Written by 10:01 am Lifestyle, Patani, Staff's Picks

ฟื้นเมืองหลังโควิดในงาน “ปัตตานี..ใช่เลย!”

ซงจื่อ

โดย ฌัชชา นูนคาน

“เราอยากฟื้นหัวใจให้ปัตตานีได้กลับมาสว่างไสวอีกครั้ง เรียกชีวิตชีวากลับมาอีกครั้ง เหมือนเป็นการ Restart ก่อนที่จะไปถึงเทศกาลปีใหม่”

รองศาสตราจารย์อิ่มจิต เลิศพงษ์สมบัติ รองอธิการบดีวิทยาเขตปัตตานี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.ปัตตานี) เล่าถึงเป้าหมายของการจัดงาน “Shining Pattani” หรือ “ปัตตานี..ใช่เลย!” ที่กำลังดำเนินอยู่ขณะนี้ในตัวเมืองปัตตานีและจะมีไปจนถึงวันที่ 29 พ.ย. 

ถนนอาเนาะรูและปัตตานีภิรมย์รวมทั้งพื้นที่ริมน้ำบางส่วนของจาบังติกอเป็นจุดสำคัญของกิจกรรมของงาน ทั้งหมดนี้เป็นย่านชุมชนเมืองเก่าที่ลือชื่อของปัตตานี ก่อนการระบาดของโควิด พื้นที่เหล่านี้โดยเฉพาะอาเนาะรูและปัตตานีภิรมย์เริ่มเป็นที่รู้จักของผู้คนทั่วไปเพราะการจัดกิจกรรมหลายอย่างหลายครั้ง  แต่กระแสที่กำลังมาแรงของย่านเมืองเก่าปัตตานีกลับมาสะดุดเข้าเพราะการระบาดของโควิดซึ่งทำให้ตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา พื้นที่เงียบเหงาลงลงอย่างมาก งาน “Shining Pattani “ หรือ “ปัตตานี..ใช่เลย!” คือกิจกรรมที่จะทำหน้าที่เปิดตัวฟื้นเมืองกันอีกครั้ง

ผู้จัดรวบรวมกิจกรรมหลากหลายด้วยแนวคิดที่อธิบายสั้นๆว่า 3R อันได้แก่ อาคาร อาหาร และอาภรณ์ โดยในส่วนของอาคารคือความคิดที่นำเสนอ “บ้านทรงคุณค่า” ของปัตตานีที่จะมีการนำเสนอบ้านเก่าที่ยังใช้งานอยู๋ให้เป็นตัวอย่างของที่อยู่อาศัยที่มีอัตลักษณ์แต่ยังอยู่กับชีวิตปัจจุบัน R ที่สองเป็น อาหาร ซึ่งนำเสนอผ่านการจัดพื้นที่ตลาด ซึ่งจะมีทั้งหมด 2 ที่ ได้แก่ตลาดจาบังมากันและตลาดซงจื่อ ส่วน R สามคืออาภรณ์ อันหมายถึงการนำผ้าที่เป็นอัตลักษณ์ของปัตตานีมาดัดแปลงแสดงให้เห็นในแง่มุมต่างๆ มีการสอดแทรกให้ความรู้เกี่ยวกับเมืองเก่าและวัฒนธรรมในพื้นที่ เช่น การเสวนาเรื่องบ้านทรงคุณค่า นิทรรศการแผนที่ทางวัฒนธรรม นิทรรศการศิลปะ “ซูงาตานี วิถีแห่งน้ำ” และการแสดงแฟชั่นโชว์ “วิถีแห่งผ้าและอาภรณ์” เป็นต้น แน่นอนว่า ภายใต้การนำเสนอเหล่านี้ มีความมุ่งหวังว่างานจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของปัตตานีไปด้วยในเวลาเดียวกัน พื้นที่แสดงงานเป็นพื้นที่ชุมชนที่ผสมผสานทั้งจีนและมาลายู ผู้เข้าร่วมจึงจะได้เห็นกิจกรรมที่สะท้อนอัตลักษณ์ของทั้งสองส่วน

