Written by 11:31 am Memoir

โอรังอัสลี 3

ไม่มีทุนนิยมในหมู่โอรังอัสลี

หากแก่นสำคัญข้อหนึ่งของระบบทุนนิยมคือการสะสมทุน ผมก็คงต้องบอกว่าแนวคิดทุนนิยมไม่มีอยู่ในมโนทัศน์ของโอรังอัสลีเอาเสียเลย โอรังอัสลีเท่าที่ผมรู้จักโดยเฉพาะโอรังอัสลีจาไฮ(ยะลาและนราธิวาส)ไม่มีใครเก็บหรือสะสมอะไรเพื่อใช้ในอนาคตเลย ไม่ว่าจะเป็นอาหารหรือเงินทอง

เรื่องการหาอาหารของโอรังอัสลีเท่าที่เห็นแทบจะเรียกอย่างสุภาษิตไทยคือหาข้าวสารกรอกหม้อกันเลยทีเดียว ทุกครั้งที่ทีมวิจัยเราเก็บข้อมูลสนามกับโอรังอัสลีไม่ว่ากลุ่มไหนก็ตาม สิ่งที่ขาดไม่ได้เลยที่จะต้องนำไปให้พวกเขาคือข้าวสาร หอบกันไปหลายถุงหลายกิโลกรัมทีเดียว แม้ว่าจะหนักและเป็นภาระในการเดินป่าเราก็ต้องเอาไปครับ เป็นค่าตอบแทนหรือค่าชดเชยที่พวกเขาจะต้องหยุดทำงานเพื่อมาคุยกับเรา ถึงพวกเขาจะชอบกินมันป่าที่ขุดหาในป่าเป็นหลัก แต่ก็ไม่ปฎิเสธข้าว ผมเคยถามพวกเขาว่าระหว่างมันกับข้าวอย่างไหนอร่อยกว่ากัน เขาตอบแบบไม่ลังเลเลยว่าหัวมันอร่อยกว่าข้าว กินแล้วอิ่มนาน กินแค่มื้อเดียวหรือสองมื้อก็อิ่มทั้งวัน ส่วนข้าวต้องกินบ่อย ๆ ถึงจะอิ่ม เรื่องกินบ่อย ๆ อย่างที่โอรังอัสลีบอกนี่บ่อยจริง ๆ ครับ คือกินจนกว่าจะหมดถึงจะเลิกกิน บางคนพกข้าวสวยเปล่า ๆ ใส่พกไปในเวลาที่รับจ้างถางป่าด้วย ถางป่าไปสักพักก็หยิบข้าวเปล่ามากินสี่ห้าคำก็ถางป่าต่อ

หนุ่มโอรังอัสลีรายหนึ่งแอบนินทาเมียของเขาให้ผมฟังตอนที่ผมถามเย้าเขาว่าสาว ๆ ในหมู่บ้านหรือสาวอัสลีดีกว่ากัน เขาแอบนินทากับผมว่าสาวอัสลีดีทุกอย่างยกเว้นเรื่องกินข้าว ผมขอให้เขาขยายความ เขาแอบชำเลืองทางกลุ่มผู้หญิงอัสลีแล้วกระซิบกับผมว่า สาวๆในหมู่บ้านเวลากินข้าวจะรอกินพร้อมกับทุกคนในครอบครัว แต่สาวอัสลีไม่มีการรอใคร มีข้าวสารอยู่ก็หุงกินไปเรื่อย ๆ เขาบ่นต่อว่า เรานี่กลับมาเหนื่อย ๆ ไม่มีข้าวให้กินหรอก ต้องหุงใหม่ทุกครั้ง เราหุงแล้วเมียก็มาแย่งเรากินอีก ผมเลยแหย่เขาไปว่า แล้วทำไมไม่ต่อว่าหรือบอกให้เมียรอกินพร้อมกันเหมือนสาว ๆ ในหมู่บ้านบ้างล่ะ เขาหันมายิ้มเขินอายกับผมแล้วพูดว่า ใคร ๆ ก็กลัวเมียทั้งนั้นแหละ คนในหมู่บ้านกลัวเมีย โอรังอัสลีก็กลัวเมียเหมือนกัน … คำตอบของเขาทำให้ผมหัวเราะลั่นป่าไปทีเดียว เรื่องนี้ช่างเป็นสภาวะจำยอมแบบไม่เลือกเผ่าพันธุ์จริง ๆ

