Written by 4:21 am Culture, Staff's Picks

ผ้าเลอปัสไม่ได้มาจากโกลก

“ผ้าเลอปัสไม่ได้มาจากสุไหงโกลก แต่มาจากวัฒนธรรมร่วมของคนในอุษาคเนย์และการเดินทางของคนมลายูไปแสวงบุญยังแผ่นดินฮารอม (เมืองมักกะห์ ประเทศซาอุดีอารเบีย)”  

ภาพประกอบจากคุณ Abdulghani Ismail

ส่วนหนึ่งของบทสนทนากับสุไลมาน เจ๊ะแม ที่แม้ทุกวันนี้ผู้คนจะรู้จักเขาในฐานะผู้จัดงานวิ่ง Bala Trail แต่อีกด้านหนึ่งของสุไลมานเขาคือนักรณรงค์ด้านวัฒนธรรมที่เพื่อนๆรอบตัวบอกว่าเขาคือคนที่มาก่อนกาลในเรื่องผ้าเลอปัสเพราะสุไลมานเริ่มใช้ผ้าเลอปัสเป็นส่วนหนึ่งของการแต่งกายมาร่วมสิบปี รวมทั้งยังมีสต็อกผ้าเลอปัสในครอบครองอีกไม่น้อย ก่อนที่ผ้าเลอปัสจะได้รับความนิยมถึงขีดสุดจนเรียกได้ว่าใครๆก็ต้องหามาใส่ในช่วงเทศกาลฮารีรายอที่ผ่านมา

อันที่จริงแล้วจุดหักเหจนนำไปสู่งานด้านอนุรักษ์วัฒนธรรมและนักสะสมผ้าเลอปัสของสุไลมานเริ่มต้นขึ้นเมื่อราวสิบปีที่ผ่านมา จากศิษย์เก่าของโรงเรียนอิสลามวิทยาลัย สู่นักเดินทาง นักผจญภัยและผู้หลงใหลในแฟชั่น เริ่มต้นเส้นทางสายอนุรักษ์วัฒนธรรมผ่านงานดนตรีและในวันที่สุไลมานเห็นคนญี่ปุ่นจับผ้าเลอปัสมาโพกไว้บนหัว

“ตั้งแต่สมัยเรียนมัธยมปลายผมจะเป็นคนมีผ้าผืนเล็กๆติดไว้ในเป้ตลอด ชอบโพกหัว ผมเริ่มมาสนใจวัฒนธรรมมลายูสักประมาณ 10 ปีที่แล้วตอนไปอยู่ในวงดนตรีพื้นเมืองมลายูซึ่งสมาชิกจะใช้ผ้าเลอปัสติดตัวกันเป็นเรื่องปกติ มีอีเวนท์หนึ่งซึ่งจัดขึ้นที่มหาวิทยาลัย USM เมืองปีนัง ประเทศมาเลเซีย คนจัดงานได้เชิญวงดนตรีมลายูรวมทั้งกลุ่มนักเรียนแลกเปลี่ยนจากญี่ปุ่นมาร่วมแสดง ผมเห็นผู้ชายคนหนึ่งหน้าตาญี่ปุ่นแท้ๆ มีหนวดเคราผมยาว เขาโพกผ้าเลอปัสในงาน พอเราเห็นจีงสะดุดตาและพูดกับตัวเองว่าเราไปอยู่ไหนมา นั่นเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ชอบอย่างจริงจัง”

แม้ว่างาน Pesta Padi จะถูกเลื่อนจัดเพราะโควิด-19 แต่ไม่อาจหยุดยั้งความร้อนแรงของกระแสผ้าเลอปัสได้ – ภาพจากเพจ The Pauhbok

