Written by 7:32 pm Health

วิ่งเพื่อชีวิต : ฌานิญญา

เรื่องราวน่าสนใจของนักวิ่งรุ่นใหม่ หลายหลากสาขาอาชีพที่อยู่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มาดูว่าพวกเขามีมุมมองต่อการวิ่งอย่างไร และอะไรทำให้เขาเหล่านี้ลุกขึ้นมาวิ่ง

“มาวิ่งจริง ๆ เมื่อห้าปีที่แล้ว เพิ่งย้ายมานราธิวาส ก่อนหน้านั้นก็ไม่ได้ออกกำลังกายเลย และไม่ได้เริ่มด้วยการวิ่ง ไปแอโรบิกก่อนที่สวนสาธารณะ มันก็โอเค ได้เหงื่อ แล้ว T 25 ช่วงนั้นกำลังดัง แล้วก็มีน้องเป็นหมอฟันเหมือนกันลงงานวิ่ง เขาก็ชวนไปงานวิ่งที่สงขลา มินิมาราธอน สิบกม. คิดว่า วิ่งได้เหรอวะ ตอนนั้นยังไม่รู้เลยว่า สิบกม.มันไกลเท่าไหร่ ไปวิ่งกับเขาครั้งแรก ก็วิ่งได้ ไม่เหนื่อย ได้ถ้วยด้วย ห้าปีที่แล้วงานวิ่งยังไม่บูมเท่าไหร่ คนไม่เยอะขนาดนี้ อันนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการวิ่งเลย”

ฌานิญญา ศิริมาศ หรือหมอก้อย ทันตแพทย์สาวที่คลินิกทันตกรรมในนราธิวาส มาคุยเรื่องการวิ่งของเธอ จากคนที่ไม่ค่อยจะมีความคิดเรื่องวิ่งอยู่ในหัว วิ่งได้ร้อย สองร้อยเมตรเธอบอกว่าไม่ไหวแล้ว มันเหนื่อยมาก

หมอก้อย เป็นคนนราธิวาสโดยกำเนิด แต่ช่วงวัยเด็กจนเรียนจบปริญญาตรีไม่ได้อยู่นราธิวาสมาสิบกว่าปี เพราะต้องออกไปศึกษาต่อ เรียนจบกลับมาเธอจึงมาทำงานใช้ทุนการศึกษาอยู่ที่นี่ปัตตานี และนราธิวาส หลังจากนั้นเธอออกจากโรงพยาบาลมาทำงานที่คลินิกเอกชน

“ตอนนี้เป็นมือปืนรับจ้าง ไม่ได้มีคลินิกเป็นของตัวเอง แต่รับทำสองที่ ที่นราธิวาสเป็นหลัก แล้วก็ที่ด่านนอก ที่ตัดสินใจลาออกเพราะว่า ก้อยเป็นคนชอบเที่ยวด้วย เวลาไปก็ไปนาน ๆ ยาวหลายวัน บางทีรพ.อยู่กันหลายคน ส่วนใหญ่ก็อยากลาวันหยุดกัน แต่มันก็ไปตรงกับคนอื่นอะไรอย่างนี้ บางทีก็ลาลำบาก มันหลายอย่าง ก็เลยลาออกจากโรงพยาบาลดีกว่า”

หลังจากเริ่มวิ่งได้ปีกว่า เส้นทางสายวิ่งของฌานิญญา หรือหมอก้อย หยุดชะงักลง เนื่องจากสูญเสียคนรักจากอุบัติเหตุ เธอเล่าว่าตอนนั้น “หยุดทุกอย่าง” ไปไม่เป็น ทำอะไรไม่ถูก หยุดออกกำลังกาย หยุดวิ่ง จนเวลาผ่านไปร่วมสองปี เธอบอกว่า “อยู่ดี ๆ ก็อยากออกกำลังกาย” นี่จึงเป็นจุดเริ่มการวิ่งรอบใหม่อีกครั้ง

“จุดเริ่มรอบใหม่ปีที่แล้วเป็นจุดที่มาเริ่มวิ่งจริงจัง ลงฮาล์ฟไปแค่ครั้งเดียว แล้วมีน้องชวนลงวิ่งมาราธอน ตอนแรกก็คิดว่าจะวิ่งได้เหรอ เขาบอกว่าลงได้ มาราธอนแรก หาดใหญ่มาราธอน เขามั่นใจในตัวเรา แต่เราไม่ค่อยมั่นใจในตัวเอง เป็นคนที่ไม่ค่อยมั่นใจอะไรในตัวเองเท่าไหร่ แต่คนอื่นคงเห็นว่าเราน่าจะทำได้ ”

