Written by 9:02 am Art, Featured, Patani, Patani Notes

ศิลปะหยุดยั้งการซ้อมทรมาน

Patani Artspace ในปัตตานีเปิดแสดงผลงานศิลปะของ 7 ศิลปินจากสามจังหวัดภาคใต้ มีทั้งภาพวาด การแสดง ภาพถ่าย และสิ่งที่เรียกว่า structure installation รวมทั้งหมดราว 17 ชิ้น ทั้งหมดสื่อสารประเด็นเดียวกันคือผลพวงของการซ้อมทรมาน

“มันเป็นการสะท้อนภาพของการใช้อำนาจ การกดทับ การข่มเหง”

“มันเป็นการสื่อสารด้วยภาษาสากล เพื่อยกระดับปัญญา”

เจ๊ะอับดุลเลาะ เจ๊ะสอเหาะเปิด Patani Artspace แสดงผลงานศิลปะ STOP TORTURE เพื่อสื่อสารให้หยุดยั้งการซ้อมทรมาน

ภาพที่ Patani NOTES หยิบยืมมาจากแกลเลอรีภาพที่เห็นนี้ก็เป็นการสื่อสารดังกล่าว เป็นฝีมือของหนึ่งใน 17 ศิลปินที่นำงานเข้าร่วมหนนี้ เจ๊ะอับดุลเลาะบอกว่างานชิ้นนี้ หุ่นผ้าที่ติดกรงเหล็ก บางส่วนของหุ่นถูกทิ่มแทง มันเป็นหุ่นที่ทำจากผ้าอันเป็นวัสดุที่อ่อนนุ่ม ห่อหุ้มด้วยผ้าเลอปัสที่เป็นผ้าของคนในพื้นที่ ความอ่อนนุ่มของวัสดุหุ่นสวนทางกับความแข็งของกรงเหล็ก มันเป็นจุดช่วยสื่อสารสาระของงานชิ้นนี้ เขาบอกว่างานอีกบางชิ้นศิลปินใช้ตัวเองเป็นสื่อ มีการขว้างปาสีที่เหมือนสีเลือดใส่เพื่อสื่อถึงความเจ็บปวด บางชิ้นเป็นเรื่องราวของคนที่ถูกคลุมด้วยถุงดำ ร่างกายนอนพาดบนเฟรมแสดงให้เห็นถึงความเจ็บปวดทรมาน การดิ้นรนแต่อับจนไม่อาจทำอะไรได้

“ดูรวมๆมันเป็นการสื่อสารที่ตรงไปตรงมา ถูกตีความโดยใช้ศิลปะผ่านการใช้วัสดุ… มันเป็นการสะท้อนภาพของอำนาจ การกดทับ การข่มเหง ถ้าไปดูก็จะเห็นการบอกเล่าเหล่านี้ชัดเจนมาก ตามเจตนาที่เราต้องการจะให้ยุติ ไม่มีการซ้อมทรมานอีกต่อไป และเพื่อให้เห็นความสำคัญของความเป็นคน”

งานศิลปะที่จัดแสดงที่แกลเลอรีหนนี้มาจากการจับมือกันทำงานของแกลเลอรีกับมูลนิธิผสานวัฒนธรรม เป็นส่วนหนึ่งของงานรณรงค์ให้ยุติการซ้อมทรมาน เป็นสิ่งที่ควบคู่ไปกับกระแสความสนใจของสังคมในเวลานี้ที่ให้กับปัญหาการซ้อมทรมานและการอุ้มหายในประเทศไทย ซึ่งในช่วงหลายปีให้หลังนี้มีหลายกรณีเกิดขึ้นทั่วไป ขณะที่สามจังหวัดภาคใต้เป็นพื้นที่หนึ่งที่มีปัญหาทั้งเรื่องอุ้มหายและซ้อมทรมานมาโดยตลอด ความสนใจนี้ผลักดันให้กระบวนการสร้างระบบป้องกันเดินหน้า โดยที่เวลานี้กลไกรัฐสภากำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาร่างกฎหมายป้องกันการอุ้มหายและการซ้อมทรมาน นับเป็นครั้งแรกที่ความพยายามในการออกกฎหมายเช่นนี้ดำเนินมาถึงขั้นเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาหลังจากที่กลไกต่างๆในสังคมรณรงค์ต่อต้านการอุ้มหายและการซ้อมทรมานมานานนับสิบปี

