ถึงแม้ว่ากีฬาฮอกกี้จะไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลายในประเทศไทยมากนักเมื่อเทียบกับฟุตบอล บาสเก็ตบอลหรือวอลเลย์บอล แต่หากเอ่ยถึงทีมของสโมสรฮอกกี้นราธิวาส ผู้ที่อยู่ในวงการฮอกกี้จะรู้จักเป็นอย่างดี ด้วยทีมฮอกกี้จากพื้นที่ชายขอบห่างไกลจากศูนย์กลางของประเทศทีมนี้สร้างผลงานในการแข่งในสนามแข่งทั่วประเทศได้อย่างไม่น่าเชื่อว่า เด็กจากชนบทในพื้นที่สีแดงอันห่างไกลและมาจากสโมสรที่มีอายุในการก่อตั้งไม่นานนัก จะมีฝีมือในกีฬาฮอกกี้อย่างไม่ด้อยไปกว่าทีมใดในประเทศไทย กลายเป็นทีมเต็ง 1 ใน 4 ของการแข่งขันฮอกกี้ของประเทศในทุกระดับ นักกีฬาของสโมสรฮอกกี้นราธิวาสกลายเป็นที่สนใจของมหาวิทยาลัยทั่วประเทศพร้อมเปิดโอกาสให้หากต้องการเรียนต่อในระดับอุดมศึกษาเพื่อที่จะได้ดึงตัวมาเป็นนักกีฬาฮอกกี้ของมหาวิทยาลัย และคงไม่ไกลไปจากความเป็นจริงนักที่จะพูดว่า เบื้องหลัง ความสำเร็จเหล่านี้มาจากความทุ่มเทของโค้ชหนุ่มใหญ่ที่ชื่อ นิรุตต์ โว๊ะนิเน็ง หรือ “โค้ชเบ๊าะ” ของเด็กๆในทีมฮอกกี้นราธิวาสนั่นเอง
นิรุตต์หรือโค้ชเบ๊าะเล่าให้ Patani NOTES ว่า กว่าจะสร้างทีมสร้างสโมสรฮอกกี้ในจังหวัดนราธิวาสซึ่งเป็นหนึ่งในจังหวัดที่ห่างไกลรวมทั้งยังเป็นพื้นที่ที่มีปัญหาความรุนแรงและการระบาดของยาเสพติดได้นั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย นิรุตต์เล่าย้อนไปตอนที่เขาเริ่มสร้างทีมฮอกกี้ขึ้นมาว่า ในปี 2552 สมาคมกีฬาฮอกกี้แห่งประเทศไทยมีนโยบายที่จะผลักดันกีฬาฮอกกี้เข้าสู่กีฬาเยาวชนแห่งชาติ แต่ในภาคใต้ทั้ง 14 จังหวัดไม่มีทีมฮอกกี้ที่เป็นของจังหวัดใดเลย จะมีก็เพียงแต่ทีมของโรงเรียนและมหาวิทยาลัยบางแห่งเท่านั้น สมาคมกีฬาฮอกกี้แห่งประเทศไทยจึงพยายามหาคนที่มีความรู้ด้านฮอกกี้ที่อยู่ในภาคใต้เพื่อฝึกสอนและสร้างทีมในจังหวัดภาคใต้เพื่อทำทีมส่งแข่งในกีฬาเยาวชนแห่งชาติ, กีฬานักเรียน-นักศึกษาแห่งชาติและกีฬาแห่งชาติ ซึ่งมีคนที่อยู่ในแวดวงกีฬาฮอกกี้แนะนำนิรุตต์ให้แก่สมาคมกีฬาฮอกกี้แห่งประเทศไทย
