ตรอกเล็ก ๆ แคบ ๆ ข้างบ้านกว้างราว ๆ หนึ่งเมตร หากมองเผิน ๆ ก็ตรอกธรรมดาทั่วไป ไม่มีอะไรน่าสนใจ แต่ใครจะคิดว่าตรอกนี้ที่ตั้งอยู่บนถนนอาเนาะซูงา ปัตตานี จะเป็นแหล่งทำกรงนกอันขึ้นชื่อและมีราคาเรือนแสนของเด็กหนุ่มวัย 27 ปี อย่างนิอลิฟฟีน สุหลง หรือ บิง อาเนาะซูงา
ตรอกข้างบ้านนั้น มีโต๊ะไม้สำหรับวางอุปกรณ์ทำกรงนก เช่นมีดเล็ก ๆ หลายชนิดสำหรับแกะสลัก และเหลาไม้ไผ่ รวมถึงไม้ชิ้นเล็กๆ ที่บิง อาเนาะซูงา นั่งแกะสลักลวดลายสำหรับทำกรงนก ตามออเดอร์ที่ลูกค้าสั่งมาวันละประมาณห้าชั่วโมง บิงชี้ไปที่มีดเหล่านั้นบอกว่ามีดเหล่านี้ทำเองหมด ทำมาตั้งแต่รุ่นลุง รวมถึงการออกไปหาไม้ต่าง ๆ ด้วย
“เริ่มแรกเราต้องหาไม้ก่อน บางทีก็ไม้ตะเคียน ไม้มะม่วงป่า ไม้ขาวดำ มันมีหลายชนิด ไม้ไผ่ ไปขนมาทีหนึ่งเต็มรถโชว์เล่ (สามล้อพ่วง) อุปกรณ์ทำเองหมดเลย มีดแกะสลักทำเองหมด มีดบาดก็โดนประจำ คนทำกรงนกถ้าไม่โดนมีดบาดนี่ไม่ใช่แล้ว มันต้องโดน ต่อให้เก่งแค่ไหน ระวังแค่ไหนก็โดน ”
บิง สนใจการทำกรงนกตั้งแต่เด็ก ๆ เพราะเห็นลุงทำ และคอยช่วยลุง หลังจบ ม. 6 บิงตัดสินใจ ไม่เรียนต่อ หันมาช่วยทำกรงนกกับลุง บิกเริ่มทำกรงนกจริงจังมาราว ๆ 6 ปี และรับช่วงต่อหลังจากลุงที่เสียชีวิตเมื่อสี่ปีที่แล้ว บิงเป็นทายาทรุ่นที่สามของครอบครัว ที่รับช่วงทำกรงนกต่อ ก่อนหน้านั้นก็คือลุง ซึ่งเป็นพี่ชายของแม่ รับมรดกตกทอดมาจากพ่อของลุงอีกที บิงบอกว่า “ถ้าบิงไม่รับช่วงต่อ คงไม่มีใครในบ้านที่จะรับช่วงต่อจากลุง”
“ซึมซับตั้งแต่เล็ก ๆ ชอบ อยากทำ ก็เลยทำ ตอนเด็ก ๆ ก็ช่วยจับ ช่วยประกอบ มันถนัดทางนี้ ผมเริ่มทำจากเศษไม้เล็ก ๆ เป็นกรงโมเดล ทำเล่น ๆ ทำสองสามใบเล็ก ๆ ทำเรื่อย ๆ ทำกรงเล็กไม่ต้องแกะสลัก มาแกะสลักช่วงอยู่ ม.6 แกะจริงจัง ช่วงนั้นช่วยฉลุแล้ว เพราะว่าลุงฉลุเครื่องไม่เป็น ทำเป็นแต่ฉลุมืออย่างเดียว ”
ลวดลาย และรูปแบบของกรงนก ที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากลุง จะมีชื่อเรียกเฉพาะที่คนในแวดวงเลี้ยงนกซึ่งส่วนใหญ่เป็นนกกรงหัวจุกรู้จักกันดี เช่น กรงทองดี ,กรงโบกี้ ที่มีลักษณะโค้งมนเหมือนโบกี้รถไฟ บิงบอกว่าทุกวันนี้ยังได้รับความนิยมอยู่ โดยเฉพาะกรงทองดี ที่สามารถทำราคาได้ถึง 60,000 – 100,000 บาท ต่อกรงทีเดียว เพราะเหมือนกับการโชว์ การเสริมบารมี ถือกรงนกแพง ๆ ไปสนามแข่งทำให้คนหันมามอง มาสนใจ
“ มันต้องใช้ฝีมือ ทำลวดลายเยอะ ดอกมันเยอะ รายละเอียดมันเยอะ ดอกยิ่งเยอะ ยิ่งแพง เพราะเราต้องใช้เวลาแกะนาน ทองดีใช้เวลาทำนาน เต็มที่ก็สองเดือน กรงทองดี เป็นเอกลักษณ์ของที่นี่ ทรง ลาย ออกแนวมลายู ”
“แบบใหม่ก็ทำ” บิงบอก บางทีลูกค้าต้องการอย่างนั้น อยากได้อย่างนี้ ก็ต้องทำตามความต้องการของลูกค้า พร้อมกับเอากรงที่มีลวดลายเขียนขึ้นมาใหม่ออกมาโชว์
“นี้ลายขวาน เขียนขึ้นมาใหม่ อันนี้เขาบอกมาว่า อยากได้กรงแบบขวาน เราก็เขียนขึ้นมาเลย อย่างเขียนลายก็ไม่ได้เรียน มันออกมาเอง บางทีตอนเขียน ๆ คิดไม่ออก มันไปไม่ได้แล้ว ยิ่งทำมันยิ่งจะเสีย ยิ่งมั่ว ก็ต้องหยุด เวลาเขียนลายจะเป็นแบบนี้บ่อยมาก มันยาก ต้องคิดว่ามันจะออกมายังไง ทำยังไง ”
ปัจจุบันบิงรับออเดอร์ได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น โดยผ่านเฟซบุ๊ก บิงบอกว่าไม่เหมือนรุ่นลุงที่ลูกค้าต้องมาดู มาสั่งเองที่บ้าน ถึงแม้การสื่อสารจะรวดเร็ว แต่ยอดการสั่งซื้อก็เท่าเดิมคือประมาณ 10 กรงต่อปี เพราะเขาทำคนเดียว และส่วนหนึ่งคือลูกค้ากำลังซื้อลดลงเพราะสิบกรงนี้ส่วนใหญ่ลูกค้าไม่สั่งกรงที่มีราคาแพงแล้ว
“ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ คนเล่นน้อยลง มันเห็นเยอะ อย่างกรงแพง ๆ กรงทองดี เขาไม่ค่อยซื้อแล้ว ถ้าเป็นเมื่อก่อนจะเยอะ เริ่มเห็นชัดสองสามปีนี้ แต่มันก็ยังขายได้เรื่อย ๆ กับกรงนกที่ราคาถูกลง ”
ทุกวันนี้บิง ซึ่งเป็นทายาทรุ่นสามวัย 27 ปี บอกว่ายังคงสามารถทำกรงนกไปได้เรื่อย ๆ ตามที่ใจรัก แต่บิงบอกว่ายังไม่เห็นทายาทรุ่นต่อจากเขา ไม่ว่าจากญาติ ๆ หรือพี่น้องของบิงเองที่มีอีกสามคน “ถ้ามีใครในเครือญาติสนใจ บิงก็จะถ่ายทอดให้คับ”