ศิลปินที่นำผลงานเข้าร่วมแสดงจำนวนเจ็ดคนนั้น ส่วนใหญ่อายุอยู่ในวัยหนุ่มทั้งสิ้นคือระหว่างยี่สิบห้าถึงสามสิบปลายๆ คนรุ่นนี้ก็คือคนที่ได้เห็นความรุนแรงในพื้นที่มาแล้วไม่ต่ำกว่าสิบเจ็ดปีของความรุนแรงระลอกหลังสุด จึงไม่น่าแปลกที่เจ๊ะอับดุลเลาะบอกว่า ศิลปินเหล่านี้ล้วนมีความสนใจและความรู้สึกในเรื่องนี้อยู่แล้ว เมื่อได้รับการทาบทามพวกเขาก็สนใจเข้าร่วมทันที อาจมีบางคนที่ไม่ได้เข้าร่วมเพราะไม่สะดวกในเรื่องจังหวะการผลิตงาน

เจ๊ะอับดุลเลาะเล่าว่า เขาทาบทามศิลปินไว้ร่วมสิบคนเพื่อจะให้ได้ผลงานที่หลากรส ศิลปินที่ทาบทามเป็นผู้ที่มีผลงานโดดเด่่นต่อเนื่องตลอดเวลา พวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของศิลปินที่ทำงานศิลปะเป็นอาชีพในพื้นที่สามจังหวัดใต้ที่มีไม่ต่ำกว่า 25 คนขึ้นไป ที่สำคัญพวกเขาผลิตงานศิลปะที่สะท้อนปัญหาสังคม อันเป็นงานที่เจ๊ะอับดุลเลาะบอกว่า หากจะดูจากจำนวนคนเข้าชมงานศิลปะที่ Patani Artspace ก็เห็นได้ชัดว่าคนในพื้นที่คุ้นชินมากขึ้นกับงานศิลปะและงานศิลปะสะท้อนสังคม ในขณะที่งานเหล่านี้ยังสามารถใช้สื่อสารกับโลกภายนอกได้ด้วย งานของพวกเขาถูกส่งไปแสดงในกรุงเทพฯ ในต่างประเทศเช่นมาเลเซีย แม้ว่าในช่วงการระบาดของโควิด การเดินทางไปแสดงผลงานในต่างประเทศจะทำได้ยาก แต่ก็ยังมีการส่งเฉพาะผลงานไปร่วม และเมื่อไม่นานมานี้มีศิลปินหญิงที่ได้รับเลือกให้ร่วมแสดงผลงานที่ออสเตรเลียในฐานะตัวแทนประเทศไทย ทั้งหมดนี้เป็นไปได้เพราะ “ศิลปะนั้นเป็นภาษาสากล สามารถสื่อสารได้กับผู้คนทั่วโลกได้”

การจัดงานแสดงศิลปะสะท้อนปัญหาสังคมก็แน่นอนว่าต้องเตรียมรับมือผู้ที่ไม่เห็นด้วย เจ๊ะอับดุลเลาะบอกว่า เขาประสบปัญหานี้มาตลอด

“แต่เรามีจุดยืนคืออยากให้สังคมอยู่ในความยุติธรรม ยึดมั่นในความเป็นมนุษย์ หากเขาจะมองว่ามันเป็นภัย แทนที่จะเห็นความจริง ความถูกต้อง และความยุติธรรม สังคมก็จะได้ตัดสินใจได้ว่า ใครปฏิเสธความยุติธรรมและเป็นภัย สังคมจะตอบได้”

เขายืนยันว่า งานศิลปะคือการสื่อสาร

“ศิลปะไม่ได้ไปทำร้ายใคร หรือฆ่าใคร มันเป็นเรื่องของการใช้สติปัญญา ยกระดับจิตใจ เอาความรู้ไปใช้ในชีวิตประจำวัน มันเป็นการสื่อสาร เป็นอาวุธที่ไม่มีการทำลายล้าง ผมอยากเห็นการต่อสู้ที่ใช้ปัญญาไม่ใช่ใช้กำลัง”

ศิลปินที่ร่วมแสดงผลงานประกอบด้วย

Esuwan Chali

Jehabdulloh Jehsorhoh

Korakot Sangnoy

Muhammadsuriyee Masu

Muhammadtoha Hajiyusof

Salwanee Hajisamae

Sureena Chema

งานแสดงวันที่ 5 ธ.ค. 2564

ขอบคุณภาพประกอบ เจ๊ะอับดุลเลาะ เจ๊ะสอเหาะ

(Visited 99 times, 1 visits today)
Close