องค์กรสิทธิชี้รัฐบาลกัมพูชาต้องให้หลักประกันความปลอดภัยในดินแดนของตัวเอง ในขณะที่ยืนยันวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์คือผู้ลี้ภัยตามคำจำกัดความของกติกาสากล และว่ารัฐบาลไทยมีหน้าที่ต้องดูแลประชาชนทุกคนไม่ว่าจะมีฐานะเป็นผู้ลี้ภัยเป็นทางการหรือเห็นต่างกับรัฐก็ตาม หลายเสียงชี้บริบททางสังคมและการเมืองทำให้รัฐตกเป็นผู้ต้องสงสัยว่าอยู่เบื้องหลังการหายตัว อีกด้าน กรณีอุ้มวันเฉลิมฟื้นกระแสความสนใจในร่างกฎหมายคุ้มครองการซ้อมทรมานและป้องกันการบังคับสูญหาย
ความเห็นที่ว่านี้มาจากการเสวนาที่มีตัวแทนจากองค์กรสิทธิ พรรคการเมือง และครอบครัวของผู้สูญหายเข้าร่วมเรื่อง “ตามหาวันเฉลิม ตรมหาหลักประกันความปลอดภัยของประชาชนจากการถูกบังคับสูญหาย (และทรมาน)” ในช่วงเช้าของวันที่ 11 มิ.ย. ที่ผ่านมา
ประเด็นที่สำคัญอันหนึ่งจากการเสวนา หลายฝ่ายระบุว่าเป็นเรื่องที่สังคมไม่ควรยอมรับที่มีคนถูกทำให้สูญหายแม้ว่าจะเป็นคนตัวเล็กตัวน้อยแค่ไหนหรือไม่มีสถานะผู้ลี้ภัยอย่างเป็นทางการก็ตาม นายชยุตม์ ศิรินันทไพบูลย์ ตัวแทนกลุ่มเพื่อนวันเฉลิมบอกว่า นายวันเฉลิมนอกจากจะไม่ได้เป็นแอดมินเพจ “กูต้องได้ 100 ล้านจากทักษิณแน่ๆ” แล้วเขายังเป็นนักกิจกรรมทำงานเพื่อสังคมโดยเฉพาะในเรื่องยาเสพติด เขาชี้ว่าการหายไปของนายวันเฉลิมเป็นตัวชี้ให้เห็นปัญหาความไม่ปลอดภัยในสังคม โดยเฉพาะเมื่อแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างซึ่งมักจะทำให้ถูกเตือนเสมอ และยืนยันว่าการทำให้คนสูญหายเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นไม่ว่าในกรณีใด ไม่ว่าจะเป็นคนเห็นต่างหรือแม่้แต่อาชญากร หากเห็นว่ามีความผิดก็ต้องใช้ระบบกฎหมายจัดการ
อีกหลายคนตอกย้ำคือว่ารัฐบาลไทยมีหน้าที่ต้องคุ้มครองให้ความปลอดภัยแก่ประชาชน ไม่ว่าประชาชนรายนั้นจะมีความคิดเห็นที่แตกต่างจากรัฐบาลในมากขนาดไหนก็ตาม
นายสุนัย ผาสุกแห่งกลุ่มฮิวแมนไรซ์วอชยังยืนยันว่า รัฐบาลไทยมีหน้าที่นี้ตามรัฐธรรมนูญไม่ว่าจะกับคนที่เห็นต่าง หรือไม่เป็นที่รู้จัก หรือแม้จะไม่มีสถานะเป็นผู้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ลี้ภัยอย่างเป็นทางการกับสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยสหประชาชาติ ซึ่งนายสุนัยกล่าวว่า อันที่จริงแล้ว จะจดทะเบียนหรือไม่ก็ตาม นายวันเฉลิมมีสถานะการเป็นลี้ภัยตามกติกาสากล เพราะ “ผู้ลี้ภัยคือคนที่มีความกลัวถูกประหัตประหารเพราะสาเหตุต่างๆทำให้อยู่ในบ้านเกิดตัวเองไม่ได้ ไม่จำเป็นต้องขึ้นทะเบียนกับสนง.