Written by 7:47 am Patani Notes

ทบทวนข้อเสนอ 7 ข้อของหะยีสุหลงในวาระครบรอบ 65 ปีการถูกบังคับสูญหาย

ในวันครบรอบการถูกบังคับสูญหายของหะยีสุหลงในปีที่ 65 วันที่ 13 สิงหาคม 2562 เด่น โต๊ะมีนาและครอบครัว ได้เปิดบ้านหะยีสุหลง อ่านยาซีน และจัดเสวนาในหัวข้อ “ทบทวนข้อเสนอ 7 ประการ จากอดีตถึงปัจจุบัน” โดยมีวิทยากรสองคนจากสำนักศูนย์เฝ้าระวังสถาณการณ์ภาคใต้คือ ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี และ รอมฎอน ปันจอร์

ก่อนเวทีเสวนาจะเริ่ม เด่น โต๊ะมีนาและสส.เพชรดาว โต๊ะมีนา ในฐานะนักการเมืองระดับชาติคนที่สามของตระกูล ได้พูดย้อนไปถึงไทม์ไลน์สำคัญของครอบครัว ตั้งแต่การที่หะยีสุหลงมอบข้อเสนอ 7 ข้อต่อรัฐบาลหลวงธำรงค์นาวาสวัสดิ์ในปี 2490 ต่อมาหะยีสุหลงหายตัวไปในปี พ.ศ. 2497 ต่อมาในการเลือกตั้งครั้งที่ 8 ของประเทศไทยปี 2500 หะยีอามีน บุตรชายของหะยีสุหลงได้รับเลือกตั้งพร้อมกับบันเทิง อับดุลบุตร โดยสังกัดพรรคเสรีมนังคศิลาด้วยความจำเป็น เพราะการสูญหายของหะยีสุหลงนั้นสันนิษฐานกันว่าจะเกิดขึ้นโดยคำสั่งจากแกนนำในพรรค เช่นเดียวกันกับการที่แพทย์หญิงเพชรดาวตกอยู่ในสถานการณ์จำเป็นที่ต้องโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีที่ชื่อพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา แพทย์หญิงเพขรดาวนั้นเป็นนักการเมืองระดับชาติผู้หญิงคนแรกที่มาจากปัตตานี ส่วนเด่น โต๊ะมีนาได้รับเลือกตั้งครั้งแรกในปี 2519

หะยีสุหลงคือแรงบันดาลใจ

อาจารย์ศรีสมภพ นักวิชาการคนสำคัญในพื้นที่กล่าวถึงหะยีสุหลงว่าคือแรงบันดาลใจสำคัญในการที่อาจารย์ได้ทำงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับประเด็นการปกครองที่ถือว่าเป็นหนึ่งในทางออกสำคัญในการคลี่คลายปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ ซึ่งงานนี้ออกมาในช่วงปี 2550 “เรื่องราวของหะยีสุหลงคือแรงบันดาลใจในช่วงทำวิจัยตอนนั้นที่ยังไม่มีใครกล้าพูด เรามีโอกาสได้นั่งทบทวนและคิดว่าประเด็นที่สำคัญมากคือการจัดการปกครองที่เหมาะสมซึ่งพูดกันตั้งแต่สมัยหะยีสุหลง”

สอดคล้องกับสิ่งที่ศาสตราจารย์ดันแคน แม็คคาร์โก ผู้เขียนหนังสือ “ฉีกแผ่นดิน” ที่ย้ำว่าถ้าไม่จัดการกับประเด็นทางรัฐศาสตร์ก็จะแก้ปัญหาสามจังหวัดใต้ไม่ได้ ถึงแม้ว่าตลอดสิบกว่าปีของความรุนแรง จะมีหลายคนในพื้นที่สะท้อนว่าต้องการอำนาจที่จะจัดการตนเองมากขึ้น แต่อาจารย์ศรีสมภพก็ยืนยันว่าบางทีการแก้ปัญหาก็ต้องอิงกับรัฐด้วยเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง อาจารย์ศรีสมภพบอกว่าโดยพื้นฐานแล้วการต่อสู้ในพื้นที่นี้มีสองแบบคือ การต่อสู้โดยตรง ใช้กำลังอาวุธ เป็นวิธีการแบบไม่สันติ กับการต่อสู้อีกแบบคือการต่อสู้ในแบบสันติวิธี เพื่อหาทางออกในการจัดการตัวเองให้ได้ ข้อเสนอการปกครองของอาจารย์ศรีสมภพคือการจัดทบวงดูแลพื้นที่

