Written by 12:10 pm Environment, Patani Notes

นักวิชาการเสนอทบทวนให้รอบด้านก่อนทำนิคมจะนะ

โดย เลขา เกลี้ยงเกลา

หลายคนชี้จุดอ่อนการดำเนินโครงการเพื่อจะก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมจะนะยังมีข้อมูลไม่รอบด้าน ทิศทางการพัฒนาไปคนละทางกับวิถีชีวิตทำให้แรงงานในพื้นที่ไม่น่าจะได้ประโยชน์ การให้ข้อมูลประชาชนยังไม่ครบถ้วน ชี้ควรใช้เวลาที่รอเศรษฐกิจฟื้นตัวทบทวนข้อมูล รวมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้คนมีส่วนร่วมอย่างจริงจังไม่ควรกีดกัน “คนนอก” หรือผลักให้เป็นขบวนการ

ความเห็นทั้งหมดนี้ออกมาจากงานเสวนา “มุมมองรอบด้านต่อโครงการนิคมอุตสาหกรรม “จะนะ” เมื่อวันที่ 8 ก.ค. 2563 ที่คณะนิติศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ซึ่งมีทั้งนักวิชาการและผู้นำชุมชนจากจะนะจำนวน 11 คนเข้าร่วมเวทีพูดคุย

ในงานเสวนานักวิชาการหลายคนชี้ถึงจุดด่อนของการดำเนินโครงการหลายประการ พร้อมทั้งเรื่องข้อมูลที่ยังไม่ครบถ้วนหรือรอบด้านไม่ว่าเหตุผลเบื้องต้นของการทำโครงการ การประเมินผลกระทบ แม้แต่ผลพวงของการพัฒนาตอบโจทย์ความต้องการของชุมชนแท้จริงหรือไม่ก็ไม่ชัดเจนทำให้มีคำถามทุกระดับ รวมทั้งเรื่องของปัญหาในเชิงข้อกฎหมายว่าเป็นการเปลี่ยนผังเมืองหรือไม่ จุดอ่อนสำคัญคือการตัดสินใจของประชาชนผู้สนับสนุนเชื่อว่ายังขาดข้อมูลที่รอบด้าน หลายเสียงติงว่าการจัดเวทีวันที่ 11 กค.หากไม่ดำเนินการให้ดีจะเพิ่มความขัดแย้งในอนาคต

บัณฑิต  ไกรวิจิตร จากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปัตตานีชี้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเวลานี้คือมีปฏิบัติการข่าวสารที่พยายามเผยแพร่ว่ากลุ่มผู้คัดค้านโครงการเป็นคนในกลุ่มบีอาร์เอ็น ซึ่งตนในฐานะนักวิชาการเคยถูกกล่าวหา ขณะนี้ข้อกล่าวหานี้เลยไปยังชาวบ้านในจะนะที่ต่อต้านโครงการ อ.บัณฑิตชี้ว่า สิ่งที่อยากเห็นคือการขอให้ถอยกลับเพื่อพิจารณาให้รอบด้านสำหรับโครงการนี้ ไม่ใช่การหยุดทำโครงการ เพราะเห็นได้ชัดว่ามีปัญหาเรื่องข้อมูลที่ใช้ประกอบการตัดสินใจ เช่นมีการอ้างตัวเลขการจ้างงานที่น่าเชื่อว่าเกินจริง โดยเฉพาะเมื่อดูจากบทเรียนของการทำโรงไฟฟ้าจะนะ นอกจากนั้นเขาระบุว่า ทิศทางของการทำโครงการนี้ไม่แน่ว่าจะตอบโจทย์ของคนในพื้นที่หรือไม่ เพราะตนเห็นว่าคนในจะนะพัฒนาในเรื่องการพึ่งพิงวิถีธรรมชาติมายาวนาน ไม่ควรทำลายวิถีเช่นนี้ ที่สำคัญเขาชี้ว่า หากดันโครงการลักษณะเช่นนี้จะเกิดความขัดแย้งเพราะความไม่สอดคล้องดังกล่าว