ที่ผมบอกว่าไม่มีทุนนิยิมในหมู่โอรังอัสลีนั้นก็คือ เรื่องการเก็บออม โอรังอัสลีไม่มีการเก็บสะสมเพื่อใช้ในอนาคต โอรังอัสลีทุกกลุ่มที่เราไปเก็บข้อมูลไม่มีความคิดในการเก็บอาหารไว้กินในอนาคตเลย หาวันนี้เพื่อกินวันนี้ มีอะไรก็กินเดี๋ยวนั้นจนกว่าจะหมด เราเคยตั้งคำถามเรื่องอาหารการกินว่า ถ้าไม่มีข้าวสารหรือหาหัวมันไม่ได้พวกเขาจะทำอย่างไร คำตอบของเขาง่าย ๆ คือ ก็ อด ไม่ต้องกิน พวกเขาเล่าว่าบางครั้งพวกเขาอดหลายวัน 10 วันบ้าง 20 วันบ้าง แต่เรื่องนี้เราไม่ค่อยเชื่อพวกเขานัก เพราะป่าก็ยังอุดมสมบูรณ์อยู่ไม่น้อยและที่สำคัญคือพวกเขานับจำนวนไม่เป็น จำนวนวันที่เขานับมักคลาดเคลื่อนเสมอจนเป็นเรื่องปกติ

โอรังอัสลีไม่นิยมที่จะล่าสัตว์ใหญ่ พวกเขาบอกว่ากินไม่หมด โดยปกติพวกเขาจะล่าสัตว์ที่กินหมดได้ในมื้อเดียวเสียมากกว่า เช่น ลิง ค่างหรือปลา การล่าสัตว์ใหญ่ประเภทกวางนั้นจะล่าในโอกาสพิเศษที่ต้องเลี้ยงคนจำนวนมาก เช่น มีการแต่งงานเท่านั้น โดยที่วิถีของเขาที่ไม่เก็บออมอาหาร ก็ทำให้โอรังอัสลีไม่มีวัฒนธรรมในเรื่องการถนอมอาหารไปด้วย ไม่มีการตากแห้งเนื้อสด ไม่มีการหมักหรือดองอาหารใด ๆ เพื่อเก็บกินไว้เลย ดูเผิน ๆ เหมือนไร้ทักษะ ไร้อารยะ แต่การที่อยู่กับป่าอยู่กับธรรมชาติอย่างยาวนาน ก็เชื่อได้ว่าพวกเขาไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเก็บสะสมอาหารเหมือนอย่างเราสักเท่าไร