ข้าหลวงใหญ่สหประชาชาติ กรณีวันเฉลิมคือเรื่องอุดมการณ์ทางการเมือง การบอกว่าเขาไม่ได้จดทะเบียนเป็นผู้ลี้ภัยเป็นการด้อยค่าเขา สำหรับฮิวแมนไรซ์วอช เขาเป็นผู้ลี้ภัย และเป็นคนเห็นต่างที่แสดงความคิดเห็นทางการเมืองอย่างสันติมาตลอด ไม่ใช่ใช้ความรุนแรงยั่วยุให้เกิดการใช้ความรุนแรง”
สุนัยยืนยันว่า ในกรณีนายวันเฉลิม ทั้งรัฐบาลของไทยและกัมพูชาต่างมีหน้าที่ที่จะต้องดำเนินการ สำหรับรัฐบาลกัมพูชา ต้องพิสูจน์ว่าภายในดินแดนของตนเองต้องมีความปลอดภัย “ถ้ากัมพูชายืนยันว่าตัวเองมีขื่มีแป ต้องมีคำตอบได้แล้ว พรรคประชาชนกัมพูชาคุมสังคมเข้มแค่ไหน เป็นไปไม่ได้ที่จะไม่รับรู้ และเหตุเกิดกลางวันแสกๆ มีพยาน แถมมีคนพยายามเข้าไปช่วย ดังนั้นปฏิเสธไม่ได้ โฆษกกัมพูชาบอกว่าเป็นเฟคนิวส์ ต่อมากลับบอกไม่รู้ไม่เห็น จนถูกโดเนอร์ (ประเทศผู้ช่วยเหลือ)กดดัน ถึงได้เริ่มปรับท่าที”
นอกจากนั้นเขายังเรียกร้องรัฐบาลไทยไม่ให้เพิกเฉย ต้องทวงถามกับรัฐบาลกัมพูชาเพื่อให้สอบสวนติดตามหาตัวนายวันเฉลิมโดยด่วน เขาฝากให้กลไกตรวจสอบของรัฐสภาช่วยติดตามการทำงานของกระทรวงต่างประเทศ สถานทูตไทยในกัมพูชาว่าทำหนังสือถึงรัฐบาลกัมพูชาเรียกร้องอย่างเหมาะสมหรือไม่ นอกจากนั้นสุนัยยังวิจารณ์การที่รัฐมนตรีต่างประเทศของไทยพูดว่าการเรียกร้องกรณีนายวันเฉลิมเป็นการกระพือข่าวสร้างกระแส เขาระบุว่านายวันเฉลิมเป็นรายที่เก้าแล้วที่หนีและถูกอุ้มหาย ในเก้าคน ดังกล่าว มีสองคนถูกฆ่าอย่างทารุณ ในกรณีของนายวันเฉลิมหากไม่เร่งติดตามเอาตัวกลับความเสี่ยงต่อชีวิตยิ่งเพิ่มสูงขึ้น พร้อมกันนั้นเขาระบุว่าในโลกโซเชียลมีเดีย มีการเคลื่อนไหวอย่างเป็นระบบและสอดประสานกันจากผู้ใช้กลุ่มหนึ่งที่ชักจูงสังคมให้เห็นว่า นายวันเฉลิมไม่มีคุณค่าพอที่จะได้รับการช่วยเหลือ และชี้ว่านี่เป็นปฏิบัติการไอโอที่ “ด้อยค่า” วันเฉลิม นอกจากนี้สุนัยระบุว่า การผู้ลี้ภัยไม่สามารถขึ้นทะเบียนกับยูเอ็นได้นั้นเพราะทางการไทยไปขอไว้กับรัฐบาลกัมพูชาไม่ให้มีการไปจดทะเบียน