“มันมีความจำเป็นไหมที่จะพัฒนาประเทศไปข้างหน้าแล้วมีคนใดคนหนึ่งมีความทุกข์ วันนี้ขอเรียกร้องศอ.บต.ควรตัดหน้าที่บทบาทต่อเรื่องนี้  ควรสร้างสันติภาพในพื้นที่ ไม่ควรสร้างเชื้อไฟก่อให้เกิดความรุนแรง ต้องระงับโครงการนี้และกลับไปศึกษาต่อเรื่องนี้ มาออกแบบ หาทางออกอย่างรอบด้านและขอร้องให้หยุดการให้ข้อมูลไอโอที่ใส่ใคล้กับกลุ่มคนที่ต่อต้าน”

ด้านสินาด ตรีวรรณไชย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ตั้งข้อสังเกตว่ากระบวนการทำโครงการดูเหมือนจะมีความตั้งใจก่อนแล้วว่าจะทำ แล้วค่อยมีกระบวนการศึกษาตามหลัง อ.สินาดชี้ว่า จุดอ่อนคือไม่ตอบโจทย์ของคนในพื้นที่

“ความเป็นจริงประชาชนในพื้นที่พึ่งพาดำเนินวิถีภาคการเกษตรเป็นหลัก อุตสาหกรรมที่จะต่อยอดไ้ด้นั้นควรมาจากภาคเกษตรเป็นหลัก  แต่การศึกษารายละเอียดการพัฒนานี้ ตอบสนองสิ่งนี้หรือไม่ การจ้างงานที่จะเกิดขึ้นก็ไม่ตรงกับลักษณะของแรงงานของประชาชนในพื้นที่ เช่น งานเกษตร  ประมง การสร้างงานจึงไ่ม่ตอบโจทย์ การใช้เหตุผลในการตั้งนิคมอุตสาหกรรม ดูไม่มีน้ำหนัก” อ.สินาดชี้ให้ดูบทเรียนจากการจัดทำนิคมอุตสาหกรรมฮาลาลที่ปัตตานี พร้อมกับระบุว่าการจะทำโครงการเช่นนี้ต้องศึกษาลักษณะของแรงงานในพื้นที่ให้ดีว่าคนเหล่านั้นจะได้ประโยชน์อย่างไร

อ.สินาดกล่าวว่า ในภาวะที่ทุกคนเห็นตรงกันว่าเศรษฐกิจโลกกำลังย่ำแย่ โอกาสทางธุรกิจมีไม่มาก จึงควรจะใช้เวลานี้ทบทวนแผน เมื่อจังหวะและโอกาสที่ดีกลับมาจึงค่อยดำเนินการ ควรทบทวนให้ตกผลึกชัดเจนว่าควรจะมีหรือไม่มีอุตสาหกรรม และจะพัฒนาพื้นที่อย่างไรให้ตรงจุดและลงตัวตามความต้องการของประชาชนโดยที่ไม่มีความขัดแย้ง

เกื้อ ฤทธิบูรณ์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปัตตานี เป็นนักวิชาการอีกรายที่กล่าวถึงโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ โดยอ.เกื้อชี้ให้เห็นลักษณะของวิถีชีวิตในจะนะว่าไม่น่าจะทำให้ประชาชนได้ประโยชน์จากโครงการ เพราะคนในพื้นที่จะนะต้องพึ่งพิงธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ การมีระบบนิเวศที่ดีทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งถือว่าเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจที่มากยิ่งกว่าตัวเลขที่จะคิดกันได้ การทำลายป่าชายเลนแล้วสร้างใหม่ จะต้องใช้ทรัพยากรมากถึงสามเท่า ไหนจะมีปัญหาอื่นที่จะตามมาเช่นเรื่องของคลื่นกัดเซาะชายฝั่ง 

“เราจะพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจ โดยทำลายและเปลี่ยนแปลงธรรมชาติไปเพื่ออะไร หากระบบเสียหายไปแล้ว เราจะเอาคืนไม่ได้”

