ปะนาเระเป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่มี “คนกลับจากมาเลย์” ค่อนข้างมาก แรงงานกลุ่มใหญ่กลับบ้านหลังจากที่มาเลเซียล็อคดาวน์ พวกเขาคือคนที่ไปทำงานร้านอาหารเป็นหลัก กลับมาอยู่บ้านได้หลายเดือนแล้ว พวกเขาพบลู่ทางทำมาหากินกันอย่างไร Patani Notes เดินทางไปพูดคุยกับแรงงานบางส่วนที่กลับมา โดยกลุ่มแรกเป็นครอบครัวใหญ่ประมาณ 7 คน
เดินเข้าไปที่บ้านมีผู้หญิงสี่คนกับเด็กเล็กอีกหนึ่งนั่งรวมกันอยู่หน้าบ้าน ถามว่าพวกเขาทำอะไรกัน ได้รับคำตอบว่า “วันนี้ไม่มีอะไรทำ”
พวกเธอบอกว่าก่อนหน้านี้ มีงานให้นั่งทำนิดๆหน่อยๆ “แก้เซ็ง” นั่นคือการนั่งแกะปลาบิลิสหรือปลากะตักตัวเล็ก ๆ เมื่อพูดถึงเรื่องแกะปลาบิลิส ทุกคนหันมองหน้ากันแล้วก็หัวเราะ พร้อมกับเล่าประสบการณ์การแกะปลากับราคาที่ได้มา
“เริ่มแกะได้ราว ๆ สองเดือน สามวันแกะได้เงินสี่สิบบาท ปลาบิลิสถุงนึงสิบ ก.ก. ถุงนึงได้สี่สิบบาท ถ้าช่วย ๆ กันแกะ วันนึงก็พอได้ แต่เวลามาแบ่งเงินกันแล้ว ตกคนละสิบห้าบาท”
“แต่ก็ทำแก้เบื่อ ดีกว่าอยู่เฉย ๆ”
นุปารีนา เจ๊ะเล๊าะ บอกว่าพวกเธอไม่รับเงินค่าแกะปลารายวัน เธอสะสมไว้หลาย ๆ ครั้งแล้วค่อยรับเงิน เธอบอกว่า “รู้สึกว่าได้เงินเป็นก้อน” แม้ว่าก้อนนั้นจะไม่เยอะ แต่ดีกว่ารับครั้งละสี่สิบบาท ช่วงนี้ไม่มีปลามาให้แกะ ทุกวันนี้นอกจากแกะปลา พวกเธอก็พยายามจะหางานทำในหมู่บ้านหรือพื้นที่ใกล้เคียงด้วย
“อยากให้มีคนมาช่วยเหลือแนะนำ ว่าแถวบ้านมีงานอะไรบ้าง อยากให้มีประกาศ ในเมืองปัตตานี ก็หางานอยู่ แต่ไม่ค่อยมีประสบการณ์อะไร นอกจากทำงานร้านอาหารที่มาเลย์ ก็อาจจะต้องลอง ชีวิตเราต้องลอง”
เดิมทีสมาชิกบ้านนี้ทั้งบ้านไปทำงานที่มาเลเซีย ในบ้านเหลือแค่คนแก่กับเด็กซึ่งเป็นลูก ๆ ของพวกเธอที่ยังต้องเรียนหนังสืออยู่ ทุกเดือนพวกเขาจะได้กลับมาเยี่ยมบ้านในช่วงเวลาที่ต้องมาต่อพาสปอร์ต นุปารีนาบอกว่าการหางานทำแถวบ้านเป็นเรื่องชั่วคราว ที่จริงรอที่จะกลับเข้าไปทำงานในมาเลเซียเหมือนเดิม
“อยู่นี่ไม่มีอะไรทำ จะไปทำงานที่โรงงานก็ไม่ถนัด เราไม่เคยทำ โรงงานปลากระป๋องอะไรแบบนี้ ค่าแรงก็ถูก ทางโน้นค่าแรงดีกว่า”
เรามองไม่เห็นอะไรที่บ้านเรา ไม่มีคนอยู่เท่าไหร่ ไปอยู่ที่โน่นก็อยู่เป็นครอบครัว มีแม่ มีน้อง มีทุกคน ทำงานตั้งแต่บ่ายสาม ถึงประมาณตีสาม สิบสองชั่วโมง
ตอนนี้ทุกคนในบ้านใช้เงินเก็บที่ได้จากการทำงานหลายปีนำมาใช้สอยภายในครอบครัว ขณะที่สามีพวกเธอออกไปทำงานต่างพื้นที่ บางคนไปทำงานประมง บางคนก็ไปกรีดยาง
อีกด้าน ที่บริเวณหน้าหาดปะนาเระ มีร้านอาหารและเครื่องดื่มหน้าใหม่ปรากฎตัวขึ้น สมาชิกคนทำงานในร้านเป็นแรงงานที่กลับมาจากมาเลเซียทั้งหมดเช่นกัน พวกเขารวมกลุ่มกันประมาณ 4-5 คน ทำร้านนี้ขึ้นมาหลังจากตกงาน อาหะมัด ปูเต๊ะ เป็นเจ้าของร้าน
