Written by 10:56 am Memoir

รถโดยสารของโต๊ะนิ

เมื่อผมเปิดอัลบัมภาพถ่ายเก่าที่บ้านคุณยาย สะดุดตากับรูปใบนี้ค่อนข้างมาก ด้วยความเป็นภาพรถโดยสารที่แปลกไปจากรถโดยสารตัวถังไม้ที่คนมลายูเรียกว่า “กือแรตอ บอดี กายู (Kereta bodi kayu)” หรือ “กือแรตอ บอดี (Kereta bodi)” ที่เคยนั่งในสมัยเด็ก

สมัยเด็ก ผมใช้ยานพาหนะที่ค่อนข้างหลากหลายอยู่บ้าง คือ จากบ้านคุณยายไปตลาดหรือไปไหนในเมืองปัตตานี เรามักจะนั่งรถถีบสามล้อโดยสารที่ผมเรียกจนติดปากว่า “ซีกา แต๊กชี่ (Bicycle Taxi)” เป็นรถจักรยานพ่วงที่นั่งด้านข้าง ผมชอบนั่งซีกาแต๊กซี่ที่ใช้จักรยาน “ราเลย์ (Raleigh)”ซึ่งเป็นจักรยานที่ผลิตจากเมือง Nottingham ประเทศอังกฤษมากกว่าจักรยานชนิดอื่น ด้วยมันมีเสียง แต๊ก ๆ ๆ เวลาซี่ล้อหมุนช่วยให้ฟังเพลินดีตลอดเวลาที่นั่ง ซีกาแต๊กซี่เกือบทุกคันจะมีการประดับด้วยพู่บนยอดเสาเหล็กที่เสียบไว้ข้างที่นั่ง(ซึ่งผมไม่รู้ว่าเป็นเสาสำหรับใช้งานอะไร) ชิ้นส่วนที่เป็นโลหะรวมทั้งซี่ล้อจะถูกขัดถูจนแวววาวทั้งคัน และคนปั่นซีกาแต๊กซี่มักจะนุ่งกางเกงขาสั้น น่องโป่งๆ ดูแล้วแข็งแรงมาก ปัจจุบันก็ยังคงเห็นซีกาแต๊กซี่อย่างที่เล่านี้ให้บริการอยู่บ้างสักคันสองคันในตลาดเมืองปัตตานี เป็นที่ชื่นชอบของนักท่องเที่ยวและกลุ่มช่างภาพที่ถ่ายแนววิถีวัฒนธรรม

“กือแรตอ บอดี” เป็นรถที่เราใช้โดยสารออกไปไกลจากตัวเมือง เช่น จากปัตตานีไปยะลาหรือใกล้กว่านั้น กือแรตอบอดีเป็นรถที่ “บอดี้”หรือตัวถังที่ทำจากไม้มาขึ้นโครงขึ้นรูปเป็นตัวรถรวมทั้งเก้าอี้ที่นั่งยาวทั้งสองฝั่งก็ทำจากไม้ เปิดช่องหน้าต่างให้ลมโกรกเย็นสบาย เป็นทั้งรถโดยสารและบรรทุกข้าวของสัมภาระที่มักจะวางไว้บนหลังคารถหรือบนพื้นท้ายรถ

ส่วนการเดินทางไปยังที่ห่างไกล ครอบครัวเราใช้บริการของรถไฟครับ สมัยที่ผมยังเด็กยังคงเป็นรถไฟหัวจักรไอน้ำอยู่ ส่วนใหญ่จะเป็นหัวรถจักรที่ใช้ไม้ฟืนเป็นเชื้อเพลิงในการต้ม Boiler หรือหม้อต้มไอน้ำ นานๆสักครั้งถึงจะเห็นหัวรถจักรที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง เวลาที่ชะโงกออกไปมองทิวทัศน์นอกหน้าต่างโบกี้รถไฟก็จะเจอควันดำๆและสะเก็ดฟืนที่ลอยมาจากหัวจักรรถไฟอยู่บ้าง สำหรับรถไฟหัวจักรไอน้ำผมทันนั่งได้ไม่กี่ปี การรถไฟก็เปลี่ยนมาใช้หัวลากดีเซลแทน ซึ่งรูปแบบไม่แตกต่างจากหัวลากดีเซลที่ใช้ในปัจจุบัน แต่มีสภาพที่ใหม่กว่ามาก

ออกนอกเรื่องไปจากเรื่องภาพถ่ายรถโดยสารไปพอสมควร ก็จะเล่าถึงเรื่องรถโดยสารในภาพเสียที รถคันนี้เป็นรถของ “โต๊ะนิ” ซึ่งเป็นคุณตาของผม โต๊ะนิเป็นคำที่ผมเรียกคุณตาในภาษามลายู โต๊ะนิตั้งเรือนที่บ้านตะลุโบะ ปัตตานี คุณแม่และคุณน้าเล่าให้ฟังว่าโต๊ะนิเคยเป็นช่างทองมาก่อน ต่อมาก็ซื้อรถยนต์คันนี้ โดยสั่งซื้อผ่านการนำเข้าจากบริษัทพิธานพาณิชย์ในตัวเมืองปัตตานี เพื่อให้ในการเดินรถโดยสารตั้งแต่ก่อนสงครามญี่ปุ่นหรือสงครามมหาเอเชียบูรพา ผมไม่มีข้อมูลว่าคุณตาซื้อรถคันนี้ในราคาเท่าไร และซื้อในปีไหน ทราบเพียงแต่กิจการเดินรถโดยสารของคุณตาผมต้องหยุดเมื่อเกิดเหตุการณ์ทหารญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกที่ปัตตานี เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2484 หลังจากที่กองทัพญี่ปุ่นขึ้นบกและรัฐบาลไทยประกาศร่วมมือเป็นพันธมิตรกับกองทัพญี่ปุ่นแล้ว รถโดยสารของคุณตาคันนี้ถูกกองทัพญี่ปุ่นยืมใช้ในราชการสงครามโดยที่ไม่ให้ค่าตอบแทนใดๆทั้งสิ้น พูดง่ายๆก็คือถูกยึดเพื่อใช้ในราชการสงครามของกองทัพญี่ปุ่นนั่นเอง หลังจากกองทัพญี่ปุ่นเคลื่อนย้ายกำลังพล รถคันนี้ก็หายสาบสูญโดยที่ไม่มีใครรู้เห็นอีก เรื่องนี้ทำให้คุณตาผมเสียใจถึงขั้นล้มป่วยและสุขภาพเสื่อมโทรมอีกหลายปีจนกระทั่งเสียชีวิตในที่สุด

(Visited 53 times, 1 visits today)
Close