Written by 8:28 am Featured, Patani, Patani Notes

เปอร์มาสยุติบทบาท:ปรับเพราะสถานการณ์เปลี่ยน

พลันที่เฟซบุ๊คเพจเปอร์มาส PerMAS ลงแถลงการณ์ว่าเปอร์มาสประกาศยุติบทบาท ก็มีผู้ตั้งคำถามทันทีว่าเกิดอะไรขึ้นกับองค์กรนักศึกษาที่ทำกิจกรรมแหลมคมในทางการเมืองจนชื่อติดปากคนทั่วไปไม่ว่าในหรือนอกพื้นที่

คนที่จะให้คำตอบได้อย่างสำคัญ แน่นอนว่าต้องเป็นซูกริฟฟี ลาเตะ ในฐานะอดีตประธานเปอร์มาสแบบหมาดๆ เขาตอบคำถามทันทีว่า “ปกติครับ เป็นกระบวนการปกติ” กระบวนการปกติที่ว่าคือกระบวนการตัดสินใจยุติบทบาทกลุ่ม ซูกริฟฟีบอกว่ามีการประชุมสมาชิกและมีการลงมติกันด้วยคะแนนเสียงราว 60 กว่าๆต่อ 30 กว่า ถือว่าเป็นเอกฉันท์ว่าให้ยุติบทบาทลง และแทนที่จะลงมติแล้วปล่อยให้เรื่องเงียบไปเฉยๆ พวกเขาตกลงกันออกแถลงการณ์เพื่อให้สาธารณะได้รับรู้ด้วย เพราะว่าหลังจากนี้จะไม่มีใครมาพูดในหน้าที่นี้อีก

เมื่อคุยกันเรื่องกว่าจะเป็นที่มาของการตัดสินใจที่ว่านี้ ซูกริฟฟีบอกว่า มีบทสนทนาในบรรดาสมาชิกที่ดำเนินมาพักใหญ่แล้ว เป็นการประเมินกันว่า การมีองค์กรอย่างเปอร์มาสยังตอบโจทย์การเคลื่อนไหวของนศ.ในพื้นที่อยู่หรือไม่

สหพันธ์นิสิตนักศึกษานักเรียนและเยาวชนปาตานีหรือเปอร์มาสนั้นทำกิจกรรมมานานกว่าสิบปีแล้ว แต่ในท่ามกลางสถานการณ์การเคลื่อนไหวทางการเมืองอันคึกคักของคนรุ่นใหม่ไม่ว่าในหรือนอกพื้นที่ในปัจจุบัน ซูกริฟฟีเล่าว่า สมาชิกหลายคนเห็นชัดว่าองค์กรเช่นนี้ไม่จำเป็นอีกต่อไป ส่วนหนึ่งการตื่นตัวของนศ.ที่มีสูงขึ้น สถานการณ์ด้านเสรีภาพการแสดงออกทางการเมืองที่ได้รับการยกระดับมากกว่าเดิม ในขณะที่ประเด็นที่เป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนของเปอร์มาสเองก็มีผู้หยิบมาเคลื่อนต่ออย่างหลากหลาย

ในส่วนของนศ. ซูกริฟฟีบอกว่า แม้ไม่มีองค์กรพวกเขาก็เคลื่อนไหวกันอยู่แล้ว โดยเฉพาะในสภาพเงื่อนไขสังคมในปัจจุบันที่คนรุ่นใหม่อยู่แถวหน้าของการขับเคลื่อนเปิดพื้นที่ทางการเมืองทุกแห่ง

“นศ.เป็นปัจเจกชน พวกเขาแอคทีฟ สามารถแสดงพลังได้ตลอดเวลา…และไม่ว่าจะไปทำอะไรที่ไหน พวกเขาสามารถเคลื่อนไหวได้”

“พื้นที่ทางการเมือง การแสดงออกซึ่งเสรีภาพทางการเมืองในเวลานี้ก็สามารถทำได้ ไม่ใช่ว่าเซนซิทีฟมากๆเหมือนสมัยก่อน แม้แต่เรื่อง self determination (การกำหนดชะตากรรมตัวเอง) ก็มีองค์กรนำไปเคลื่อนไหวต่อ ในส่วนของภาคประชาสังคมก็มีพูดถึงจนแทบจะเป็นวาระของสาธารณะไปแล้ว คนทั่วไปก็ตระหนักรู้ว่าตัวเองสามารถกำหนดอนาคตทางการเมืองได้”

หลายคนที่ได้ยินข่าวคิดไปถึงเรื่องความขัดแย้งภายใน หรือแรงกดดัน ซูกริฟฟียืนยันว่าไม่มีเรื่องเช่นนั้น การประเมินสถานการณ์ของเพื่อนๆไม่มีใครมองเรื่องแรงกดดันหรือการตกเป็นเป้าหมาย “เราไม่ได้มองว่าการมีองค์กรจะเป็นอันตราย เราคุยเรื่องการตื่นตัวของผู้คนมากกว่า ที่พูดกันทั้งหมดคือจะเคลื่อนไหวยังไงให้มีพลังต่อพื้นที่ ให้มันไปต่อได้ เราไม่มีเรื่องทะเลาะกัน”

พร้อมทั้งอธิบายเพิ่มว่า ผู้คนในกลุ่มขณะนี้ล้วนให้ความสนใจในการเคลื่อนไหวในทางการเมืองที่หลากหลายประเด็นและรูปแบบ บ้างไปทำงานเป็นเอ็นจีโอ บ้างก็ทำงานเกี่ยวข้องกับการเมืองในระบบรัฐสภา หรืออาจไปทำอย่างอื่น แต่ไม่ว่าจะไปทำอะไรเชื่อว่าพวกเขาล้วนแสดงออกได้ตามสภาพกำลังที่ต้องการ เขาชี้ให้เห็นภาพรวมว่า คนรุ่นใหม่เป็นพลังหลักในการขับเคลื่อนทางการเมืองทุกพื้นที่ที่กำลังเห็นกันอยู่ในปัจจุบัน