ก่อนหน้าที่จะรับสร้างทีมกีฬาฮอกกี้ที่นราธิวาสนั้น นิรุตต์อยู่ในแวดวงกีฬาฮอกกี้มานาน โดยเริ่มจากการหัดเล่นที่โรงเรียนสาธิต มอ.ปัตตานีสมัยที่นิรุตต์เรียนมัธยมปลาย จนกลายเป็นนักกีฬาฮอกกี้ของโรงเรียนและบางครั้งเขาก็ร่วมลงแข่งในทีมของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตปัตตานีด้วย ความชื่นชอบในกีฬาฮอกกี้ของนิรุตต์ทำให้เขาตั้งเป้าที่จะศึกษาระดับมหาวิทยาลัยที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง ด้วยความที่เขาทราบมาว่ามหาวิทยาลัยรามคำแหงในสมัยนั้นเป็นที่รวมของนักกีฬาฮอกกี้ระดับทีมชาติและมากฝีมือหลายคน มากกว่ามหาวิทยาลัยแห่งอื่นในประเทศไทย ความลุ่มหลงในฮอกกี้ของนิรุตต์ถูกเล่าผ่านคำพูดของเขาว่า
“ตอนที่เรียนรามฯ หลังจากได้ไปเจอกับรุ่นพี่ที่เล่นฮออกี้ให้ทีมชาติแล้ว ผมก็ขลุกอยู่กับการเล่นกีฬา เรียนเป็นรอง เล่นฮอกกี้เป็นหลัก คือตรงไหนที่มีคนเก่งจะไป ไปที่สโมสรทหารบก ทหารอากาศ ไปจุฬาฯ ตรงไหนที่มีฮอกกี้ผมไปหมด”
จากการที่ทุ่มเทและบ่มเพาะฝีมือในกีฬาฮอกกี้ ทำให้นิรุตต์กลายเป็นโค้ชผู้ฝึกสอนไปในท้ายที่สุด
“ตอนที่เรียนปีสองที่รามฯ เป็นช่วงที่รุ่นพี่ที่เล่นให้กับทีมชาติเรียนจบกันหมด มันไม่มีใครแล้ว กลายเป็นว่าผมเป็นคนที่มีประสบการณ์ในการแข่งขันมากที่สุดในตอนนั้น เพื่อนรุ่นเดียวกันเพิ่งหัดเล่น แต่ผมเล่นตั้งแต่มัธยม พูดง่าย ๆ ฝีมือเหนือกว่า ประสบการณ์เหนือกว่า ทุกคนก็ยกให้เป็นประธานชมรมฮอกกี้ของรามคำแหง ให้เป็นผู้ฝึกสอนและต้องเป็นทุกอย่าง เพราะไม่มีคนอื่นแล้ว ที่เหลือเป็นมือใหม่หมด” หลังจากที่เป็นโค้ชที่รามคำแหง นิรุตต์ได้ทำหน้าที่ในการเป็นโค้ชให้กับทีมชาติในเวลาต่อมา
“เป็นโค้ชทีมชาติตอนอายุ 27 ปี กลายเป็นว่าคนที่เคยเป็นอาจารย์เรากลายมาเป็นลูกทีมเรา ผมยังเป็นกรรมการบริหารสมาคมด้วย อยู่ฝ่ายพัฒนาเทคนิค ช่วงนั้นผมเป็นหมดแทบทุกตำแหน่ง ทั้งผู้เล่น ทั้งโค้ช ทั้งผู้ตัดสิน เวลามีอบรมอะไรที่เกี่ยวกับสมาคมผมก็มักจะต้องไปอบรม เนื่องจากเป็นเด็กรามฯเวลาว่างจะเยอะ พอนายกสมาคม อ.พิสิษฐ์ งามพานิช บอกว่าเดี๋ยวมีอบรมโค้ชนะ เดี๋ยวมีอบรมผู้ตัดสินนะ ก็มักจะเป็นผมที่ต้องไป และความโชคดีอีกอย่างหนึ่งของผมคือเป็นคนมลายูที่พูดภาษามาเลย์ได้ แล้วมาเลเซียเป็นเจ้าฮอกกี้ในอาเซียน เวลามีอบรม สัมมนาอะไรที่มาเลเซียผมก็ต้องไป เวลาไปอบรมภาษาอังกฤษเราก็งู ๆ ปลา ๆ แต่เราได้ภาษามาเลย์ ไปอบรมเราจะได้นั่งโต๊ะเดียวกับพวกมาเลเซีย เขาเป็นทรานสเลเตอร์ให้เรา ตอนนั้นเป็นช่วงก้าวกระโดดความรู้ด้านฮอกกี้ของผม”
