Written by 11:10 am Culture

สานต่อประเพณีโบราณที่บ้านควน ปัตตานี

เอ่ยชื่อ “ควน” อาจจะไม่เป็นที่รู้จักกันมากนัก แต่ตำบลควนซึ่งตั้งอยู่ในอำเภอปะนาเระ ปัตตานีนั้นมีนัยสำคัญต่อคนพุทธในพื้นที่สามจังหวัดไม่น้อยในแง่ของการสานต่อประเพณีหลายอย่าง

ตำบลควนมีทั้งหมดหกหมู่บ้าน ในจำนวนนี้มีสี่หมู่บ้านที่ลูกบ้านนับถือศาสนาพุทธทั้งหมด ถือว่าเป็นตำบลที่มีคนนับถือศาสนาพุทธมากที่สุดของปะนาเระ เป็นที่ที่มีเรื่องราว ตำนานความเชื่อ และประเพณีดั้งเดิมหลายประเพณีมายาวนานนับร้อยปี หลายอย่างอาจไม่ค่อยเป็นที่รู้จักกันแล้ว อาทิ ประเพณีชิงเปรต เดือนสิบ หรือวันสาร์ทไทย ประเพณีตักบาตร ชักพระวันออกพรรษา ประเพณีลาซังกับโต๊ะชุมพุก

ลาซังกับการแต่งงานโต๊ะชุมพุก
ลาซัง เป็นการทำพิธีลาซังข้าว หลังฤดูการเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จแล้ว โดยชาวบ้านที่ทำนาจะนำเอาซังข้าวมารวมกันที่นา เพื่อจะทำเป็นหุ่นจากซังข้าว เรียกว่า โต๊ะชุมพุก โดยทำเป็นหุ่นผู้ชาย และผู้หญิง อย่างละหนึ่งตัว แล้วเอามาทำพิธีแต่งงานกัน พิธีกรรมทุกอย่างเหมือนพิธีแต่งงานของคนจริง ๆ เพียงแต่หุ่นโต๊ะชุมพุกในอดีตจะทำเป็นตัวใหญ่ ๆ ให้ส่วนท้องป่อง เพื่อให้ชาวนาได้นำอาหารคาว หวาน เช่นขนมโค ข้าวเหนียว ข้าวต้ม ไก่ต้ม มาใส่ในท้องโต๊ะชุมพุก เป็นไปตามความเชื่อว่าในปีต่อไปนาข้าวจะอุดมสมบูรณ์ ไม่อดอยาก

เอกสาร 100 ปีอำเภอปะนาเระ ปี 2437 – 2537 ระบุว่า ประเพณีลาซัง เป็นประเพณีที่อยู่คู่กับตำบลควนมานานแสนนาน เป็นประเพณีที่เชื่อมโยงความสามัคคีของชาวควนแต่ละหมู่บ้านเข้าด้วยกัน ซึ่งจะจัดขึ้นในช่วงเดือนพฤษภาคมของทุกปี โดยมีหมอขวัญ เป็นผู้หาฤกษ์ดีเพื่อทำพิธี และนิมนต์พระมาสวดให้พร

แต่ปัจจุบันหลายอย่างเปลี่ยนไป ชาวบ้านเลือกเอาวันพืชมงคลเป็นวันจัดประเพณี เพราะถือว่าเป็นวันดีอยู่แล้ว การทำหุ่นโต๊ะชุมพุกปัจจุบันก็มีความสวยงามมากขึ้น เพราะมีการประกวดขบวนแห่โต๊ะชุมพุกของแต่ละหมู่บ้าน ขณะที่พิธีสำคัญบางอย่างหายไปเช่น การทำขวัญข้าว
“สมัยนี้ไม่ได้ทำขวัญข้าวแล้ว ไม่มีเวลา เพราะเวลาแห่มา มีกลองยาวตามมาอีกหลายชุด และมีการประกวดหลายอย่างทำให้ทำขวัญข้าวไม่ได้ เลยทำง่าย ๆ คือพ่อหมอต้องทำน้ำมนต์ขึ้นมา แล้วเอารวงข้าวไปทำที่คู่บ่าว สาว ” ลุงสมหมาย โชติช่วง หมอขวัญคนปัจจุบันของตำบลควนกล่าว

ไม่เพียงแต่พิธีกรรมบางอย่างที่เปลี่ยนไป สถานที่จัดงานก็เปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน จากในอดีตที่จัดกันตามท้องทุ่งนา ปัจจุบันการจัดงานมักเลือกทำตามอาคารเอนกประสงค์ของหมู่บ้าน หรืออย่างในปีที่ผ่านมาก็จัดแห่ขบวนโต๊ะชุมพุกที่โรงเรียนวัดควนใน หรือแม้กระทั่งอาหารคาว หวานที่ชาวบ้านเคยนำมาใส่ในท้องของหุ่นโต๊ะชุมพุกก็เปลี่ยนไปเป็นจัดใส่ถาดแทน มีการตกแต่งอย่างสวยงามวางไว้หน้าโต๊ะชุมพุก อาจจะพูดได้ว่ารายละเอียดของงานบางอย่างถูกทำให้แปลกออกไปเพื่อให้งานมีความ “สวย” ที่เสพได้มากขึ้น

ประเพณีลาซังนั้นมีในหลาย ๆ พื้นที่ ชื่อเรียกและพิธีกรรมอาจจะไม่เหมือนกัน

ประเพณีชิงเปรต เดือนสิบ
เป็นงานที่จัดขึ้นทุกปีในวันแรม 15 ค่ำเดือนสิบ งานเดือนสิบถือเป็นประเพณีสำคัญของคนพุทธทางภาคใต้ทั้งหมด เพื่อทำบุญอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้บรรพบุรุษ หรือเรียกกันในงานว่า “ตา ยาย” ที่เสียชีวิตไปแล้ว ประเพณีนี้จะเริ่มตั้งแต่เริ่มเข้าวันขึ้นหนึ่งค่ำ เดือนสิบเรียกว่า “วันรับตา ยาย” คือเชิญวิญญาณบรรพบุรุษเหล่านี้มารับส่วนบุญ กุศล ไปจนถึง “วันส่งตา ยาย” หรือวัน “ชิงเปรต”

สำหรับที่ตำบลควน อำเภอปะนาเระนั้น ในงานชิงเปรตหรืองานเดือนสิบในทุก ๆ ปีชาวบ้านจะนำของกินทั้งของคาว ของหวาน อย่างขนมลา ขนมสะบ้า ข้าวพอง มาจัดในสำรับ ที่มีชื่อเรียกเฉพาะว่า “หมัรบ” (อ่านว่าหมับ) มาที่วัด ของเหล่านี้ทำขึ้นเพื่อให้ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว แต่ละอย่างมีนัยอยู่ในตัว ไม่ว่าจะจากชื่อหรือรูปลักษณ์ของขนมก็ตาม เช่นขนมลา มีลักษณะเป็นใยละเอียดอ่อนซับซ้อนทบเข้าด้วยกันก็มีความหมายของมันในการ “ให้” หนนี้

“ขนมลาเปรียบเหมือนเสื้อผ้าที่จะได้ห่มไป ขนมสะบ้า เพราะคนเมื่อก่อนชอบเล่นสะบ้า ขนมเจาะหูคล้ายๆ ว่าร้อยกันไป ขนมข้าวพอง ไว้ให้ภูมิใจ พองใจ ของที่ลูกหลานทำไปให้ ” ยายสุขแก้ว เพ็ชรรัตน์ กล่าว

นอกจากนั้นชาวบ้านยังนำสิ่งของต่าง ๆ อันละเล็กละน้อยมาห่อด้วยใบกะพ้อเป็นรูปคล้ายขนมต้มแล้วร้อยเข้าด้วยกันเป็นพวง บวกกับสิ่งของพวกอุปโภค บริโภค หรือสิ่งของจำเป็นสำหรับผู้ล่วงลับไปแล้วเอาไปรวมกันไว้บนนั่งร้านเล็ก ๆ ที่ทำขึ้นเป็นพิเศษด้วยไม้ไผ่ มีเสาสูงอยู่ตรงกลาง รอให้เสร็จพิธีกรรมจากในวัดเพื่อเข้าสู่ช่วงสนุกสนานของการ “ชิงเปรต”