เมื่อถามสุไลมานว่าเหตุใดคนที่สะสมผ้าเลอปัสตลอดสิบปีที่ผ่านมาเช่นเขาถึงเงียบสนิทในวันที่ผู้คนต่างตามหาผ้าเลอปัสมาโพกหัว พาดบ่า หรือผูกเอว สุไลมานอธิบายว่าตัวเขาเฝ้ามองปรากฎการณ์นี้ด้วยความระทึกใจอยู่เช่นกัน หลายปีที่ผ่านมามีกระแสของการอนุรักษ์และแสดงออกด้านวัฒนธรรมของคนรุ่นใหม่ผ่านการแต่งกายในวันฮารีรายอ ผ่านการรวมตัวกันขี่จักรยานยนต์นับร้อยคันเพื่อไปเยี่ยมชมสถานที่ประวัติศาสตร์ ผ้าเลอปัสก็เป็นส่วนหนึ่งในนั้น อย่างไรก็ตามช่วงต้นปีที่ผ่านมามีกลุ่มเยาวชนของหมู่บ้านพอเบาะ ซึ่งอยู่แถวกลาบอ อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี เตรียมจัดงาน Pesta Padi หรือเทศกาลนาข้าวโดยใช้ผ้าเลอปัสที่ใช้ในเกือบทุกกิจวัตรประจำวันเป็นส่วนหนึ่งในการโปรโมตวิถีของท้องทุ่งผ่านช่องทางต่างๆรวมทั้งโซเชี่ยลมีเดีย แม้ว่างานที่เดิมวางแผนจะจัดในเดือนเมษายนแต่ถูกเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนดเพราะการระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่ไม่อาจหยุดยั้งกระแสความนิยมของผู้คนที่มีต่อผ้าเลอปัสได้อีกต่อไป

การใช้ผ้าเพื่อเป็นองค์ประกอบของการแต่งกายนั้นไม่ใช่สิ่งแปลกปลอมของคนในภูมิภาคแห่งนี้อยู่แล้ว สุไลมานอธิบายว่ามันแทบจะเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมร่วมของผู้คนในอุษาคเนย์ “เราเป็นบ้านเมืองเกษตรกรรมเราอยู่ในเขตเมืองร้อน เราทำเกษตร เราทำประมง ซึ่งเมื่อก่อนเราก็ต้องใช้เป็นเครื่องกันแดดเราไม่มีหมวกแก๊บไม่มีแว่นตากันแดด ผ้าพวกนี้จึงเป็นหนึ่งในอาภรณ์ที่ใช้เพื่อให้เข้ากับสภาพภูมิอากาศนับตั้งแต่อินโดจีนจนถึงแหลมมลายู” และอีกเหตุผลหนึ่งที่สุไลมานอธิบายคือการที่ชาวมลายูมุสลิมเดินทางไปแสวงบุญที่เมืองมักกะห์อันเป็นศุนย์กลางของผู้คนในโลกมุสลิมจากเผ่าพันธ์ต่างๆและผสมผสานวัฒนธรรมเหล่านั้นมาปรับใช้ร่วมกัน

“ถ้าเราไปสืบค้นภาพเก่าจะเห็นว่าคนรุ่นปู่รุ่นตาไปทำฮัจย์แล้วก็รับวัฒนธรรมจากอาหรับมา แต่ผ้าพวกนี้ไม่ใช่ผ้าเลอปัส มันจะมีรูปทรงฟังค์ชั่นการโพกที่ไม่เหมือนยุคปัจจุบัน ยุคนั้นถ้าเราไปดูคือไม่มีใครใส่หมวกกะปีเยาะห์แต่จะโพกผ้ากันเป็นส่วนมาก แม้แต่ไอคอนของคนปาตานีอย่างฮัจยีสุหลงก็ยังสวมใส่” 

