Written by 8:18 am Patani Notes, Staff's Picks

24 มิถุนายน : รำลึกสายสัมพันธ์คณะราษฎรกับชายแดนใต้

วันนี้เป็นวันครบรอบ 88 ปีของการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร การเปลี่ยนแปลงหนนั้นมีความเชื่อมโยง มีผลสะเทือนและเสนอโอกาสให้กับพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ไม่น้อย 

คณะราษฎรนั้นอันที่จริงมีสมาชิกสายพลเรือนที่มาจากสามจังหวัดภาคใต้ด้วย นั่นคือจรูญ สืบแสง ซึ่งเป็นชาวปัตตานี จรูญเป็นสมาชิกสายพลเรือนของคณะราษฎรที่ว่ากันว่ามีความกระตือรือร้นอย่างมากในการสร้างความเปลี่ยนแปลง นรนิติ เศรษฐบุตรเขียนไว้ในเวบไซท์ฐานข้อมูลของสถาบันพระปกเกล้าระบุว่าเขาเป็นสมาชิกสายพลเรือนคนเดียวที่ไปนอนรอปฏิบัติการที่บ้านของสมาชิกสายทหารเรือก่อนถึงสองวัน จรูญเป็นคนที่ว่ากันว่าฝีปากกล้า บ้านเกิดของเขาอยู่ที่ถนนอาเนาะรู จังหวัดปัตตานี บิดาเป็นนายแพทย์คือขุนวรเวชวิชกิจ (ซุ้ย สืบแสง) เรียนจบด้านการเกษตรจากฟิลิปปินส์ รับราชการที่กระทรวงเกษตร ได้รับการชักชวนจากนายทวี บุณยเกตุให้เข้าร่วมกับคณะราษฏร หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง จรูญ สืบแสงได้กลายไปเป็นหนึ่งในผู้แทนชั่วคราวจำนวน 70 คน เคยเป็นทั้งอธิบดีกรมศุลกากรและอธิบดีกรมรถไฟ เป็นรัฐมนตรีเกษตรในยุคของรัฐบาลหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์

จรูญ สืบแสงเป็นน้องชายของนายแพทย์เจริญ สืบแสงหรือขุนเจริญวรเวชช์ เป็นบุคคลสำคัญอีกรายหนึ่งที่ควรรู้จักสำหรับประวัติศาสตร์การเมืองของสามจังหวัดภาคใต้ นพ.เจริญ สืบแสง เป็นแพทย์หลวงของจังหวัดปัตตานี เคยเป็นผู้แทนของปัตตานีเมื่อ 2489 เป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งองค์การสันติภาพแห่งประเทศไทย ข้อมูลจากเวบไซท์ชายแดนใต้Chaidantai ที่มีภาพของนพ.เจริญในเรือนจำระบุว่า นพ.เจริญอยู่ในกลุ่มคนที่ถูกจับกุมโดยคำสั่งของพล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยในเวลานั้นที่ให้ปราบปรามขบวนการรักชาติและคอมมิวนิสต์ มีผู้ถูกจับรวม 104 คน นพ.เจริญจึงเป็นที่รู้จักในนามเกี่ยวพันกับ “กบฎสันติภาพ” 

นพ.เจริญ สืบแสงนี่เองที่รู้จักกับหะยีสุหลง อับดุลกอเดร์ ตวนมีนาลหรือโต๊ะมีนา บุคคลสำคัญในสามจังหวัดชายแดนใต้ที่ต่อสู้เพื่ออัตลักษณ์และผลประโยชน์ของพื้นที่ แต่ทว่าได้ถูกบังคับอุ้มหายไปเป็นคดีคนหายคดีแรกๆ ไม่ใช่เพียงรู็จักเท่านั้นแต่ดูเหมือนทั้งสองคนจะสนิทสนมกันด้วย นพ.เจริญในช่วงลงสมัครเลือกตั้งเป็นผู้แทนได้รับการสนับสนุนจากหะยีสุหลง จนกระทั่งหะยีสุหลงเองก็ลงเอยขัดแย้งกับคู่แข่งของนพ.เจริญที่ต้องการให้หะยีสุหลงสนับสนุนฝ่ายตน  เนาวนิจ สิริผาติวิรัตน์ เขียนไว้ในเวบไซท์ Read Journal หรืออ่าน ว่านพ.เจริญยังใกล้ชิดกับ “นายผี” หรืออัศนี พลจันทร์ โดยเฉพาะช่วงที่อัศนีไปเป็นอัยการอยู่ที่ปัตตานีสองปี ส่วนกับบ้านหะยีสุหลงนั้นมีความใกล้ชิดกันเป็นอย่างมาก ในช่วงที่หะยีสุหลงถูกดำเนินคดีในข้อหาเป็นขบถ และต่อมาถูกตัดสินจำคุกอยู่ในเรือนจำว่ามีความผิดฐานเผยแพร่ข้อมูลให้ร้ายรัฐบาล หะยีสุหลงก็ได้เขียนจดหมายส่งออกมาถึงภรรยาผ่าน นพ.เจริญด้วย มีข้อมูลที่ผู้เขียนระบุไว้ว่า นพ.เจริญพยายามจะรณรงค์ขอให้มีการอภัยโทษหะยีสุหลง นพ.เจริญ กับนายผีหรืออัศนี พลจันทร์ ต่างถูกไล่ล่าเพราะกรณีกบฎสันติภาพ อัศนีหนีไปได้แต่นพ.เจริญถูกจับ และต่อมาหะยีสุหลงถูกอุ้มหายไป

