Written by 5:07 pm Featured, Interviews, Patani

ผมคือ Loser ที่คนรอบข้างไม่ยอมให้แพ้

ติรมีซี ยามา หนุ่มมลายูผู้ผ่านวัยเด็กในกรุงเทพฯจนต้องกลายเป็นคนชายขอบในบ้านของตัวเอง หนึ่งในผู้ประกอบการแบบ Start Up ที่สร้างแบรนด์เบอร์เกอร์เป็นของตัวเองท่ามกลางตลาดสินค้าประเภทเบอร์เกอร์ที่มีมูลค่าทั้งประเทศอยู่ราวแปดพันล้านบาท เกือบจะต้องปิดกิจการโรงงานผลิตเนื้อเบอร์เกอร์นามออตโตมานเอ็นเตอร์ไพรส์ที่เพียรก่อร่างสร้างตัวขึ้นมา แต่โควิด-19 กลับเป็นโอกาสพลิกวิกฤติให้กิจการเขาเดินหน้าต่อไปได้จนกระทั่งสามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ๆเข้าสู่ตลาดอาหารในภาวะที่ New Normal กำลังเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคและในวันที่หลายๆธุรกิจกำลังจมดิ่งจากการระบาดของไวรัส

Patani Notes จะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับตัวตนของเขา วิธีคิดของเขา ความล้มเหลวซ้ำซากที่เกิดขึ้นกับผู้ประกอบการรายย่อยในแบบ Start Up ที่ไม่ยอมแพ้กับความล้มเหลว ผ่านการเรียบเรียงในบทสัมภาษณ์พิเศษชิ้นนี้

พื้นเพที่มา และปมในวัยเด็ก

ติรมีซีบอกว่าพื้นเพครอบครัวเป็นชาวอำเภอตันหยงมัสในจังหวัดนราธิวาส แต่เกิดได้สองเดือนครอบครัวก็พาไปอยู่ที่กรุงเทพฯและเรียนที่นั่น ช่วงที่เรียนอยู่ชั้นประถม2 ก็ไปมีเรื่องยิงปืนอัดลมใส่จมูกเพื่อนคนหนึ่งจนเลือดกำเดาไหล พ่อของเด็กคนนั้นเป็นหมอก็เอาเรื่อง ผู้อำนวยการโรงเรียนจึงเรียกแม่ของเขาไปคุยแล้วบอกว่าน่าจะไม่มีอนาคต ช่วงนั้นเป็นเวลาที่ครอบครัวกำลังเผชิญกับมรสุมชีวิตและกำลังหาหนทางย้ายกลับมาอยู่บ้านเกิดที่นราธิวาส เลยถือโอกาสนี้กลับบ้านเพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่อีกครั้ง 

ติรมีซียอมรับว่าเมื่อกลับมาอยู่นราธิวาสอีกครั้งเขาต้องฝึกใช้ภาษามลายูใหม่ทั้งหมดซึ่งยากมากเพราะรูปแบบการออกเสียงของภาษามลายูสำเนียงท้องถิ่นแตกต่างจากภาษาไทยอย่างสิ้นเชิง จนกลายเป็นความรู้สึกในใจว่าเขาพูดภาษามลายูสำเนียงท้องถิ่นไม่ชัด 

“ถ้าพูดถึงอัตลักษณ์เราก็ไม่รู้ว่าเราเป็นอะไร กลับมาจากกรุงเทพฯเราก็อยากให้เพื่อนยอมรับในความเป็นมลายู แต่ก็พูดไม่เต็มปากเพราะเราพูดภาษามลายูสำเนียงท้องถิ่นแบบชัดๆไม่ได้ จะเป็นคนกรุงเทพฯก็ไม่ใช่เพราะเขาก็ไม่ยอมรับ ผมคิดว่าผมเป็นคนชายขอบของชายขอบอีกชั้นหนึ่ง มันน่าน้อยใจกว่าคนชายขอบทั่วไป แต่ยังไงเราก็คิดว่าเราเป็นคนที่มีรากความเป็นมลายูมากกว่า เวลาเกิดการปะทะทางความคิดเราอยากปกป้องบ้านเรามากกว่า”