ขณะที่เรื่องใหญ่คือ self determination หรือการกำหนดชะตาชีวิตตนเองของคนในพื้นที่ วันนี้มีคนขับเคลื่อนต่อ ซูกริฟฟีเองก็เป็นสมาชิกคนหนึ่งของกลุ่มเดอะปาตานี (The Patani) ที่ชูประเด็นเรื่องนี้ เขาเชื่อว่าการเคลื่อนไหวเรื่องนี้จะไปต่อได้ เพราะสอดรับกับสถานการณ์การเคลื่อนไหวในเรื่องสิทธิเสรีภาพทั่วไปเช่นในส่วนกลาง

แต่คะแนนเสียงที่ลงมติกันไปแสดงให้เห็นว่ายังมีกลุ่มผู้ที่อยากให้มีองค์กรต่อไป ซูกริฟฟีบอกว่า ไม่แน่ว่าในอนาคตอาจมีการตั้งกลุ่มของนศ.ขึ้นมาใหม่ก็ได้ ถือเป็นเรื่องที่ยังเปิดกว้างอยู่

ประเด็นเรื่องเปอร์มาสยุติบทบาทเพื่อเปิดทางให้มีการค้นหาคำตอบใหม่ที่ตอบโจทย์ปัจจุบัน มีคำอธิบายด้วยจากอดีตประธานของเปอร์มาสคืออาริฟีน โสะซึ่งให้ความเห็นว่า องค์กรแบบเปอร์มาสที่เป็นที่รวมของกลุ่มองค์กรหลายๆกลุ่ม โครงสร้างเช่นนี้เมื่อถึงเวลาจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนตัวเองเพื่อให้การเคลื่อนไหวในอนาคตสามารถเดินหน้าต่อได้อย่างมีพลัง

จากคำอธิบายของอาริฟีน การเคลื่อนไหวในฐานะเปอร์มาส มีสมาชิกที่เป็นกลุ่มต่างๆหลายกลุ่มสนับสนุน แต่ละกลุ่มมีความคาดหวังต่างกันไป การเคลื่อนไหวที่แหลมคมในประเด็นการเมืองได้รับการสนับสนุนก็จริง แต่แรงสนับสนุนไม่เสมอหน้ากันในทุกประเด็น ทั้งยังมีสมาชิกบางส่วนอยากเห็นการขับเคลื่อนในอีกบางเรื่องเช่นในเรื่องวัฒนธรรม ในขณะที่บางกลุ่มอาจไม่กระตือรือร้นในประเด็นการเมืองในปัจจุบันบางประเด็นมากนักเช่นการจับมือกับส่วนกลางในบางเรื่อง เมื่อบวกกับกระบวนการทำงาน ทำให้ที่ผ่านมาการขยับตัวในอาจจะช้าไปบ้าง โดยเฉพาะในประเด็นที่ต้องการความรวดเร็ว ในขณะที่ช่วงหลังมามีสถานการณ์ใหม่ๆ เช่นการระบาดของโควิด หรือประเด็นการเมืองในส่วนกลางที่แหลมคมมากขึ้น

คำอธิบายของอาริฟีนทำให้เห็นได้ประการหนึ่งว่า สถานการณ์การเคลื่อนไหวในเรื่องการเมืองส่วนกลางเป็นความท้าทายของคนหนุ่มสาวในพื้นที่อย่างมากว่าพวกเขาจะขานรับหรือไม่อย่างไร และกลุ่มคนกิจกรรมในส่วนของนศ.ในพื้นที่ต้องการเวลาในการขบประเด็นหลายเรื่องเพื่อให้ตกผลึก แม้ว่าที่ผ่านมาเปอร์มาสมีสมาชิกเข้าร่วมการเคลื่อนไหวในส่วนกลางอย่างแข็งขัน แต่ปัญหาพื้นฐานของการเข้าร่วมยังคงดำรงอยู่

อาริฟีนเห็นว่าการยุติบทบาทของเปอร์มาสนั้นเป็นไปเพื่อการเริ่มต้นใหม่และเพื่อให้มีการปรับตัวรับสถานการณ์ใหม่ๆ “ยุติเพื่อไปต่อ” เขาว่า แต่ในขณะเดียวกันอาริฟีนก็เชื่อว่า หลายคนยังคงเห็นความสำคัญของการมีองค์กรรวมกลุ่มของนศ.เพื่อทำกิจกรรมต่อไป และเชื่อว่ามีผู้ที่ยังสนับสนุนเรื่องนี้ เพราะเชื่อว่ายังมีความจำเป็นที่จะต้องมีการทำงานความคิดทั้งในและระหว่างพื้นที่และเคลื่อนไหวเปิดพื้นที่การเมืองต่อไป แต่ทว่าต้องทำภายใต้โครงสร้างแบบใหม่ ที่ต้องเป็นการรวมผู้คนเพื่อที่จะแสดงพลังได้ไม่ว่าในประเด็นของปาตานีที่แหลมคมมากขึ้น ประเด็นในเรื่องความเป็นชาติ เรื่องของสิทธิในการกำหนดชะตากรรมตนเองหรือ rights to self determination ประชาธิปไตยในเรื่องของการจัดการความขัดแย้ง เช่นการปลดล็อครัฐรวมศูนย์ การปฏิรูปเพื่อให้อำนาจส่วนท้องถิ่นมากขึ้น ฯลฯ

แถลงการณ์ยุติบทบาท
(Visited 183 times, 1 visits today)
Close