.
คดีไต่สวนการตายที่เริ่มแล้วตั้งแต่เมื่อวานนี้ (24 พ.ย.)ของนายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ ชาวสายบุรีที่ถูกนำตัวเข้าศูนย์ซักถามของเจ้าหน้าที่ทหารที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร สืบเนื่องจากเป็นการเสียชีวิตอันมีอาการเริ่มต้นระหว่างที่อยู่ในการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ เหตุเกิดหลังจากที่เขาถูกเชิญตัวไปให้ปากคำตามอำนาจในกฎอัยการศึกในช่วงเย็นของวันที่ 20 กค. 2562 แล้วลงเอยด้วยการหยุดหายใจจนแพทย์ของรพ.ค่ายอิงคยุทธบริหารต้องปั๊มชีพจรกลางดึกแล้วจึงนำส่งรพ.ปัตตานี แต่นายอับดุลเลาะมีอาการสมองตายตั้งแต่บัดนั้นและนอนไม่รู้สึกตัวอยู่เป็นเดือนจนเสียชีวิตที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ หาดใหญ่ สถานที่สุดท้ายที่ถูกส่งตัวไปรับการรักษา โดยที่การตรวจสอบโดยคณะกรรมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ไม่สามารถให้คำตอบที่ชัดเจนได้ว่าเป็นเพราะอะไร และหลายฝ่ายฝากความหวังไว้กับการไต่สวนการตายในศาลหนนี้ว่าจะสร้างความกระจ่าง โดยเฉพาะสำหรับครอบครัวที่ดำเนินการร้องเรียนขอความเป็นธรรมและแสวงหาข้อเท็จจริงเรื่อยมา
.
เรื่องราวของอับดุลเลาะได้รับความสนใจอย่างมากจากประชาชนทั่วไปที่ติดตามความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งเต็มไปด้วยเรื่องราวความรุนแรงและข้อกล่าวหาว่ามีการละเมิดสิทธิ รวมไปถึงข้อร้องเรียนเรื่องของการซ้อมทรมาน การอุ้มหายและความตายปริศนาในระหว่างการควบคุมตัวของจนท.หลายครั้ง อย่างไรก็ตาม การไต่สวนการตายวันแรกของอับดุลเลาะซึ่งเกิดขึ้นหนึ่งปีให้หลังนี้กลับไม่ปรากฎว่ามีสื่อมวลชนรายใดไปติดตามทำข่าว จะมีก็เพียงทีมทนาย ญาติและผู้สังเกตการณ์ไม่กี่ราย
.
สิ่งที่ถูกจับตาอย่างมากในการไต่สวนการตายหนนี้ คือการให้ปากคำของฝ่ายจนท. ซึ่งถือว่าเป็นครั้งแรกที่สาธารณะได้รับรู้ข้อมูลในช่วงเวลาสุดท้ายก่อนการเสียชีวิตของอับดุลเลาะจากปากจนท.ผู้ควบคุมตัวโดยตรง ก่อนหน้านี้แม้มีการตรวจสอบของคณะกรรมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนจังหวัดชายแดนภาคใต้หรือกลไกอื่น ๆ แต่ก็ไม่ปรากฎว่ามีการนำเสนอข้อมูลจากฝ่ายจนท.ทหารกลุ่มควบคุมตัวและซักถามอับดุลเลาะโดยตรงต่อสาธารณะ นอกจากนี้นี่เป็นครั้งแรกที่คนในทีมงานของจนท.ต้องตอบคำถามของทนายความที่เป็นตัวแทนของครอบครัว
.
