Written by 2:51 pm Interviews, Patani

แหวกวงจรแห่งความรุนแรง?

พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม CRCF กับปัญหาการซ้อมทรมาน

เอ่ยชื่อพรเพ็ญ คนที่ทำงานเกี่ยวกับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มักรู้จักเธอ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง เพราะว่าพรเพ็ญรณรงค์เรื่องสิทธิมนุษยชนในพื้นที่มานาน มีเรื่องเล่ามากมายในประเด็นด้านสิทธิ

พบหน้าเธอในวันที่ 26 มิ.ย. วันที่สหประชาชาติยกให้เป็นวันต่อต้านการทรมานสากล เราคุยกันเรื่องปัญหาการซ้อมทรมาน ปัญหาที่ทางการไทยและฝ่ายความมั่นคงบอกว่าไม่มี และใครที่บอกว่ามีปัญหานี้ก็อาจถูกฟ้องร้องเอาได้ ดังเช่นที่พรเพ็ญและเพื่อนนักรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชนอีกสองคนเคยประสบมาแล้ว แต่เธอก็ยังยืนยันทำงานต่อไปในสภาพที่ยากลำบาก เพราะเชื่อว่า การซ้อมทรมานเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง ความรุนแรงขยายความรุนแรง เธอว่า มันไม่ใช่หนทางระงับปัญหา เพราะมันฝังบาดแผลลึกล้ำเกินเยียวยา

“การทรมานถือเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้เลยไม่ว่าในกรณีใด” พรเพ็ญว่า มันเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายสากลหลายฉบับรวมไปถึงปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน แต่ข้อความนี้มีอยู่ก็เฉพาะในกฎหมายเท่านั้น ในความเป็นจริงทุกคนรู้ว่ายังมีปัญหาซ้อมทรมานเกิดขึ้นทั่วโลก ดังนั้นสหประชาชาติจึงได้สนับสนุนในเรื่องของการทำงานเพื่อการเยียวยา ในไทยกลุ่มของพรเพ็ญก็ทำงานเยียวยาเช่นกัน แต่การทำงาน “เยียวยา” ภายใต้สภาวการณ์ที่เงื่อนไขความขัดแย้งยังมีการผลิตซ้ำดูจะไม่ง่ายเลย

ตัวอย่างหนึ่งนั้นก็คือกรณีของทนายสมชาย นีละไพจิตรกับลูกความ 5 คนจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่บอกเขาว่าถูกซ้อมอย่างหนัก ทนายสมชายได้ทำเรื่องร้องเรียนจนเกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของคดี เรื่องดังกลายเป็นข่าวดังได้รับความสนใจอย่างมาก แต่การเคลื่อนไหวถัดมากลับกลายเป็นไฟไหม้ฟาง เพราะตัวทนายสมชายเองที่พยายามผลักดันให้มีการยกเลิกใช้กฎหมายพิเศษในสามจังหวัดภาคใต้ก็ถูกทำให้หายไป โดยที่ไม่สามารถเอาผิดใครได้ ส่วนในบรรดาลูกความของเขาห้าคนนั้น ไม่มีใครสักคนที่สามารถแสวงหาความยุติธรรมในสิ่งที่พวกเขาร้องเรียน

พรเพ็ญเล่าถึงชะตากรรมของลูกความห้าคนของทนายสมชายว่า มีสองคนที่ศาลยกฟ้อง อีกหนึ่งคนถูกตัดสินให้ติดคุกแต่เป็นคนละคดีกับที่ทนายสมชายว่าความให้ เขาได้รับการปล่อยตัวในที่สุด คนถัดมากลายไปเป็นพยานในคดีที่กลุ่มนายตำรวจถูกกล่าวหาว่าทำร้ายทนายสมชายและทำให้เขาหายตัวไป แต่พยานคนนี้ก็หายไปเช่นกันทั้งที่อยู่ภายใต้การคุ้มครองของดีเอสไอ รายสุดท้ายได้เป็นพยานเช่นกันและได้รับการคุ้มครองด้วย แต่หลังจากนั้นเมื่อการเมืองเปลี่ยนทิศ เขาถูกนายตำรวจสองนายฟ้องร้องเขาว่าให้ข้อมูลเท็จในเรื่องซ้อมทำร้ายร่างกาย แต่ทว่าศาลได้ยกฟ้อง แต่สรุปแล้วในเรื่องที่พวกเขาร้องเรียนว่าถูกทำร้ายร่างกายนั้นไม่ปรากฎว่ามีความคืบหน้าแต่ประการใด นั่นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของบรรดาเรื่องราวอันซับซ้อนและความลำบากในการฟ้องร้องในคดีซ้อมทำร้ายร่างกาย บางรายหลังจากเปิดเผยแล้ว เมื่อเวลาผ่านไปถูกฟ้องกลับติดคุกก็มี

พรเพ็ญเล่าว่ามีคนจำนวนหนึ่งที่ไม่ยอมปริปากถึงกรณีของตัวเอง เว้นเสียแต่ว่าจะอยู่กับคนใกล้ตัวที่ไว้ใจได้จริง ๆ อาการร่วมของพวกเขาคือหวาดกลัว “นอนไม่หลับ หวาดผวา บางคนกลัวรถกระบะ เพราะเคยโดนมาบนรถ หรือที่เคยโดนบนรถตู้ก็อาจจะขึ้นรถตู้ไม่ได้ มีสภาพโกรธง่าย บางคนมีอาการกลัวเวลาได้ยินภาษาไทย” อาการของแต่ละคนอาจจะแตกต่างกันไป แต่ที่แน่ ๆ ชีวิตพวกเขาจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

