ในรอบหลายเดือนที่ผ่านมา นอกจากพรรคประชาชาติที่ถือว่าครอบครองจำนวนที่นั่งในสภาครึ่งหนึ่งของตัวแทนที่มาจากสามจังหวัดและทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงหรือถ่ายทอดปัญหาของชาวบ้านไปยังเวทีการเมืองระดับชาติแล้ว อีกหนึ่งพรรคการเมืองที่ลงมาและขับเคลื่อนประเด็นในพื้นที่บ่อย ทั้งในระดับผู้บริหารพรรค และ มันสมองของพรรคแล้วก็หนีไม่พ้นพรรคอนาคตใหม่ที่ลงมาจัดเวที จัด สส. ในพรรคลงมาเยี่ยมผู้คนในพื้นที่อยู่บ่อยครั้ง
พรรคอนาคตใหม่อาจไม่ได้เก้าอี สส. เขตจากในพื้นที่แม้แต่ที่นั่งเดียว แต่เหตุใดพรรคยังคงเคลื่อนไหวในประเด็นสามจังหวัด Patani NOTES จะพาไปพูดคุยกับ อับดุลกูดุส สมูซอ หัวหน้าคณะทำงานพรรคประจำจังหวัดปัตตานี ที่ปลีกเวลามาพูดคุยถึงการทำงานรวมทั้งเป้าหมายของพรรคในพื้นที่สามจังหวัด
“สามจังหวัดเป็นพื้นที่การแย่งชิง สส. ในการเลือกตั้งรอบต่อไป”
คือสิ่งที่อับดุลกูดุส พูดแทบจะทันทีที่เริ่มต้นบทสนทนาและ นั่นคือสิ่งที่ผู้บริหารพรรคและสาขาพรรคมองเห็นโอกาส อับดุลกูดุสมองว่า ในท้ายที่สุดแล้ว มันไม่มีพรรคใดที่สามารถครอบครองพื้นที่ได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ในจำนวนที่นั่งสิบเอ็ดคนจากสามจังหวัดแม้ว่าครึ่งหนึ่งจะเป็นที่นั่งของพรรคประชาชาติ แต่มันก็ไม่แน่เหมือนกัน.ผลการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาบอกว่าพรรคอนาคตใหม่ได้คะแนนป็อปปูล่าโหวตที่เฉียดๆเก้าหมื่นคะแนน นั่นคงทำให้พรรคและอับดุลกูดุสมองว่าพวกเขามีโอกาสสูงที่จะทำคะแนนได้มากกว่านี้หากยังคงทำงานต่อเนื่องจนถึงการเลือกตั้งครั้งถัดไป ขณะเดียวกันอับดุลกูดุสก็ยอมรับว่าตัวผู้สมัครที่ลงแข่งขันในพื้นที่รอบที่ผ่านมานั้นยังไม่น่าสนใจพอที่จะให้ผู้คนยอมเทคะแนน
“โอกาสสำคัญในการสร้างการยอมรับแก่คนในพื้นที่คือการลุกขึ้นมาหยิบยกประเด็นปัญหาในพื้นที่มาพูดในสภา”
อับดุลกูดุสมองว่า ที่ผ่านมาคนในพื้นที่รวมทั้งภาคประชาสังคมพยายามเปล่งเสียงแต่ท้ายสุดกลับไม่มีใครฟัง นอกจากนี้คนพูดยังสุ่มเสี่ยงที่จะกลายเป็นเป้าหมายเสียเองด้วย ขณะที่การให้คนการเมืองพูดมันจะยกระดับประเด็นให้เป็นที่สนใจของคนทั้งประเทศ แล้วพรรคอนาคตใหม่ก็เลือกที่จะส่งระดับผู้บริหารของพรรคลงมา เพราะอับดุลกูดุสย้ำว่า นี่คือการบอกว่าพรรคให้ความสำคัญกับพื้นที่มาก และพรรคเองก็เน้นการทำงานในประเด็นเรื่องสิทธิ์และความเป็นธรรม อันเป็นปัญหารากเหง้าในพื้นที่สามจังหวัด ขณะที่ในพื้นที่ภาคใต้ตอนบนนั้น อับดุลกูดุสยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่า “มันยากที่จะไปแย่งชิงพื้นที่ของพรรคประชาธิปัตย์ได้”