ตัวตนใหม่และการทดลองทางธุรกิจครั้งแรกในมาเลเซีย

หลังจบการศึกษาระดับมัธยมในจังหวัดนราธิวาส ติรมีซีมีโอกาสได้ไปเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ประเทศมาเลเซีย ติรมีซีบอกว่ามันเป็นดินแดนใหม่สำหรับเขา ด้วยความรู้สึกติดค้างในใจที่ถูกมองว่าเป็นคนนอกในบ้านตัวเองเพราะต่อให้เก่งขนาดไหนหลายคนก็ไม่รับเป็นพวก เมื่อไปอยู่ที่ใหม่เขากลายเป็นนักศึกษาต่างชาติ เป็นคนนอกอย่างชัดเจน ติรมีซีอธิบายว่ายิ่งแสดงความเข้าใจคนมาเลย์มากเท่าไหร่ตัวเขาก็ยิ่งได้รับเกียรติมากขึ้น การเรียนในมาเลเซียทำให้เขากลายเป็นหนอนหนังสือและขลุกอยู่แต่ในห้องสมุด ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการมาเรียนนอกบ้านของเขานั้นได้รับทุนสนับสนุนจากดาโต๊ะท่านหนึ่งที่มีเงื่อนไขว่าจะต้องทำเกรดให้ได้เฉลี่ยอย่างน้อย 3.0 ขึ้นไปต่อเทอมถึงจะได้ต่อทุน แต่เมื่อสองปีผ่านไปจนจับพลัดจับผลูเข้าสู่โลกธุรกิจความคิดที่มีต่อการศึกษาของเขาก็เปลี่ยนไป “เกรดเฉลี่ยผมตกเหลือ 1.8 บ้าง 2.2 บ้าง เราอายและเราก็เริ่มหาเงินเองได้เลยค่อยๆหายหน้าไปจากดาโต๊ะท่านนั้น”

การเข้าสู่โลกธุรกิจของติรมีซีเริ่มต้นขึ้นในวันที่เขาเป็นประธานชมรมนักเรียนไทยของมหาวิทยาลัยและทำเงินชมรมหายสามหมื่นกว่าบาท เมื่อหาทางออกไม่ได้ติรมีซีเลยตัดสินใจดร็อปการเรียนหนึ่งเทอมออกไปหาเงิน เริ่มต้นด้วยการไปเป็นลูกจ้างของคนกัมพูชาที่ขายน้ำมันกฤษณาในย่านบูกิตบินตังซึ่งถือเป็นหนึ่งในย่านธุรกิจของชาวต่างชาติในมาเลเซีย ติรมีซีค่อยๆพัฒนาทักษะการทำธุรกิจขึ้นมาจากลูกจ้างก็กลายมาเป็นพ่อค้า จากที่จะหาเงินสามหมื่นบาทก็เริ่มได้เงินเป็นแสนที่ทำให้เขาสามารถจ่ายค่าเทอมได้ด้วยตัวเองและมีเหลือส่งให้แม่ใช้ในทุกๆเดือน แม้จะเป็นช่วงชีวิตที่สะดวกสบายแต่ธุรกิจน้ำมันจากไม้กฤษณาก็มอบบทเรียนสำคัญชิ้นแรกในโลกของธุรกิจแก่ติรมีซี

“เรารู้สึกสนุกกับการใช้เงินที่เราหามามาก ผู้คนก็เริ่มมองเห็นแล้วว่าเรากำลังจะเติบโต ที่ไหนได้เรากลับพลาดตรงที่เราไม่มีความรู้ด้านการเงินการบัญชี เราได้เงินมาเท่าไหร่เราก็ใช้ไปเท่านั้น ไม่ทำบัญชี มันก็เลยส่อแววเจ๊ง เราเองก็ควบคุมคุณภาพสินค้าไม่ได้ แถมโดนลูกค้าโกงไปอีกเป็นแสน มันกลายเป็นบทเรียนสำคัญ”