ภาพประกอบจากคุณ Abdulghani Ismail

ผ้าอันมีสีสันสดใสปล่อยชายทั้งสองข้างโดยไม่มีการเย็บและมักจะถูกปั๊มด้วยลวดลายของดอกไม้หรือต้นไม้ซึ่งถูกเรียกว่าผ้าเลอปัสในปัจจุบันที่สุไลมานอธิบายว่ามีต้นกำเนิดไม่เกินแปดสิบปีและนำเข้ามาจากประเทศที่สามารถผลิตผ้าเป็นจำนวนมากด้วยระบบอุตสาหกรรมเช่น อินเดีย จีน อังกฤษ หรือ ญี่ปุ่น การผลิตได้เป็นจำนวนมากและในราคาที่ถูกทำให้ได้รับความนิยมแทนที่ผ้าทอมือเช่นผ้าลีมาหรือผ้าปือลางิงอันเป็นงานทอมือของคนในพื้นที่ “ผ้าลือปัสสีสันสดใสที่เราเห็นถูกผลิตขึ้นประเทศเช่น อินเดีย จีน อังกฤษ ญี่ปุ่น ในส่วนหัวหรือปลายผ้าจะมีเทคนิคการปั๊มแบบ Stencil ลงบนเนื้อผ้าว่าผลิตจากประเทศอะไรและผลิตให้ที่ไหน มีชิ้นนึงที่ผมเห็นเขาเขียนว่า Made for Patani ด้วยซ้ำ”  

ผ้าเลอปัสเกือบทั้งหมดจะถูกปั๊มด้วยลายดอกไม้หรือต้นไม้บนเนื้อผ้า ที่สุไลมานบอกว่าหลายคนก็บอกไม่ได้ว่าประเภทของดอกไม้หรือต้นไม้ที่อยู่บนเนื้อผ้านั้นคือต้นอะไรกันแน่เพราะมันไม่ได้ถูกผลิตจากในพื้นที่ “ถ้าอยากจะค้นคว้าอย่างจริงจังอาจจะต้องไปเชิญคนญี่ปุ่น คนจีน หรือคนอังกฤษมานั่งคุยว่าลวดลายบนผืนผ้านั้นมาจากต้นอะไร”

อย่างไรก็ตามในรอบไม่กี่สิบปีที่ผ่านมาแหล่งผลิตผ้าเลอปัสก็ได้ย้ายฐานมาอยู่ที่กรุงเทพฯแทน สุไลมานอธิบายความแตกต่างระหว่างผ้าที่ผลิตจากเมืองนอกและผ้าที่ผลิตจากกรุงเทพฯคือความเจือจางของสีผ้าแต่ยังคงลวดลายดอกไม้หรือต้นไม้ลงบนผืนผ้า และที่สำคัญคือราคาของผ้าก็ยิ่งถูกลงทำให้ผู้คนใช้งานได้แพร่หลายมากขึ้นกว่าเดิม 

ในตลาดซื้อขายผ้าเลอปัสเก่าแก่ซึ่งได้รับความนิยมและบางชิ้นมีราคาสูงถึงหลายพันบาทนั้น สุไลมานยอมรับว่าบางชิ้นมีราคาที่สมเหตุสมผลเพราะหายากมากที่จะเจอผ้าที่ผลิตมาในรุ่นแรกๆที่ปั๊มถึงแหล่งผลิตของผ้า ขณะที่ผ้าเลอปัสซึ่งผ่านพิธีกรรมของหมอพื้นบ้านก็มีราคาที่สูงมากเช่นกัน สุไลมานบอกว่าในพิธีกรรมของหมอพื้นบ้านสมัยก่อนมักจะนิยมใช้ผ้าเลอปัสสีเหลืองซึ่งเป็นสีที่สูงส่งตามคติพจน์ของคนมลายูเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมรักษาหรือการปลุกเสก ทำให้ราคาของผ้าที่ผ่านพิธีกรรมมาแล้วมีราคาสูงในตลาด