ชาวบ้านและเด็ก ๆ จะไปรอกันที่ข้างล่างของนั่งร้าน พวกเขาจะเปิดโอกาสให้ใครก็ตามที่ต้องการเข้าแข่งขันเพื่อจะปีนเสาขึ้นไปเอาสิ่งของด้านบนนั่งร้าน แต่เสาที่ว่านี้ถูกราดด้วยน้ำมันสีดำจนลื่นจับแทบไม่ติด จึงเป็นเรื่องเฮฮาของคนดูที่จะได้เห็นคนที่ส่วนใหญ่เป็นเด็กชายวัยรุ่นพยายามปีนป่ายเสาขึ้นไปให้ได้ ในระหว่างที่ปีนป่ายครั้งแล้วครั้งเล่าตัวของพวกเขาก็ติดน้ำมันสีดำเมื่อมสมกับชื่องานว่าชิงเปรต แม้ว่าอาจจะใช้เวลานานแต่ในที่สุดก็จะมีคนปีนจนได้ หลังจากนั้นคนปีนก็จะโยนของข้างบนนั่งร้านลงมา บรรดาคนที่ไปรอก็คอยวิ่งเก็บ หลังจากนั้นก็แล้วแต่ว่าใครจะนำไปทำอะไรต่อไป ถือเป็นอันเสร็จสิ้นประเพณีชิงเปรตเดือนสิบ

ชักพระ
จบงานเดือนสิบไม่นาน ชาวบ้านตำบลควนก็จะเริ่มเตรียมงานบุญใหญ่อีกครั้ง คืองานตักบาตรวันออกพรรษาและชักพระหรือลากพระ อันเป็นวันที่สิ้นสุดระยะการจำพรรษา

ในช่วงเช้าตรู่ของวัน ชาวบ้านจะทยอยกันไปที่วัดจนเต็มลานของวัดควนนอก เพื่อรอพระสงฆ์ที่จะเดินลงมาจากบนเนินเขาของวัดเพื่อบิณทบาตร ส่วนใหญ่เป็นการตักบาตรด้วยข้าวสาร อาหารแห้ง หลังจากพระสงฆ์บิณทบาตรเสร็จ หลายคนก็เตรียมข้าวต้ม ที่ทำมาจากข้าวเหนียวดำหรือข้าวเหนียวขาว ผัดกับกะทิแล้วห่อด้วยใบกะพ้อเป็นรูปสามเหลี่ยม เสร็จแล้วร้อยด้วยเชือกมาเป็นพวง ๆ แขวนไว้ที่ขบวนเรือพระ ที่ชาวบ้านร่วมกันตกแต่งประดับประดาให้สวยงาม เพื่อจะลากพระไปยังศาลาหยุดพระ ตั้งอยู่ที่ ตำบลดอน อำเภอปะนาเระ ซึ่งเป็นสถานที่ชักพระมารวมกันของอีกหลายตำบลในปะนาเระ

ในปัจจุบันมีการประกวดขบวนพระกันด้วย จึงไม่น่าแปลกใจที่จะเห็นแต่ละตำบลขะมักเขม้น ตกแต่งประดับขบวนเรือกันอย่างสวยงาม หลังจากเสร็จสิ้นพิธีทั้งหมดแล้ว ช่วงบ่ายชาวบ้านก็จะชักพระกลับไปยังวัดเดิมที่ลากกันมา

การชักพระเป็นประเพณีที่มักจะทำกันในเขตพื้นที่ทางภาคใต้ ผู้รู้สันนิษฐานว่าเป็นประเพณีที่ได้อิทธิพลมาจากอินเดีย ในส่วนของประชาชน ชาวใต้เชื่อว่าการชักพระจะช่วยให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล (ข้อมูลจาก Winnews)

(Visited 219 times, 1 visits today)
Close