หนึ่งในโมเดลที่เกิดขึ้นในพื้นที่หลังจากเกิดความรุนแรงขึ้นเมื่อปี 2547 คือการกำเนิดของ พรบ. ศอ.บต. ที่มาจากการผลักดันของหลายฝ่าย ทั้งประชาชน ภาควิชาการ ภาคการเมือง แต่บทบาทของ ศอ.บต. กลับลดน้อยถอยลงไปเมื่อ คสช.เข้ามาบริหารประเทศ.สำหรับอาจารย์ศรีสมภพแล้ว ข้อเสนอของหะยีสุหลงคือจุดเริ่มต้นสำคัญ เมื่อถามว่าควรจะทบทวนไหม อาจารย์ศรีสมภพยืนยันว่าข้อเสนอเดิมยังคงมีพลังและยังคงสอดคล้องกับเหตุการณ์ปัจจุบัน แต่ที่สำคัญคือเราควรทบทวนและดูว่าจะพัฒนาข้อเสนอเรื่องการปกครองนี้ได้อย่างไรภายใต้กลไกของระบอบประชาธิปไตย

แยกศาลชารีอะห์คือข้อเสนอที่อ่อนไหว

รอมฎอน ปันจอร์ คิวเรเตอร์หรือภัณฑารักษ์แห่งดีพเซาธ์วอทช์ ชวนย้อนอดีตไปในช่วงปี 2490 ภายหลังจากที่หะยีสุหลงได้ยื่นข้อเสนอ 7 ข้อ โดยบอกว่าบริบทในขณะนั้น ปัตตานีน่าจะเป็นจังหวัดเดียวที่ดื้อแพ่ง ส่วนสามจังหวัดที่เหลือ ยะลา นราธิวาส สตูลไม่ได้มีการเคลื่อนไหวมาก แต่ปัตตานีโดยหะยีสุหลงยืนกรานว่าจะต้องแยกศาลออกมาเป็นชารีอะห์ก่อนที่จะมีดาโต๊ะยุติธรรม รอมฎอนย้ำว่าข้อเสนอเรื่องแยกศาลเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ เพราะเรื่องขอบเขตของศาลนั้นสำคัญมาก โดยรอมฎอนได้เปรียบเทียบในบริบทของสถานการณ์ปัจจุบันเพื่อให้เห็นภาพชัดคือ กรณีที่กำลังเกิดขึ้นในฮ่องกง จุดชนวนสำคัญคือเรื่องขอบเขตอำนาจศาล มีความพยายามผลักดันกฎหมายให้เกิดการส่งผู้ร้ายข้ามแดน ซึ่งเรื่องนี้พัวพันกับอำนาจอธิปไตย

เรื่องของศาลนี้เองที่ทำให้บทบาทของหะยีสุหลงโดดเด่นมาก แต่ขณะเดียวกันการต่อสู้ถือว่ายังอยู่ในแนวสันติวิธี

ข้อสังเกตสำคัญที่รอมฎอนนำเสนอคือ ข้อเสนอ 7 ข้อของหะยีสุหลงจะได้รับความสนใจเสมอเมื่อประชาธิปไตยในไทยเบ่งบาน ขณะเดียวกันรอมฎอนก็ยืนกรานว่าความสามารถที่รัฐไทยจะคลี่คลายความขัดแย้งในสามจังหวัดใต้ ขึ้นอยู่กับว่าสังคมไทยจะรับข้อเสนอ 7 ข้อนี้ได้แค่ไหน

อันที่จริงข้อเสนอ 7 ข้อนั้นก็มีอยู่หลายเวอร์ชั่น รอมฎอนเล่าว่ามีงานวิชาการหลายชิ้นที่ศึกษาข้อเสนอ 7 ข้อ เช่นงานของอาจารย์ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ อาจารย์พุทธพล มงคลวรวรรณ และอาจารย์โชคชัย วงษ์ตานี ความน่าสนใจคือข้อเสนอนั้นมีหลายสำนวน บางสำนวนเรียกคนพื้นที่นี้ว่า มุสลิม บ้างเรียกว่า มลายู ในหนังสือ Kukusan ที่เป็นเสมือนบันทึกของหะยีสุหลงขณะอยู่ในเรือนจำนั้นมีข้อเสนออยู่เพียง 6 ข้อ และมีส่วนที่เขียนเพิ่มจากบันทึกอีกหนึ่งข้อ ซึ่งเป็นสิ่งที่รอมฎอนสันนิษฐานว่าเป็นการเขียนเพิ่มเติมโดยหะยีอามีน โต๊ะมีนา ซึ่งว่าด้วยเรื่องการยอมรับคนมลายู รอมฎอนตั้งข้อสังเกตุว่าต้นฉบับของวันที่ 3 เมษายน 2490 ไม่มีประเด็นเรื่องการยอมรับความเป็นคนมลายู อย่างไรก็ตามในบรรดาสิบกว่าสำนวนของข้อเสนอนั้น รอมฎอนชี้ว่าข้อเสนอที่คงเส้นคงวาที่สุดคือข้อเสนอที่ 1 ที่ว่าด้วยการปกครอง

