Written by 12:50 pm Culture, Literature, Staff's Picks

ครุฑในวัฒนธรรมมลายูหายไปไหน ?

ครุฑเป็นสัตว์กึ่งเทพในตำนานปกรณัมฮินดู ปรากฏในวรรณคดีสำคัญหลายเรื่อง เช่น มหากาพย์มหาภารตะ ในภาษามลายูนั้นเรียกทับศัพท์จากภาษาสันสกฤตว่า “ฆารูดา(Garuda)” เป็นราชาของบรรดานก โดยถูกอธิบายว่ามีหัว ปีกและหางของนกอินทรีย์แต่มีร่างกาย มือและเท้าของมนุษย์ หน้าขาว ปีกสีแดงและร่างกายสีทอง

วรรณกรรมเก่าของมลายูและนิทานพื้นบ้านหลายเรื่องมีการกล่าวถึงฆารูดาเป็นตัวละครที่มีบทบาทสำคัญ ทั้งนี้วัฒนธรรมมลายูจำนวนมากนั้นได้รับอิทธิพลทางศาสนาและวัฒนธรรมพุทธมหายานและฮินดูจากอินเดียผ่านวัฒนธรรมชวาที่ส่งต่อจากศรีวิชัยและมัชปาหิต

ตำนานมะโรงมหาวังษา(Merong Mahawangsa)ซึ่งเป็นตำนานที่อ้างถึงการเกิดเมืองเคดาห์(ไทรบุรี)ที่บูกิยือไร(Bukit Jerai)ปากน้ำเมอร์บก(Sungai Merbok) ได้กล่าวถึงฆารูดาที่พยายามขัดขวางการแต่งงานของเจ้าชายจากกรุงโรมและเจ้าหญิงกรุงจีนเพราะเห็นว่าเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม โดยก่อนที่ฆารูดาจะทำการขัดขวางนั้นตำนานนี้ได้เล่าว่าฆารูดาได้เข้าเฝ้านบีสุไลมาน(ศาสดาท่านหนึ่งในศาสนาอิสลาม และเป็นท่านเดียวกับศาสดาในศาสนายิวคือ King Solomon บุตร King David)ผู้เป็นเจ้าเหนือบรรดาสรรพสัตว์และ Jin(ภูต) เพื่อบอกกล่าวว่าจะทำการขัดขวางการแต่งงานระหว่างเจ้าชายกรุงโรมและธิดากรุงจีน ซึ่งนบีสุไลมานได้ทักท้วงว่าฆารูดาจะไม่สามารถฝืนบุเพสันนิวาสของทั้งสองได้เพราะเป็นพระประสงค์ของอัลลอฮ์(พระเจ้า) แต่ฆารูดาไม่เชื่อว่าจะทำไม่ได้ จึงบอกนบีสุไลมานว่า หากตนขัดขวางการแต่งงานนี้ไม่สำเร็จ ก็จะขอหลบหน้าไม่ปรากฏตัวออกมาให้มนุษย์คนใดได้เห็นอีกเลยชั่วกัลปาวสาน

