Written by 3:51 am Featured, Interviews, Patani Notes

ขาลงของร้านอาหารต้มยำในมาเลเซีย?

เต๊นท์ขนาดใหญ่ที่ถูกกางอยู่หน้าอาคารเรียนของโรงเรียนบ้านน้ำดำ ตำบลปุโละปุโย ได้กลายมาเป็นสถานที่อำนวยการชั่วคราวของศูนย์กักตัวที่รองรับผู้คนที่เดินทางกลับมาจากภูมิภาคต่างๆของไทยรวมทั้งจากประเทศมาเลเซีย ผู้ที่ต้องมาพำนักในศูนย์กักตัวแห่งนี้คือคนปุโละปุโยในวัยทำงานและได้ชื่อว่านำรายได้จากข้างนอกกลับมาพัฒนาบ้านเกิด

Patani Notes ได้พูดคุยกับนายกองค์การบริหารส่วนตำบลปุโละปุโย อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี นายมามะ หะยีสามะ หรือ “แบมะ” ผู้ที่ครั้งหนึ่งก็เคยรอนแรมออกเดินทางไปหาโอกาสในชีวิตที่ประเทศมาเลเซียเช่นกัน และในวันนี้กับบทบาทผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ครองตำแหน่งมาอย่างยาวนาน บทสนทนาจากคำบอกเล่าของแบมะจึงคาบเกี่ยวไปด้วยวิธีคิดของการทำงานในภาวะวิกฤติ ประสบการณ์ชีวิตอันน่าตื่นตาตื่นใจและแน่นอนความห่วงใยและแผนในการรับมือกับอนาคตที่ไม่แน่นอนของลูกหลานชาวปุโละปุโยที่เดินทางไปแสวงหาโอกาสในชีวิตต่างบ้านต่างเมือง

คำถามที่ Patani Notes จู่โจมถามหนุ่มใหญ่อย่างแบมะมะทันทีที่ได้นั่งสนทนาคือการเป็นนายกฯอบต.ในยุคสมัยที่ไวรัสโควิดกำลังระบาดนั้นยากลำบากหรือไม่ แบมะตอบมาแทบจะในทันที่ว่าไม่ยากรวมทั้งสบายใจมากเรื่องดูแลคน การดูแลคนในตำบลขนาดใหญ่แห่งนี้ที่มีประชากรราว 7,000 คน ไม่เจอกับปัญหาขนาดใหญ่เลย แบมะย้ำว่าทุกภาคส่วนให้ความร่วมมือถึงขนาดที่แบมะบอกว่าประสบความสำเร็จ ปัจจัยสำคัญที่แบมะบอกกับเราคือการคุยกันและประสานกันระหว่างหน่วยงานภายในพื้นที่ให้เรียบร้อย แบมะบอกว่าเขาให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจัดเตรียมงานในส่วนของตัวเองได้อย่างอิสระ ส่วนตัวแบมะนั้นทำหน้าที่เตรียมเรื่องอาหาร เครื่องนุ่งห่ม สถานที่และเตรียมอุปกรณ์ต่างๆก่อนที่จะรับคนเข้าศูนย์กักตัวที่เขาใช้โรงเรียนสองแห่งในพื้นที่ เมื่อถามว่าเราได้ยินมาเป็นระยะว่าการทำงานในระดับตำบลนั้นมีปัญหามากมาย แบมะบอกเล่าถึงธรรมชาติของสภาพของการเมืองในชุมชนว่า “โดยปกติมันมีการเมืองในชุมชน ไม่มีใครยอมใครและถ้าไม่ได้คุยกันวางแผนกันแต่แรกเลยมันจะลำบาก” การคุยกันและฟังกันดูเหมือนจะเป็นหัวใจของการทำงานที่แบมะใช้อธิบายอยู่บ่อยๆ

“เราจริงใจ คุยอะไรตรงไปตรงมา ไม่ใช่ว่าถ้าผมเป็นนายกฯใครห้ามอะไรก็ไม่ฟัง มีคนที่เด็กกว่ามาห้ามผมผมก็ฟังนะ แต่ว่าขอให้เป็นความจริง ขอให้มันถูกต้อง”  

การบริหารองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นนั้นอาศัยความจริงใจในการทำงานอย่างเดียวไม่ได้ มันต้องมีบทบู๊บทเด็ดขาด ซึ่งแบมะก็ไม่ปฏิเสธในบทบาทเมื่อต้องเด็ดขาดในหน้าที่การงานบริหารสำหรับองค์กร แต่ในภาพรวมและในฐานะคนทำงานการเมืองแบมะอธิบายการทำงานกับชาวบ้านในแบบฉบับตัวเองที่เป็นวิธีคิดการทำงานการเมืองอันน่าสนใจว่า