18 ปีที่นิรุตต์ใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพฯ ตั้งแต่เริ่มเรียนปริญญาตรี อยู่ในวงการกีฬาฮอกกี้และเรียนต่อระดับปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง จนถึงจุดที่ครอบครัวของนิรุตต์ขอร้องให้เขากลับมาอยู่ที่บ้านเกิดเสียที
“ช่วงปี 2544 ตอนนั้นใกล้จะจบปริญญาโทแล้ว ผมเรียนปริญญาโทตอนปี 2544 เริ่มเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในบ้านเรา ช่วง เริ่มมียุทธการใบไม้ร่วง อะไรต่ออะไรมันเริ่มแรงทีละนิด ทีละนิด พอเรียนคอร์สเวิร์กจบทางบ้านบอกว่าน่าจะกลับมาอยู่บ้านได้แล้ว ที่บ้านเขาเหงา เพราะที่บ้านลูก ๆ ไม่มีใครอยู่ ผมเลยคิดหัวข้อวิจัยที่มันเกี่ยวข้องกับบ้านเรา ก็เลยทำหัวข้อวิจัยเรื่องการปฏิสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างไทยพุทธและมุสลิม”
ในช่วงเวลาที่ทำวิทยานิพนธ์เป็นช่วงที่นิรุตต์ตัดสินใจแล้วว่าจะกลับมาอยู่บ้านเกิด เขาได้ทำทีมฟุตบอลโดยเป็นโค้ชให้กับกลุ่มวัยรุ่นละแวกบ้านของเขาที่มาขอร้องให้นิรุตต์ช่วยทำทีมเพื่อแข่งขันฟุตบอลท้องถิ่น นิรุตต์เล่าถึงตอนนั้นว่า
“ตอนนั้นทำทีมฟุตบอลในนามทีมสมาคมอิสลามอำเภอรือเสาะ เด็กพวกนั้นอายุประมาณ 16 ปี เป็นกลุ่มวัยรุ่นในชุมชนมัสยิดกลาง รวมตัวกันประมาณสิบกว่าคนมาหาผม บอกว่าพวกเราอยากจะแข่งบอล แต่ไม่มีโค้ช ช่วยมาเป็นโค้ชให้ได้ไหม ผมก็บอกว่าได้ แต่มีเงื่อนไขว่าอย่างแรกต้องมาถึงสนามก่อนสี่โมงครึ่ง สองห้ามสูบบุหรี่ให้เห็น เพราะเรารู้ว่าจะห้ามเด็กไม่ให้สูบบุหรี่เป็นไปไม่ได้ มันก็บอกได้แบ คือเราห้ามไม่ให้มันสูบไม่ได้ แต่อย่างน้อยเราลดเวลาที่มันดูดบุหรี่พร่ำเพรื่อลงได้ ผมย้ำพวกเขาว่า ถ้ากูอยู่เมื่อไหร่ มึงต้องไม่ดูด มึงได้ยินเสียงรถกูเมื่อไหร่ มึงต้องดีดก้นบุหรี่ทิ้ง ก็เป็นอย่างนั้นจริง ๆ ผมมีรถมอเตอร์ไซค์เก่า ๆ คันหนึ่งเสียงดัง ท่อมันดัง เด็กบอกว่าพอได้ยินเสียงมอเตอร์ไซค์แบเบ๊าะดีดบุหรี่ ทิ้งก้นบุหรี่กันทันที เพราะวัยรุ่นมันชอบอยู่ที่มืด ดีดก้นบุหรี่มันเห็นไฟวับ ๆ ก็จากเด็กที่ไม่เคยเล่นกีฬา ผมซ้อมเช้า เย็นเลย แล้วต้องขอบคุณชุมชนมัสยิดกลางนะ คือเขาเห็นเด็กพวกนี้ เป็นเด็กเสเพล ที่ปกติไม่ค่อยเข้ามัสยิด ผมเลยตั้งระเบียบอีกอย่างหนึ่งคือ ใครจะเล่นฟุตบอลต้องละหมาดซูโบ๊ะห์(ละหมาดซุบฮี การละหมาดในตอนเช้ามืด) วิธีการที่จะละหมาดซูโบ๊ะห์ได้คือมานอนรวมกัน เพราะถ้านอนแยกกันไม่รู้จะตื่นไหม ผมเลยให้ไปนอนรวมกันที่โรงเรียนตาดีกา ช่วงนอนตาดีกา ผมก็นึกหากิจกรรม กิจกรรมอะไรก็ได้ที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชน เช่นพัฒนามัสยิด พัฒนาโรงเรียน ช่วงนั้นตาดีกามีเจ๊ะฆู(ครูอาสาสอนพื้นฐานศาสนา)วัยรุ่นหลายคน ก็เอาพวกนี้มาช่วย
ชาวบ้านพอเห็นว่าจากปกติที่เวลาละหมาดซูโบ๊ะห์ที่มัสยิดไม่เคยมีวัยรุ่นมาละหมาด พอผมทำทีมฟุตบอลวัยรุ่นมาละหมาดเป็นแถวเลย พอละหมาดเสร็จเราก็พาเด็กไปวิ่ง วิ่งเสร็จไปกินข้าว ช่วงที่กินข้าว ชาวบ้านที่นั่งที่ร้านน้ำชาทุกคนก็ชื่นชมเขาเห็นว่าเราทำจริง กลายเป็นว่าชาวบ้านเลี้ยงข้าวทุกเช้า ทุกมื้อเลย เขาผลัดกัน ช่วงนั้นยางก็ราคาดีพอสมควร ชาวบ้านมาดูเด็กซ้อมเขาก็ให้สองสามร้อย บางคนเป็นผู้ปกครองของเด็กในทีมเขาก็ดีใจที่ลูกเขาเล่นกีฬา กลายเป็นว่าเราทำทีมอย่างสบายใจ ชุมชนให้การส่งเสริมเด็ก
เอาพวกนี้มาซ้อมอยู่เช้า เย็น สามเดือน คือเล่นไม่เก่ง แต่แข็งแรง ไปแข่งส่วนใหญ่ก็ชนะ
เวลามีงานสังคมผมจะพาเด็กชุดนี้ไป อย่างงานแต่งงาน งานเมาลิด งานอะไรพวกนี้ผมจะพาพวกนี้ไปช่วยล้างจาน พอล้างจานเสร็จเจ้าภาพก็ถามว่าจะเอาอะไร ผมก็ขอเสื้อทีมขอเสื้อบอล ผมไม่เอาเป็นเงิน ทำงานแลกเสื้อทีม
ช่วงนั้นก็มีปัญหา ช่วงใกล้เลือกตั้งท้องถิ่น เขาก็มองว่าผมหาเสียงก็โจมตีผมต่าง ๆ นา ๆ รู้สึกท้อ ก็เลยเลิกทำทีมฟุตบอล คือไม่ชอบ พอมาเจอกระแสการเมืองก็ท้อ ก็หยุดทำทีม หยุดก่อนช่วงหนึ่ง ซักพักก็มีสมาคมมาติดต่อทำก็ทำฮอกกี้ต่อ”
“ตอนปี 52 สมาคมฮอกกี้เขาจะผลักดันให้มีฮอกกี้ในกีฬาเยาวชนแห่งชาติ ตอนนั้นทั้ง 14 จังหวัดภาคใต้ไม่มีทีม สมาคมฯก็เลยหาคนที่มีความรู้ด้านฮอกกี้ที่อยู่ในภาคใต้ ปรากฎว่ารุ่นพี่ที่เป็นอาจารย์สาธิตจุฬาฯเขาจำได้ว่าผมกลับมาอยู่บ้าน ก็โทรมาหาก็บอกนโยบายสมาคม ผมก็โอเค ไม่มีปัญหา แต่ว่าเราไม่มีอุปกรณ์อะไรสักอย่าง