“เงินเก็บที่เก็บไว้ ถูกนำมาใช้ในช่วงที่กลับมาอยู่บ้าน หลายหมื่นบาท เงินที่เก็บไว้เดือนละพัน สองพัน เก็บสะสมหลายปี เดือนหนึ่งที่ว่าประหยัดแล้วก็เจ็ดพันกว่าบาท ลูกสองคนต้องไปโรงเรียน ค่ารถ ค่ากิน อย่างน้อย ๆ คือต้องจ่ายวันละ 300 บาททุกวัน แบบประหยัด ๆ จะซื้อ จะจ่ายอะไรต้องคิดมาก”
อุสมาน สมาชิกอีกคนหนึ่งบอกว่า “ไม่เคยเจออะไรแบบนี้ กลับมาแรก ๆ ก็เตะฝุ่น ไม่มีอะไรทำ เก็บลูกสนมานั่งนับไปเรื่อย ๆ แต่ละวันไม่รู้จะทำอะไร”
อาหะมัด ปูเต๊ะ บอกว่าคิดอยู่นานเรื่องการเปิดร้าน จนตัดสินใจได้และไปกู้เงินจากธนาคารมาทำร้าน
“ก็เลยชวนน้อง ๆ กลุ่มนี้มาทำกัน นิดหน่อย ๆ ก็ช่วยกัน แล้วเด็ก ๆ พวกนี้เคยทำงาน แล้วเขาไม่มีงานก็เบื่อ ถ้าเราปล่อยก็อาจจะมีเรื่องขโมย เล่นยา ถ้าเราเอามาทำแบบนี้เขาจะไม่มั่ว ทำงาน มีเงินใช้ ”
หลังจากเปิดร้านมาได้ระยะหนึ่ง บางคนเริ่มคิดว่าหากร้านนี้ไปได้ดีอาจจะไม่ต้องกลับไปทำงานที่มาเลเซียอีก แต่อาหะมัดบอกว่า เทียบกันไม่ได้
“ถ้ามาเลย์เปิดก็กลับไปมาเล ร้านนี้ก็ให้หลานดูแล เพราะมาเลย์หาเงินง่าย ที่นี่เปิดเหมือนมาเลย์นะ บ่ายสอง ปิดตีหนึ่ง มาเลย์เปิดบ่ายสองปิดตีสาม ถ้าเปรียบเทียบที่นี่ได้สองพัน สามพัน มาเลได้หมื่นกว่าต่อคืน แค่สามสี่ชั่วโมง หลังจากคนเลิกงาน”
เจ๊ะรอสนะ บินสะอุดี ซึ่งทำร้านอาหารที่ปะนาเระมาร่วมยี่สิบปี กล่าวไว้ในวงเสวนาเรื่องวิกฤตโควิดกับผู้ประกอบการอาหาร ในงาน “ฉ่ำ ฟู้ดติวัล” เมื่อวันที่ 6 พ.ย. 63 ว่า ปะนาเระเปลี่ยนไปมากเมื่อแรงงานที่มาเลเซียกลับมา
“เมื่อก่อนปะนาเระเงียบมาก เพราะคนส่วนใหญ่จะไปทำงานที่มาเลเซีย ไปทำร้านต้มยำ ไปเป็นแรงงาน เมื่อมาเลเซียล็อกดาวน์ คนกลับมาแทบทุกบ้าน ตอนแรกกลับมาแล้วยังไม่รู้จะทำอะไร หลังจากนั้นสองเดือนเริ่มเห็นมีร้านอาหารเยอะขึ้น ร้านกาแฟข้างทางเยอะมาก แต่มันก็มีทั้งผลดี และผลเสีย คือคนที่กลับมาจากมาเลเปิดร้านเพิ่มมากขึ้น แต่คนที่ซื้อมีกำลังซื้อน้อย”
ยังไม่มีใครรู้ว่าวิกฤติโควิดจะเป็นไปอย่างไร และมาเลเซียจะเปิดประเทศได้เมื่อไหร่ คนที่กลับมาจากมาเลเซียในสามจังหวัดที่มีจำนวนมากจะทำงานอะไร วรุฒ ชคทิศ รองประธานสภาอุตสาหกรรม จ.ปัตตานี มองว่านี่เป็นผลกระทบหลักสำหรับสามจังหวัดภาคใต้ที่รัฐต้องหามาตรการเข้ามาช่วยเหลือ
ปัญหาใหญ่แรงงานมันล้นตอนนี้ เพราะฉะนั้นรัฐต้องทำยังไงให้คนกลุ่มนี้มีงานทำ ที่ไม่ต้องอุ้มชู ไม่ต้องแจกเงิน
“สิ่งแรกที่ทำได้คือการลดการนำเข้าผัก ผลไม้ จากข้างนอก ให้ปลูกกันเอง กินกันเอง ใช้กันเอง ถ้าเราพึ่งพาการผลิตจากภายใน ถ้ารัฐชัดเจนว่าลดการพึ่งพาจากข้างนอก ปลูกให้ได้ ก็ต้องปลูก ลดการนำไก่เข้า ลดการนำเนื้อเข้า ผมว่าเงินก็หมุนในพื้นที่ ผักมาจากข้างนอกเยอะมาก รวมถึงไก่ เนื้อ ไก่ที่สามจังหวัดไม่พอ ไก่ฟรีซเยอะมาก ทุกวันนี้ร้านขายไก่แช่แข็งเยอะพอ ๆ กับเซเว่น ภายในปี สองปีนี้ ผู้เล่นจะมากขึ้นเพราะคนตกงานมากขึ้น”