“ต้องอยู่ต่ำ ต้องให้เขาคุยแล้วเราก็ฟัง ถ้าเราเอาสิ่งที่เราอยากได้ก่อนจะมีคนค้านทันที เราก็อยู่ต่ำฟังสิ่งที่ชาวบ้านพูดก่อน ถ้าทุกคนเห็นพ้องกันเราก็โอเคเห็นด้วยก็เรียบร้อย”

ปุโละปุโยเป็นตำบลขนาดใหญ่และซ่อนตัวขนาบอยู่ระหว่างถนนใหญ่สองเส้น นับตั้งแต่มีการตั้งศูนย์กักตัวในตำบลแบมะบอกว่ามีคนเข้ามาอยู่ในศูนย์กักตัวแล้วไม่ต่ำกว่า 100 คน ส่วนใหญ่เป็นคนปุโละปุโยที่ทำงานในกรุงเทพฯ ภูเก็ต และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศมาเลเซีย แบมะคาดการณ์ว่าน่าจะมีคนปุโละปุโยทำงานในเครือข่ายร้านอาหารที่มาเลเซียราว 1,000 คน เมื่อบทสนาทนามาถึงตรงนี้แบมะก็แย้มว่า “จุดเริ่มมาจากผม ผมเป็นคนปุโละปุโยคนแรกที่บุกเบิกเปิดร้านอาหารในมาเลเซียโดยเริ่มจากศูนย์”

“ถ้ามองย้อนกลับไปเราก็เหมือนแรงงานต่างชาติที่มาทำงานบ้านเรา เราไม่ได้ดูถูกพวกเขาน่ะ แต่เรานึกถึงตอนที่เราอยู่มาเลเซียที่เริ่มจากกวาดขยะในร้านอาหารทำความสะอาดบริเวณร้านจนวันนึงเรากลายเป็นเถ้าแก่”

นอกจากจะยืนยันว่ามุมมองที่เขามองแรงงานต่างชาติที่มาทำงานในพื้นที่ในฐานะคนที่มองหาโอกาสที่ดีกว่าในชีวิตแล้ว แบมะบอกว่าเขาไปเริ่มต้นทำงานในกรุงกัวลาลัมเปอร์ประเทศมาเลเซียในวัยสามสิบกว่าซึ่งถือว่ามากพอสมควร จากคนกวาดขยะขยับขยายสู่การทำงานในครัวที่เริ่มด้วยการชำแหละเนื้อไก่ หั่นเนื้อ ทำข้าวไข่เจียว และกว่าจะถึงคิวการเป็นคนทำต้มยำซึ่งเป็นเมนูระดับบนสุดของห่วงโซ่ร้านอาหารในมาเลเซียก็ในวันที่มีทักษะพร้อมจะเป็นผู้ประกอบการเองแล้ว

แบมะบอกว่าเพื่อนเขาช่วยผลักดันด้วยการให้เงิน 400 ริงกิตมาเปิดร้านขายซุปหางวัวในลานจอดรถด้วยโต๊ะ 6 ตัว กิจการของแบมะรุ่งเรืองเติบโตขึ้นเรื่อยๆกลายเป็นร้านที่มีโต๊ะให้นั่งกว่า 40 ตัวพร้อมลูกค้าที่นั่งเต็มร้านในทุกค่ำคืน ร้านอาหารของแบมะเติบโตพร้อมๆกับเศรษฐกิจของประเทศมาเลเซียที่นายกรัฐมนตรีของมาเลเซียนายมหาธีร์ขณะนั้นประกาศวิสัยทัศน์ 2020 อันมีหมุดหมายว่ามาเลเซียจะเข้าสู่ภาวะการเป็นประเทศอุตสหากรรมที่สามารถพึ่งพิงตัวเองได้ภายในปี 2020 แน่นอนว่าพนักงานที่มาช่วยแบมะเปิดร้านมากกว่า 20 คนนั้นคือคนปุโละปุโยนั่นเองที่ทุกวันนี้หลายคนเติบโตและมีธุรกิจร้านอาหารของตัวเอง แบมะเล่าด้วยความภาคภูมิใจว่าตอนนี้เขาสามารถกินข้าวฟรีในประเทศมาเลเซียได้ถึงสองเดือนเพราะมีคนปุโละปุโยะไปเปิดร้านอาหารในรัฐต่างๆของมาเลเซียทุกวันนี้อยู่เกือบร้อยร้าน

