หากถามชาวมาเลเซียว่ารู้จักอาหารไทยหรือเปล่าและรู้จักเมนูอะไรบ้าง เชื่อว่าคำตอบที่ได้คือรู้จักอาหารไทยดีและเมนูที่ชาวมาเลเซียรู้จักดีก็คือ “ต้มยำ” ชาวมาเลเซียเกือบทุกคนจะเรียกร้านอาหารไทยว่า “ร้านต้มยำ (Kedai Tomyam)” และร้านต้มยำที่เปิดบริการในประเทศมาเลเซียเกือบทั้งหมดเปิดบริการโดยมลายูมุสลิมจากปตานีหรือสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่อพยพไปทำมาหากินในประเทศมาเลเซีย แต่ก็มีบ้างบางส่วนที่ระยะหลังมีมุสลิมจากสงขลาและจังหวัดอื่นไปเปิดร้านต้มยำในมาเลเซีย แต่ก็ไม่มากเท่าจากปตานี อาจด้วยความจำกัดทางด้านภาษาที่คนที่อยู่นอกพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ไม่สามารถใช้ภาษามลายูได้คล่องเท่าคนปตานี และมีร้านอาหารไทยที่เปิดโดยเจ้าของร้านที่มาจากกรุงเทพฯหรือจังหวัดภาคกลางอื่นและไม่ใช่มุสลิม ส่วนใหญ่เปิดเป็นร้านอาหารไทยแท้สำหรับลูกค้าตลาดบนที่มีฐานะ แต่ก็มีจำนวนไม่มากนักและเกือบทั้งหมดเปิดร้านอาหารในย่านธุรกิจของเมืองกัวลาลัมเปอร์
ผู้เขียนได้มีโอกาสพูดคุยกับ ฮัจญีลาตีฟ ผู้สูงวัยที่มีอายุร่วม 80 ปีคนหนึ่งซึ่งเป็นผู้ที่ย้ายถิ่นจากจังหวัดนราธิวาสไปทำมาหากินในเมืองกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซียตั้งแต่ปี 1970 หลังเกิดเหตุการณ์นองเลือดจากการก่อจลาจลทางเชื้อชาติระหว่างชาวจีนและมลายูในกัวลาลัมเปอร์หรือที่เรียกกันว่าเหตุการณ์ Peristiwa 13 Mei (13 May incident)
ฮัจญีลาตีฟเล่าว่า ก่อนหน้าปี 1970 ยังไม่มีร้านต้มยำในประเทศมาเลเซีย คนมาเลย์ในเมืองกัวลาลัมเปอร์ตอนนั้นกินอาหารมาเลย์พื้นเมือง เช่น นาซิเลอมัก(Nasi Lemak) นาซิจัมโปร์ (Nasi Campur) หรือไม่ก็กินตามร้านมามะ (ร้านมุสลิมอินเดีย) ส่วนชาวจีนก็กินอาหารจีนของร้านคนจีนด้วยกัน จนปี 1970 จึงมีร้านต้มยำร้านแรกที่ Bukit Bintang ชื่อร้าน Sri Chiangmai เปิดเป็น Restoran (Restuarant) หรือร้านอาหารขนาดใหญ่ประมาณ 30 โต๊ะ เจ้าของร้านศรีเชียงใหม่เป็นมลายูมุสลิมจากอำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี ชื่อ ฮัจญียะโก๊บ มีภรรยาเป็นชาวมาเลย์ มีเชฟชาวยะลาชื่อ ฮาซัน ร้านศรีเชียงใหม่เปิดได้ประมาณ 5 ปี ก็ต้องปิดตัวลงเนื่องจากย่าน Bukit Bintang กลายเป็นย่านธุรกิจกลางเมืองที่เจริญอย่างรวดเร็ว จนฮัจญียะโก๊บไม่สามารถต่อสัญญาเช่าที่ดินได้อีก หลังจากร้านศรีเชียงใหม่ที่เป็นร้านต้มยำร้านแรกเปิดไม่นานนักก็มีร้านต้มยำร้านที่สองเปิดที่ Chow Kit ชื่อ Istiklal Restoran เจ้าของร้านชื่อ ฮัจญีกอเดร์ เป็นคนอำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี และร้านที่สามคือ Juara Restoran ที่ Ampang เจ้าของคือครูสะตอปา ชาวอำเภอยะหา จังหวัดยะลา ช่วงแรกๆของร้านต้มยำในกัวลาลัมเปอร์ยังไม่บูมมากนักแต่ก็ค้าขายได้ดีพอสมควร เมนูอาหารในยุคนั้นก็มี ต้มยำ เป็นตัวหลัก และมีเมนูอาหารไทยอื่นๆ เช่น ผัดพริก ไข่ยัดไส้ ผัดเปรี้ยวหวาน ปลาราดพริก เป็นต้น ยังไม่มีเมนูอาหารไทยแปลกๆอย่างปัจจุบัน
ผู้เขียนได้ถามถึงความนิยมทานอาหารไทยของชาวมาเลเซียว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร ฮัจญีลาตีฟพูดถึงชาวมาเลย์ว่าคงไม่มีคนที่อื่นที่ทานอาหารไม่เลือกเวลาเหมือนคนมาเลย์ คนมาเลย์สามารถทานอาหารมื้อหนักได้ตลอดเวลาไม่ว่าจะเป็นเวลาเช้าหรือดึกดื่นขนาดไหน ประกอบกับความแปลกใหม่ รสชาติอาหารที่แตกต่างและเป็นร้านมุสลิมที่สามารถสื่อสารในภาษาเดียวกันได้ จึงทำให้ได้รับความนิยมในหมู่คนมาเลย์ได้ไม่ยาก ช่วงที่ร้านต้มยำในกัวลาลัมเปอร์และที่อื่นๆในประเทศมาเลเซียบูมมากที่สุดก็คือหลังปี 1980 ที่เกิดร้านต้มยำทั้งประเภท Restoran(ร้านอาหาร) และ Warong (เพิงหรือรถเข็นขายอาหารริมฟุตบาธหรือตามแหล่งชุมชน)
ปัจจุบันมีแรงงานไทยในมาเลเซียประมาณ 300,000 แสนคน แต่มากกว่าครึ่งหนึ่งเป็นแรงงานผิดกฎหมาย โดยเฉพาะแรงงานในร้านอาหารต้มยำกุ้ง, ร้านนวดและแรงงานก่อสร้าง