ด้านนางอังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติติงว่า การที่นายดอน ปรมัตวินัย รัฐมนตรีต่างประเทศชี้แจงเรื่องนี้ในรัฐสภาว่าไม่รู้จักนายวันเฉลิม เป็นสิ่งที่ชวนให้คิดว่าเพราะไม่รู้จักจึงไม่ให้ความสำคัญทั้งที่ความจริงแล้วเรื่องนี้เป็นหน้าที่ของรัฐบาล “มันเป็นความรับผิดชอบของรัฐ คนจะหายไปเฉยๆไม่ได้แม้จะตัวเล็กตัวน้อยก็ตาม” พร้อมกันนั้นเธอชี้ว่า การมีผู้ออกมาปล่อยข้อมูลสร้างความเสียหายให้กับนายวันเฉลิม เป็นอาการคล้ายกับที่เกิดขึ้นในกรณีทนายสมชาย นีละไพจิตรที่หายไป โดยหลังจากที่นายหายไป มีผู้พยายามให้คำอธิบายเช่นทะเลาะกับภรรยาหรือแม้แต่กล่าวหาว่าพัวพันปัญหาผิดกฎหมาย ฯลฯ ทำให้บุคคลที่หายไปเสียชื่อเสียงและไร้คุณค่าในสายตาสังคมและทำให้เกิดความเห็นว่าไม่จำเป็นต้องช่วยเหลือ อังคณาย้ำว่า ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม รัฐมีภาระหน้าที่ต้องช่วยเหลือ
พร้อมกันนั้นนางอังคณาได้เล่าประสบการณ์หลังการหายตัวของทนายสมชายว่า ตนเชื่อว่ารัฐมีความสามารถในการที่จะค้นหา ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่ามีความเต็มใจจะทำหรือไม่เท่านั้น พร้อมกับชี้ว่าเรื่องการหายตัวไม่จำเป็นต้องรอให้มีการแจ้งความจึงจะดำเนินการติดตามหาตัวหรือสอบสวน เธอชี้ว่าทันทีที่รู้เรื่องคนหายตัวต้องรีบติดตามหาตัวทันที และไม่ว่าจะเป็นผู้ลี้ภัยหรือไม่ก็ตาม อังคณาย้ำเช่นกันว่า เป็นภาระของรัฐบาลไทยที่จะต้องช่วยประชาชน ในขณะที่รัฐบาลกัมพูชามีภาระตามกติกาสากลที่จะต้องดูแลคนที่หนีภัยไปอยู่ในประเทศตน
“รัฐธรรมนูญบอกว่าต้องไม่เลือกปฏิบัติ ซึ่งรวมไปถึงคนเห็นต่างทางการเมือง มันจึงอยู่ที่ความเต็มใจหรือไม่เต็มใจ ไม่ใช่ว่าเป็นคนไม่ดี เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ไม่รู้จัก ไม่ใช่” พร้อมกันนั้นชี้ว่าทางการไทยสามารถติดตามเรื่องนี้กับทางการกัมพูชาได้โดยไม่ต้องบอกว่าจะเป็นการแทรกแซงเรื่องภายใน เพราะหลายครั้งที่เกิดเหตุการณ์ในไทย ก็มีตัวแทนจากสถานทูตต่างประเทศในไทยติดตามเรื่องเช่นเดียวกันถือเป็นการขอความร่วมมือ อย่างไรก็ตาม กระบวนการนี้สำหรับไทยยังไม่เริ่มต้น เพราะจะต้องเริ่มจากความเต็มใจก่อน ว่าไทยมีความเต็มใจในการคลี่คลายคดีแค่ไหน
อังคณาได้ให้กำลังใจครอบครัวนายวันเฉลิม เธอบอกว่า ครอบครัวคนโดนอุ้มหายมักพบกับการคุกคามเสมอ จะมีคนไปบอกว่าพร้อมจะช่วยแต่ให้เงียบ ซึ่งนั่นคือการปิดปากเหยื่อ พร้อมกับเตือนว่า การต่อสู้ของครอบครัวผู้ถูกอุ้มหายเป็นการต่อสู้ที่ยาวนาน อย่างครอบครัวนายสมชายจนชั่วชีวิตตนก็ยังไม่รู้จะได้รับความเป็นธรรมและได้รู้ความจริงหรือไม่