การไม่เก็บสะสมนั้นไม่เพียงเฉพาะเรื่องอาหารการกิน แต่ยังรวมไปถึงการไม่สะสมเงินด้วย เมื่อได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินจากการทำงาน สิ่งแรกที่พวกเขาทำก็คือการไปซื้อของที่ตลาด ยิ่งเป็นตลาดนัดพวกเขายิ่งชอบเป็นพิเศษด้วยมีของกินของใช้ขายสารพัดชนิด อัสลีหนุ่มจะซื้อเสื้อผ้าและอุปกรณ์ เครื่องใช้อำนวยความสะดวก ประเภท ไฟฉาย มีด ส่วนอัสลีสาว ๆ ก็จะซื้อของกินและเครื่องสำอางค์ ทั้ง แป้ง ลิปสติก น้ำมันใส่ผม ฯลฯ ซื้อจนกว่าเงินเท่าที่มีจะหมดถึงเลิกซื้อ เรื่องการซื้อแบบไม่บันยะบันยังนี่ไม่ใช่เป็นเฉพาะโอรังอัสลีที่อยู่กับป่าที่นาน ๆ จะออกจากเมืองสักหนอย่างโอรังอัสลีในประเทศไทยเท่านั้น โอรังอัสลีในประเทศมาเลเซียก็ไม่ต่างกันเลยครับ ผมเคยคุยกับเจ้าหน้าที่ที่ดูแลนิคมโอรังอัสลีในประเทศมาเลเซียแห่งหนึ่ง ซึ่งใช้เงินงบประมาณของรัฐในการจัดตั้งนิคม มีการจ้างงานโอรังอัสลี มีการให้เงินปันผลจากการดำเนินงานของนิคมทุกเดือน เขาเล่าว่าตั้งแต่เริ่มทำโครงการจนถึงเดี๋ยวนี้ก็หลายปีมากแล้ว โอรังอัสลีปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อให้ทันกับสังคมใหม่ได้หลาย ๆ อย่าง แต่ไม่เคยเปลี่ยนพฤติกรรมที่ไม่เก็บออมได้เลย โอรังอัสลีในนิคมไหน ๆ เมื่อได้รับเงินเดือนและเงินปันผล ก็จะตรงไปที่ตลาดเพื่อซื้อของจนเงินหมดในวันเดียว ไม่ต่างจากโอรังอัสลีในประเทศไทยที่ยังคงอาศัยอยู่ในป่า … เรื่องนี้คงฝังอยู่ในวิถีของเขาลึกมากจริง ๆ

สไนป์เปอร์ของโอรังอัสลี

หากเล่าเรื่องโอรังอัสลีโดยที่ไม่พูดถึงไม้ซางที่พวกเขาใช้ยิงลูกดอกในการล่าสัตว์แล้วก็คงขาดหายไม่ครบองค์ประกอบของเรื่องโอรังอัสลี ไม้ซางที่ว่านี้พวกเขาเรียกในภาษาของเขาว่า บลาว -บือเลา – เบอเลา – บอเลา ใช้คำไหนอย่างใดอย่างหนึ่งก็ไม่ผิดครับ เท่าที่ผมได้ยินโอรังอัสลีทั้งฝั่งประเทศไทยและมาเลเซียเรียกไม้ซางมาก็ไม่พ้นสี่อย่างนั่นหรอกครับ คำ บลาว -บือเลา – เบอเลา – บอเลา เป็นคำเดียวกัน เพียงแต่สำเนียงการออกเสียงเพี้ยนกันบ้าง คงแล้วแต่ใครลิ้นไก่สั้นหรือยาวจะออกเสียงแบบไหน อย่าไปเรียกไม้ซางหรือที่เป่าลูกดอกก็ใช้ได้แล้ว เพราะไม้ซางเป็นภาษาไทยของคนพื้นราบ โอรังอัสลีหลายคนไม่เข้าใจ สำหรับผมขอเรียก “เบอเลา” ตามความถนัดของลิ้นไก่ผมก็แล้วกันครับ

เบอเลา ใช้ลำไม้ไผ่ขนาดเล็กที่มีช่วงข้อของปล้องห่างมากเป็นพิเศษ เพื่อที่จะได้ไม่ต้องทลวงปล้องให้มากนัก ที่สำคัญที่สุดลำไม้ไผ่ที่มาทำ เบอเลา จะต้องตรง ผมเคยตามโอรังอัสลีจาไฮคนหนึ่งไปตัดลำไม้ไผ่ในป่าเพื่อมาทำเบอเลา เราผ่านต้นไผ่ไม่รู้กี่กอตามรายทาง จนผมต้องถามเขาว่าไม้ไผ่ที่เราเจอผ่านๆมาใช้ทำเบอเลาไม่ได้เลยหรือ เขาบอกผมว่า เขาต้องการไม้ไผ่จากกอที่เขากำลังจะพาไปนี้เท่านั้น ไผ่กออื่นสามารถใช้ทำ เบอเลาได้ แต่ไม่ขลัง ไม่ฉมังเท่ากอที่จะไปตัด เขาบอกว่า เบอเลาที่ทำจากไม้ไผ่กอนี้จะยิงสัตว์ได้แม่นราวจับวาง ดีกว่ากออื่น … เขาเชื่ออย่างนั้น โอรังอัสลีคนอื่นก็เชื่ออย่างนั้น