ภาพประกอบจากเฟสบุ๊คคุณ สุไลมาน เจ๊ะแม

ส่วนความเข้าใจที่ว่าผ้าเลอปัสของแท้จะต้องเป็นผ้าจากโกลก (อำเภอสุไหงโกลก จังหวัดนราธิวาส) เท่านั้น ในเรื่องนี้สุไลมานอธิบายว่าเมืองสุไหงโกลกนั้นเป็นเสมือนฮับการค้าของคนในสามจังหวัดมาเนิ่นนาน หากจะซื้ออะไรสักอย่างก็ต้องไปซื้อที่สุไหงโกลก แต่คนในเขตสุไหงโกลกและใกล้เคียงกลับเรียกอีกแบบ 

“คนเก่าแก่ในชุมชนแถวอำเภอรือเสาะหรืออำเภอสายบุรี เรียกเป็นผ้าโกลกเพราะว่ามีคนไปซื้อผ้าเป็นม้วนๆที่สุไหงโกลกและเอามาแบ่งขายในชุมชน แต่กลับกันคนในโซนนราธิวาส คนชายแดนเช่น คนตากใบ แว้ง สุไหงปาดี สุคิริน หรือคนสุไหงโกลกเอง จะเรียกว่าผ้ากลาแตหรือกลันตันเพราะมันเดินทางมาจากรัฐกลันตันในมาเลเซียอีกทอดหนึ่ง แต่คนฝั่งกลันตัน ตรังกานู ปาหัง จะเรียกว่าผ้าเลอปัสบารัต ซึ่งบารัตเป็นคำเรียกต่อคนในสามจังหวัด เพราะผ้าเลอปัสได้รับความนิยมมากในเขตสามจังหวัดชายแดนใต้”  

ในฐานะของคนที่เข้าใจเรื่องแฟชั่น สุไลมานยอมรับว่าความนิยมผ้าเลอปัสทุกวันนี้เป็นแฟชั่นอย่างหนึ่งที่หมุนตามกาลเวลาและจะคลายความนิยมลงไปและอาจกลับมาใหม่ แต่อีกด้านหนึ่งความนิยมของผ้าเลอปัสก็เป็นช่วงเวลาที่ดีในการสนับสนุนผู้คนที่ผลิตงานซึ่งพัฒนาจากงานผ้าเลอปัสที่ได้กลายเป็นอัตลักษณ์ของพื้นที่ไปแล้ว

“ผมคิดว่าถ้าเราพัฒนาตัวแพตเทิร์นของลวดลายดอกไม้หรือต้นไม้บนผ้าซึ่งถูกจริตของคนมลายูอยู่แล้ว และเพิ่มฟังก์ชันของการใช้งาน เช่น พี่คนหนึ่งที่เริ่มนำผ้าเลอปัสมาเพิ่มฟังค์ชั่นการใช้งานเช่นพัฒนาให้เป็นกระเป๋า ทำเป็นกระช้อน ผ้าอุ้มเด็ก ในคราเดียวกัน หรือการทำให้เป็นอุตสาหกรรมมากยิ่งขึ้นจนสามารถผลิตให้คนจำนวนมากได้ใส่ก็เป็นสิ่งที่น่าสนับสนุน”

แต่ท้ายที่สุดแล้วสุไลมานก็พยายามย้ำอยู่เสมอว่า ผ้าเลอปัสเป็นเพียงส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมการแต่งกายแบบมลายูในพื้นที่เท่านั้น ยังมีวัฒนธรรมอีกหลายอย่างที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์และสำคัญเช่นภาษาวรรณกรรม การละเล่นต่างๆ และที่สำคัญไม่ควรเสียเงินจำนวนมากไปกับเรื่องที่เป็นกระแสหรือแฟชั่นในวันที่เศรษฐกิจในพื้นที่ยังไม่รู้จะฟื้นตัวอย่างไรจากภาวะการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่กำลังเกิดขึ้น 

ภาพประกอบจากคุณ Abdulghani Ismail
(Visited 3,107 times, 1 visits today)
Close