ผู้ร่วมเสวนาหลายคนชี้ประเด็นเรื่องบริบทของการหายตัวของนายวันเฉลิมว่า มีประเด็นเกี่ยวพันกับเรื่องการเป็นผู้เห็นต่างจากรัฐที่จุดชนวนให้เกิดความสงสัยถึงสาเหตุที่ทำให้หายตัว ตัวแทนจาก iLaw นายอานนท์ ชวาลาวัณย์ ให้ข้อมูลว่า นายวันเฉลิมเป็นหนึ่งในคนจำนวน 476 คนที่คสช.ออกคำสั่งเรียกให้ไปรายงานตัวจากคำสั่งทั้งหมด 34 ฉบับ จากประสบการณ์ของคนที่เข้ารายงานตัว บ้างก็พบว่าไม่มีปัญหามากนัก แต่บางรายก็ได้ประสบการณ์ที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิง สิ่งนี้ทำให้บางคนไม่แน่ใจและวิตกและทำให้บางคนไม่ไปรายงานตัว รวมทั้งมีบางคนที่เห็นว่าคำสั่งไม่ชอบธรรมจึงไม่ไปรายงานตัว มีหลายคนตัดสินใจเดินทางออกนอกประเทศเพราะความวิตกหวาดกลัวอันนี้
อานนท์ให้ข้อมูลถึงความร่วมมือระหว่างไทยกับเพื่อนบ้านในเรื่องการติดตามจับกุมตัวบุคคลที่เป็นที่ต้องการ รวมทั้งความร่วมมือในการส่งตัวบุคคลข้ามประเทศว่า ในช่วงปี 2557 – 2561 เคยมีรายงานข่าวไทยขอตัวหลายกรณีแต่ไม่ได้เพราะว่าบางปรระเทศเช่นกัมพูชาขณะนั้นยังไม่มีกฎหมายเอาผิดแบบมาตรา 112 ของไทย ปี 2559 มีข่าวว่าไทยขอตัวบุคคลสามคน ซึ่งเป็นจังหวะที่กัมพูชาออกกฎหมายทำนองเดียวกันกับของไทย เชื่อว่ากัมพูชากำลังดำเนินการตามขั้นตอน แต่ยังไม่มีข้อมูลว่ามีการส่งตัวกลับอย่างเป็นทางการแล้วหรือไม่ นอกจากนั้นมีเหตุการณ์ที่น่าจับตาคือกรณีนักเคลื่อนไหวลาวในไทยที่หายตัวไปในช่วงเดือนสค. 2562 ก่อนหน้านั้นมีข่าวว่าทางการลาวรับปากกับไทยว่าจะติดตามกรณีที่ไทยร้องเรียนว่ามีบุคคลจากไทยไปใช้ลาวเป็นสถานที่เคลื่อนไหว
สำหรับกรณีกัมพูชานั้น อานนท์ชี้ว่าไทยเคยส่งตัวกลับบุคคลที่ทางการกัมพูชาต้องการตัวมาแล้วอย่างน้อย 2 ราย ส่วนในกรณีเวียดนาม เคยมีกรณีคนเวียดนามที่มาลี้ภัยในไทยหายตัวไป ในขณะที่บุคคลที่ทางไทยต้องการตัว มีรายงานข่าวว่าพยายามเข้าเวียดนามแต่ถูกจับ ครอบครัวไปขอข้อมูลแต่ไม่ได้รับ อานนท์ชี้ว่า ภายในห้วงเวลาเดียวกันนี้มีเหตุการณ์ในทำนองใกล้เคียงกันเกิดขึ้นในไทย เช่นปี 2559 สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์หรือจ่านิวเคยถูกอุ้มแต่ยังโชคดีที่กลับมาได้ ปี 2561-2562 เอกชัย หงส์กังวาน อดีตนักโทษคดี 112 ถูกทำร้ายทั้งหนักและเบารวมแล้ว 9 ครั้ง อานนท์ชี้ว่า หากดูจากระยะเวลา เหตุการณ์รุนแรงที่เกิดกับบุคคลเหล่านี้เกิดในช่วงปี 2561-2562 แต่ทุกกรณีไม่สามารถหาตัวผู้ลงมือได้