เขาก็รับปากว่าจะขอให้สมาคมฮอกกี้ส่งมาให้ ขอแค่ช่วยทำทีมส่งแข่งกีฬาเยาวชนแห่งชาติ กีฬานักเรียน นักศึกษาแห่งชาติ แล้วก็กีฬาแห่งชาติ สามรายการ ผมก็เลยนึกโรงเรียนเก่าที่ผมเคยเรียน ก็มาหานักกีฬา ประกอบกับตอนนั้นโรงเรียนจะเปิดโครงการกีฬาสานฝันสู่ระบบการศึกษาจังหวัดชายแดนใต้ เขาจะเปิดกีฬาที่ยอดนิยม เช่นฟุตบอล วอลเลย์ เลยเสนอกีฬาฮอกกี้ไปด้วย
เนื่องจากฮอกกี้เป็นกีฬาที่ไม่มีใครรู้จัก ชวนใคร ๆ มาเล่นก็ไม่มีใครสนใจ คิดว่าทำยังไงดี ก็เลยเดินไปหลังอาคารเรียน ก็จะมีพวกเด็กหลังห้องที่ชอบอยู่ตามห้องน้ำชาย ชวนพวกนี้มาหัดฮอกกี้เพื่อสร้างทีม ตอนนั้นผมท้าเด็กว่ากล้าหรือเปล่า กีฬานี้ต้องใจถึง เป็นกีฬาต้องใช้ไม้ มีไม้เป็นอาวุธ ต้องคนกล้า คนปอดแหกเล่นไม่ได้ พอเราพูดในทำนองเชิงท้าทาย เด็กกลุ่มนี้ก็สนใจที่จะรับคำท้า ผมถามว่ามีรองเท้าผ้าใบไหม เขาบอกว่ามี ก็บอกว่าเย็นนี้เจอพี่ที่สนาม
วันแรกแต่ละคนมาตาแดงก่ำ พูดอ้อแอ้ เสียงอ่อย ๆ ผมก็ถามพวกเขาตรง ๆ ว่ายิงเนื้อ(สูบยา)มาเหรอ มันบอกนิดหน่อยพี่ ผมไม่รู้จะทำไง เลยบอกว่า ขอร้องได้ไหม ซ้อมก่อน วันหลังซ้อมให้เสร็จ แล้วมึงจะไปดูดไปอะไรก็เรื่องของมึง เด็กก็รับปาก วันแรกได้ประมาณ 4-5 คน มีทั้งเด็กไทยพุทธและเด็กมุสลิม มีคนหนึ่งไม่ใช่แค่เสพแต่เป็นระดับผู้ค้าที่อยู่โผของตำรวจ พอวันที่สองก็เริ่มมามากขึ้น ม.ปลายล้วน ๆ มันก็เริ่มชวนเพื่อนในแก๊งค์มา จนได้จำนวนที่ต้องการคือ 18 คน ใน 18 คนมีที่ไม่สูบบุหรี่ประมาณห้าคน ที่เหลือทุกอย่างทั้งน้ำกระท่อม ทั้งยาบ้า ก็โอเคเอาว่ะ ไม่มีปัญญาหานักกีฬาจากไหนแล้ว รายการแรกที่สมาคมเชิญไปแข่งก็มีเวลาอีกแค่ 25 วัน ก็ไม่ได้คาดหวังอะไรมาก กับทีมที่มี 4-5 คนที่เคยเล่นกีฬามาบ้าง ส่วนที่เหลือไม่เคยเล่นกีฬามาก่อน
ในการฝึกซ้อมวันสุดท้าย ผมบอกว่าถ้าจะไปแข่งรายการนี้ ต้องผ่านการทดสอบการวิ่งสามสิบนาที ถ้าวิ่งได้ทั้งทีมผมถึงพาไปแข่ง