เริ่มต้นและล้มเหลวอีกครั้งที่กรุงเทพฯ

หลังฝ่าฟันจนเรียนจบและยุติธุรกิจที่ทำในมาเลเซีย ติรมีซีก็เริ่มต้นชีวิตมนุษย์เงินเดือนด้วยการไปเป็นเลขาส่วนตัวให้ลุงซึ่งเปิดบริษัทโบรกเกอร์ขายน้ำมันดิบแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล (G2G) ทำอยู่ 7 เดือนจนรู้สึกว่าไม่สามารถกินผลประโยชน์จากธุรกิจใหญ่ได้สักที ติรมีซีตัดสินใจเดินไปบอกลุงของตัวเองว่าจะลาออกเพื่อไปเผชิญกับโลกธุรกิจด้วยตัวเองอีกครั้งหนึ่ง

กิจการแรกของติรมีซีคือการเปิดซุ้มขายแฮมเบอร์เกอร์แถวสถานีรถไฟฟ้าพระโขนง เขาอยากขายคนในเมือง โดยไปเช่าหน้าร้านเถ้าแก่ขายเครื่องเขียนคนจีนซึ่งไม่กินเนื้อเพื่อขายเบอร์เกอร์เนื้อ ติรมีซีบอกว่าต้องยอมไหว้ยอมขอเจ้าของเพราะเราไม่รู้จะไปหาที่ตรงไหนอีกแล้ว ติรมีซีพยายามใช้วัตถุดิบที่ดีแต่ปรากฎว่าไม่สามารถควบคุมคุณภาพสินค้าให้สม่ำเสมอได้จึงตัดสินใจถอดสูตรปั้นเนื้อเบอเกอร์เอง อันเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้มีผลิตภัณฑ์เป็นเนื้อเบอร์เกอร์ของตัวเองและเริ่มทำการขยายกิจการขึ้นมา ทำให้คนรู้จักผ่านโซเชี่ยลมีเดีย แม้จะต้องย้ายทำเลหน้าร้านอยู่บ้างแต่ก็เข้าตานายทุนคนหนึ่งที่ชวนให้มาเปิดร้านเป็นหลักแหล่งโดยจะลงทุนให้แต่ปัญหาคือทำเลหรือโลเคชั่นของร้านที่ไม่ดี ทำให้เมื่อเปิดกิจการแม้จะพยายามขายแบบเดลิเวอรี่เพื่ออุดช่องโหว่แต่กิจการก็เดินต่อไปไม่ดีนัก

“ผมไม่เห็นด้วยกับทำเลหรือโลเคชั่นแต่เขาให้ไปทำบนที่ดินของเขา คีย์สำคัญของร้านอาหารยุคก่อนโควิดคือโลเคชั่น มันต้องท่องอ่ะ โลเคชั่น โลเคชั่น โลเคชั่น แต่โลเคชั่นเราอยู่ข้างหลัง มันเลยไม่สำเร็จ”