ฆารูดาจึงทำการลักพาตัวธิดาเจ้ากรุงจีนมาไว้ที่ Pulau Langkapuri(เกาะลังกาวี)และบินไปโจมตีกองเรือของเจ้าชายจากกรุงโรมซึ่งมีมะโรงมหาวังษา(Merong Mahawangsa)เป็นผู้คุ้มครองขบวนเรือ ฆารูดาโจมตีกองเรือของเจ้าชายกรุงโรมและมะโรงมหาวังษาที่ยกขบวนเพื่อไปแต่งงานกับธิดาเจ้ากรุงจีนที่เมืองจีนในระหว่างทางหลายครั้ง โดยครั้งแรกฆารูดาโจมตีกองเรือที่กลางทะเลบริเวณ Kuala Cangung(ปากน้ำเมืองจิตตะกองในบังคลาเทศ) ครั้งที่สองบริเวณทะเล Kuala Tawai (ปากน้ำเมืองทวายในเมียนมาร์) ต่อมาโจมตีครั้งที่สามบริเวณทะเล Kuala Parit (ปากน้ำเมืองมะริด) หลังจากรอดจากการถูกฆารูดาโจมตี ขบวนเรือก็แวะไปพักรวมพลที่ทะเลบริเวณ Kuala Morib (Moulamein ปากน้ำเมืองมะละแหม่งหรือเมาะลำเลิง) และเดินทางต่อมาจนถึง Pulau Salang (เกาะซาลังหรือซีลอน หมายถึงเกาะภูเก็ต) มะโรงมหาวังษาแวะจอดเรือเพื่อขึ้นบกไปรวบรวมน้ำจืดและเสบียง โดยที่เจ้าชายกรุงโรมได้เดินทางล่วงหน้าต่อไปเพื่อหลบเลี่ยงการโจมตีของฆารูดา จนเมื่อกองเรือของเจ้าชายกรุงโรมเกือบมาถึง Pulau Langkapuri(เกาะลังกาวี) ฆารูดาซึ่งพักอาศัยอยู่บนเกาะแห่งนั้นก็ได้ทำการจู่โจมกองเรืออีกครั้ง ครั้งนี้เมื่อไม่มีมะโรงมหาวังษาคอยคุ้มกัน ขบวนเรือจึงพินาศแตกกระจายทั้งขบวน เจ้าชายกรุงโรมตกทะเลและลอยน้ำไปขึ้นฝั่งที่ Pulau Langkapuri(เกาะลังกาวี) ที่ฆารูดาเอาธิดากรุงจีนมาซ่อนตัวไว้ เจ้าชายกรุงโรมและธิดากรุงจีนจึงได้พบกันที่เกาะแห่งนั้นเอง เหตุการณ์นี้ทำให้ฆารูดาจึงต้องหลบหน้าไม่ปรากฏกายให้มนุษย์คนใดเห็นอีกต่อไปตามที่ได้ให้สัญญากับนบีสุไลมานไว้ในตอนต้น

มะโรงมหาวังษา เมื่อบรรทุกน้ำและเสบียงจากเกาะภูเก็ตแล้วก็เดินเรือตามเส้นทางกองเรือของเจ้าชายกรุงโรม จนมาเห็นซากกระจัดกระจายของกองเรือกลางทะเลแถวเกาะลังกาวีและหาเจ้าชายกรุงโรมไม่พบ จีงไปขึ้นบกที่เกาะยือไร (Pulau Jerai) ซึ่งมี Gegasi (รากสกหรือยักษ์)อาศัยอยู่ เพื่อสืบหาเจ้าชายกรุงโรม ครั้นไม่ทราบข่าวคราว นานเข้าจึงสร้างตำหนักแห่งหนึ่งบนเกาะยือไร ให้ชื่อว่า “ลังกาสุกะ” (เกาะยือไร เดิมเชื่อว่าเป็นเกาะ ปัจจุบันเป็นภูเขาบนแผ่นดิน ชื่อ Gunung Jerai เป็นที่ตั้งของโบราณสถานประเภทจันทิหรือ Jandi ศาสนสถานในศาสนาฮินดูและพุทธมหายาน)

ปัจฉิมลิขิต

เรื่องนี้สรุปความจากตำนานมะโรงมหาวังษาหรือตำนานการสร้างเมืองเคดาห์ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของ Kedah Tua หรือเมืองเคดาห์เก่าที่หุบบูจัง บูกิตยือไร ปากน้ำเมอร์บก เนื้อความของตำนานนี้จึงไม่อาจเอามาเป็นข้อมูลทางประวัติศาสตร์โดยไม่ผ่านการวิเคราะห์และตีความได้

(Visited 415 times, 1 visits today)
Close