เส้นทางช่วงสุดท้ายของอับดุลเลาะในวันที่ได้รับการเชิญตัวไปให้ปากคำนั้น นส.ซูไมยะห์ มิงกะ ภรรยานายอับดุลเลาะเล่าว่า ในวันเกิดเหตุมีจนท.ทหารที่เธอเรียกว่า “ชุดดำ” จำนวนไม่ต่ำกว่า 20 นายไปที่บ้านถามหาอับดุลเลาะขณะที่เขากำลังละหมาด จนท.ส่วนหนึ่งเข้าค้นบ้านยึดโทรศัพท์มือถือไปสามเครื่อง ในจำนวนนั้นเป็นของเธอเองสองเครื่อง และนำตัวอับดุลเลาะไปที่สถานีตำรวจในสายบุรี ที่นั่นเขาถูกจนท.เก็บตัวอย่างสารพันธุกรรมที่กระพุ้งแก้ม หลังจากนั้นมีจนท.ทหารนำตัวเขาไปค่ายอิงคยุทธบริหาร ซูไมยะห์ให้การกับศาลว่า สามีของเธอไม่มีหมายจับติดตัว ไม่ติดคดีใด ๆ ไม่เคยถูกควบคุมตัวมาก่อน ก่อนจะออกเดินทางไปยังค่ายอิงคยุทธฯ ซูไมยะห์ได้พูดคุยกับสามีของเธอซึ่งถือได้ว่าเป็นครั้งสุดท้าย อับดุลเลาะบอกกับเธออย่างมั่นใจว่า “ไม่เป็นไร พรุ่งนี้ก็ได้กลับบ้าน”
.
อย่างไรก็ตาม ในวันรุ่งขึ้น ภรรยาพร้อมลูกอีกสองคน พี่สาว แม่ของอับดุลเลาะที่เป็นใบ้และญาติคนอื่นพากันไปที่ค่ายอิงคยุทธฯเพื่อขอเยี่ยม แต่จนท.ทหารพาพวกเขาไปที่โรงพยาบาลปัตตานีแทนโดยบอกว่า อับดุลเลาะเกิดอาการ “ไม่สบาย” กระทันหัน พวกเขาไปถึงโรงพยาบาลและได้เข้าเยี่ยมอับดุลเลาะในห้องไอซียูในสภาพที่มีเครื่องช่วยหายใจพร้อมท่อต่างๆที่เป็นอุปกรณ์ช่วยชีวิตนอนอยู่บนเตียงโดยที่ไม่รู้สึกตัว ไม่ตอบสนองใดๆ และเป็นเช่นนั้นจนกระทั่งเมื่อเสียชีวิตในเวลาต่อมา
.
จากการให้ปากคำทั้งของญาติและจนท.ต่อศาลมีข้อมูลตรงกันและสอดรับกับข่าวที่ปรากฎในสื่อก่อนหน้านี้ว่า อับดุลเลาะเป็นคนแข็งแรงไม่มีปัญหาสุขภาพ ไม่เสพบุหรี่หรือสิ่งอื่นใด ในการถูกนำตัวเข้าศูนย์ซักถาม มีการตรวจรับตัวด้วยการให้แพทย์ตรวจร่างกายก่อนเข้ารับการซักถามและพบว่าเขาแข็งแรงดี เขาได้เข้าพักในศูนย์ซักถามตามกฎของผู้ที่ถูก “เชิญตัว”
.
เหตุการณ์ในระหว่างที่อับดุลเลาะอยู่สนศูนย์ซักถาม มีข้อมูลจากแหล่งเดียวเท่านั้นคือจากจนท.ทหารที่ดูแลศูนย์และควบคุมการซักถาม ร.อ.ต่อตระกูล ปั้นสำรอง หัวหน้าชุดซักถามของชุดเฉพาะกิจทหารพราน 43 ให้การกับศาล ซึ่งเนื้อหาไม่แตกต่างไปจากที่มีการนำเสนอโดยคณะกรรมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนจังหวัดภาคใต้มากนัก เขาบอกว่าได้เป็นผู้เริ่มซักถามรายแรกและกลายเป็นรายเดียวที่ได้ซักถามอับดุลเลาะตั้งแต่เวลาประมาณใกล้สามทุ่มถึงราวสามทุ่มครึ่ง ร.อ.ต่อตระกูลบอกว่า เขาซักถามข้อมูลเบื้องต้นทั่ว ๆ ไปยังไม่ได้ลงลึกเพราะถือว่าเป็นครั้งแรก แต่กระนั้นก็ได้รับข้อมูลจากอับดุลเลาะที่ไม่เคยปรากฎในบันทึกใดมาก่อนว่าเขาเป็นโรคหอบ ทั้งอับดุลเลาะยังยอมรับด้วยว่าไม่ได้แจ้งเรื่องนี้ให้กับแพทย์ที่ตรวจสุขภาพและมิได้บอกสาเหตุด้วยว่าเหตุใดจึงไม่แจ้ง ร.อ.ต่อตระกูลระบุว่า เขาคุยกับอับดุลเลาะไม่นานนักเพราะตามหลักต้องไม่สอบปากคำเกินสี่ทุ่ม จากนั้นได้ปล่อยให้ไปพักผ่อน โดยที่ตนเองกลับไปนั่งทำงานในห้องทำงานในอาคารเดียวกันจนถึงเวลาตีสอง
.