“สิ่งหนึ่งที่เราต้องการคือความจริง ถ้ารัฐเอาความจริงมาเปิดก็จะเป็นการดีกับรัฐ แต่ถ้าเงียบ มันอดไม่ได้ที่คนจะสงสัย เพราะมีเหตุให้สงสัย สิ่งที่เราอยากเห็นคือรัฐทั้งไทยและกัมพูชามีหน้าที่ สำหรับไทย ไม่ว่าคนคนนั้นจะเป็นใครก็เป็นหน้าที่ที่ไทยจะต้องถาม ส่วนกัมพูชามีหน้าที่ไม่ให้เกิดการทำร้าย ไม่อย่างนั้นในอนาคต ผมไปกัมพูชาผมจะมั่นใจได้ยังไง ในเมื่อผมก็เป็นคนตัวเล็กตัวน้อย ต้องไม่ลืมว่าคนเล็กคนน้อยคือคนส่วนใหญ่ของประเทศ”
ปิยนุช โคตรสาร แห่งกลุ่มแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลชี้ว่า กรณีของนายวันเฉลิม ไม่ควรเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้ต้องหนีตั้งแต่แรก ที่น่าตกใจมากกว่าคือนายวันเฉลิมหายไปโดยที่ไม่รู้ชะตากรรมเลย และว่าแอมเนสตี้ต้องการเห็นการสืบสวนสอบสวนจากทั้งไทยและกัมพูชาโดยเร็วที่สุด นอกจากเร็วแล้ว ควรมีประสิทธิภาพ เป็นธรรม โปร่งใส หากนายวันเฉลิมยังอยู่ในกัมพูชาก็ต้องขอไม่ให้มีการส่งตัวกลับ แต่ต้องรู้ก่อนว่าใครทำ พร้อมกับชี้ว่า บรรยากาศในปัจจุบันผู้คนอยู่ในดินแดนที่คลุมเครือ แค่คิดต่างก็โดนเตือน เธอย้ำว่าในขณะที่เวลานี้มีกฎหมายที่ถูกนำมาใช้ปิดปากประชาชน ประชาชนจำเป็นจะต้องมีกฎหมายที่ให้ความคุ้มครอง โดยเฉพาะกฎหมายป้องกันการซ้อมทรมานและการสูญหายที่พยายามผลักดันกันมานานแต่ไม่ผ่านการพิจารณาของผู้เกี่ยวข้องออกมาประกาศใช้
ในเวทีเสวนามีตัวแทนของกรมคุ้มครองสิทธิ กระทรวงยุติธรรมคือนงภรณ์ รุ่งเพ็ชรวงศ์เข้าร่วม และเปิดเผยว่า ขณะนี้กรมได้ขอความร่วมมือไปทางกระทรวงการต่างประเทศเพื่อติดตามเรื่องนายวันเฉลิม กระทรวงต่างประเทศก็ได้ประสานไปที่สถานทูตไทยในกัมพูชาแล้ว ขณะเดียวกันก็ชี้ว่า ยังมีกลไกอีกอันคือคณะกรรมการจัดการเรื่องราวร้องทุกข์ที่ครอบครัวสามารถใช้เป็นช่องทางได้ คณะกรรมการชุดนี้มีคณะอนุกรรมการสี่คณะ รวมไปถึงการส่งเรื่องให้ดีเอสไอตรวจสอบ อีกด้าน ก็ได้บอกเล่าถึงกระบวนการที่ไทยกำลังพยายามจะออกกฎหมายป้องกันการทรมานและการอุ้มหาย เพื่อให้สอดรับกับพันธะที่ไปให้ไว้กับกติการะหว่างประเทศ โดยเล่าว่าร่างกฎหมายนี้ได้ผ่านการศึกษาและยกร่างขึ้นมารวมทั้งส่งผ่านไปยังหน่วยงานความมั่นคงต่างๆเพื่อรับฟังความคิดเห็น จนได้เข้าสู่การพิจารณาของสนช.แล้ว แต่ไม่ทันที่สนช.จะได้พิจารณาผ่านออกมาก็ได้หมดวาระลงเสียก่อน ล่าสุด กระทรวงได้นำเสนอเข้าไปใหม่และขณะนี้รอการพิจารณาจากครม.