โอรังอัสลีตาเมียร์(Tamiar)ซึ่งเป็นโอรังอัสลีคนละเผ่าพันธุ์กับโอรังอัสลีจาไฮ(Jahai)ที่เราพบเจอในประเทศไทยอ้างอวดกับผมว่า เบอเลาเป็นนวัตกรรมเป็นสิ่งประดิษฐ์คิดค้นของโอรังอัสลีตาเมียร์มาตั้งแต่บรรพกาล พวกโอรังอัสลีจาไฮหรือเผ่าพันธุ์อื่นลอกเลียนแบบเอาไปใช้ เขาอ้างว่าต้นฉบับออริจินอลเป็นของพวกเขา ถึงคนอื่นจะเลียนแบบไปก็ไม่เหมือนต้นฉบับ เขาอวดอ้างว่า โอรังอัสลีตาเมียร์ซึ่งอยู่ติดกับพื้นราบและแข็งแรงน้อยกว่าพวกจาไฮสร้างเบอลาโดยมีชิ้นส่วนบางอย่างที่ปลายเบอเลาสำหรับผ่อนแรงในการเป่าลูกดอก ทำให้เป่าไปได้ไกลมาก ซึ่งเบอเลาของโอรังอัสลีจาไฮไม่มี แต่ก็เป่าได้ไกลพอๆกับพวกตาเมียร์ เพราะอัสลีจาไฮแข็งแรงกว่าพวกตาเมียร์มาก ที่จริงแล้วโอรังอัสลีตาเมียร์จะไม่มีในประเทศไทย ถิ่นที่อยู่ของกลุ่มเผ่าตาเมียร์จะอยู่แถวๆรัฐปาหังและเปรัคในประเทศมาเลเซีย ที่ผมเจอในประเทศไทยและคุยถึงเรื่องเบอเลานี้ เป็นโอรังอัสลีตาเมียร์ที่เป็นสมาชิกพรรคคอมมิสนิสต์มาลายา มาตั้งรกรากอยู่ที่อำเภอเบตงร่วมกับสมาชิกพรรคฯคนอื่นๆ เรื่องของโอรังอัสลีตาเมียร์ที่เป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์มาลายาคนนี้น่าสนใจมาก ไว้มีโอกาสผมจะเล่าคราวหน้าครับ