ลึก ๆ ในใจผมเชื่อว่าไม่มีทางวิ่งผ่านหรอก เด็กติดยาจะวิ่งผ่านได้ยังไง ปรากฏว่าทุกคนผ่านการทดสอบนี้ ปัญหาก็ตามมา เด็ก 18 คนจะไปแข่งฮอกกี้ที่กรุงเทพฯ ต้องใช้เงินขนาดไหน ตอนนั้ผมเพิ่งทำงานประจำ ได้เงินเดือนแค่ 4,700 บาท ไม่มีทางออกก็คิดในใจว่า เอาวะ อยู่กรุงเทพมานาน เพื่อนฝูง ลูกศิษย์เยอะแยะ ตัดสินใจโทรไปหาลูกศิษย์ซึ่งเป็นนักธุรกิจ บอกว่าพี่จะพาเด็กนราธิวาสไปแข่งชิงแชมป์ประเทศไทยแต่ว่าพี่ไม่มีเงิน อยากจะขอช่วยเอารถมารับที่หัวลำโพงไปส่งที่ปทุมธานีได้ไหม เขาบอกได้พี่เดี่ยวจัดการให้ ส่วนค่าเดินทางจากนราธิวาสไปกรุงเทพฯก็ใช้บริการรถไฟฟรีเพื่อคนไทย ผมแจกหนังสือพิมพ์คนละฉบับไว้ปูนอน แต่ปัญหาใหญ่ก็คือสนามแข่งเป็นสนามหญ้าเทียม ต้องใส่รองเท้าหญ้าเทียม รองเท้าประเภทอื่นใช้ไม่ได้ สนามเขาจะพังป่นปี้หมด ก็เลยบอกกับเด็กว่า เล่นกีฬามันต้องลงทุนนะ
รองเท้าหญ้าเทียมสมัยนั้นคู่ละสามพัน เด็กที่มาเล่นแต่ละคนฐานะย่ำแย่เต็มที ก็เลยโทรหาเพื่อนที่ทำงานอยู่สุไหงโกลกว่าพอจะช่วยหารองเท้าหญ้าเทียมราคาถูก ๆ ได้ไหม เขาบอกเดี๋ยวจะไปดูในฝั่งมาเลเซียให้ ก็ได้รองเท้าก๊อปปี้แบรนด์ดัง จากคู่ละสามพันเหลือคู่ละพัน ก็โอเค ก็คุยกับเด็ก เด็กบอกว่าได้ อยากจะไปแข่ง ยอมหยิบยืมหาเงินคนละพัน ก็เลยสั่งให้คนละคู่ ส่วนที่เหลือพวกเสื้อ กางเกง ถุงเท้า ขอสมทบจากพ่อค้าหลาย ๆ คนในตลาดอำเภอรือเสาะ กลายเป็นว่าชุดแข่งของนักกีฬาทุกชิ้นมีแต่ของแบรนด์ก๊อปปี้ทั้งชุด
พอไปแข่งที่กรุงเทพ ช่วงนั้นบังเอิญทีมชาติเขาเก็บตัวอยู่ ผมก็เดินไปที่ครัวไปหาแม่ครัว ไปขอข้าวเขามาให้เด็กกิน ก็บอกป้าว่าผมพาเด็กนราธิวาสมา เล่าที่มาที่ไปของทีมฮอกกี้ ป้าฟังน้ำตาแทบไหล ด้วยความที่เราเอาเด็กกลุ่มเสี่ยงมาเล่นกีฬา ป้าบอกไม่เป็นไร เดี๋ยวป้าจะหุงข้าวทำกับข้าวเผื่อให้ ผมบอกป้าว่าเด็กผมกินง่าย ไข่เจียวอย่างเดียวก็พอ ป้าก็เลยทำไข่เจียวแล้วก็ผัดผักให้ วันนั้นทีมเราตอบแทนน้ำใจป้าด้วยการช่วยล้างจานให้ป้า
แข่งนัดแรกเจอสระบุรี ซึ่งเป็นที่รวมเยาวชนทีมชาติ เราก็แพ้ไป 4 – 0 นัดที่สองเจอเพชรบูรณ์ ชนะเพชรบูรณ์ 1-0
นัดที่สามเจอเชียงใหม่เราพับสนามบุก เราบุกฝั่งเดียวเลย นัดนี้บังเอิญนายกสมาคมฮอกกี้แห่งประเทศไทยมาดูการแข่งขันด้วย ท่านนายกฯก็ทึ่งมากว่าทีมใหม่ ทีมโนเนมจากนราธิวาสทำไมเล่นดีอย่างนี้ เชียงใหม่เป็นสโมสรฮอกกี้เก่าแก่มา 20-30 ปี แต่ทีมนราธิวาสที่เพิ่งเล่นมาได้ 25 วัน สามารถบุกพับสนาม จนผลแข่งตีเสมอกับเชียงใหม่ได้
