หลอด ถูกใช้ครั้งแรกเมื่อไหร่ไม่มีใครทราบแน่ชัด ดึกดำบรรพ์ที่สุดเท่าที่พอจะยืนยันได้ว่ามีการใช้ “หลอดดูด” (Drinking tubes) นับย้อนไปกว่า 3,000 ปีก่อนคริสตกาล เป็นภาพปรากฏบนผนังในสุสานของชาวสุเมเรียน เป็นภาพสมาชิกราชวงศ์กำลังดูดเครื่องดื่มผ่านท่อกลมยาว
ท่อกลมยาวหรือหลอดดูดในยุคโบราณจนกระทั่งยุคกลางนั้นไม่ใช่พลาสติกแต่เป็นพืช และมันไม่ใช่การผลิตแต่เป็นการปรับแปลงการใช้งานจากคุณสมบัติแบบท่อกลวงตามธรรมชาติของพืชที่มนุษย์เราจะสรรหามาใช้ ข้อเสียของหลอดจากพืชคือเปราะหักง่ายหรือหมดสภาพไปอย่างรวดเร็ว (แน่ละ พืชเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีอายุขัย)
การใช้งานหลอดจากพืชนั้น เรียกได้ว่ากว่าจะดูดหมดอาจจะต้องใช้หลอดพืชหลายอัน อีกอย่างอรรถรสเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคคำนึงถึงเป็นสำคัญ หลอดพืชอาจจะมีกลิ่นและรสของพืชนั้นๆ ซึมซาบเข้าสู่เครื่องดื่ม นักดื่มอาจจะรู้สึกเสียรสเครื่องดื่มนั้นไป อย่างไรก็ตามมันไม่ได้เดินทางไปสู่การหยุดใช้หลอด แต่เป็นการพัฒนาหาวัสดุใหม่ๆ เพื่อมาทำเป็นหลอด การดื่มโดยการดูดยังเป็นลักษณะของการบริโภคที่มนุษย์เราคุ้นชิน หลอดจึงออกเดินจากพืช สู่กระดาษ และพลาสติก และอื่นๆ
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 พลาสติกกำลังมาแรงในการผลิตระบบอุตสาหกรรม ทำให้กลายเป็นวัสดุที่มีราคาถูกกว่าวัสดุอื่นๆ หลอดพลาสติกถือกำเนิดขึ้นกอปรกับความเฟื่องฟูของวัฒนธรรมอาหารจานด่วน ด้วยคุณสมบัติถูก ทน ไม่ฉีกขาด หลอดพลาสติกจึงถูกใช้อย่างแพร่หลายและแทนที่หลอดกระดาษในที่สุด
อายุการใช้งานของหลอดอาจจะมีเพียงระยะเวลาสั้นๆ สำหรับเครื่องดื่ม 1 แก้ว แต่หลอดพลาสติกมีอายุยืนกว่านั้น เพราะคุณสมบัติสำคัญของหลอดพลาสติก คือ ทน เราจึงเห็นหลอดยังคงค้างอยู่รอบตัวเสมอในฐานะขยะมูลฝอย หลอดพลาสติกจึงกลายเป็นผู้ร้ายสำหรับสิ่งแวดล้อมไปทันที การรณรงค์เพื่อเลิกใช้หลอดพลาสติกเกิดขึ้นทั่วโลก ภาพจำของผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อมกลายเป็นภาพคุ้นตาที่บาดใจ อาทิ หลอดที่ติดอยู่ในจมูกเต่า แต่เราต้องไม่ลืมว่า นอกตากเต่า ก็มีสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบ เช่นวาฬที่ตายเพราะมีขยะพลาสติกในท้อง ดังนั้นนอกจากหลอดพลาสติกแล้ว พลาสติกอื่นๆ ก็อยู่ในจำพวกของสิ่งที่จะกลายเป็นขยะและส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมรอบตัวเราเช่นเดียวกัน
เมื่อเรายังคงเคยชินกับการดูด…
ทางเลือกของการใช้หลอดมากมายจึงถูกโยนเข้ามาในกระบวนของการแก้ปัญหาและหลีกเลี่ยงหลอดพลาสติก คู่แข่งในอดีตอย่างหลอดกระดาษจึงกำลังจะกลับมา หลอดที่ใช้ซ้ำได้อย่างหลอดที่ผลิตจากวัสดุธรรมชาติ หลอดแก้ว ถูกแนะนำในตลาดสินค้าอุปโภคที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม
สำหรับขยะพลาสติกในปัตตานี ปรากฏข้อมูลล่าสุด ปีพ.ศ. 2557 ขยะพลาสติมีปริมาณเป็นอันดับ 3 รองจากขยะเศษอาหารและกระดาษ ในขณะที่ปริมาณขยะโดยรวมที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2559 มีปริมาณ 236,539.50 ตัน (ข้อมูลล่าสุดจากสำนักสถิติจังหวัดปัตตานี) ในขณะที่ขยะสะสมมีปริมาณ 49,108.10 ตัน (2 ปี ล่าสุดยังไม่ปรากฏข้อมูลบนเวบไซต์)
จังหวัดปัตตานี มีสถานที่กำจัดขยะโดยการฝังกลบอย่างถูกต้องตามหลักสุขาภิบาล/ฝังกลบเชิงวิศวกรรมเพียง 1 แห่ง ตั้งอยู่ที่ ตำบลหนองแรด อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี นอกจากนี้ยังมีกระบวนการจัดการขยะที่อาจไม่ถูกวิธีอีกจึงทำให้ปัญหาขยะมูลฝอยตกค้างอยู่ในปัตตานีกลายเป็นปัญหาค่อนข้างวิกฤต
หลอดพลาสติกที่เราใช้ จะเป็นส่วนหนึ่งของขยะสะสมในจังหวัดหรือไม่ จะกลายเป็นสิ่งที่ตกค้างอยู่ในสิ่งแวดล้อมและส่งผลกระทบต่อสุขอนามัยเราเพียงใด คงเป็นคำถามชวนให้เราพิจารณาพฤติกรรมการดื่มและย้อนมองความเคยชินกับการดูด เพียงลองง่ายๆ ดูว่า ในบ้านของเรานั้น เราดื่มน้ำโดยจำเป็นต้องใช้หลอด เสมือนความจำเป็นต้องใช้ช้อนส้อมคู่กับจานข้าวหรือไม่ ถ้าเรายังดื่มน้ำจากแก้วได้โดยไม่ใช้หลอด ทางลดหลอดมันจึงพอจะมีหนทางอยู่บ้าง
แต่แน่นอน อุดมคติบางอย่างมีช่องว่างในทางปฏิบัติ เครื่องดื่มบางชนิดที่เรายังต้องอาศัยหลอด เช่น ชาไข่มุก หรือผู้จำเป็น อาทิ ผู้ที่เคลื่อนไหวร่างกายลำบากแต่จำเป็นต้องดื่มน้ำ ด้วยเทคโนโลยีและสมองของผู้คนที่เคยชินกับการใช้หลอดนั่นแหละที่จะสร้างสรรค์นวัตกรรมทางออกของการใช้หลอดในอนาคต
อ้างอิง
https://www.atlasobscura.com/articles/straws-history
http://pattani.nso.go.th/index.php…
https://www.plasticstoday.com/…/th…/179917681659205/page/0/4
http://pattani.nso.go.th/index.php…Americans use 500 million of them every single day.