นอกเหนือจากกระบอกเบอเลาแล้ว สิ่งที่จะต้องมีควบคู่กันอีกอย่างก็คือ ลูกดอก ผมจำไม่ได้เสียแล้วว่าพวกเขาเรียกในภาษาเขาว่าอะไร ตัวลูกดอกนี้จะใช้ก้านของพืชตระกูลปาล์มชนิดหนึ่งมาเหลาเป็นแท่งปลายแหลม ส่วนปลายอีกด้านก็ใช้วัสดุคล้ายกับไส้ของทางต้นสาคู มีน้ำหนักเบาคล้ายโฟม ทำเป็นก้อนติดที่ปลายลูกดอกเพื่อรับแรงลมที่เป่า ปลายลูกดอกด้านที่เหลาปลายจะชุบยางไม้ที่เป็นพิษ พิษจากยางไม้นี้จะทำให้สัตว์หรืออะไรก็ตามแม้กระทั่งคนที่โดนยางไม้นี้ซึมเข้าไปในกระแสเลือดตายได้ การทำยาพิษนี้พวกเขาทำโดยการไปถากผิวต้นไม้ชนิดหนึ่งแล้วรองยางที่ไหลเก็บไว้ นำไปอังไฟเคี่ยวจนเป็นยางสีดำเหนียวแล้วไปจุ่มเคลือบปลายลูกดอก ตากให้แห้ง ก็ใช้ได้แล้วครับ เพื่อนโอรังอัสลีของผมค่อนข้างระวังมากเมื่อผมขอดูลูกดอกที่มียาพิษของเขา เขาบอกว่ามือมีแผลเปิดนิดเดียวไปจับโดนยาพิษจะทำให้ตายได้ พิษชนิดนี้ไม่มียาแก้ เขาเล่าให้ผมฟังว่าเคยมีพวกเขาที่เลินเล่อ มือมีแผลแล้วไปโดนยางพิษนี้ก็ตายทุกราย ไม่รู้ว่าจริงเท็จแค่ไหนที่ว่าไม่มียาแก้พิษ พวกนี้พอสนิทกันมากๆก็ชอบอำชอบหลอกผมอยู่เรื่อย ตามอารมณ์สนุกขี้เล่นของเขา ลูกดอกที่มียางพิษพวกนี้จะถูกใส่ในกระบอกไม้ไผ่ มีฝาปิดอย่างแน่นหนา กระบอกใส่ลูกดอกนี้ผมจำได้แม่นว่าพวกเขาเรียกมันในภาษาของเขาว่า “มันนึ” ฟังคล้ายกับ “มันนิ” ที่เราใช้เรียกโอรังอัสลีแถบพัทลุง-สตูลมาก เจ้ามันนึกระบอกไม่ไผ่นี้ แทบจะเป็นพื้นที่อวดฝีมือทางด้านศิลปะของโอรังอัสลี กระบอกมันนึของแต่ละคนจะทำลวดลายจนแทบเต็มพื้นผิวกระบอก บางอันเสริมด้วยของหายากและสานลวดลายประดับเสริมตามแต่ใครจะรังสรรค์งานฝีมือ ดูแล้วสวยดีครับ น่าแปลกที่ลวดลายสานและเขียนต่างๆที่ละเอียดปราณีตเหล่านี้มักจะเป็นฝีมือของหนุ่มอัสลีมากกว่าที่จะเป็นของสาว ๆ อัสลี

ผมถามเพื่อนโอรังอัสลีจาไฮว่า เบอเลาใช้ยิงอะไรได้บ้าง พวกเขาตอบว่ายิงได้ทุกอย่างที่ลูกดอกของเขาสามารถปักเข้าเนื้อสัตว์นั้นได้ ยิงลิงลิงตาย ยิงกระจงกระจงตาย ยิงกวางกวางตาย ยิงช้างช้างคงไม่ตาย อ้าว … ทำไมงั้นล่ะ พวกเขาพูดขำๆว่าเอาเบอเลาไปยิงช้างคงไม่ตายหรอก หนังช้างหนามาก พวกเขาไม่เคยลองยิง หัวหน้ากลุ่มเขาหันมาบอกผมด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้มว่า กลัวกินไม่หมด ผมถามกลับไปว่า งั้นเวลาเดินป่าแล้วเจอช้างจะไงดี เขาบอกว่าโห่ไล่ช้างเสียงดังๆช้างก็วิ่งหนีแล้ว ความสงสัยของผมยังไม่จบจึงถามอีกว่า แล้วถ้าช้างไม่หนีล่ะ เขาตอบง่ายๆว่า เราก็หนีเองสิ จะอยู่ทำไม



