“อึดอัดที่ไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่ ไม่ได้ความเท่าเทียมเรื่องการศึกษา,มีความหวาดระแวงว่าจะมีคนมาทำร้าย ,บางคนเอาเปรียบคนต่างศาสนาว่าเป็นคนด้อยกว่า ไม่ดีเหมือนศาสนาเขา , เรื่องการแต่งกายเราไปในที่ต่างศาสนาบางคนก็ว่าเราอย่างโน้น อย่างนี้ ไม่ดีบ้าง อะไรบ้าง”
ส่วนหนึ่งของความอึดอัดคับข้องใจของเยาวชนพุทธเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ ผ่านตัวอักษรที่ทีมวิทยากรให้พวกเขาระบายความในใจ ในวงเสวนารับฟังความคิดเห็นเยาวชนพุทธชายแดนใต้ เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีการจัดรับฟังความเห็นของเยาวชนพุทธในพื้นที่ แต่ก็จัดในกลุ่มเล็ก ๆ มีน้อง ๆ เยาวชนในพื้นที่สามจังหวัดเข้าร่วมยี่สิบคน ซึ่งพวกเขาบอกว่าอย่างน้อยก็ถือเป็นก้าวแรก ที่พวกเขามีสิทธิ มีเสียงได้พูดบ้าง วุฒิพงษ์ แพ่งโยธา เยาวชนพุทธเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ บอกว่าอยากจะรวมตัวกัน ขับเคลื่อนประเด็นต่าง ๆ ของเยาวชนพุทธในพื้นที่
“อยากจะดำเนินการเป็นเรื่องแรก เรื่องหลักคือเรื่องความเป็นธรรม ความเท่าเทียมการศึกษา มันหมายถึงอนาคตเยาวชนในพื้นที่นี้ ประเด็นความปลอดภัยของเยาวชนที่ยังมีความหวาดระแวงอยู่ ความกังวลเรื่องการใช้ชีวิต ประเด็นภาษา การสื่อสาร ที่เห็นชัดเจนในพื้นที่ เราจะขับเคลื่อนในรูปแบบกิจกรรม จากพี่ไปสู่น้อง ตอนนี้อยากจะฟอร์มทีมขึ้นมาก่อน ถ้าเรามีทีมเข้มแข็ง สามารถมีประเด็นพูดคุยที่ชัดเจน จึงจะสามารถออกไปสู่สังคมวงกว้างได้”
เรื่องการศึกษาโดยเฉพาะทุนการศึกษา เยาวชนในกลุ่มนี้พูดหลายคนว่าพวกเขารู้สึกว่าไม่ได้สิทธิในทุนการศึกษาหลายทุน เขามองว่าไม่เป็นธรรมกับเยาวชนพุทธในพื้นที่นี้ วุฒิพงษ์บอกว่า
“เรื่องการศึกษาตรงนี้ผมอยากให้เกิดขึ้นมาก ความเท่าเทียมเรื่องการศึกษา เรื่องทุนการศึกษา เพราะในพื้นที่ขาดความเท่าเทียมเยอะมาก อันนี้เห็นได้ชัด ผมอยากจะหวังจากเวทีเล็ก ๆ ตรงนี้ สามารถสะท้อนไปยังผู้ที่เกี่ยวข้อง แหล่งทุนการศึกษา หรือหน่วยงานรัฐที่มอบทุนการศึกษา ว่าคนพุทธก็อยากจะได้ทุนการศึกษาของบุตรหลาน หรือตัวเยาวชนเองก็อยากได้”
ขณะที่เยาวชนผู้หญิงอีกคนที่มีประสบการณ์ตรงกับการของทุนการศึกษายืนยันอีกเสียงว่า สิทธิการรับทุนของเยาวชนพุทธน้อยมาก
“อันนี้เจอกับตัว เคยขอทุน แล้วไม่ได้ มันรู้สึกผิดหวังมาก ในเมื่อเราเกรดดีกว่าคนนั้นทำไมเราไม่ได้ ไปถามกับผู้รับผิดชอบ เขาบอกว่าคนนั้นโปรไฟล์กิจกรรมเขาดีกว่า ไม่เข้าใจว่าเขาวัดตรงไหน ในเมื่อเราเข้ามาพร้อมกัน ทำกิจกรรมด้วยกันตลอด หลักเกณฑ์ไม่ได้กำหนดว่าเกรดต้องเท่าไหร่ แต่ในใบสมัครเขาวงเล็บว่ามุสลิมจำนวนเท่านี้ พุทธจำนวนเท่านี้ แต่ได้มุสลิมหมดเลย พุทธไม่ได้ ”