หมอก้อยเล่าไปพร้อมเสียงหัวเราะ ว่าตอนเริ่มวิ่งรอบใหม่ ก็ยังไม่ได้ศึกษาการวิ่งอย่างจริงจัง ยังไม่รู้ต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้างกับการวิ่งฟูลมาราธอนครั้งแรก เธอบอกว่า ไม่รู้แม้กระทั่งว่า 42 กม.มันไกลขนาด รู้แค่ว่าต้องซ้อมเยอะ บางวันซ้อมถึง 30 กม. หมอก้อยบอกว่าตื่นตั้งแต่ตีสอง แล้วก็วิ่งวนรอบเมืองนราธิวาสจนกว่าจะถึงเช้า แล้ววิ่งต่อจนครบระยะที่กำหนดไว้ สุดท้ายเธอก็ไปฟูลแรกและผ่านมาได้

“ฟูลแรกจบ เดินเจ็ดกม.สุดท้าย เดินเยอะ ใช้เวลาไปห้าชั่วโมงกว่า เขาให้เจ็ดชม. ครั้งแรกทุกคนที่วิ่งฟูลแรกมันจะภูมิใจ เราวิ่งตลอดจนถึงกม.ที่35, 36 แต่เราไปเดินเยอะช่วงหลัง สุดท้ายเข้าก็ดีใจ สำหรับเรามันดีแล้ว มันทำได้ ภูมิใจ รู้สึกว่าอยากทำต่อ ฟูลแรกไม่มีบาดเจ็บ มีปวดนิดหน่อย”

จบฟูลแรก ต่อด้วยฟูลสอง และสาม หมอก้อยบอกว่าแต่ละฟูล มาราธอน เธอได้เรียนรู้ตัวเอง และได้มิตรภาพระหว่างทาง โดยเฉพาะฟูลที่สาม เมื่อมีสถานการณ์เฉพาะหน้าเกิดขึ้น และมันทำให้ต้องเลือกว่าจะเดินต่อไปคนเดียว หรือจะเลือกมิตรภาพบนเส้นทางวิ่ง เธอเลือกมิตรภาพ และให้ดูภาพงานวิ่งวันนั้นพร้อมกับพรั่งพรูเล่าเรื่องราวครั้งนั้นอย่างสนุกสนาน

“ช่วง 5 กม.แรกจะมึน ๆ งง ๆ ไม่ไหวแล้ว เหนื่อย ก็ได้เพื่อนสองคนช่วยดึงช่วงแรก พอวิ่งกันไปก็สนุก ไปถึงจุดกลับตัวครึ่งทาง เครื่องเราติดแล้ว จะไปต่อ แต่เพื่อนเป็นตะคริว ก็เลยคิดว่าวิ่งด้วยกันกับเพื่อนดีกว่า ไม่ได้คิดจะทำเวลาอะไรแล้วแหละ เพราะอยู่ดี ๆ เขามาเจ็บ ถ้าเราวิ่งคนเดียวตั้งแต่แรก โอเค แต่ว่านี่เราวิ่งด้วยกันตั้งแต่แรก

จุดนั้นทำให้รู้สึกว่า บางทีเราอยากทำเวลา แต่ใจหนึ่งเรารู้สึกว่าอย่างอื่นมันก็สำคัญกว่า เรารู้สึกว่ามาราธอนมันยังมีอีกหลายงาน คืออันนี้เป็นเพื่อน แล้วก็วิ่งพาเราไปพร้อมกัน งานนั้นรู้สึกสนุก แล้วเราก็ข้ามเรื่องการทำเวลามาได้ คือทุกคนซ้อมเหนื่อย อยากทำเวลา แต่ในสนามมันมีอะไรที่มันเฉพาะหน้า มันก็ต้องเลือก พอกลับมานั่งคิด ก็รู้สึกดีกับตัวเองที่ไม่ได้เอาเรื่องเวลามาขนาดนั้นกับเรื่องวิ่ง เพราะเรื่องวิ่งมันงานอดิเรก ถ้าสมมุติวันนั้น เราเลือกที่จะไปแล้วปล่อยให้เพื่อนสองคนเดิน ๆ วิ่ง ๆ เข้าเส้นชัย มันคงรู้สึกแย่มาถึงทุกวันนี้ ก็เลยเข้าเส้นชัยพร้อมกัน ลาก ๆ กันมา”