ในวันที่แบมะสามารถขยายสาขาร้านอาหารได้ถึง 4 ร้านและเริ่มรู้สึกคิดถึงบ้านจึงตัดสินใจโอนขายกิจการและกลับมาอยู่บ้าน ความสำเร็จในธุรกิจของแบมะเป็นที่พูดถึงในชุมชนทำให้ชาวบ้านสนับสนุนให้แบมะลงสมัครการเมืองท้องถิ่นเริ่มจากสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลสู่การเป็นผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่แบมะเล่าด้วยความภูมิใจว่าทักษะการทำงานในภาคธุรกิจอาหารช่วยเขาได้เยอะมากในวันที่ต้องมาบริหารองค์กรท้องถิ่น

“เราเคยเจออุปสรรคทุกๆด้านจากการทำร้านอาหาร เรื่องอารมณ์เราก็เจอทุกอย่างมาแล้ว ถูกเขาชี้หน้าด่าก็บ่อย เราคุ้นเคยและกลายเป็นเรื่องปกติ เราอยู่ได้เพราะเราคิดว่าจะทำยังไงให้เขาสนับสนุนเราก็พอ”

และเมื่อถามถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในมาเลเซียพร้อมข่าวคราวที่ผู้ประกอบการร้านอาหารต้มยำและแรงงานนับแสนกำลังเดือดร้อนจากไวรัสระบาดและมาตรการห้ามการเดินทาง แบมะบอกว่าอนาคตของธุรกิจร้านต้มยำในมาเลเซียขณะนี้ไม่แน่นอนอีกต่อไปแล้ว เพราะคนมาเลเซียเริ่มมองว่าคนไทยจากสามจังหวัดเข้าไปกอบโกยเงินของมาเลเซียขณะที่ก็เริ่มมีมาตรการอื่นๆของทางการเข้าไปเริ่มกดดันเช่นการต้องทำใบอนุญาตทำงานที่ถูกต้องซึ่งมีราคาแพง ค่าเงินมาเลเซียที่ตกลงมาอย่างหนัก ประกอบกับผู้ประกอบการชาวมาเลเซียก็เริ่มมาลงทุนในกิจการร้านอาหารมากขึ้น  

แบมะบอกว่าในวันที่เศรษฐกิจมาเลเซียกำลังเติบโต การเข้าไปทำงานของคนระดับแรงงานเพื่อนำเงินหมื่นกลับมาฝากครอบครัวนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ยากเย็นนักและการเดินทางเข้าไปทำงานก็ไม่ลำบาก แต่ทุกวันนี้สถานการณ์เปลี่ยนไป ในส่วนการทำใบอนุญาตทำงาน หรือ Work Permit ซึ่งมีราคาแพงนั้น แบมะบอกว่าปัญหาที่รู้มาคือคนที่มีใบอนุญาตทำงานจะไม่อยู่กับที่จะเปลี่ยนร้านทำงานตลอดและหากจะต้องทำสัญญาแบมะบอกว่าสำหรับชาวบ้านที่ไปทำงานในมาเลเซียการทำสัญญาเพื่อตกลงการทำงานนั้นคือสิ่งที่ไม่อาจทำได้อย่างง่ายดายเพียงนั้น

เพื่อเตรียมการรับมือกับความไม่แน่นอนด้านอาชีพสำหรับคนในพื้นที่และชาวบ้านที่กลับมาจากมาเลเซียซึ่งกำลังรอคิวกลับกันอีกไม่น้อยนั้น แบมะเผยว่ากำลังริเริ่มทำโครงการส่งเสริมอาชีพด้านต่างๆในพื้นที่เช่นฟื้นฟูนาร้าง ส่งเสริมการปลูกผักสวนครัว พัฒนาทักษะอาชีพด้านต่างๆ โดยเฉพาะคนที่ไปเป็นแรงงานหรือลูกจ้างในประเทศมาเลเซียที่แบมะบอกว่าหลายคนไปทำงานในมาเลเซียตั้งแต่เด็กและอยู่ในวงจรการทำงานร้านอาหารมาทั้งชีวิต

สิ่งเหล่านี้คือความท้าทายอันสำคัญสำหรับผู้บริหารท้องถิ่นอย่างแบมะที่บอกว่าต้องคิดใหม่ทำใหม่เพราะเป็นห่วงอนาคตของชาวบ้านในพื้นที่ตัวเองหากการทำงานในธุรกิจร้านอาหารเป็นเรื่องที่ไม่สามารถทำได้อีกต่อไป

(Visited 3,126 times, 1 visits today)
Close