เรื่องความหวาดระแวง ก็ถูกพูดถึงไม่น้อยในมุมมองของเยาวชนพุทธ พวกเขามองว่าเยาวชนเองก็ต่างฝ่ายต่างหวาดระแวงซึ่งกันและกัน แต่จากการพูดคุยกันหนนี้ดูเหมือนว่าเยาวชนเหล่านี้จะพยายามหาทางออกเรื่องนี้เพื่อให้พวกเขาอยู่ร่วมกันได้กับเยาวชนต่างศาสนิก เยาวชนผู้ชายคนหนึ่งบอกว่า เคยหวาดระแวงและเหมารวมเวลาเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบ รวมถึงได้ยินมาตลอดจากผู้ใหญ่ที่พูดเข้าหูว่ามุสลิมเป็นคนทำ
“อยากให้ทำเรื่องเยาวชน ปรับเปลี่ยนความเยาวชนในสามจังหวัดก่อน เช่นเรื่องการเหมารวม การมีความคิดเหมารวมมันจะสร้างอคติ พอเขาได้ยิน เขาก็จะเสียใจเหมือนกัน เขาเกิดมาก็ไม่ได้ทำอะไรแบบนี้ เขาไม่ได้ไปสร้างเหตุการณ์ แต่ว่าพอเกิดเหตุการณ์ เหตุการณ์หนึ่งปุ๊บ ก็มีคำพูด “พวกนั้นแหละทำ” เหมือนในโรงเรียน พอเขาได้ยินว่าอิสลามทำ มุสลิมทำ เขาจะรู้สึกว่าทำไมคิดกับเขาแบบนั้น พอได้ยินเข้าบ่อย ๆ เขาก็ไม่ชอบอยู่แล้ว มันจะกลายเป็นความเกลียดชังที่สะสมมาเรื่อย ๆ ”
เยาวชนชายอายุ 22 ปีคนนี้บอกว่า เขาเองเคยมีความคิดแบบนั้น เพราะได้ยินเสียงปืนมาตั้งแต่เด็ก แต่พอโตขึ้นและได้เรียนรู้มากขึ้นความคิดเริ่มเปลี่ยนไป เขาบอกว่าจุดเปลี่ยนของเขาคือการไปเข้าค่ายร่วมกับเพื่อนมุสลิมจำนวนมากครั้งแรก
“ครั้งแรกที่ไปค่ายมีมุสลิมเยอะ คนพุทธมีนิดเดียว เขาพูดแต่เรื่องศาสนาของเขา ผมก็ฟังมา เราก็เอามาคิดว่าต่างกับของเรายังไง แล้วก็มีจุดไหนที่คิดว่ามันไม่ดี พอฟังจริง ๆ แล้วมันก็ดีไปคนแบบทั้งสองฝั่ง มันไม่มีที่ไม่ดี แต่ของเขาจะละเอียดอ่อนกว่าเราหลายอย่าง อยากให้ทั้งสองฝ่ายรับรู้ความเป็นอยู่ของแต่ละฝ่าย ผมไปค่ายนี้ตอนอายุ 16 มันเป็นจุดเปลี่ยนความคิดเลย มันรู้สึกว่าอยากให้คนคิดแบบนี้ด้วย ก่อนหน้านี้มีเพื่อนมุสลิม และคิดอคติก็ไม่ค่อยคุยกับเขาเท่าไหร่ หลัง ๆ ก็เริ่มคุย เริ่มชวนไปค่ายด้วยกัน ชวนเพื่อนมุสลิมเขาไปแน่นอน แต่ชวนเพื่อนคนพุทธ เราอยากให้เขาไปฟัง อยากให้รู้แบบเราบ้าง เขาจะไม่ไป เขาบอกไม่อยากไป”
อีกเรื่องที่เยาวชนพุทธบอกว่าได้รับผลกระทบการใช้ชีวิตตามประสาวัยรุ่น คือเรื่องด่านตรวจ เรื่องนี้เขาบอกว่ามุสลิมก็มีปัญหาเช่นกัน บางคนบอกว่าอึดอัดเวลาเจอด่านตรวจแล้วโบกให้จอดจักรยานยนต์ แล้วถูกถ่ายรูป , ในขณะที่เยาวชนผู้หญิงบอกว่าไม่ชอบเวลาเจอด่านตรวจแล้วเจ้าหน้าที่แซว หรือขอเบอร์โทรศัพท์ รวมเรื่องวันหยุดตามประเพณีต่าง ๆ ที่เยาวชนบอกว่าอยากให้หยุดได้เช่นเดียวกันเช่นวันสาร์ทเดือนสิบ
ปัญหาและความอึดอัดใจทั้งหมดของเยาวชนเหล่านี้ เครือข่ายเยาวชนพุทธเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ จะรวบรวมเพื่อเสนอต่อผู้เกี่ยวข้องต่อไป และพวกเขาหวังว่าก้าวแรกก้าวนี้ของเยาวชนพุทธจะสามารถแก้ไขปัญหาได้บ้างแม้จะเล็กน้อยก็ตาม ในอนาคตเขาบอกว่าจะต้องสร้างเครือข่ายให้แข็งแรง ดึงเยาวชนพุทธเข้าร่วมให้มากกว่านี้ รวมถึงมองภาพอนาคตไปอีกสิบปีข้างหน้า ทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ไม่อยากให้มีความรุนแรง อยากให้รักกันและอยู่ร่วมกันได้เหมือนในอดีต