ท่านนายกฯเรียกผมมาสอบถาม ผมก็ตอบไปตามจริงว่าทำทีมและเดินทางมาแข่งได้อย่างไร ท่านเลยควักเงินสดให้10,000 บาท ให้ซื้อตั๋วรถไฟชั้นสองเพื่อเป็นค่าเดินทางกลับให้ทีม ผมก็ดีใจนะที่เด็กได้นั่งรถไฟชั้นสองกลับ ภรรยาของท่านก็ออกทุนซื้อรองเท้าและเสื้อกีฬาให้นักกีฬาคนละชุด
วันนั้นท่านนายกฯเรียกนักข่าวมาทำข่าว ก็เป็นเรื่องขึ้นมาเมื่อนักข่าวสัมภาษณ์หัวหน้าทีมนักกีฬา ถามว่าก่อนจะมาเล่นฮอกกี้เคยเล่นกีฬาอะไร เด็กก็ตอบ ว่าไม่เคยเล่นกีฬามาก่อน นักข่าวถามแล้วไปทำอะไรมา เด็กก็ตอบซื่อ ๆ ว่า ผมก็ซิ่งรถมอเตอร์ไซด์ ดูดบุหรี่ เด็กก็เล่าตรง ๆ เล่าชีวิตมันในโรงเรียนให้ฟัง แล้วมันก็เล่าว่าผมไปหาพวกมันที่ห้องน้ำ เล่าถึงเรื่องที่เคยเสพยา นักข่าวก็เขียนไม่มีตัดเลย
พอกลับจากแข่ง ทางโรงเรียนเรียกผมมาคุย เอาหนังสือพิมพ์ให้ผมดู ใครให้ข่าวแบบนี้ เสียชื่อโรงเรียนหมด ผมก็อ่านเนื้อข่าวดู ตกใจกับการให้สัมภาษณ์ของเด็ก พร้อมกับคิดว่าถ้าผมบอกว่าเด็กเป็นคนให้สัมภาษณ์ รับรองเด็กก็ต้องโดนลงโทษ ก็เลยบอกทางโรงเรียนของเด็กว่าผมเป็นคนให้ข่าวเอง ผมยอมรับผิดและขอโทษ”
การตกเป็นข่าวว่านักกีฬาของทีมเกี่ยวข้องกับเรื่องยาเสพติด ทำให้เกิดเสียงครหาและดูถูกนักกีฬาในทีม แต่เรื่องการที่เด็กถูกดูถูกเหยียดหยามนี่เองที่ทำให้เด็กกลุ่มนี้ยิ่งเกิดความมานะ ต่อสู้ อยากจะเอาชนะเสียงดูถูกเหล่านั้นจนเลิกเกี่ยวข้องกับยาเสพติด หันมาทุ่มเทกับการเรียนและการฝึกซ้อมมากขึ้น หลังจากที่แข่งขันครั้งแรกที่กรุงเทพฯ ก็ไปแข่งกีฬานักเรียนที่สุรินทร์ แต่ก็ไม่ได้เหรียญ สโมสรนราธิวาสลงแข่งรายการใหญ่ ๆ สามรายการแข่งอยู่สองปีโดยที่ไม่ได้เหรียญใด ๆ เลย จนมาถึงปีที่ 3 ที่นักกีฬาชุดแรกซึ่งกำลังเรียนอยู่ในระดับชั้น ม.6 ได้เหรียญทองแดงครั้งแรกในการแข่งขันกีฬานักเรียน-นักศึกษาแห่งชาติที่จังหวัดเพชรบุรี และนับตั้งแต่นั้นสโมสรฮอกกี้นราธิวาสได้เหรียญทุกรายการที่ส่งการแข่งขันจนถึงปัจจุบัน
“วันนี้สโมสรฮอกกี้นราธิวาสเริ่มมีชื่อเสียง ทุกคนอยากเข้ามาเป็นนักกีฬา แต่กฎเหล็กคือ ถ้าอยากเล่นฮอกกี้ ต้องเรียนหนังสือไม่ว่าจะเป็นเรียนในโรงเรียนหรือเรียนในปอเนาะ ขอแค่ให้เรียน สโมสรแห่งนี้พร้อมต้อนรับ”