วันที่เริ่มเปิดร้านขายเบอร์เกอร์ในย่านพระขโนง / ภาพจากติรมีซี ยามา

เริ่มต้นใหม่และล้มเหลวอีกครั้งที่หาดใหญ่

ติรมีซีเดินออกจากร้านที่รักเหมือนลูกด้วยความเจ็บช้ำเพราะออกมาตัวเปล่า แม้จะเจ็บปวดแต่ก็จมอยู่กับความเสียใจไม่ได้ จึงลุกขึ้นมาขอสร้างแบรนด์ตัวเองใหม่ พ่อตาซึ่งเห็นว่าเดินออกมาแบบคนแพ้เลยให้โอกาส ขณะที่แม่ก็ยอมขายที่ผืนสุดท้ายเอาเงินมาสร้างร้านใหม่ซึ่งมีชื่อว่า “ไฉไลเบอร์เกอร์” สร้างอัตลักษณ์ใหม่ ใส่ความเป็นไทยเข้าไป โดยร้านตั้งอยู่ที่สถานีรถไฟหาดใหญ่ บทเรียนอย่างหนึ่งที่สอนติรมีซีจากความพ่ายแพ้ในเกมธุรกิจคืออย่ารักแบรนด์มากเกินไป ถ้ารักจนกระทั่งปล่อยไม่ได้จะอยู่บนความทุกข์และเดินหน้าต่อไม่ได้ แต่ประเด็นสำคัญที่ติรมีซีค้นพบขณะทำร้านใหม่คือเขาถนัดสร้างผลิตภัณฑ์แต่ไม่ถนัดทำร้านอาหาร ติรมีซียอมรับว่าไม่มีเวลาดูร้านอาหารเลยเพราะใช้เวลาส่วนมากในการระดมหุ้นส่วนของกิจการกับวางระบบสำหรับการขายแฟรนไชส์ ทำให้ตัวร้านมันไม่สำเร็จแต่พบว่าคนที่รับซื้อเฟรนไชส์สามารถทำได้ดี ติรมีซีเล่าว่าหลังจากเปิดร้านได้แค่เดือนเดียวก็มีคนมาขอซื้อแฟรนไชส์ไปเปิดในห้างใหญ่ที่พังงา กระบวนการทำงานแบบทำไปเรียนรู้ไปทำให้ค้นพบว่ามันจำเป็นจะต้องมีครัวกลางเพื่อสนับสนุนวัตถุดิบให้สาขา ที่ซึ่งเขาได้ดัดแปลงบ้านเล็กๆที่เช่าอยู่ให้เป็นครัวกลาง ตีหนึ่งตีสองก็ต้องมานั่งปั้นเนื้อเบอร์เกอร์ ติรมีซีต้องนั่งแก้ปัญหาเฉพาะหน้าจนไม่สามารถดูแลทั้งร้านและการส่งเสริมการขายของเฟรนไชส์ในเครือในเวลาเดียวกันได้

“ปัญหาของการทำเป็นเครือข่ายแฟรนไชส์คือ มันต้องดูแลเรื่องโปรโมชั่นอยู่ตลอด มันต้องทำการตลาดให้เขาอยู่ตลอด เรามัวแต่แก้ปัญหาอื่นๆทำให้เราไม่มีเวลาใส่ใจจนในท้ายที่สุดก็เจ๊ง”

สร้างแบรนด์ใหม่ที่ก่อร่างจากความล้มเหลว

แม้จะล้มเหลวอีกครั้งแต่บทเรียนของการทำเฟรนไชส์ร้านอาหารทำให้ติรมีซีเห็นโอกาสว่า เขาสามารถพัฒนาแผ่นเนื้อเบอร์เกอร์ได้และสามารถทำโมเดลการผลิตในระดับโรงงานได้ ในช่วงปี 2560 ติรมีซีเลยร่างแผนธุรกิจขึ้นมา ไประดมทุนกับคนที่เห็นด้วยจนได้เงินมา 2 ล้านบาทเพื่อมาทำโรงงานในอำเภอหาดใหญ่จังหวัดสงขลาโดยที่ยังไม่มีอะไรรับประกันนอกจากวิสัยทัศน์และความฝัน เมื่อสร้างโรงงานเสร็จก็พบว่ามีปัญหายิบย่อยที่ต้องแก้ไขเยอะมาก เช่นเรื่องคนงาน เครื่องจักร ระบบการผลิต เงิน 2 ล้านบาทที่ได้ไม่พอเพราะโรงงานของติรมีซีเป็นโรงงานผลิตแผ่นเนื้อเบอร์เกอร์เจ้าแรกในประเทศไทย การเป็นเจ้าแรกมันยากตรงที่ไม่มีกรณีศึกษา ทำให้ต้องลองผิดลองถูก ติรมีซีลงทุนซื้อเครื่องจักรขนาดเล็กในราคา 5 แสนบาทแต่สามารถใช้ได้แค่อาทิตย์เดียวก็เสีย ต้องไปซื้อขนาด 1.2 ล้านบาท เงินสองล้านบาทที่ได้จากการระดมทุนก็แทบมลายไปกับเครื่องจักรเพียงอย่างเดียว

