Written by 8:35 am Local History

อับดุลเลาะห์ ลออแมน: อิฐก้อนแรกในงานศึกษาวิจัยท้องถิ่นมลายูสามจังหวัดชายแดนใต้

ชื่อของครองชัย หัตถา, อารีฟีน บินจิ หรือพล.ต.ต. จำรูญ เด่นอุดมและอิสมาอีล เบญจสมิธ ล้วนเป็นชื่อของกลุ่มคนที่ถือว่าอยู่ในแถวหน้าของผู้ที่นำเสนอผลงานเรื่องราวทางประวัติศาสตร์กระแสรองและประวัติศาสตร์ท้องถิ่นปตานี ไม่ว่างานเขียนหรืองานบรรยายพวกเขาล้วนมีผลงานเชิงประจักษ์ที่ได้รับการยอมรับมากมายในระยะ 10 กว่าปีที่ผ่านมา คนเหล่านี้อาจถือได้ว่ามีคุณูปการในการเผยแพร่ความรู้ในเรื่องประวัติศาสตร์ปตานีให้กว้างขวางมากขึ้น

ในบรรดาชื่อเหล่านี้ ยังมีอีกชื่อหนึ่งคืออับดุลเลาะห์ ลออแมน ชื่อนี้อาจไม่เป็นที่รู้จักมากนักเมื่อเทียบกับนักประวัติศาสตร์อีกหลายรายในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ แต่หากจะพูดถึงคนในพื้นที่คนแรกๆที่ศึกษา เก็บข้อมูล เขียนเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ปตานีและประวัติศาสตร์ท้องถิ่นในพื้นที่นี้ อับดุลเลาะห์น่าจะเป็นคนแรกๆที่ควรเอ่ยถึง แทบจะกล่าวได้ว่า อับดุลเลาะห์ ลออแมน เป็นผู้วางอิฐก้อนแรกในงานศึกษาในเรื่องนี้ก็ว่าได้

“อับดุลเลาะห์ ลออแมน” เป็นนามปากกาของนาย อับดุลเลาะห์ ลอแมง ชาวตำบลมะรือโบตก อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส ผู้ซึ่งนอกเหนือจากนามปากกานี้แล้วก็ยังมีอีกหลายชื่อที่เขาใช้ในตลอดชีวิตการเขียนงานของเขา เช่น “อ. บางนรา” และ “เนินระนาบ” ซึ่งทั้งสองชื่อหลังนี้ล้วนผูกโยงกับภูมิลำเนาของเขาอย่างชัดเจน ทั้ง บางนรา ที่มาจากชื่อจังหวัด และเนินระนาบ ที่แปลจาก “บาโงระนะ” ซึ่งเป็นชื่อหมู่บ้านที่เขาเกิด

อับดุลเลาะห์ ลอแมง หรืออับดุลเลาะห์ ลออแมน เกิดในปี พ.ศ. 2486 เรียนชั้นประถมศึกษาที่บ้านเกิดคือโรงเรียนบ้านมะรือโบตก เรียนต่อระดับมัธยมต้นที่โรงเรียนธรรมวิทยา จังหวัดยะลา และขึ้นไปเรียนกวดวิชาที่กรุงเทพฯเพื่อสอบเที่ยบการศึกษาระดับมัธยมปลาย ในระหว่างที่ว่างจากการเรียนกวดวิชา อับดุลเลาะห์ได้เรียนพิมพ์ดีดจนจบคอร์สไปด้วยอีกแขนงหนึ่ง หลังจากนั้นจึงไปทำงานที่องค์การสวนสัตว์ดุสิตและบริษัทอินเตอร์สวิสส์ คอร์ปอร์เรชัน

ปี 2508 อับดุลเลาะห์เริ่มเข้าสู่วงการทำวารสารและทำงานเขียนบทความ จากการที่มีโอกาสได้รู้จักครูอิสมาอีล อาหมัด และครูอาลี อีซา มุฮัมมัดอาลี ซึ่งทำรายการวิทยุมุสลิมในขณะนั้น และต่อมาครูอิสมาอิล อาห์มัด ได้ชักชวนอับดุลเลาะห์มาร่วมทำวารสารรายเดือน “อัลญิฮาด” ส่วนครูอาลี อีซา มุฮัมมัดอาลี ได้ชวนไปทำวารสารอัรฺรอบีเฏาะห์ ในเวลาว่างหลังเลิกงาน อับดุลเลาะห์จะค้นคว้าข้อมูลจากหนังสือต่างๆ โดยเฉพาะด้านศาสนาจากต่างประเทศ พร้อมทั้งแปลงานไปด้วย ซึ่งต่อมาเขาได้จัดพิมพ์งานแปลเหล่านั้นเป็นเล่มพ็อคเก็ตบุคและพิมพ์ลงในวารสาร รวมทั้งได้ส่งบทความไปยังสำนักพิมพ์ต่างๆ

หลังจากเหตุการณ์เดินขบวนประท้วงที่ปัตตานีื (ในช่วงปี พ.ศ.2518-2519) อับดุลเลาะห์ได้กลับไปเก็บข้อมูลในสถานที่ต่างๆในสามจังหวัดจังหวัดภาคใต้ พร้อมกับเสนีย์ มะดากะกุล อาจารย์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และเวน โบกัส (Wayne Bogus) และได้พิมพ์หนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ปตานี คือ “ปัตตานี อดีต และปัจจุบัน” ซึ่งกลายเป็นหนังสือที่ใช้อ้างอิงสำหรับงานที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ปตานีในเวลาต่อมาอย่างกว้างขวาง บทความของอับดุลเลาะห์หลายเรื่อง ได้รับการตีพิมพ์ลงในหนังสือ “เล่าขานตำนานใต้” ที่จัดพิมพ์โดยมูลนิธิเล็ก ประไพ วิริยะพันธ์ โดยอาจารย์ ศรีศักดิ์ วัลลิโภดม เป็นบรรณาธิการ เขายังได้ร่วมจัดพิมพ์ “วารสารวัฒนธรรม” ออกรายไตรมาสหลายฉบับในช่วงปีพ.ศ. 2540-2541 และร่วมกับคณะเขียนหนังสือเรื่อง “ลังกาสุกะ สู่ปาตานี ดารุสสาลาม” และ “ปาตานี..ประวัติศาสตร์และการเมืองในโลกมลายู” เป็นต้น