ความสำเร็จของสโมสรฮอกกี้นราธิวาสที่มีนักกีฬาเป็นนักเรียนในระดับมัธยมทำให้มหาวิทยาลัยต่างๆเสนอโควต้าในการเรียนระดับมหาวิทยาลัยเพื่อที่จะได้นักกีฬาฮอกกี้ฝีมือดีที่สโมสรฯฝึกหัดไปเป็นนักกีฬาของมหาวิทยาลัย
“เป้าหมายการทำทีมฮอกกี้ของผมไม่ใช่เหรียญรางวัล เป้าหมายของผมคือเพื่อการศึกษา ผมบอกเด็กว่าคนที่จะเล่นฮอกกี้ต้องเรียนหนังสือ จะเรียนในระบบหรือนอกระบบได้ทั้งนั้น แต่ต้องเรียน ถ้าไม่เรียนผมไม่ให้เล่น
ผมภูมิใจที่อาจารย์จากมหาวิทยาลัยมาจองนักกีฬาผมตั้งแต่ ม.1 ทุกครั้งก่อนเด็กจะจบ ม.6 จะมีเสียงโทรศัพท์มาจากเชียงใหม่ ขอนแก่น จากสุพรรณ จาก ม.บูรพา จากจุฬาฯ ทุกคนจองนักกีฬาผม
ผมนึกไม่ค่อยออกว่า เด็กที่นี่ถ้าไม่ใช้ช่องทางกีฬา เด็กจะสามารถสอบเอนทรานซ์เข้ามหาวิทยาลัยดีๆได้สักแค่ไหน เด็กบ้านเราจะเอาอะไรไปสู้เขา เอาง่าย ๆ เด็กรุ่นแรกที่ได้โควต้าที่ มอ.ปัตตานี จบมัธยมด้วยเกรดเฉลี่ย 1.9 เกรดเฉลี่ยจากโรงเรียนปอเนาะนะ ตอนไปสมัคร อาจารย์ติงผมว่าผลการเรียนเด็กแย่นะ จะเข้ามาเรียนได้ยังไง ผมบอกไปว่าเด็กมีความสามารถทางด้านกีฬา ขอความกรุณาอาจารย์ช่วยพิจารณาด้วยครับ”
“วันที่เด็กคนนี้รับปริญญา ผมแอบร้องไห้ แอบน้ำตาไหลไม่ให้ใครเห็น”
หากถามเด็กๆในทีมฮอกกี้ของสโมสรฮอกกี้นราธิวาสว่า “โค้ชเบ๊าะ” เป็นอะไรสำหรับพวกเขา คำตอบที่ได้นั้นหลากหลายอย่างไม่น่าเชื่อ โค้ชเบ๊าะเป็นครู เป็นพ่อ เป็นแม่ เป็นพี่ เป็นครูสอนศาสนา เป็นคนช่วยสอนการบ้าน เป็นติวเตอร์และอีกจิปาถะ
คำถามเดียวกันเมื่อถามสตาฟโค้ชที่อาสามาร่วมช่วยโค้ชเบ๊าะในการทำทีม ก็ได้คำตอบที่ไม่ต่างกันนัก โค้ชเบ๊าะเป็นพี่ เป็นเพื่อนและเป็นครูของพวกเขา คำตอบเหล่านี้รวมทั้งท่าทีของเด็กๆที่แสดงต่อโค้ชเบาะทั้งการยกมือไหว้ การสลามพร้อมจูบมือโค้ชเบ๊าะและการยอมรับคำแนะนำของเขาในทุกเรื่อง เป็นสิ่งที่เราสัมผัสได้ว่าเด็กๆของโค้ชเบ๊าะรักและเคารพเขาเพียงใด แล้วเด็กๆเป็นอะไรของโค้ชเบ๊าะ ? เราได้รับคำตอบนี้ผ่านคำพูดของเขาว่า
“อาจจะเพราะผมโสด ไม่มีครอบครัวของตัวเอง ในวัยที่เป็นพ่อคนเราเห็นเพื่อนเรามีลูก เพื่อนเราสอนลูก เราไม่มีลูก… พวกเขาคือลูกของผม”
- บทความที่เกี่ยวข้อง
- ชีวิตสุดขีดของ “ซูปา” อดีตนักสเก็ตบอร์ดทีมชาติคนแรกจากสามจังหวัด