จุดไฟในตัวลุกขึ้นมาวิ่งได้ภายในปีกว่า ๆ หมอก้อยบอกว่าเธอวิ่งมาราธอนไปแล้วสามรายการ เริ่มอยากไปลองทางเส้นทางแบบอื่นบ้าง ทางที่ว่าคือทางเทรล และแน่นอนสายเทรลยิ่งคนที่อยู่ในสามจังหวัด ต้องผ่านบาลาเทรลกันมาแล้ว หมอก้อยก็เช่นกัน เธอบอกว่าเป็นเทรลที่สนุกที่สุด แต่ไม่ใช่โหดที่สุดสำหรับเธอ เทรลที่โหดและเกือบทำให้เธอต้อง DNF หรือวิ่งไม่จบคือ ผาดำเทรล จ.สงขลา พร้อมกับได้บทเรียนบทใหม่ที่สำคัญสำหรับการวิ่งในครั้งต่อไปด้วย

“คนหลงเยอะมาก หลงเป็นสิบ ก้อยหลงไป 7กม. ซึ่ง 7 กม.ของเทรลไม่ใช่แค่ชั่วโมงเดียว แล้วเราก็เดินอยู่คนเดียว เพื่อนที่วิ่งมาด้วยก็ไปกันแล้ว เราก็สะพายเป้น้ำผ่านจุดเช็คพอยท์มา น้ำบนหลังเต็มเลย ยังอีกหลายกม.กว่าจะถึงที่กินข้าว เราพยายามจะวิ่ง และเส้นทางไม่ได้ชัน มันเป็นเนินซึม ๆ รู้สึกขาหมดแรง ไหล่จากที่ไม่ปวดก็ปวด คนที่วิ่งผ่านมาก็ทักทาย บอกเขาไปว่าไปเลยค่ะ ก้อยไม่ไหว ปวดจนขนาดต้องถอดเป้น้ำมาถือ นั่งกอดเป้น้ำ จะร้องให้ คิดจะ DNF ”

ท่ามกลางป่าเขา และการนั่งคิดตัดสินใจคนเดียวว่าจะหยุด หรือไปต่อ หมอก้อยบอกว่าตอนนั้น หยุด มีเปอร์เซ็นต์มากกว่าเพราะวิ่งมาได้ยังไม่ถึงครึ่งทาง จนเจอนักวิ่งอีกคนที่เขาบอกว่าไปข้าวก่อนแล้วค่อยตัดสินใจ ก็ลุกตามเขาไปจนถึงจุดพักกินข้าว

“ตักข้าวไปกินก็กินไม่ลง แต่บอกตัวเองต้องกิน ยัดข้าวไป จะร้องให้ไป กินไปเดินไป มีกาแฟกินด้วยตรงจุดที่เจ้าหน้าที่ป่าไม้อยู่เราก็ขอกินกับเขาด้วย ผ่านไปแป๊บหนึ่ง มันหาย ขาหาย ไหล่หาย หายหมดเลย ก็เลยรู้ตัวและได้ข้อสรุปว่าตัวเองหิวข้าว อันนี้ทำให้รู้ว่า ไปวิ่งเทรลไกล ๆ ครั้งหน้า ถึงไม่หิวก็ต้องกินข้าว ทำให้รู้ว่าเจลก็ไม่พอมันพอแค่ในช่วงหนึ่ง มันต้องกินข้าว มีคนแซวถึงทุกวันนี้ ว่าอย่าปล่อยให้หิวอีกนะ”

การวิ่งเป็นการทบทวนตัวเองตลอด และระหว่างวิ่งจะทบทวนว่า นี่มาทำอะไรวะ ยิ่งตอนเหนื่อย ๆ ก็ถามตัวเองตลอด แต่ก็วิ่งต่อ มันจะมาได้อะไรก็ตอนหลังจบ เธอว่าพร้อมกับบอกว่าไม่ใช่แค่ทบทวนหรือเตือนตัวเองในสนามแข่งเท่านั้น ต้องเตือนตัวเองให้ซ้อมก่อนไปสนามจริงด้วย แม้จะไม่อยากลุกขึ้นซ้อมก็ตาม

“อยู่นราฯ เพื่อนซ้อมมาราธอนไม่มีใคร มีแต่น้อง ยิ่งผู้หญิงยิ่งน้อย ก็ไม่มีใครมาบอกให้เราวิ่งหรอก มีแต่เราที่บอกน้องเห้ยมาวิ่งได้แล้ว มันมีหนึ่งอย่างที่คนตื่นมาซ้อมได้เป็นเหมือนกัน คือวิ่งจบ วันไหนที่ลุกมาซ้อมได้ ซ้อมจบ มันแฮปปี้ ว่าวันนี้ทำได้แล้ว ตื่นมาได้อีกวันหนึ่งแล้วอะไรแบบนี้”