เบอร์เกอร์เป็นวัฒนธรรมการกินอาหารแบบตะวันตก แม้จะมีลูกค้าที่บริโภคแต่ไม่ใช่อาหารหลัก อย่างไรก็ตามสำหรับในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้แล้วจะสามารถเห็นร้านเบอร์เกอร์รายย่อยได้ทั่วไป และด้วยวัฒนธรรมการบริโภคเบอร์เกอร์ที่มาจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียจึงทำให้ส่วนประกอบสำคัญคือเนื้อเบอร์เกอร์นั้นถูกครอบครองโดยแบรนด์จากมาเลเซียที่ชื่อว่า Ramly ติรมีซียอมรับว่าถ้าจะให้คุ้มทุนการผลิตในแต่ละวันของโรงงานเขาต้องหาคำสั่งซื้อที่สามารถเติมการผลิตได้ตลอดเวลา จึงทำให้เขามีทางเลือกเดียวคือการขึ้นไปสู้กับยักษ์ใหญ่ โดยเฉพาะตลาดสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ผู้คนนิยมกินเบอร์เกอร์ตอนกลางคืน เขาจึงตั้งชื่อแบรนด์ว่า Putra เพื่อทำให้ผู้คนรู้สึกอินกับแบรนด์ แต่ปรากฏว่าสินค้าของเขาเจาะตลาดสามจังหวัดไม่ได้เลย คุณภาพสินค้าไม่ผ่าน รสชาดไม่ถูกปาก 

ติรมีซีเดินทางไปเปิดบู๊ตตามงานต่างๆเพื่อนำเสนอสินค้า จนวันหนึ่งที่เขาไปเปิดบูธในงานอาหารที่ภูเก็ตปรากฏว่ามีคนชอบและขอมาเป็นดีลเลอร์เพื่อเอาไปขายในซุเปอร์มาร์เก็ตเจ้าใหญ่ ติรมีซีต้องเปลี่ยนแผนธุรกิจใหม่หมดเพื่อมุ่งตลาดภาคใต้ตอนบนและเปลี่ยนตำแหน่งของสินค้าจากร้านเบอร์เกอร์รายย่อยในสามจังหวัดเป็นในห้าง แม้จะเป็นจุดเปลี่ยนและยังมีโอกาสได้เข้าไปขายในเครือซูเปอร์มาร์เก็ตเจ้าอื่นๆ แต่เบอร์เกอร์ของเขาก็ยังไม่ได้ทำให้กิจการเขาถึงจุดที่เสมอตัว  

“ยังขาดทุนอยู่เดือนละแสนบ้างสองแสนบ้าง เลือดมันไหลอยู่ตลอด แต่เราสนุกเพราะความสุขเราไม่ได้อยู่ที่กำไรขาดทุน เรารู้สึกว่าจิ๊กซอว์ของเราถูกเติมเรื่อยๆ รอแค่วันที่มันเต็ม”

โปรโมทสินค้าตามงานต่างๆ / ภาพจากติรมีซี ยามา

กลับไปหารากเดิมเพื่อสู้กับความเป็นนายู

ตลาดสามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นยังเป็นสิ่งที่ค้างคาใจติรมีซีอยู่เสมอ ในช่วงต้นปี 2562 ติรมีซีตัดสินใจจ้างนักวิจัยด้านอาหารคนหนึ่งให้ช่วยวิจัยแผ่นเบอร์เกอร์ที่มี Ramly ซึ่งคนสามจังหวัดนิยมบริโภคเป็นแนวทางต้นแบบเพื่อนำมาพัฒนาเป็นแบรนด์ใหม่จนลงตัว และได้ชื่อ “แบมะ” เป็นชื่อแบรนด์ ติรมีซีบอกว่าแบมะน่าจะตอบโจทย์คนสามจังหวัดได้ดี เพราะถ้าให้เชื่อมโยงระหว่างความเป็นคนที่ถูกกันเป็นคนนอกแบบติรมีซีแบรนด์ชื่อแบมะคือการไปท้าทายปมปมในใจของเขาได้ดีที่สุดและแบมะคือหนึ่งในชื่อที่โหลที่สุดของคนสามจังหวัด