ร.อ.ต่อตระกูลตอบคำถามอัยการในเรื่องเหตุผลที่มาของการนำตัวอับดุลเลาะไปซักถาม โดยระบุว่า ทั้งหมดนี้เกิดจากการซัดทอดของนายอิบรอเฮม มะเซ็ง ซึ่งถูกจนท.จับกุมก่อนหน้านี้ในฐานะมีหมายจับติดตัว และหลังผ่านกระบวนการซักถามของศูนย์ฯ ได้ให้การรับสารภาพว่าเตรียมจะก่อเหตุ และซัดทอดว่า ในการเตรียมการนั้นเขาได้วางตัวนายอับดุลเลาะเอาไว้ให้เป็นผู้นำผู้บาดเจ็บจากปฏิบัติการหลบหนีและหาทางรับการรักษาตัว จนท.ใช้วิธีเอาข้อมูลจากฐานทะเบียนราษฎร์เฉพาะประชากรเพศชายของอำเภอสายบุรีในกรอบอายุใกล้เคียงกับนายอับดุลเลาะจำนวนเป็นพันไปให้นายอิบรอเฮมดูและในที่สุดเขาระบุว่าเป็นนายอับดุลเลาะ จึงเป็นที่มาของการนำตัวนายอับดุลเลาะไปซักถาม
.
ร.อ.ต่อตระกูลให้การด้วยว่า เขาเองก็เห็นว่านายอับดุลเลาะมีพฤติกรรมแปลก กล่าวคือโทรศัพท์มือถือของเขามีทั้งไลน์และเฟซบุ๊กที่มีแอคเค้าท์จำนวนมากหลายสิบแอคเค้าท์ และเขาสังเกตว่าทุกครั้งที่มีคำถามเกี่ยวกับเรื่องขบวนการ อับดุลเลาะมีอาการเครียด
.
ร.อ.ต่อตระกูลเล่าให้ศาลฟังถึงสภาพพื้นที่ของศูนย์ซักถามซึ่งมีทั้งห้องทำงานของจนท.จำนวนหนึ่ง กับส่วนที่ทำเป็นห้องย่อยเพื่อควบคุมตัวและห้องซักถาม เขาให้รายละเอียดเรื่องการดูแลรักษาความปลอดภัยที่ระบุว่ามีไว้เพื่อป้องกันมิให้ผู้ถูกควบคุมตัวทำร้ายตัวเอง การจัดการห้องพักอยู่ในสายตาจนท.ตลอด แม้แต่หน้าต่างจะยอมให้ปิดได้ก็ต่อเมื่อจะใช้ห้องน้ำในห้องพักที่ก็มีเพียงกำแพงกั้นปิดบังส่วนล่าง และในคืนนั้นอับดุลเลาะขอปิดหน้าต่างเพื่อใช้ห้องน้ำ แต่จนท.ที่เข้าเวรดูแลในเวลาดังกล่าวพบว่ามีการเปิดน้ำนานผิดปกติจึงเข้าตรวจสอบ จากนั้นจึงพบว่าเขานอนหมดสติในส่วนที่เป็นห้องน้ำ จึงติดตามจนท.ทหารที่รับผิดชอบให้ไปดูแลนำตัวส่งแพทย์รพ.ค่ายอิงคยุทธบริหารซึ่งได้ปั๊มหัวใจอับดุลเลาะเพื่อให้ชีพจรกลับมา แล้วจึงนำตัวส่งโรงพยาบาลปัตตานี จากคำให้การ อับดุลเลาะถูกนำตัวออกจากห้องพักส่งแพทย์รพ.ค่ายอิงคยุทธฯเมื่อเวลาประมาณ 03.00 น. แพทย์ปั๊มหัวใจเป็นเวลาครึ่งชม. นำตัวส่งถึงรพ.ปัตตานีเมื่อเวลาประมาณ 05.00 น.
.