ในส่วนบริบททางการเมืองในช่วงสมัยนั้น รอมฎอนบอกว่า ดูเหมือนในยุคนั้นทางเลือกของคนที่สามจังหวัดน่าจะมีอยู่ ‘สามบวกหนึ่ง’ ทางเลือก กล่าวคือ ประการแรก รวมเข้ากับสาธารณรัฐมลายา สองคือออโตโนมี ในแบบข้อเสนอของหะยีสุหลง แม้ตอนนั้นจะยังไม่มีใครรู้จักคำนี้ สามคือปลดปล่อยเป็นเอกราช ขณะที่อีกทางเลือกหนึ่งที่ไม่มีใครพูดถึงก็คืออยู่กับรัฐไทยดังเช่นในปัจจุบัน

หากทบทวนความคืบหน้าของข้อเสนอ 7 ข้อว่าในทางปฏิบัติมีความคืบหน้าไปถึงไหนแล้วในแต่ละด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องศาล ภาษา การเลือกตั้งผู้นำ รอมฎอนบอกว่า ไม่อาจแยก 7 ข้อออกจากกันได้ ต้องมองเป็นแพ็คเกจคือให้เรื่องเดียวกัน โดยเฉพาะเรื่องออโตโนมี งานของอาจารย์ศรีสมภพคือสิ่งที่ทำให้ประเด็นเรื่องออโตโนมีมีชีวิต แต่รอมฎอนเสนอว่าอันที่จริงหนึ่งในคนที่ทำให้คำว่าออโตโนมีมีชีวิตชีวามากคือมหาธีร์ ผู้นำมาเลเซียที่เสนอเรื่องนี้ภายหลังเหตุการณ์ตากใบ และข้อเสนอของพลเอกชวลิต ยงใจยุทธผ่านปัตตานีมหานคร รอมฎอนยังเสนออีกว่าคนที่ทำให้คำนี้ยังมีชีวิตด้วยก็คือภาคประชาชน ซึ่งในช่วงปี 2551-2556 มีเสนอกันหลากหลายรูปแบบ รวมทั้งพรรคการเมืองเช่นพรรคเพื่อไทยที่เสนอร่างนครปัตตานี พรรคมาตุภูมิเสนอเป็นทบวง และล่าสุดพรรคภูมิใจไทยที่เสนอเรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษ รวมทั้งพรรคอื่นๆที่เสนอเรื่องการกระจายอำนาจ ขณะเดียวกันภาคประชาชนบางส่วนได้เสนอเรื่องการกำหนดใจตนเองหรือกระทั่งเอกราช เรื่องนี้ทั้งหมดล้วนย้อนกลับไปสู่ข้อเสนอในอดีตของหะยีสุหลงทั้งสิ้น

คนที่ไม่ยอมรับออโตโนมี คือคนที่อยากได้เอกราชกับฝ่ายรัฐ

อาจารย์ศรีสมภพพูดเสริมในประเด็นออโตโนมีว่า คนที่ไม่ยอมรับออโตโนมีนั้นมีอยู่สองฝั่ง คือคนที่อยากได้เอกราช กับ ฝ่ายรัฐที่ไม่เห็นด้วย เพราะกลัวว่าจะกลายเป็นสะพานที่เชื่อมไปสู่การเป็นเอกราช และกลัวว่าจะเป็นกลยุทธของฝ่ายขบวนการ ทั้งสองฝ่ายนี้ต่างไม่ยอมรับออโตโนมี ซึ่งนับว่าท้าทายมาก สิ่งสำคัญคือทำอย่างไรจึงจะมีพื้นที่ทางการเมืองที่ผู้คนสามารถมีความภาคภูมิใจในตัวตนของตัวเอง อาจารย์ศรีสมภพมองว่าการได้มาซึ่งพื้นที่ทางการเมืองแบบนี้ถือว่าสำคัญมาก คำถามคือ ทุกวันนี้ผู้คนได้พื้นที่ทางการเมืองเช่นนี้หรือยัง ในสมัยหะยีสุหลงพื้นที่เหล่านี้ถูกปิดร้อยเปอร์เซนต์ แต่ขณะนี้ถือว่าเปิดมากขึ้น อาจารย์ศรีสมภพบอกว่านี่คือหัวใจสำคัญในการต่อสู้ของชาวปาตานี ไม่ว่าอนาคตจะออกมาในรูปไหน พื้นที่ทางการเมืองเหล่านี้คือสิ่งสำคัญ