แต่การปั้นแบรนด์แบมะช่วงแรกๆยังไม่สามารถตอบโจทย์ได้มากนัก ตำแหน่งของแบรนด์ Putra อยู่ระดับกลางและถูกปรับภาพลักษณ์เพื่อขายในห้าง แต่แบมะคือการขายพ่อค้าแม่ค้าเบอร์เกอร์รายย่อยในสามจังหวัดจึงต้องมีการคำนวณต้นทุนใหม่ สร้างภาพลักษณ์แบรนด์แบบใหม่เพื่อทำให้ราคาถูกลง ติรมีซีบอกว่าในช่วงแรกนั้นมีปัญหาในเรื่องการรักษาคุณภาพของผลิตภัณฑ์มากซึ่งใช้เวลาเกือบหนึ่งปีกว่าจะลงตัว อย่างไรก็ตามหลังจากเปิดตัวแบมะสินค้าทุกแบรนด์ที่โรงงานของติรมีซีผลิตก็เริ่มลดการขาดทุน สามารถประคับประคองแบรนด์ได้ด้วยตัวเอง แต่หลังจากสถานการณ์ของไวรัสโควิด-19 เริ่มรุนแรงขึ้นและลุกลามมาถึงภาคใต้ทุกอย่างก็เปลี่ยนไป 

“เพราะเรายังนายู (มลายู) ไม่พอ Putra ยังนายูไม่พอ มันต้องเข้มกว่านี้ ผมอยากชนะใจคนสามจังหวัดให้ได้ ดังนั้นอย่ามากึ่งๆกลางๆเลย Putra มันยังเป็นเมืองอยู่ ยังนึกถึงปุตราจายาในมาเลเซียอยู่ ตอนนั้นเราก็คิดว่าจะใช้ชื่อแบลีดีหรือเปล่าเพื่อสู้กับ Ramly แต่มันใกล้ไป มีชื่อ Ramlah โผล่มาเพื่อสู้กับ Ramly แต่พอเป็นแบมะเราพบว่าดีลเลอร์ของเราชื่อมะเยอะมาก เขารู้สึกว่าเขาเป็นเจ้าของ ลูกค้ามาซื้อก็เข้าใจว่าเป็นของเขา นี่ของแบมะยะลาบ้าง แบมะนราฯบ้าง เราก็รู้สึกว่าคนชื่อแบมะเนี่ยโหลเหมือนคนชื่อ McDonald เลย งั้นเราก็เอาความโหลนี่แหละมาตั้งเป็นชื่อ”

“แบมะ” แบรนด์ที่สร้างขึ้นมาเพื่อสู้กับเจ้าตลาด / ภาพจากติรมีซี ยามา

Covid-19 และจุดเปลี่ยนของธุรกิจ 

ในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา วิกฤติไวรัสโควิด-19 เริ่มลุกลามไปทั้งประเทศ จังหวัดสงขลารวมทั้งสามจังหวัดชายแดนภาคใต้คือกลุ่มจังหวัดที่เริ่มมีการระบาดสูง ภาครัฐเริ่มมีมาตรการจำกัดด้านต่างๆออกมา ขณะที่พฤติกรรมบริโภคของคนก็เปลี่ยนไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง ยอดขายเริ่มลดลง ธุรกิจของติรมีซีเหมือนกำลังจะเข้าสู่สภาวะท้าทายอีกครั้ง ติรมีซีอธิบายว่าในทางธุรกิจหากจะอยู่รอดได้นั้นมีวิธีเดียวคือการตัดค่าใช้จ่าย เขาจัดประชุมระดมความคิดกับพนักงานทุกคนในโรงงานเพื่อช่วยประเมิณสถานการณ์ว่าจะออกมารูปแบบไหนบ้าง โดยทางเลือกที่แย่ที่สุดคือพักการผลิต ในช่วงเดียวกันเขาเริ่มพูดคุยกับบรรดาเจ้าหนี้ รวมทั้งบรรดาธนาคาร โดยขอพักหนี้สามเดือนซึ่งเจ้าหนี้ทุกคนเข้าใจแถมยังมอบกำลังใจให้เขาฝ่าฟันวิกฤติในครั้งนี้ให้ได้

