Written by 7:44 am Art, Lifestyle

ลวดลายจากประวัติศาสตร์

นักศึกษานิเทศศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี ร่วมหนุนต่อยอดงานแกะลวดลายถ้วยชามโบราณลงบล็อกไม้สู่ลายผ้า พัฒนาผลิตภัณฑ์เป็นเอกลักษณ์ของชุมชน ยอดสั่งซื้อขายออนไลน์พุ่ง ผลิตกันไม่ทัน

ชุมชนบาราโหม ต.บาราโหม อ.เมือง จ.ปัตตานี ชุมชนเก่าแก่แห่งประวัติศาสตร์ปัตตานีที่มีการค้าขายและมีเมืองท่าที่เจริญรุ่งเรืองมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนกลาง มีการขนเครื่องถ้วยจีนจากนานาประเทศเข้ามาค้าขายจำนวนมากตั้งแต่ในอดีต รวมทั้งเป็นชุมชนที่เคยอยู่ภายใต้การปกครองของพระยาอินทิรา(สุลต่านอิสมาอีล ซาห์) ต้นวงศ์ศรีวังสาและเชื้อสายของพระองค์ได้แก่ราชินีทั้งสี่คือ ราชินี ได้ปกครองเมืองปัตตานีให้เจริญรุ่งเรือง

เมื่อพระยาอินทิราเสียชีวิต มีการตั้งสุสาน(กูโบร์) พญาอินทิราขึ้นในชุมชนเป็นโบราณสถานและแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ ซึ่งบริเวณหลุมศพนักโบราณคดีเคยขุดพบเครื่องใช้ของคนรุ่นก่อนมากมาย ทางกลุ่มจึงนำเศษกระเบื้องมาสร้างสรรค์แกะเป็นลวดลายบนงานหัตกรรม และแกะลงบนบล็อคไม้แล้วนำพิมพ์ลงบนผืนผ้าในรูปแบบของการปั๊มและเย็บ โดยมีฟารีดา กล้าณรงค์ เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงและมีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง

จนเมื่ออาจารย์และนักศึกษาคณะวิทยาการสื่อสาร สาขาวิชานิเทศศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้ลงไปในชุมชนบาราโหมและเล็งเห็นถึงการนำลวดลายดังกล่าวมาต่อยอดของทางกลุ่ม จึงได้ร่วมกันสร้างการรับรู้ผ่านการสื่อสารการตลาดของนักศึกษาร่วมกับผู้ประกอบการ โดยนักศึกษาได้ร่วมลงมือในทุกกิจกรรม จนมาสู่กิจกรรม “เศษหนึ่งส่วนเสี้ยว” ในโครงการมาโก๊ะจาแว จากรากเหง้าสู่งานหัตถกรรม แบรนด์บาราโหมบาร์ซา ณ มลายูลิฟวิ่ง ถนนปัตตานีภิรมย์ จังหวัดปัตตานี เมื่อเร็วๆ นี้ โดยร่วมกับโครงการ “วิจัยและพัฒนาศักยภาพเยาวชนนอกระบบจังหวัดชายแดนใต้สู่การเป็นผู้ประกอบการสร้างสรรค์บนฐานทุนทางวัฒนธรรมชายแดนภาคใต้” โดยการสนับสนุนจากหน่วยบูรณาการวิจัยและความร่วมมือเพื่อพัฒนาเชิงพื้นที่ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เพื่อสร้างพื้นที่ทางวัฒนธรรมให้กระจายไปสู่สาธารณชน สร้างการรับรู้ผ่านการสื่อสารการตลาดของนักศึกษาร่วมกับผู้ประกอบการ ทำให้เด็กรุ่นใหม่เห็นถึงคุณค่าความงามและการสร้างสรรค์ชิ้นงานผ่านงานศิลป์มลายู และนิเวศวัฒนธรรมรูปแบบใหม่ในการดึงคนรุ่นใหม่เข้ามาช่วยกันสร้างสรรค์เศรษฐกิจบนฐานทุนวัฒนธรรม

นางสาวสรารัตน์ แซ่อ๋อง นักศึกษาในโครงการมาโก๊ะจาแวฯ กล่าวว่า เมื่อได้ลงไปในชุมชนบาราโหมเห็นว่าลวดลายที่ทางบาราโหมบาร์ซาร์ทำอยู่น่าสนใจ เป็นต้นทุนทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ที่น่าภูมิใจ ควรช่วยกันสร้างสรรค์จนเกิดเป็นแบรนด์หรือผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ

“เราได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชน รู้จักคนและชุมชน ผู้ประกอบการในพื้นที่ ได้ช่วยในการช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า ผ่านการผลิตสื่อในช่องทางต่างๆ แผนการตลาด และการจัดกิจกรรม เพื่อให้คนรู้จักผลิตภัณฑ์มากยิ่งขึ้น ภูมิใจมากที่เห็นการใช้งานได้จริง ได้รับการตอบรับจากลูกค้าที่สั่งซื้อทางออนไลน์ดีมาก ทำให้สมาชิกของกลุ่มมีรายได้เพิ่มขึ้น”

ด้านนายจิรศักดิ์ อุดหนุน หัวหน้าโครงการวิจัยฯ กล่าวว่า ได้ร่วมทำงานกับทีมวิจัยในพื้นที่เพื่อวิเคราะห์ทุนทางวัฒนธรรมของท้องถิ่นชายแดนภาคใต้ และถอดความรู้การทำงานของกลุ่มเยาวชนตัวแบบจำนวน 11 กลุ่มที่ริเริ่มสร้างความเป็นผู้ประกอบการนักสร้างสรรค์บนฐานทุนทางวัฒนธรรมในนามกลุ่ม “อาเนาะกายู”