ล่าสุดกลางเดือน พ.ย. หมอก้อยไปพิชิตสนามเทรล ซึ่งเป็นรายการสุดท้ายของเธอในปีนี้ ที่เธอบอกว่าเป็นสนามที่โหด และตั้งใจอยากไปลองซักครั้งหนึ่งในชีวิต กับการพิชิตยอดเขาภาคเหนือ โป่งแยงเทรล จ.เชียงใหม่ กับระยะทางที่เธอบอกว่ากดเลือกไปแล้วก็ตกใจ แต่ก็ไม่มีทางเลือกอื่นเพราะระยะอื่นเต็มหมดแล้ว เธอเลือก 70 กม.ของเส้นทางนี้

เธอโพสต์เล่าประสบการณ์บนเฟซบุ๊กตัวเองหลังผ่านประสบการณ์มาอย่างโชกโชน พร้อมกับบอกว่ารอบนี้จะไม่ปล่อยให้ความหิวมาเป็นอุปสรรคเด็ดขาด
“โป่งแยงกินตลอดทั้งในสนาม กลางสนาม ไม่ให้ร่างกายทวงถามเลย ชิงกินก่อนหิว แม้ช่วง 5 กม.สุดท้ายก็ยังมีความคิดว่าอาจจะวิ่งไม่จบ ไม่ทันเวลาที่เขากำหนด”

“ช่วงท้ายเรซ ความปวด ความล้าเริ่มเข้ามาเล่นงานแบบจริงจัง เสียงหัวเราะที่มีตอนแรกลดน้อยลงไป มีเสียงโอดโอยในใจดัง ๆ พอลงมาได้ซักพักทางเหมือนจะเป็นทางราบ แต่ลงน้ำเจ้าค่ะ ในน้ำมีก้อนหินประมาณกำปั้น จะวิ่งก็มองไม่ถนัดเพราะมืด กลัวสะดุดล้มอีก พอขึ้นจากน้ำจะเริ่มวิ่ง เอ้า ลงน้ำอีกรอบ เป็นแบบนี้วนไปเป็นสิบ ๆ รอบ

ช่วงสุดท้าย เวลายิ่งบีบหัวใจ เหลือแค่หนึ่งชม. ขาก็ปวดมาก ๆ อยากนั่งพักนาน ๆแต่ไม่ได้ นั่งพักได้ไม่เกิน 10 วิ แกต้องลุกเดินก็ยังดี แกทำได้สิ่งที่บอกกับตัวเอง เดินไปวิ่งไป เมื่อยมาก ทางลงคอนกรีตที่เหมือนจะใกล้ ใกล้ตาย กำลังนั่งพัก มีพี่ที่วิ่งตามมาพูดว่า ลุกขึ้น ลุกขึ้น อีก 4 กิโลลงยาว ๆ ไปก็จะถึงแล้ว ลงก็ลง ทนอีกนิด ลงไปสุดคิดว่าจะเหลืออีก 2 กิโล แต่ตรงจุดเติมน้ำบอกว่าเหลืออีก 3 กิโล ขึ้นเขาอีก กรี๊ดดดด เวลาก็จวนเจียนเข้ามาทุกที ถ้าหยุดหรือช้า มีแนวโน้มไม่ทัน

สองแขนถือโพลช่วยดันตัวเองขึ้น 2 ขาก้าวตาม ไม่ได้ แกมาถึงตรงนี้แล้ว ยังไงก็ต้องสู้ก้อย แกทำได้ ตรงแหละแรงมาจากไหนไม่รู้ วิ่งเลยจ้าแม่ ลงน้ำครั้งสุดท้าย ขึ้นเนินอีกนิด ฟินิชไลน์อยู่ตรงหน้า ปิ๊บ เสียงสแกนบาร์โค้ด ณ จุดสุดท้ายดังขึ้น จบแล้วว้อยยยย 17.08.20 ชม. แกทำได้แล้วก้อย แกทำได้ เสื้อชมพู เหรียญฟินิชเชอร์ เป็นเพียงสัญลักษณ์บ่งบอกว่าคุณได้ทำมันสำเร็จตามตัวชี้วัด

แต่สิ่งที่น่าภูมิใจกว่านั้นคือ การที่เราก้าวข้ามอะไรก็ตามที่เป็นสิ่งบั่นทอนกำลังใจ ที่คอยจะฉุดให้เราหยุดระหว่างทางมาได้ต่างหาก นั่นแหละคือสิ่งสำคัญสำหรับการวิ่งระยะไกล” บางตอนจากเฟซบุ๊กฌานิญญา

(Visited 102 times, 1 visits today)
Close