งามพล จะปะกิยา นักวิจัยในพื้นที่อีกรายเล่าถึงประสบการณ์ส่วนตัวที่มีต่อ อับดุลเลาะห์ ลออแมน ว่าเขาเริ่มรู้จักนักเขียนเรื่องราวทางประวัติศาสตร์รายนี้ผ่านงานเขียนหลายชิ้น เช่นจากวารสาร “รูสมิแล” ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ประทับใจข้อเขียนที่บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับวัฒนธรรมมลายูโดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับ วิถีชีวิต พื้นที่ของท้องถิ่นโดยเฉพาะในนามปากกา “อ.ลออแมน” เพราะอ่านแล้วทำให้เกิดความรู้สึกผูกพัน

“สมัยนั้นยุค 2520 – 2530 จะหาหนังสือที่เขียนเกี่ยวกับบ้านเมืองท้องถิ่นมลายูมีไม่มาก และที่สำคัญคนเขียนเป็นคนมลายูด้วยซึ่งมีน้อยมาก” เขาติดตามหนังสือของผู้แต่งที่ชื่ออ.ลออแมน ทุกครั้งที่มีโอกาส จึงทำให้รู้มากขึ้นว่าอ.ลออแมน แปลหนังสือสือด้านอื่นๆด้วย อาทิ หนังสือเกี่ยวกับศาสนา ประวัติศาสตร์สังคมมลายูสามจังหวัดชายแดนใต้ ในปี 2548 งามพลมีโอกาสได้ร่วมโครงการวิจัยท้องถิ่นของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(สกว.) และมูลนิธิเล็ก – ประไพ วิริยะพันธ์ มีศรีศักร วัลลิโภดมเป็นที่ปรึกษาและวลัยลักษณ์ ทรงศิริเป็นผู้รับผิดชอบ โครงการนี้สร้างรูปแบบวิธีวิจัยแบบใหม่คือคนในท้องถิ่นเป็นนักวิจัยเรื่องราวของตัวเอง โดยมีอาจารย์ที่ปรึกษาและผู้รับผิดชอบโครงการทำหน้าที่สนับสนุนและให้คำปรึกษาติดตามและมีที่ปรึกษาอาวุโสในพื้นที่ร่วมทำงานด้วย หนึ่งในนั้นคืออาจารย์อับดุลเลาะห์

“เป็นความโชคดีของเราที่เพื่อนนักวิจัยคนหนึ่งคือมะอีซอ โซ๊ะมะดะ คนบ้านตะโหนด ที่มีเรื่องราวที่อาจารย์อับดุลเลาะห์ให้ความสนใจ เมื่อมีเวลาที่ประชุมร่วมกันไม่ว่าจะเป็นในพื้นที่สามจังหวัดใต้หรือภูมิภาคอื่นๆ อาจารย์มักเรียกพวกเราไปนั่งคุยเสมอ ท่านมีความรู้มากและอายุมากกว่าแต่ไม่ถือตัวและพร้อมให้ความรู้เสมอ”

งามพลที่ยังทำงานวิจัยและเขียนงานเกี่ยวกับท้องถิ่นบอกว่า “ผมยังจำคำสอนของอาจารย์ที่เคยพูดว่า วัฒนธรรมหลักของคนมลายูคือการพูด ดังนั้นคนมลายูพูดเก่งแต่เขียนไม่ค่อยเก่ง” ส่วนในเรื่องวิธีเขียนเขาได้เคล็ดลับมาว่า “อาจารย์สอนว่าจะเขียนได้ต้องรู้จริง ต้องศึกษาค้นคว้า ต้องถามให้กระจ่างในความคิด ปัจจุบันมีนักวิจัยเพิ่มมากขึ้น แต่ที่วิจัยเรื่องท้องถิ่นและงานเขียนเกี่ยวกับท้องถิ่นก็ยังมีน้อย งานวิจัยท้องถิ่นเป็นเหมือนงานวิจัยเบื้องต้น เป็นอิฐก้อนแรกในการสร้างบ้านสร้างสังคมท้องถิ่นให้ยั่งยืนสู่สากลและสำหรับผมอาจารย์ อับดุลลอห์คือผู้ที่เป็นอิฐก้อนแรกของงานประวัติศาสตร์ท้องถิ่นสามจังหวัดชายแดนใต้”

อับดุลเลาะห์ ลอแมง หรืออับดุลเลาะห์ ลออแมน เสียชีวิต เมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ.2550 ด้วยวัย 63 ปี ที่บ้านเกิดคือบ้านบาโงระนะ ตำบลมะรือโบตก อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส โดยทิ้งผลงานด้านวรรณกรรมทั้งที่เผยแพร่แล้วและที่ยังไม่ได้เผยแพร่สู่สาธารณะ ผลงานเหล่านี้มีทั้งที่ถูกต่อยอดและรอวันขยับขยายองค์ความรู้เพื่อเป็นประโยชน์ในทางวิชาการด้านประวัติศาสตร์ท้องถิ่นอีกต่อไป

(Visited 261 times, 1 visits today)
Close