ขณะเดียวกันอาจารย์ศรีสมภพก็ยืนยันว่าความรู้สึกเหล่านี้เมื่อปรากฎตัวออกมาแล้ว ก็จะเติบโตด้วยตัวของมันเอง และนั่นคือจิตวิญญานของคนที่นี่ อาจารย์ศรีสมภพย้อนความหลังเมื่อสิบกว่าปีที่แล้วเมื่อทำวิจัยเรื่องรูปแบบการปกครองของพื้นที่และนำเสนอสาธารณะตอนปี 2550 ว่า ‘โดน’ ทุกอย่าง ทั้งดอกไม้และก้อนหิน จากนั้นดูคล้ายกับจะสงบไป แต่ก็ปรากฎว่าประเด็นนี้สะท้อนกลับเข้ามาอีกครั้งในสนามของบทสนทนา อาจารย์ศรีสมภพบอกว่าสำหรับผู้ที่มีจิตวิญญาณในการต่อสู้ ทั้งภาคการเมืองและภาคประชาชนแล้ว พื้นที่พูดคุยถกเถียงได้เปิดขึ้นโดยเฉพาะเรื่องรูปแบบการปกครอง อาจารย์ศรีสมภพย้ำว่าแม้จะมีผู้สนใจขับเคลื่อนเรื่องเช่นนี้เป็นจำนวนมาก แต่ถือว่ายังไม่พอ อาจารย์เชื่อว่าพลวัตของการพูดคุยเรื่องนี้จะสูงขึ้นเรื่อยๆในอนาคต ‘มันต้องคุยกันให้มากกว่านี้ให้สะเด็ดน้ำ’

อาจารย์ศรีสมภพยังฝากฝังถึงนักการเมืองในสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากพื้นที่ว่า ต้องช่วยกันส่งเสียงเพื่อเป็นพลังเรียกร้องให้กับคนในพื้นที่ นักการเมืองเหล่านี้จะเป็นตัวนำที่สำคัญในประเด็นนี้

บทบาทสำนักจุฬาราชมนตรี และนักการเมือง

ในช่วงของการถามตอบนั้น ผู้เข้าร่วมการเสวนาคนหนึ่งได้ถามวิทยากรถึงบทบาทของสำนักจุฬาราชมนตรีต่อประเด็นในพื้นที่ รอมฎอนให้ความเห็นว่านับตั้งแต่ปี 2547หน้าที่ของสำนักจุฬาราชมนตรี ก็คือการตีความศาสนาเพื่อสนับสนุนแนวคิดของรัฐบาลและเพื่อจะบอกว่าแนวคิดการต่อสู้เพื่อเอกราชนั้นเป็นสิ่งที่บิดเบือน รอมฎอนย้ำว่าเรื่องนี้มีความจำเป็นเพราะความรุนแรงในพื้นที่ได้สร้างรอยร้าวระหว่างมุสลิมกับคนที่ไม่ใช่มุสลิมในประเทศไทย เรียกได้ว่าเป็นภารกิจที่ยากเย็นมาก ทางสำนักจุฬาราชมนตรีคงไม่แตะเรื่องการเมืองการปกครอง

รอมฎอนเห็นว่าความชอบธรรมที่ผู้จะ “พูดแทน” ชาวปาตานี / มลายูมุสลิมในเวลานี้ไม่ได้อยู่ที่มัจลีสหรือคณะกรรมการอิสลามอีกต่อไป แต่ว่าอยู่ที่รัฐสภา ขณะที่ความชอบธรรมของขบวนการปฏิวัติคืออาศัยการรับช่วงต่อมรดกของการต่อสู้จากผู้นำศาสนารวมไปถึงชนชั้นนำมลายูในอดีต รอมฎอนขยายความว่า ส.ส. คือผู้ที่คอยส่งเสียงบอกเล่าเรื่องราวความเจ็บปวด กระทั่งความฝันของคนในสามจังหวัดใต้ และจะต้องทำให้คนที่อื่นๆเข้าใจผ่าน ส.ส. ว่าพวกเขาจะอยู่กันได้อย่างไรในอนาคต ซึ่งเขาย้ำว่านี่คือสิ่งที่ขบวนการปฏิวัติทำไม่ได้เพราะพวกเขาอยู่ใต้ดิน และแม้ว่าในความเป็นจริงแล้ว ส.ส. เองก็อาจจะทำสิ่งนี้ได้ไม่ครบถ้วน แต่สิ่งสำคัญที่จะชี้วัดว่าประเด็นเรื่องการเมืองการปกครองของพื้นที่จะยัง “มีชีวิต” และสำคัญ ก็คือการที่คนในสามจังหวัดภาคใต้ไม่เงียบนั่นเอง

(Visited 143 times, 1 visits today)
Close