“ผมไม่ได้คาดหวังให้มันโตแล้วตอนนั้น ทำยังไงไม่ให้มันตายรักษาเงินในมือไว้ให้มากที่สุดก็พอ” 

แต่แล้วจู่ๆก็เริ่มมีคนสอบถามถึงสินค้าของเขาในเพจเฟสบุ๊ค ติรมีซีบอกว่ามากันเยอะมาก มาจากหลายที่มาก เขาแปลกใจจึงสอบถามเพื่อนและนั่นจึงทำให้เขาทราบว่าสินค้าของ Ramly ที่ผู้คนนิยมไม่สามารถเข้ามาขายได้เพราะมีคำสั่งปิดชายแดน จากที่เหมือนจะต้องพักการผลิตแต่การที่สินค้าของแบรนด์ยักษ์ใหญ่ไม่สามารถเข้ามาขายได้ โอกาสกลับมาเป็นของติรมีซีอีกครั้ง เขาเริ่มวางแผนใหม่เพื่อช่วงชิงจังหวะและคิดว่าต้องทำงานให้หนักและไปเร็วกว่าโควิด ติรมีซีตัดสินใจมาเป็นเซลล์เอง ส่งของเอง คุยกับลูกค้าทุกคน ติรมีซีบอกว่า “จะใช้จังหวะนี้เปลี่ยนแฟนของ Ramly มาเป็นแฟนของเราให้ได้” ดีลเลอร์ใหญ่ๆจากที่ไม่เคยสนใจสินค้าของติรมีซีกลับมาเหมาสินค้าของติรมีซีจนหมด ทำให้ยอดขายในโรงงานโตขึ้นมาพุ่งพรวดถึง 300 เปอร์เซ็นต์จนต้องจ้างคนมาทำงานเพิ่ม โดยมีแบรนด์แบมะเป็นหัวหอกในการขายของสินค้า อย่างไรก็ตามยอดขายเริ่มลดลงในช่วงปลายเดือนเมษายนเพราะเริ่มเข้าสู่เดือนรอมฎอนที่ผู้คนเริ่มถือศีลอด แต่อย่างน้อยที่สุดแบรนด์แบมะของติรมีซีได้ส่วนแบ่งในตลาดมาเยอะกว่าเดิมมากจากเมื่อก่อนที่มีเพียง 5 เปอร์เซ็นต์ ตอนนี้ติรมีซีประเมินว่าแบมะของเขามีส่วนแบ่งในตลาดถึง 30 เปอร์เซ็นต์ 