อ.เกื้อยังเสนอให้ศอ.บต.ยกเลิกการทำเวทีในวันที่ 11 กค.นี้ไปก่อนเพื่อให้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนให้รอบด้านและนำมาหาทางออกร่วมกัน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและส่งผลดีต่อการพัฒนาอย่างแท้จริง เพราะที่ผ่านมามีจุดอ่อนของการรับฟังเสียงของชุมชนเนื่องจากปัญหาในเรื่องข้อมูล และการให้มีส่วนร่วมก็ควรเปิดทุกคนรอบด้าน ไม่เช่นนั้นน่าวิตกว่าจะผลักดันให้ความขัดแย้งขยายตัว

“ควรให้ทุกคนมีส่วนร่วม ไม่ควรสร้างวาทกรรม ไม่ควรแยกกลุ่มคนออกจากกันด้วยการห้ามคนนอกเข้ามายุ่งเกี่ยวในเรื่องนี้ ความรุนแรงและความขัดแย้งครั้งนี้อาจรุนแรงกว่าครั้งที่แล้ว  ต้องสร้างการพูดคุยสู่โต๊ะเจรจา”  อ.เกื้อชี้ว่าสิ่งสำคัญที่จะคลี่คลายปัญหาได้ในการพูดคุยต้องให้ทั้งสองฝ่ายได้ข้อมูลที่รอบด้านและเชื่อได้ ข้อมูลสำคัญในเรื่องใครมีส่วนได้ส่วนเสียอย่างไร ประเด็นในเรื่องของความยั่งยืน การตอบแทนด้านทรัพยากร วัฒนธรรม วิถีชีวิต ทั้งสองฝ่ายนำข้อมูลและองค์ความรู้ไปหารือกัน ตั้งโจทก์ร่วมกัน ไม่ตั้งแง่หรือรังเกียจกัน เชื่อว่าจะนำไปสู่การตัดสินใจร่วมกันได้

ธีรวัฒน์ ขวัญใจ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวถึงประเด็นในเรื่องข้อกฎหมายที่เกี่ยวพันกับโครงการ ประเด็นแรกคือเรื่องเกี่ยวกับกฎหมายผังเมือง  อ.ธีรวัฒน์หยิบเนื้อหาจากเอกสารของศอ.บต. พร้อมชี้ว่าเรื่องนี้แสดงให้เห็นว่ามีการกำหนดผังเมืองใหม่แต่ยังไม่มีความชัดเจนว่าดำเนินการประกาศใช้หรือยัง

“ถ้าเป็นไปตามผังเมืองเดิมแล้ว ไม่สามารถเป็นเขตอุตสาหกรรมได้ แต่มีกำหนดข้อยกเว้นว่า หากมีข้อพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเฉพาะกิจ สามารถเปลี่ยนแปลงได้  การดำเนินการเรื่องนี้ มีการแสดงข้อมูลวิชาการไม่สอดคล้องกับวิชาการผังเมือง พื้นที่ถูกกันไว้ 50 เปอร์เซ็นต์ ถูกปรับเป็นสีม่วง พื้นที่ที่เหลือถูกมองข้ามไป”

เรื่องที่สอง ที่อ.ธีรวัฒน์ชี้ว่ายังไม่ชัดเจนเช่นกันคือเรื่องของการพัฒนาที่จะอยู่ภายใต้กฎหมายนิคมอุตสาหกรรม แต่การทำการศึกษาเรื่องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมทำเฉพาะจุดไม่ได้มองภาพรวม ถัดมาประเด็นเรื่องใครได้ใครเสียหรือประโยชน์และผลเสียของโครงการจะตกอยู่ที่ใครบ้างนั้น เขาตั้งคำถามว่า การตอบโจทย์ในเรื่องนี้มีคำถามว่าใช้วิธีคิดแบบใดเป็นตัววัด และหากมีข้อเสียจะมีมาตรการแก้ไขปัญหาอย่างไร ซึ่งในเรื่องทั้งหมดนี้ควรเปิดให้ทุกคนมีส่วนในการให้ความเห็นและช่วยกันหาทางออกอย่างครบถ้วนรอบด้าน เวทีที่จะจัดขึ้นในวันที่ 11 กค.ควรเปิดให้คนจะนะในพื้นที่อื่นเข้าร่วมด้วย ไม่เพียงเฉพาะคนในชุมชนสามตำบล

(Visited 416 times, 1 visits today)
Close