หะยีสุหลงนั้นยังเชื่อว่ามีสายสัมพันธ์โดยตรงกับนายปรีดี พนมยงค์ด้วย เรื่องราวของสายสัมพันธ์อันนี้ ผู้ที่สนใจอาจหาอ่านได้จากหนังสือ “ประวัติศาสตร์วิพากษ์: สยามไทยกับปาตานี” โดยธเนศ อาภรณ์สุวรรณ นักวิชาการประวัติศาสตร์ ในหนังสือนี้ธเนศเสนอผู้อ่านว่า การศึกษาการเมืองของสยามและปาตานีในช่วงใกล้เคียงและหลัง 2475 เราน่าจะเปลี่ยนมุมมองการศึกษาใหม่ มองดูความสัมพันธ์ของบุคคลที่มีบทบาทสร้างความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในช่วงนั้นใหม่ หะยีสุหลง นายเตียง ศิริขันธ์ และอีกหลายคน ต่างก็อยู่ในยุคสมัยเดียวกันกับปรีดี พนมยงค์ ความเคลื่อนไหวทางการเมืองในระดับท้องถิ่นไม่ว่าในภูมิภาคอื่นหรือในสามจังหวัดภาคใต้และในพื้นที่ส่วนกลาง ต่างมีแรงกระตุ้นจากสถานการณ์โลกและในประเทศเวลานั้นที่มีความต้องการจะจัดความสัมพันธ์ของการเมืองภาพใหญ่และท้องถิ่นเสียใหม่ และที่สำคัญ ไม่ใช่การพยายามแยกตัวหรือบ่อนทำลายเสถียรภาพและความมั่นคงตามกรอบที่มักศึกษากัน หนังสือของธเนศระบุว่า ปรีดีและพระยาพหลพลพยุหเสนาเคยไปงานเปิดโรงเรียนปอเนาะของหะยีสุหลงที่ปัตตานี

หนังสือเล่มนี้กล่าวถึงมุมมองของทั้งปรีดีและหะยีสุหลงในเรื่องของความเป็นชาติ และที่ทางของคนกลุ่มน้อยในความเป็นชาตินั้น ที่สำคัญ เมื่อหะยีสุหลงรวบรวมความคิดเห็นจากบรรดาผู้คนในพื้นที่ และยื่นข้อเสนอ 7 ข้อเพื่อขอให้มีการปรับเปลี่ยนหลายเรื่องในการบริหารพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ รัฐบาลของนายถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ก็ไม่ได้มองเห็นเป็นเรื่องเจตนาต้องการล้มระบบการปกครองแต่อย่างใด แม้ว่าจะมีบางข้อที่รัฐบาลระบุว่าคงยากจะให้ได้ แต่ก็ได้มีการนัดหมายเพื่อจะเจรจาต่อรองกัน ทว่าต่อมารัฐบาลนี้ถูกรัฐประหารเมื่อ 2490 ท่ามกลางคลื่นลมการเมืองที่รุนแรงอย่างยิ่ง รัฐประหารหนนั้นเป็นการเปลี่ยนขั้วอำนาจทางการเมือง รัฐบาลใหม่มิได้มองหะยีสุหลงเป็นคนที่จะร่วมมือพัฒนาพื้นที่ด้วยกันได้อีกต่อไป แต่ทว่าเป็นภัยทางการเมืองเพราะใกล้ชิดศูนย์อำนาจการเมืองชุดเดิม 

รัฐบาลใหม่ภายใต้การนำของพรรคประชาธิปัตย์ที่มีนายควง อภัยวงศ์เป็นนายกรัฐมนตรีได้พยายามคัดสรรหาผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานีที่ห่างไกลจากอิทธิพลของคณะราษฎร และไปลงเอยที่พระยารัตนภักดี อดีตคู่แข่งทางการเมืองของเจริญ สืบแสง และท่านผู้นี้เองที่มีส่วนให้ข้อมูลเรื่องหะยีสุหลงว่ามีการกระทำไม่น่าไว้วางใจ ข้อมูลเหล่านี้บวกกับสายสัมพันธ์ก่อนหน้าทำให้ต่อมาหะยีสุหลงได้ภาพกลายเป็นผู้ต่อต้านรัฐ พระยารัตนภักดีเข้ารับตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดได้ไม่นานก็มีการออกคำสั่งจับกุมตัวหะยีสุหลง และยังเป็นผู้เสนอให้ย้ายที่คุมขังหะยีสุหลงจากเรือนจำปัตตานีไปยังเรือนจำนครศรีธรรมราชด้วยเหตุผลว่าเกรงจะมีการก่อการจราจล ข้อมูลจากครอบครัวหะยีสุหลงระบุว่า ในช่วงที่อยู่ในเรือนจำนี้เองหะยีสุหลงเขียนไว้ในจดหมายถึงภรรยาว่า ไม่ต้องการจะฎีกาคำสั่งศาลแต่ไม่อยากขัดนพ.เจริญและอัศนี นับเป็นข้อมูลที่ระบุให้เห็นความสัมพันธ์ของบุคคลเหล่านั้นว่าเกื้อกูลซึ่งกันและกันในสถานการณ์เช่นนั้น หะยีสุหลงหลังจากออกจากเรือนจำพ้นโทษไปแล้ว ก็มาถูกอุ้มหายไปเมื่อ 2497 

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ์ระบุว่า ต้องนับว่าการเปลี่ยนแปลงหนนั้นเป็นการปิดโอกาสอีกครั้งหนึ่งของการที่จะได้มีการคลี่คลายประเด็นที่จะเป็นชนวนความขัดแย้งในพื้นที่หลายเรื่อง

(Visited 497 times, 1 visits today)
Close