New Normal และอนาคตหลังโควิด

การเติบโตแบบก้าวกระโดดทำให้กระแสเงินสดของกิจการติรมีซีดีขึ้นมาก จากเดิมที่ต้องบริหารผ่านเงินกู้ แต่การเติบโตดังกล่าวยังเป็นเพียงภาพลวงตาเพราะสินค้า Ramly ซึ่งเป็นทั้งคู่แข่งและแรงบันดาลใจในการทำงานเริ่มทยอยกลับเข้าสู่ตลาด ติรมีซีบอกว่าแม้จะได้ส่วนแบ่งในตลาดเพิ่มแต่ยังต้องทำงานหนักเพื่อรักษาตลาดและคิดว่าจะต้องเริ่มประชาสัมพันธ์แบมะให้เข้าถึงผู้บริโภค เพราะแบมะคือวัตถุดิบที่ขึ้นอยู่กับพ่อค้าแม่ค้ารายย่อยว่าจะซื้อหรือไม่ ลูกค้าหลักคือพ่อค้าแม่ค้า ถ้าพวกเขาไม่เปิดใจก็จบ สิ่งเดียวที่จะเป็นตัวเร่งเร้าคือผู้บริโภค โจทย์ของติรมีซีคือจะทำอย่างไรให้ผู้บริโภคไปกระซิบข้างหูพ่อค้าแม่ค้า ติรมีซีบอกว่าเขาจะเปลี่ยนด้วยวิธีนี้ ให้คนกินเบอร์เกอร์เรียกร้องวัตถุดิบแบมะ

แต่สิ่งที่ท้าทายมากกว่านั้นคือพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป New Normal ในช่วงวิกฤติทำให้คนคุ้นชินกับการซื้อผ่านระบบออนไลน์และเดลิเวอรี่ถึงหน้าบ้าน การทำธุรกรรมเกิดขึ้นตรงนั้น ติรมีซีมองว่าการบริโภคอาหารในช่วงโควิดไม่ได้ลดลง และการจับทาง New Normalทำให้ติรมีซีคิดค้นสินค้ากึ่งสำเร็จรูปแบใหม่อีกสามชนิดที่สามารถส่งถึงผู้บริโภคทั้งประเทศได้โดยตรงภายในเวลา24 ชั่วโมง

“เราจับ New normal เพราะความปกติมันไม่มีทางกลับเป็นเหมือนเดิม สิ่งที่เปลี่ยนไปแล้วคือพฤติกรรมที่คนจะไม่ไปร้านค้าแล้ว ผมก็เลยสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆที่ส่งทั่วประเทศได้ ในราคา 65 บาท ภายใน 24ชั่วโมง อันนี้คือเป้าหมายที่เราอยากทำ” 

หัวใจของผู้ประกอบการแบบ Start Up

ความสำเร็จในกิจการของติรมีซียังเป็นสิ่งที่ต้องทำงานหนักอีกมาก แต่สิ่งที่น่าสนใจคือติรมีซีเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการที่ผ่านประสบการณ์ล้มเหลวอยู่ตลอดรวมทั้งการบริหารการเงินที่ผ่านการระดมทุน เมื่อถามว่าการบริหารการเงินคือหัวใจของการประคองธุรกิจให้อยู่รอดหรือไม่ ติรมีซีตอบมาทันทีว่าความรู้ด้านการเงินคืออวัยวะที่สำคัญแต่มันไม่ใช่หัวใจ เพราะหัวใจของการเป็นผู้ประกอบการแบบเขาคือการพยายามลุกขึ้นมาใหม่ให้ได้เสมอในทุกครั้งที่ล้ม

“หัวใจของการเป็นผู้ประกอบการคือใจ Passionกับ Resilience แบบที่ล้มมันต้องลุกใหม่ให้ได้ เพราะเราเรียนรู้ว่าระหว่างทางเราล้มตลอดเลย เราขาดทุนมาตลอด ต่อให้คุณรู้มากแต่วันรุ่งขึ้นตื่นมาแล้วไม่อยากทำแล้วละ? มันจะมีความรู้สึกว่าทำไปทำไม เจ็บตัว ปิดแล้วก็ไปทำอย่างอื่นดีกว่า แต่ว่าของเรามันหนีไม่ได้ เพราะว่าหนึ่งคือเราต้องทำให้สำเร็จ สองคือคนมองมาที่เราเยอะ ทั้งพ่อแม่เรา ครอบครัว ทั้งคนที่ลงทุนกับเราที่เขาหวังดีกับเราที่เขาให้เรามา เขาไม่ได้หวังกำไร แต่พวกเขาไม่อยากให้เราล้ม”

ภาพจากติรมีซี ยามา
(Visited 2,741 times, 1 visits today)
Close