อับดุลกูดุสยังเผยว่า เหตุผลส่วนหนึ่งที่ผู้บริหารพรรคหยิบยกประเด็นเรื่องสิทธิ์และความเป็นธรรมของพื้นที่มาพูดคุย คือการที่ตัวเขาเองมีหน้าที่เป็นผู้ช่วย สส. ของพรรณิการ์ วานิช ซึ่งได้รับตำแหน่งเป็นกรรมาธิการ กฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน อับดุลกูดุสบอกว่าเขาเลยต้องชู๊ตเรื่องนี้ให้พรรณิการ์นำไปเปิดประเด็นต่อ
“อนาคตใหม่เปิดโอกาสให้ผมชี้ว่า เรื่องไหนควรทำ หรือ ไม่ควรทำ และเราไม่ได้อยู่ในสถานการณ์ที่ต้องเลียหัวหน้าพรรค หรือ ผู้บริหาร”
อับดุลกูดุสพยายามชี้ให้เห็นถึงจุดแข็งของพรรค แต่พรรคอนาคตใหม่เองก็มีข่าวเรื่องการทุ่มเถียงกันของคนในพรรคออกมาให้เห็นก่อนหน้านี้อยู่เป็นระยะ อับดุลกูดุสพูดถึงกลไกที่ดีของพรรคการเมืองแบบอนาคตใหม่ว่า ข้อดีของพรรคอนาคตใหม่คือ สาขาพรรคในแต่ละจังหวัดนั้นสามารถมีสิทธิ์มีเสียงที่จะนำเสนอประเด็นที่สำคัญหรือสร้างผลงานของตัวเองได้ เช่นในส่วนสามจังหวัดนั้นทางพรรคและทีมจังหวัดมีความเห็นว่าจะขับเน้นประเด็นเรื่องความเป็นธรรม เรื่องสิทธิ์ และเรื่องประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม
ขณะที่พรรคเองก็มีคนที่เป็นสายอนุรักษ์นิยมและไม่เห็นด้วยกับเรื่องราวที่พวกเขาให้ความสำคัญ อับดุลกูดุส ยอมรับว่าในพรรคมีความเห็นต่างที่สูงมาก อาจมีระดับผู้บริหารของพรรคที่มีความคิดแทบจะสวนทางกับแนวทางที่พวกเขานำเสนอ แต่อย่างน้อยที่สุดการมีกองบรรณาธิการของพรรคที่นำโดยเลขาธิการพรรค ทำหน้าที่คอยสกรีนเรื่องราวต่างๆ ก็ช่วยได้มาก พรรคอนาคตใหม่ในสายตาของอับดุลกูดุสคือพรรคที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นคนรุ่นใหม่ สายอนุรักษ์นิยมในพรรคก็ต้องพิสูจน์ตัวเองเพื่อให้มีที่ทางในพรรคหรือกระทั่งรักษาพื้นที่ของการเป็นฝ่ายบริหารในพรรคด้วย
ในเชิงส่วนตัว อับดุลกูดุสเผยว่า เคยมีความเห็นแย้งกับคนในพรรค ต้องถกเถียงกับผู้คนทั้งทีมจังหวัด ส่วนกลางของพรรค ผู้สมัครในพื้นที่ของพรรค กระทั่งเคยโดนร้องเรียนไปยังส่วนกลางของพรรค แต่ก็ผ่านมาได้เพราะอับดุลกูดุสย้ำว่าเขาวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของพรรคบนพื้นฐานความเป็นจริง และไม่ปฏิเสธว่าในพรรคยังมีคนที่เล่นการเมืองแบบเก่า คิดว่าสามารถทำร้ายกันด้วยวิธีการเก่าๆ แต่ผู้บริหารก็ยังคงไว้ใจให้เขาทำหน้าที่ต่อไป
“มันอาจจะมีกระแสตีกลับบ้าง แต่เราไม่เสียเวลากับ IO (ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร) จนลืมเรื่องประเด็นใหญ่ เราไม่เสียสมาธิกับการมานั่งตอบโต้”