นอกเหนือจากการช่วยเหลือทางด้านกายภาพในกรณีที่บาดเจ็บแล้ว สิ่งที่พรเพ็ญและเพื่อน ๆ ทำคือการพยายามสร้างความไว้วางใจและเปิดพื้นที่เพื่อให้คนเหล่านั้นได้ระบายเพราะวิธีนี้ถือว่าช่วยคลายปมในจิตใจได้ดีที่สุด หลายรายถูกส่งตัวต่อไปให้แพทย์ เช่นจิตแพทย์ตามโรงพยาบาลต่าง ๆ “บางทีต้องพาไปทั้งครอบครัว เพราะความกลัวกับเรื่องที่เกิดกับลูก ทำให้พ่อและแม่เครียดจนไม่สบายไปก็มี”

การไปพบแพทย์ไม่ใช่ว่าจะช่วยได้เสมอไป เพราะการรักษาทำได้เพียงฉาบฉวย ความหวาดกลัวของผู้ป่วยทำให้ไม่กล้าบอกแพทย์อย่างตรงไปตรงมาว่าต้นเหตุคืออะไร ในขณะที่แพทย์เองนั้น พรเพ็ญเชื่อว่า หลายคนก็ไม่อยากจะรับฟังเรื่องพวกนี้มากนักด้วยเหตุผลหลายประการ


“สิ่งที่พวกเขาเป็น มันคืออาการโรคพีทีเอสดี (โรคเครียดหลังเกิดเหตุสะเทือนใจ) แต่เวลาไปหาหมอจะพูดเพียงแค่อาการ เช่นปวดหัว โดยที่ไม่ได้บอกว่าปวดหัวหลังจากที่ถูกกระทำ แพทย์ก็ให้ยาแก้ปวดหัว ซึ่งมันไม่เพียงพอ”

ดังนั้นมีหลายคนที่ไปหาหมอ แต่ไปเพื่อรักษาอาการภายนอกแต่การรักษานั้น ๆ ไม่อาจเยียวยาได้จริงจัง ปัญหาสำคัญอีกอย่างคือในพื้นที่มีผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนี้เพียงไม่กี่ราย
.
“ส่วนแต่ละคนจะต้องใช้เวลานานแค่ไหน ก็แล้วแต่กรณีไป คนที่ครอบครัวเข้มแข็งจะฟื้นตัวได้เร็วกว่า หลายคนฟื้นตัวแล้วยังไปช่วยคนอื่นด้วยซ้ำ” พรเพ็ญบอกว่า “บางคนเจอครั้งเดียวก็ไม่อยู่แล้ว แต่หลายคนยืนหยัดอยู่ได้” ไม่อยู่แล้วในที่นี้ย่อมหมายถึงเอาตัวเองออกจากพื้นที่นั่นเอง
.
มีคำถามว่า แล้วมีไหมคนที่เยียวยาไม่ได้เลย
พรเพ็ญอึ้งไปชั่วขณะก่อนจะมองหน้าพลางบอกว่า
“เราคงไม่ได้เจอเขา” เธอว่า “เราไม่รู้ว่าเขาไปอยู่ตรงไหน แต่หวังว่าพวกเขาจะไม่เข้าไปสู่วงจรความรุนแรง” เธอว่า “ส่วนคนที่มาเข้ากระบวนการเยียวยาคือคนที่ยังหวังพึ่งระบบอยู่”
“เราเห็นแค่ที่เราเห็น”

คนที่เข้าสู่กระบวนการส่วนใหญ่ผ่านออกมาด้วยดีใช่ไหม
“จากที่เราเอาข้อมูลไปศึกษาก็พบว่า ไม่ว่าจะผ่านไปนานแค่ไหน ไม่มีใครลืมเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น” ซึ่งเธอบอกว่าเป็นเพราะว่ามีเงื่อนไขที่เตือนความทรงจำพวกเขาซ้ำแล้วซ้ำอีก “ออกมาก็ยังเจอสภาพแบบเดิม เจอวิธีปฏิบัติเดิม ๆ เวลาเกิดเหตุการณ์ขึ้นก็จะมีคนไปเยี่ยม เอาตัวไปซักถาม”

พรเพ็ญเล่าว่า ในชั้นแรกคนทำงานไม่ค่อยมีองค์ความรู้ แต่ต่อมาเริ่มเรียนรู้รับการอบรมกันมากขึ้นทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่การดูดซับเอาเรื่องราวการถูกกระทำซ้ำ ๆ เข้าไปในตัวทำให้คนทำงานเองเครียดจัดเช่นกัน “ต้องบำบัดกันตลอดเวลา” เธอว่า พรเพ็ญยังสงสัยว่า แล้วผู้ลงมือกระทำเองเล่า พวกเขาต้องไปหาจิตแพทย์บ้างหรือไม่

แต่ที่สำคัญ งานที่ทำเช่นนี้ ยากที่คนจำนวนหนึ่งในพื้นที่จะเข้าใจ เธอรู้ว่ามีคนจำนวนไม่น้อยไม่ยอมรับสิ่งที่เธอทำ “ไม่ใช่แค่หมั่นไส้นะ แต่พวกเขาเกลียดเลยล่ะ”
“เราจะทำยังไงคนถึงจะเข้าใจ มักมีคนบอกเสมอว่าเราเข้าข้างมุสลิม” พรเพ็ญตั้งคำถาม “ก็ที่ผ่านมาเราเจอแต่มุสลิมที่มีปัญหานี้ และมันไม่ใช่เรื่องเข้าข้าง แต่เพราะวิธีการแบบนี้มันไม่ใช่วิธีแก้ปัญหา คือยิ่งทำแบบนี้มันยิ่งไม่จบ นี่คือหัวใจสำคัญ จะทำยังไงให้พวกเขาเข้าใจ”

(Visited 9 times, 1 visits today)
Close