เรื่องวิ่งหนีเป็นความสามารถที่ดีเยี่ยมอย่างหนึ่งของโอรังอัสลีจาไฮ พวกเขาปีนต้นไม้คล่องกันทุกคนแม้แต่เด็กตัวเล็กๆ เวลาตกใจอะไรก็เผ่นขึ้นไปบนยอดไม้กันหมด และพวกเขาเดินป่าได้เร็วกว่าเรามาก ถ้าไม่มีสัมภาระหนักที่ต้องแบกแล้วเราเดินตามเขาไม่ทันหรอกครับ ผมเคยขับมอเตอร์ไซด์ตามทางเดินเล็กๆในป่าเทียบกับพวกเขาที่เดินในราวป่าข้างทาง ตามไม่ทันครับ พวกเขาถึงที่หมายก่อนผ

การใช้ชีวิตในป่าของโอรังอัสลีจาไฮไม่ใช่เป็นผู้ล่าฝ่ายเดียว บางครั้งก็ถูกล่าด้วยเช่นกัน ทักษะการหนีที่รวดเร็วเป็นความอยู่รอดของพวกเขา ครั้งหนึ่งที่พวกเขาออกไปหามันเพื่อเอามากินกัน ออกไปหลายคน กระจายกันขุด มีคนแก่คนหนึ่งในกลุ่มที่กำลังขุดมันเพลิน จู่ๆก็มีเสือโคร่งกระโจนมางับคอ ต่อหน้าต่อตาพวกเขา ผมถามแล้วคนที่ถูกเสือขบล่ะเป็นไงบ้าง เขาบอกว่าเลือดไหลทะลักจากคอแล้วหลับตรงนั้นเลย เขาบอกว่าเห็นเลยว่าเสือตัวใหญ่มาก เพราะพวกเขาอยู่บนต้นไม้แถวนั้น

ผมเคยสัญญากับเพื่อนโอรังอัสลีจาไฮว่าจะซื้อเสื้อสวยๆให้พวกเขาใส่ พร้อมถามว่าอยากได้เสื้อสีอะไร ในใจผมเดาว่าพวกเขาคงเลือกสีแดง แต่คำตอบที่ได้นั้นผิดถนัดเลยครับ หนุ่มอัสลีเกือบทุกคนตอบว่าขอเสื้อสีดำ บางคนบอกว่าสีอะไรก็ได้แต่ไม่เอาสีแดง เรื่องนี้สวนทางกับความเชื่อและการรับรู้แต่โบราณของผมที่จำมาจากละครโทรทัศน์ว่า “เงาะป่าบ้าใบ้ชอบสีแดง” ผมสงสัยและถามว่า โอรังอัสลีไม่ชอบสีแดงแล้วหรือ ผมเห็นสาวๆก็แต่งสีแดงกันหลายคน เพื่อนโอรังอัสลีของผมอธิบายหลังจากที่ผมถามว่า “สีแดงก็สวยสดดี ก็ยังชอบอยู่ แต่ตอนนี้กระทิงในป่ามีเยอะกว่าเดิม เวลาเจอกระทิงมันจะไล่ขวิด หนีขึ้นต้นไม้มันก็ยังเฝ้าอยู่ที่โคนต้นไม่ยอมไปไหน กว่ากระทิงจะไปนี่นานมาก ไม่เหมือนสัตว์อื่น อยู่บนต้นไม้นานๆไม่สนุกนะ ใส่เสื้อสีอื่นดีกว่า มันจะได้ไม่มายุ่งกับเรา” อืม … จำนวนกระทิงที่เพิ่มมากขึ้นในป่าฮาลา มีผลต่อรสนิยมทางแฟชั่นของโอรังอัสลีด้วยหรือนี่ ? ผมรีบจดบันทึกกันลืม เผื่อนักออกแบบและห้องเสื้อชั้นนำในปารีสจะสนใจข้อมูลนี้
.
.
หมายเหตุ : จาไฮและตาเมียร์ เป็นการแยกกลุ่มโอรังอัสลีตามกลุ่มภาษา ซึ่งทั้งหมดมี 6 กลุ่ม ในประเทศไทยมีโอรังอัสลี 2 กลุ่มภาษา คือ ภาษาจาไฮและเกนซิว

(Visited 183 times, 1 visits today)
Close