แม้ว่าพรรคอนาคตใหม่จะได้รับที่นั่งในสภาเป็นจำนวนมาก แต่ก็ต้องเผชิญหน้ากับความเห็นต่างและคำวิพากษ์วิจารณ์นานับประการจากสังคม รวมทั้งการปล่อยข้อมูลข่าวสารเพื่อดิสเครดิตพรรค.อับดุลกูดุสชวนย้อนกลับไปที่การจัดเวที 7 พรรคร่วมฝ่ายค้านซึ่งเกิดขึ้นในจังหวัดปัตตานีเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาว่า ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ พูดย้ำว่าปัญหาสามจังหวัดไม่ได้พิเศษกว่าที่อื่นๆ เรื่องที่เป็นปัญหาเช่น เรื่องความยุติธรรม เรื่องสิทธิ์ ควรยกระดับให้เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันในสาธารณะในระดับชาติได้ แม้ว่าคนพุทธบางกลุ่มจะไม่เห็นด้วยกับประเด็นดังกล่าว แต่ในฐานะคนทำงานการเมืองต้องไปทำหน้าที่เพื่อให้พวกเขาพูดออกมา และต้องเรียนรู้จากคนพุทธที่ออกมาทำกิจกรรมต่างๆในพื้นที่ว่าความสำคัญของคนพุทธในพื้นที่คืออะไร
ในบรรดาพรรคการเมืองที่ประกาศตัวเป็นฝ่ายประชาธิปไตยเอง อับดุลกูดุสก็เชื่อว่ายังมีเรื่องที่ต้องทำงานและปรับความเข้าใจด้วยกันอีกมาก ไม่ว่าจะเป็นการผลักดันเรื่องความยุติธรรม เช่น เรื่องอับดุลเลาะ อีซอมูซอ ที่การเสียชีวิตของเขายังเป็นเรื่องที่คลางแคลงใจ พรรคอนาคตใหม่ค่อนข้างผลักดันเรื่องนี้อย่างชัดเจน ขณะเดียวกันอาจทำให้พรรคการเมืองอื่นที่มี สส. ในพื้นที่รู้สึกถูกแย่งบทบาท ทางออกในการรักษามิตรร่วมอุดมการณ์คือการเปิดโอกาสให้พรรคอื่นๆได้เป็นเจ้าภาพพูดคุยในประเด็นดังกล่าวบ้าง
อับดุลกูดุสบอกว่า ภารกิจส่วนหนึ่งของตัวเขาและพรรคอนาคตใหม่ในพื้นที่ตอนนี้คือการลงพื้นที่ปูทางและทำงานกับคนรุ่นใหม่ โดยส่วนตัวเขาค่อนหวังกับเขตเลือกตั้งที่ 1 และ 4 ของปัตตานี และยอมรับว่ามันไม่ง่ายที่จะโค่น สส. ที่ชนะหลายสมัยแต่อย่างน้อยที่สุดผู้สมัครของพรรคจะต้องได้คะแนนหนึ่งในสามให้ได้
“ทุกคนต้องทำงานเพื่อพิสูจน์ตัวเอง”
ในส่วนของผู้สมัครนั้น อับดุลกูดุสบอกว่า ตอนนี้กำลังมองหาคาแรคเตอร์ของแคนดิเดตในเขตต่างๆของจังหวัด และเขาก็จะไม่ใช้วิธีการคุกเข่าไปขอให้คนมาลงสมัคร มันต้องหาคนที่มีจุดลงตัวและต้องนำเสนอสิ่งใหม่ๆให้กับพื้นที่ได้ ขณะที่คนซึ่งลงสมัครในนามพรรคในรอบที่ผ่านมานั้นไม่การันตีว่าทางพรรคจะมีมติให้ลงสมัครเลือกตั้งอีกครั้ง.ขณะเดียวกันพรรคอนาคตใหม่ที่อับดุลกูดุสภูมิใจในการบอกว่าเขาเป็นหนึ่งในตัวตั้งตัวตีให้มีการจัดตั้งคณะทำงานชายแดนใต้ของพรรค เพื่อเป็นอีกหนึ่งแพล็ตฟอร์มในการสร้างการยอมรับ แม้ว่ายังจะต้องทำงานอีกมากก็ตาม โดยเฉพาะหัวหน้าคณะทำงานที่พรรคแต่งตั้งมาอย่างคุณกุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ ที่ต้องใช้เวลาเรียนรู้ประเด็นปัญหาในสามจังหวัดอย่างลึกซึ้งอีกพอสมควร