หลังจากนำส่งรพ.แล้ว จนท.ยังตามไปที่รพ.เพราะถือว่ายังอยู่ในช่วงของการควบคุมตัวจนกระทั่งในเวลาถัดมาเมื่อผู้บังคับบัญชาเรียกให้กลับ ทีมงานจนท.ทหารผลัดที่ดูแลศูนย์ซักถามจำนวน 12 นายที่เข้าเวรในช่วงเวลาดังกล่าวถูกเรียกสอบปากคำทุกรายและแยกต่างหากจากกัน หลังจากนั้นยังมีการสอบสวนเพิ่มเติมทั้งภายในและโดยคณะกรรมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนจังหวัดชายแดนใต้ ตลอดจนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน แต่ร.อ.ต่อตระกูลยืนยันว่า ทุกกลไกสรุปตรงกันว่า จนท.ทหารไม่ได้ทำอะไรผิด
.
อย่างไรก็ตาม ในการซักถามของทนายความที่เป็นตัวแทนของญาติทำให้ได้ข้อมูลเพิ่มเติมจากร.อ.ต่อตระกูลว่า อันที่จริงแล้วคดีที่นายอิบรอเฮมถูกตัดสินว่ามีความผิดนั้น เป็นคดีที่ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่เขาซัดทอดนายอับดุลเลาะแต่อย่างใด ส่วนการซักถามหนเดียวในศูนย์ฯโดยร.อ.ต่อตระกูลก็ไม่มีบันทึก แม้ว่าในห้องซักถามจะมีคอมพิวเตอร์ติดตั้งไว้ ทั่วทั้งศูนย์มีการติดตั้งกล้องวงจรปิด 16 จุดแต่ทว่ายังใช้การไม่ได้ยังไม่มีการส่งมอบจากผู้รับเหมา และแม้ว่าในช่วงเข้า “เชิญตัว” ที่บ้าน เมื่อไปที่สภอ.ตะบิ้ง และเมื่อไปถึงค่ายตลอดจนเมื่อเข้ารับการตรวจร่างกายจากแพทย์รพ.ค่ายฯ ทุกขั้นตอนมีการบันทึกภาพไว้หมด แต่จนท.กลับมิได้บันทึกภาพของนายอับดุลเลาะขณะที่พบว่าหมดสติหรือว่าภาพขณะรับการรักษาเบื้องต้นแต่อย่างใด รวมทั้งไม่มีภาพในระหว่างการซักถาม ร.อ.ต่อตระกูลยอมรับว่า จนท.ไม่ได้บันทึกภาพแต่อธิบายว่าเพราะกำลังวุ่นกับการช่วยชีวิตนายอับดุลเลาะ และที่จริงแล้ว เขายอมรับว่า การซักถามเวลาใดอย่างไรขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของจนท.ทีมซักถาม ซึ่งสามารถใช้ดุลยพินิจนำตัวออกไปซักถามนอกห้องได้ด้วย
.
ร.อ.ต่อตระกูลตอบคำถามของอัยการด้วยว่า ที่ผ่านมาเขารับรู้ว่ามีการร้องเรียนเรื่องการซ้อมผู้ที่ถูกเชิญไปให้ปากคำ แต่เขายืนยันว่า บรรดาผู้ที่ร้องเรียนเหล่านั้นต่างถูกศาลตัดสินลงโทษในคดีต่าง ๆไปทั้งสิ้นแล้ว ในขณะที่อีกด้าน จากการซักถามของทนายพบว่า ในค่ายอิงคยุทธฯมีศูนย์ซักถามอีกหนึ่งแห่งที่เป็นศูนย์เดิมที่เคยมีมาก่อน และเป็นที่ที่เคยเกิดเหตุการณ์การตายและมีการร้องเรียนเรื่องการถูกทำร้ายมาก่อน ขณะนี้ศูนย์ดังกล่าวก็ยังคงดำเนินการอยู่ ในอดีตเป็นที่ที่เคยเกิดเหตุการณ์ที่ผู้ถูกซักถามอย่างกรณีนายสุไลมาน แนซา เสียชีวิตลงโดยที่แพทย์ลงความเห็นว่าเขาผูกคอตายในห้อง
.