รศ.อิ่มจิตบอกว่าความคิดเบื้องหลังของการจัดงานยังคงเป็นเรื่องของการเผยแพร่พื้นที่พหุวัฒนธรรม “งานนี้จุดประสงค์หลักคืออยากให้คนนอกเข้ามาเดิน มาเที่ยว เพราะย่านนี้เป็นย่านที่รุ่งเรืองมากในสมัยก่อน คนไกลจากกรุงเทพก็มาที่นี่ และบางส่วนก็มาจากต่างประเทศ เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ เพื่อมาดูงานศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว” ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว เป็นศาลเจ้าตามคติจีนหนึ่งในสามแห่งของจังหวัดปัตตานี โดยถือเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวไทยเชื้อสายจีนในจังหวัดปัตตานีและใกล้เคียง แต่นอกเหนือจากพื้นที่เก่าแก่เป็นย่านคนจีน ใกล้เคียงก็มีชุมชนมลายู รวมไปถึงคนทำงานรุ่นใหม่ที่กำลังประสานตัวเองเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่อย่างเช่นกลุ่มมาลายูลิฟวิ่งที่เข้าร่วมงานด้วยกิจกรรมหลากหลาย มีตั้งแต่การแสดงงานฝีมือของช่างต่างๆที่ทำงานในสไตล์มาลายูร่วมสมัย เช่นแฟชั่นจากผ้าในพื้นที่ งานฉลุ งานไม้ แม้แต่งานกริชจากช่างฝีมือระดับครูจากรามัน

รศ.อิ่มจิต เล่าว่าที่จริงแล้วงานนี้วางแผนจะจัดประมาณเดือนก.ย.-ต.ค.ที่ผ่านมา แต่เนื่องจากติดปัญหาการระบาดของโควิดทำให้ต้องเลื่อนงานเรื่อยมา การจัดงานหลังโควิดเป็นเสมือนงานแรกที่จะจุดประกายหนใหม่ให้เมือง ด้วยแนวทางเดิมคือการเชิดชูพื้นที่เมืองเก่าสองพื้นที่ คือตำบลอาเนาะรูและตำบลจะบังติกอ

“การสร้างพื้นที่ตรงนี้เพื่อที่จะเชื่อมไปสู่การทำให้ความเป็นย่านเมืองเก่ามันมีความหมายมากขึ้น ทำให้คนเห็นว่าในปัตตานีมีสิ่งที่แม้แต่เป็นย่านเมืองเก่าโบราณ ก็ไม่ใช่เมืองที่ตาย แต่ยังเป็นย่านเมืองโบราณที่ยังมีชีวิต และคนที่เข้ามาไม่ใช่แค่คนภายในที่ภาคภูมิใจกันเองว่านี่คือบ้านเมืองเก่าของเรา แต่เราอยากให้คนอื่นเข้ามาเห็น อยากให้เยาวชนในพื้นที่ คนที่อยู่ในพื้นที่เห็นว่าพื้นที่ของเขามีดี และได้ช่วยกันคิด ช่วยกันสร้างสรรค์”

กิจกรรมบ้านเก่าที่ทรงคุณค่า จะมีการคัดเลือกบ้านเก่า 5 บ้านด้วยกันมานำเสนอ โดยบ้านที่เลือกมานั้น จะต้องเป็นบ้านที่มีอายุไม่น้อยกว่า 50 ปี มีการใช้ประโยชน์อย่างต่อเนื่อง ไม่ถูกปล่อยร้าง มีการดูแลบำรุงรักษาโดยที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรมากนัก และจะต้องเป็นบ้านที่เป็นแหล่งสร้างความรู้ให้กับพื้นที่ ภายในงานจะมีการแจกหนังสือบ้านทรงคุณค่าปัตตานีควบคู่ไปกับการจัดวงเสวนาเรื่องบ้านที่ทรงคุณค่าดังกล่าว

กิจกรรมสำคัญอีกอย่างคือการนำเสนอเรื่องราวของอาหารผ่านพื้นที่ตลาดสองแห่งดังกล่าว ถือเป็นการนำเสนอความ “เก่า” ที่ยังอยู่กับความใหม่ได้ผ่านรูปแบบอาหารการกินแบบพื้นถิ่น เช่นตลาดจาบังมากันที่คาดว่าจะมีอาหารหลายๆแบบที่ไม่ค่อยได้พบเห็นในปัจจุบัน รศ.อิ่มจิตถือว่าตลาด เป็นพื้นที่การเรียนรู้อย่างหนึ่ง

“ตลาด มันเหมือนกับเป็นประตูที่เปิดรับคนที่เดินทางมา ใครมาก็สามารถมาพบกันที่ตลาดได้ มันเป็นพื้นที่ที่จะเข้าไปรู้จัก ไปดูวิถีชีวิตในเรื่องอาหารการกินของเขา”

ส่วนเจ้าภาพร่วมในการจัดงานหนนี้ นอกจากม.อ.ปัตตานีแล้วก็มีเทศบาลเมืองปัตตานี วัฒนธรรมจังหวัดปัตตานี ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดปัตตานี กศน.เมืองปัตตานี รวมไปถึงอีกหลายหน่วยงาน

(Visited 315 times, 1 visits today)
Close