“ลงแน่แต่ยังไม่ใช่รอบต่อไป เพราะคิดว่ายังต้องทำการบ้านอีกมาก”
คือคำตอบที่ได้รับเมื่อถูกถามว่าพิจารณาจะลงรับสมัครเองไหม ในฐานะนักคณิตศาสตร์ อับดุลกูดุสคิดว่า มันต้องประเมิณกันในเชิงตัวเลขให้ได้อย่างชัดเจน และยังต้องรู้เรื่องของพรรคให้มากกว่านี้ เพราะพรรคเองก็สุ่มเสียงที่จะถูกยุบ และตัวเขาเองยังไม่แน่ใจว่าทางพรรคจะรับมือกับเรื่องนี้อย่างไร
โดยธรรมชาติการเมืองในสามจังหวัด อับดุลกูดุสบอกว่า การประกาศตัวลงการเมืองเร็วเกินไปนั้น มันมีต้นทุนที่ต้องจ่ายสูงมาก เพราะฉะนั้นการจะลงเล่นการเมืองทั้งทีมันต้องเดินไปแบบมียุทธศาสตร์ และบทเรียนสำคัญจากการทำงานกับพรรคอนาคตใหม่คือ การใช้เงินหว่านลงไปในการเลือกตั้ง ไม่สามารถหวังผลได้มากขนาดนั้น มันต้องมียุทธศาสตร์ที่ดีคอยผลักดัน
อับดุลกูดุสคือหนึ่งในคนรุ่นใหม่ที่มีคาแร็คเตอร์ พูดจาฉะฉาน มีเหตุมีผล เขาบอกว่าสิ่งที่ทำให้เขากล้าพูดกล้าทำงานกับพรรคการเมืองเป็นเพราะโตมากับวัฒนธรรมการถกเถียงบนโต๊ะกินข้าวโดยเฉพาะกับคุณแม่ ที่มีเรื่องถกเถียงตลอด และแม่ของเขาเองก็เปิดพื้นที่สำหรับให้อธิบายในเรื่องที่ตัวเขาเห็นแย้งได้
และเชื่อว่าคนรุ่นใหม่สมัยนี้สามารถตั้งตัวได้ตั้งแต่จบมัธยมปลาย หรือ กระทั่งผลักดันประเด็นที่ตัวเองสนใจได้ตั้งแต่ยังเด็ก อับดุลกูดุสยกตัวอย่าง เกรต้า ธันบอร์ก จากสวีเดนที่ลุกขึ้นมาผลักดันประเด็นสิ่งแวดล้อม และบอกว่าสังคมบ้านเราคงตกใจที่มีเด็กอายุสิบกว่าขวบมาชี้หน้าด่าผู้ใหญ่ อับดุลกูดุสเชื่อว่าคนรุ่นใหม่สามารถคิดได้ และมองเห็นความย้อนแย้งของผู้ใหญ่ที่พูดอย่างและทำอย่างได้
สำหรับการเมืองที่นี่ อับดุลกูดุสไม่ปฏิเสธว่ายังมีเรื่องของอิทธิพลเข้ามามีส่วนสำคัญ แต่ก็ยังไม่มีใครกล้าพอที่จะออกชี้ว่าต้องทำงานการเมืองแบบใหม่ ตัวเขาเองก็ยังโดนชี้หน้าอยู่บ่อยๆว่าเป็นเด็กดื้อสำหรับพื้นที่ทางการเมือง
อีกหนึ่งประสบการณ์สำคัญที่อับดุลกูดุสเล่าให้ฟังคือการที่มีพรรคการเมืองหนึ่งเคยชวนไปร่วมงาน แต่บทบาทของคนรุ่นใหม่ในพรรคนั้นยังไม่ชัดเจนมากนัก และทางอับดุลกูดุสกลับเชื่อมั่นว่าคนรุ่นใหม่จำเป็นต้องมีที่ทางในการร่วมตัดสินใจมากกว่านั้น เมื่อมองย้อนกลับไปก็พบว่าตัวเองตัดสินใจถูกที่เข้ามาทำงานกับพรรคอนาคตใหม่ และมีบทบาทในการทำงานมากกว่าเพื่อนรุ่นเดียวกันที่ตัดสินใจไปอีกทางหนึ่ง