“ ซี่โครงหลังสองซี่ต้องตัดออก ปัจจุบันมีสะเก็ดยังอยู่ที่สะเอว ผ่าไม่ได้ ความทรงจำตรงนี้มันฝังลึกอยู่ที่ผ่านมา ที่ถูกกระทำจากวันนั้นถึงวันนี้ ความรู้สึกมันเศร้าสร้อย เหงาหงอย ถ้าคุณไม่โดนจะไม่รู้ว่ามันเจ็บแค่ไหน ขนาดอยู่ในห้องแอร์แบบนี้มันยังเจ็บ”
นายเฉลิม จันทร์คง มาจากอ.สุคิริน จ.นราธวาส เล่าประสบการณ์ตรงที่ได้รับจากเหตุการณ์ความรุนแรง พร้อมกับโชว์บาดแผลบนลำตัว เขาเข้าร่วมงาน “ความรู้ กระบวนการ นักกระบวนการเพื่อการเยียวยารุ่นแรก และเครือข่ายที่จะทำงานร่วมกัน” เมื่อ 24 มิ.ย.ที่ผ่านมา เฉลิมโดนระเบิดจากเหตุการณ์คาร์บอมบ์ที่ตลาดกลางขายผลไม้ อ.สุคิริน เมื่อวันที่ 4 พ.ย. 2551 เขาบอกกับ Patani NOTES ว่าความเจ็บปวดที่เกิดกับร่างกายเป็นแค่ส่วนหนึ่งของบาดแผลที่เรื้อรัง ที่ใหญ่กว่าบาดแผลคือผลกระทบที่มองไม่เห็น
“ ถ้ามือผมไม่สูญเสีย ผมจะไปทำอย่างอื่นได้เยอะ มือด้านขวา มือที่ตัวเองถนัดมันจับอะไรไม่ได้ พอเจ็บขึ้นมาแต่ละทีก็คิด ความรู้สึกนี้มันยังฝังอยู่ แล้วบางทีเจ็บทุกวัน ความคิดก็เกิดขึ้นมาทุกวัน คนในครอบครัวก็กระทบไปด้วย แทนที่เขาจะพึ่งพาหัวหน้าครอบครัว เขากลับไม่ได้พึ่งพา แถมยังสร้างภาระให้เขาอีก คนในครอบครัวจะเห็นความเจ็บปวดนี้ทุกวัน เขาก็เสียใจ แต่ให้กำลังใจตลอด
เฉลิม จันทร์คง เข้าสู่กระบวนการเยียวยาที่ค่อยคลายปมในใจของเขาลงบ้าง จนกระทั่งวันหนึ่งเขาขยับตัวจากคนรับการเยียวยา ไปสู่คนทำงานเพื่อเยียวยาผู้อื่น แต่การเป็นคนทำงานเยียวยาก็อาจเป็น “เหยื่อ” ที่ต้องการการเยียวยาได้ด้วยเช่นกัน เพราะความเครียดสะสมกันเกิดจากการทำงานด้านเยียวยา คนทั้งสองกลุ่ม คือทั้งผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง กับคนที่ทำงานด้านการเยียวยา จึงเป็นที่มาของการจัดงานในวันนั้นที่จัดโดยศูนย์ประสานงานวิชาการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุความไม่สงบจังหวัดชายแดนใต้ หรือศวชต.