อย่างไรก็ตาม พตอ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติระบุว่า ร่างกฎหมายนี้ใช้เวลานานอย่างยิ่งในการดำเนินการ คือตั้งแต่สมัยที่ตนเป็นรองปลัดกระทรวงยุติธรรม มีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นผู้ศึกษาให้ มีการยกร่างและส่งต่อไปยังหน่วยงานต่างๆเพื่อรับฟังความเห็น ในระหว่างที่อยู่กับสนช.นั้น มีการส่งร่างกฎหมายนี้ไปให้คณะกรรมการกฤษฏีกาพิจารณาถึง 7 ครั้งแต่สนช.ก็ยังไม่ได้ผ่านร่างกฎหมายฉบับนี้ออกมาใช้ ในขณะที่ในเวลาเดือนสุดท้ายของสนช. มีการผ่านร่างกฎหมายต่างๆเกือบ 300 ฉบับ พตอ.ทวีกล่าวว่าหากต้องการจะดำเนินการจริงก็เชื่อว่าคงจะสามารถพิจารณาให้ผ่านออกมาใช้ได้ และในวันนี้การดำเนินการผลักดันร่างกฎหมายนี้กลับมาสู่สภาพนับหนึ่งใหม่อีกครั้ง เขาสรุปว่าเป็นเพราะทัศนะ “ความมั่นคงของรัฐอยู่เหนือความมั่นคงของประชาชน”
ด้านนายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกลระบุว่า สำหรับประเทศไทย การเกิดคลื่นผู้ลี้ภัยหลังปี 2557 ถือเป็นปรากฎการณ์สำคัญ ก่อนหน้านั้นครั้งสุดท้ายที่ไทยมีผู้ลี้ภัยการเมืองคือหลังการรัฐประหารเมื่อ 6 ตค. 2519 ส่วนการหลบหนีหรือลี้ภัยการเมืองครั้งอื่นๆเป็นของคนกลุ่มเล็กๆที่เกี่ยวข้องกับแกนนำการเมืองที่ขัดแย้งกันไม่ได้ขยายไปถึงประชาชน ปรากฎการณ์ที่มีผู้ลี้ภัยจำนวนมากหนนี้เป็นบริบทสำหรับกรณีการอุ้มนายวันเฉลิม จำนวนผู้ลี้ภัยในช่วงหลังนี้ไม่มีข้อมูลเป็นทางการ แต่เป็นที่รับรู้กันในหมู่องค์กรสิทธิและนักกิจกรรมจำนวนหนึ่งว่าอย่างน้อยเป็นหลักร้อย
“มันชี้ว่า แสดงว่ารัฐกำลังมองประชาชนเป็นศัตรู เป็นภัยความมั่นคงของชาติ อย่างน้อยมีประชาชนที่รู้สึกได้แบบนั้นจริงๆ ไม่ได้เกิดจากความรู้สึกลอยๆ แต่มีปรากฎการณ์หลายอย่างที่ชี้แบบนั้น” เขายกตัวอย่างการที่วันเฉลิมถูกเรียกรายงานตัว ในขณะที่ต่อมามีการดำเนินคดีข้อหาความมั่นคงกับหลายๆคน มีการทำร้ายนักกิจกรรมการเมืองจำนวนมาก และไม่มีใครสอบสวนได้ ชัยธวัชชี้ว่า หากย้อนหลังไปถึงปี 2549 จะเห็นว่าฝ่ายความมั่นคงพูดถึงความคิดว่ามีคนจำนวนมากเป็นภัยต่อสถาบันหลักของชาติ ว่ามีผังล้มเจ้า ในปี 2553 มีการปราบปรามที่ทำให้คนเกือบร้อยเสียชีวิต โดยที่การสอบสวนไม่ได้ผลจริงจัง ทั้งหมดนี้คือบริบทของสังคมในช่วงการถูกอุ้มของนายวันเฉลิม และภายใต้สภาพการณ์เช่นนี้ทำให้รัฐถูกสงสัยว่ามีส่วนเกี่ยวข้อง เพราะรัฐมองว่าประชาชนเป็นภัยความมั่นคง แม้แต่การอภิปรายในรัฐสภาของนายรังสิมันต์ โรม ก็ยังทำให้เกิดความวิตกในหมู่ประชาชน แสดงให้เห็นว่าประชาชนรู้ดีว่าการแตะต้องผู้มีอำนาจจะทำให้เกิดความไม่ปลอดภัย
สำหรับกฎหมายป้องกันการซ้อมทรมานและการบังคับให้บุคคลสูญหายนั้น ขณะนี้พรรคก้าวไกลนำเอาร่างที่เสนอโดยภาคประชาชนไปปรับปรุงและคาดว่าจะนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชนต่อไป อย่างไรก็ตาม หลายประเด็นในร่างกฎหมายยังมีรายละเอียดที่แต่ละฝ่ายมองเห็นต่างกัน