“เราได้ร่วมกันสำรวจข้อมูลพื้นฐานและต้นทุนการทำงาน จัดทำแผนที่ข้อมูลและความเป็นไปได้ของของเยาวชน ตลอดจนถอดบทเรียนตัวแบบที่มีในพื้นที่ เพื่อจัดทำแผนที่ข้อมูลและกลุ่มผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นของเยาวชน แผนที่และเส้นทางวัฒนธรรม องค์ความรู้วัฒนธรรมมลายูในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ เพื่อสืบสานมรดกทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าให้คงอยู่สืบ อีกทั้งได้ช่วยสร้างสรรค์เศรษฐกิจ สร้างงานสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนอีกด้วย การมาร่วมงานช่วยให้เครือข่ายได้เรียนรู้การทำแบรนด์และเปิดโลกทัศน์ เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลโดยใช้วัฒนธรรมเดินไปด้วยกัน ทำให้เกิดการเปิดใจรับของคนและสังคมได้โดยง่าย

นางฟารีดา กล้าณรงค์ ผู้ก่อตั้งแบรนด์บาราโหมบาร์ซาร์ กล่าวถึงการนำลวดลายจากเศษกระเบื้องที่อยู่ในถ้วยชามโบราณที่ขุดพบในชุมชน ชักชวนผู้หญิงในชุมชนที่อยู่นอกระบบการศึกษาเข้ามาเป็นสมาชิกเพื่อสร้างงานสร้างรายได้ในชุมชน โดยเปิดอบรมการแกะสลักบล็อกไม้แทนจากการใช้บล็อกเหล็ก และต้องสั่งพิมพ์ลายจากรุงเทพฯ ทำให้มีต้นทุนสูง โดยทำผลิตภัณฑ์ของฝากของที่ระลึก ของใช้ เสื้อผ้าและเครื่องประดับ จึงให้ช่างไม้ที่มีความชำนาญในการแกะลวดลายต่าง ๆ ในชุมชนทำแทน จนมีเอกลักษณ์ของตัวเอง โดยได้รับการสนับสนุนบรรจุภัณฑ์จากทางจังหวัด และการออกแบบลายโลโก้จากสำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดปัตตานี
“เราอยากทำลายเป็นเอกลักษณ์ของบาราโหม จากลวดลายของถ้วยชามโบราณที่ยังหลงเหลือให้เห็นในชุมชน มาสู่บล็อกไม้พิมพ์ลายลงบนผืนผ้าเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ โดยช่างไม้ในชุมชน สำหรับลายผ้านี้เป็นคอลเลคชั่นใหม่ในโทนคราม ทำร่วมกับนักศึกษาจากม.อ.ปัตตานี ซึ่งมาช่วยในทุกกระบวนการทำให้มีช่องทางในการเผยแพร่และจำหน่ายมากขึ้น มีออเดอร์เข้ามาจนทำไม่ทัน เป็นกำลังใจในการทำงานของพวกเราเป็นอย่างมาก”

“สิ่งที่ทำเพราะอยากให้คนเห็นคุณค่าของชุมชน พยายามสร้างงานสร้างอาชีพในการท่องเที่ยวในชุมชนและงานหัตถกรรม เพื่อดึงคนในชุมชนให้กลับมาอยู่ในบ้านเกิดของตัวเอง ส่วนใหญ่คนวัยแรงงานในชุมชนออกไปทำงานในมาเลเซีย ผู้ที่อยู่เฝ้าบ้านมีเพียงเด็ก สตรี และคนชรา ทำให้เกิดปัญหาเด็กติดยาเสพติดและว่างงาน กลุ่มเราแม้จะยังเป็นกลุ่มเล็กๆ ด้วยทุนที่มียังน้อย ขายได้แล้วมาต่อยอด แม้รายได้จะไม่เพียงพอถึงขั้นเลี้ยงครอบครัว แต่ก็ยังมีรายได้จุนเจือ ไม่ต้องรอเงินจากการไปทำงานของหัวหน้าครอบครัวอย่างเดียว ได้อนุรักษ์สิ่งที่มีค่าของชุมชนให้เยาวชนและสังคมเรียนรู้ รู้จัก ค้นหาและสืบสานผ่านเรื่องราวจากลวดลายบนผืนผ้าผ่าน “ของฝากของที่ระลึก By Barahom Barzaar” ”

ฟารีดาอยากให้หน่วยงานรัฐช่วยสนับสนุนสถานที่พิมพ์ผ้า เมื่อมีการสั่งซื้อเข้ามายังทำได้ไม่มากเพราะมีสมาชิกเพียง 7 คน ส่วนร้านที่ตั้งวิสาหกิจชุมชนเพื่อจำหน่ายผลิตภัณฑ์และเวิร์คชอปมีแล้ว
เมื่อความร่วมมือกันก่อเกิดพลังการสื่อสารเผยแพร่และสืบสานมรดกทางวัฒนธรรมอันมีคุณค่าของปัตตานีให้สังคมได้รับรู้และเรียนรู้ผ่านงานศิลป์มลายู ความหวังอันจะให้ความงดงามเช่นนี้ยังคงอยู่จึงเป็นความจริง…

(Visited 203 times, 1 visits today)
Close