งานนี้เป็นการเปิดคู่มือหลักสูตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ รวมทั้งเยียวยาคนที่ทำงานด้านเยียวยาด้วย โดยทำผ่านละครและหลักสูตรกระบวนการเรียนรู้เพื่อการเยียวยา โดยมีผู้เข้าร่วมที่เป็นเจ้าหน้าที่ภาครัฐและภาคประชาสังคม กลุ่มผู้ด้อยโอกาส กลุ่มผู้สูญเสียจากความรุนแรง กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากคดีความมั่นคง กลุ่มเด็กและเยาวชน 37 องค์กร
พวกเขามีหลักสูตรภายใต้ชื่อเก๋ เช่น “ความสุขมีตัวตน” หรือ “เพียงได้ยิน ทุกอย่างก็เปลี่ยนไป” ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในกระบวนการเยียวยา ทักษะสำคัญอันหนึ่งนั้น อัสมะ สาเม๊าะ เจ้าหน้าที่ภาคสนาม ศวชต. บอกว่าสิ่งนี้ไม่ต้องใช้อะไรมาก ใช้ “ใจ” อย่างเดียว
“เอาใจเราเป็นที่ตั้ง เราดึงเอาผู้เข้าร่วมเป็นศูนย์กลางของกิจกรรมแล้วก็ให้เขาถ่ายทอดประสบการณ์ การให้เขาได้มีพื้นที่ปลอดภัย ให้เขาได้เล่า ได้ระบาย ให้เขาได้รู้สึกว่ายังมีอีกหลายคนที่ฟังเขาอยู่”
วิธีการ “รับฟัง” และให้ “ได้ระบาย” คงจะมีความหมายจริงจัง เพราะว่าพาฮีส๊ะ ท้วมงาม คนทำงานช่วยเหลือเยียวยาผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในครอบครัว และยังเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในครอบครัวด้วย เธอเล่าว่าสิ่งที่พบเจอจากงานที่ทำและสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเองทำให้เกิดความเครียดอย่างหนักมาก “เราเครียดถึงขั้นครั้งหนึ่งเคยคิดจะฆ่าตัวตาย ก็เลยมา มาเจอเพื่อนทำให้เราโล่ง คิดอะไรได้หลาย ๆ อย่าง เล่าให้เพื่อนฟังเหมือนเราได้เอาภูเขาออกจากอก ” ทำให้เห็นชัดว่า วิธีเยียวยาด้วยการ “รับฟัง” ที่ว่านี้ได้ผล “เขาบอกว่าถ้าเรามาอบรมนี้ เพียงได้ยิน ทุกอย่างก็เปลี่ยนไป”
อัสมะ สาเม๊าะ ก็เช่นกันที่เกิดความเครียดจากการทำงานเยียวยา ก็ต้องหาทางระบายความเครียดนั้นออกไป เธอบอกว่าบางทีแบกสิ่งที่รับรู้เหล่านั้นไว้ตลอดเวลา โดยที่ไม่รู้ว่าจะช่วยเหลือผู้คนที่ประสบปัญหาได้อย่างไร จนกระทั่งตัวเองมีปัญหาหนัก เธอใช้วิธีหาคนรับฟัง หาที่ระบายเช่นกัน
“สำหรับตัวเองถ้ารู้สึกว่าไม่ไหว ก็ไม่ฝืน เราจะรู้ว่าเราเครียด แล้วจะรู้ว่าทำอย่างไรให้ผ่อนคลาย ของตัวเองหาเพื่อนซักคนแล้วก็ระบายให้เขาฟัง แต่ก็ไม่ได้ทั้งหมด บางทีที่เราอยากระบาย เราก็ไม่ได้เล่าทั้งหมด เราสบายใจเล่าเท่านี้ เราแค่ต้องการพื้นที่ บางช่วงของชีวิตที่มันไม่ไหวจริง ๆ ต้องหาที่ระบายเงียบ ๆ หาคนที่เราไว้ใจ และรู้สึกปลอดภัย”
เฉลิม จันทร์คง ซึ่งปัจจุบันทำงานด้านเยียวยาผู้อื่นเชื่อว่า งานเยียวยาที่มีความหมาย น่าจะไม่ใช่แค่ลดผลกระทบทางร่างกาย หรือการช่วยเหลือด้วยการให้เงินเดือนเดือนละ 4,500 บาท แต่น่าจะเป็นการสร้างโอกาสให้ผู้ได้รับผลกระทบได้สร้างชีวิตของตนขึ้นมาใหม่
“ถ้าคุณเยียวยาแต่ละครอบครัวให้เขามีงานทำ ให้มีอะไรทำ ที่ทำให้ไม่คิด ไม่ย้อนหลังกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ถ้าภาครัฐทำจุดนี้ได้ ถือว่าดีมาก อย่างน้อยได้สร้างงาน สร้างคน ชีวิตเขาจะได้ดีขึ้น แล้วเขาจะลบล้างความคิดเก่า ๆ ที่เขาโดนมา”