ด้านภรรยาและญาติที่ให้การเป็นปากที่สองคือนายโมฮัมหมัด รอฮมัด มามุ ต่างยอมรับว่าสงสัยเจ้าหน้าที่ผู้สอบถามนายอับดุลเลาะ จึงทำให้วิ่งเต้นแจ้งความต่อตำรวจและร้องเรียนขอความเป็นธรรมจากหลายภาคส่วนด้วยกันตั้งแต่กับหน่วยทหารในพื้นที่ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ไปจนถึงร้องเรียนสำนักนายกรัฐมนตรีและกับกลไกคณะกรรมาธิการของรัฐสภา จนถึงกับทำให้มีการตั้งกระทู้กันในรัฐสภาและนายกรัฐมนตรีได้ตอบกระทู้ของสส.ในเรื่องนี้มาแล้ว ภรรยาและญาติของนายอับดุลเลาะให้การกับศาลว่า พวกเขาตัดสินใจไม่ให้แพทย์ผ่าศพชันสูตรส่วนหนึ่งเพราะความไม่ไว้วางใจในเจ้าหน้าที่เพราะเห็นว่านายอับดุลเลาะลงเอยด้วยอาการสมองบวมหลังจากเข้าสู่ศูนย์ซักถามฯ หลังจากที่อับดุลเลาะเข้ารับการรักษาตัวที่รพ.ปัตตานี นายโมฮัมหมัดเองได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวถึงการที่ถูกจนท.ติดตามตลอดช่วงแรกของการไปเฝ้าไข้นายอับดุลเลาะ เขาบอกกับศาลว่า เขาไม่ไว้ใจว่าการให้จนท.ผ่าศพพิสูจน์จะทำให้ได้อะไรขึ้นมา ในขณะที่ตามความเชื่อของมุสลิม ถ้าไม่จำเป็นอย่างแท้จริงจะไม่ผ่าศพพิสูจน์เพราะถือว่าเป็นการทำลายศพ
.
การไต่สวนยังไปไม่ถึงประเด็นทางด้านการแพทย์เพราะแพทย์ยังไม่ได้ไปให้ปากคำ แต่ญาติระบุว่า ได้รับแจ้งจากแพทย์ว่าอับดุลเลาะสมองบวมและไม่ทำงาน ในขั้นแรกมีแพทย์บอกว่าสมองได้รับการกระทบกระทั่ง แต่แล้วคำอธิบายนี้หายไป จากการตรวดูร่างกายอับดุลเลาะจากภายนอก พวกเขาเห็นตรงกันและเป็นการให้การที่สอดคล้องกับข่าวก่อนหน้านี้ ว่าร่างกายไม่มีร่องรอยการถูกทำร้าย แต่ภรรยาและญาติต่างให้การกับศาลว่า อับดุลเลาะมีรอยแผลถลอกที่ตาตุ่มด้านในของเท้าข้างหนึ่ง เล็บมือนิ้วหนึ่งมีรอยคล้ายไหม้ และที่ข้อพับของแขนข้างหนึ่งมีรอยแผลมีขนาดเท่าก้นบุหรี่ นอกจากนั้นสังเหตเห็นว่าที่หูข้างหนึ่งมีน้ำลักษณะคล้ายเลือดปนหนองซึมออกมา
.
การไต่สวนการตายกรณีนายอับดุลเลาะเดินหน้าต่อในวันนี้ รวมแล้วตามหมายจะมีการไต่สวนสามวัน อนึ่งก่อนหน้าที่จะมีการไต่สวน อัยการของคดีได้ชี้แจงกับผู้เข้าฟังการไต่สวนว่า การไต่สวนเป็นไปตามกฎหมายประมวลวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 150 ที่กำหนดให้มีการไต่สวนหาข้อเท็จจริงผู้ตายและสาเหตุการตายในกรณีที่มีความตายอย่างผิดธรรมชาติหรือที่อยู่ในระหว่างการปฏิบัติงานและ/หรือที่อยู่ในการควบคุมตัวของจนท. ในกรณีของจนท.นั้น หากการไต่สวนได้ผลว่ามีการกระทำที่เข้าข่ายความผิดในคดีอาญาเช่นมีการทำร้ายร่างกาย ฯลฯ ก็จะทำให้ผลการไต่สวนนั้นถูกส่งต่อไปยังจนท.ตำรวจเพื่อให้สอบสวนนำไปสู่การดำเนินคดีอาญาต่อไปไม่ว่าจะได้ชื่อผู้กระทำหรือไม่ก็ตาม