Written by 3:13 pm Memoir, World

เมื่อผมไปโอกินาวา

ประวัติศาสตร์ของโอกินาวาและปราสาทชูริ

ฝนกระหน่ำต้อนรับคณะเราที่มาถึงแดนท่องเที่ยวที่เป็นหมู่เกาะเล็ก ๆ ทางตอนใต้ของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีสายการบินเดียวที่พาเราบินตรงจากกรุงเทพมาโอกินาวา ทริปเดินทางครั้งนี้มีคณะบุคคลจากภาคประชาสังคมจังหวัดภาคใต้เพื่อมาเรียนรู้บทเรียนความขัดแย้งทางการเมืองของชาวโอกินาวา โดยการสนับสนุนของมูลนิธิโตโยต้า

ทางคณะผู้จัดโครงการจากมหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลก แจ้งแก่เราแล้วว่าให้เตรียมร่มและเสื้อกันฝน ดังนั้นเราจึงค่อนข้างจะเตรียมตัวมาดี แต่การที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองของสนามบินโอกินาวากักตัวคนในคณะเราถึง 4 คนเป็นเวลาถึง 5 ชม.ทำให้เราตื่นตระหนกเล็กน้อยเพราะไม่ได้เตรียมใจว่าจะมีกรณีเช่นนี้ แต่เรื่องนี้ผมจะขอเล่าในตอนที่สอง เพราะเป็นประสบการณ์ที่ประสบโดยตรงกับตัวเอง

หลังจากหายตื่นเต้นจากห้วงเวลาอึมครึมในด่านตรวจคนเข้าเมืองที่สนามบิน เราก็ได้เข้ามาในเมืองนาฮา ซึ่งเป็นเมืองใหญ่ของจังหวัดโอกินาวา เรื่องแรกที่ตื่นเต้นคือขึ้นรถโมโนเทรน ลักษณะคล้ายกับรถไฟลอยฟ้า BTS แต่ไม่ได้มีรางเหล็กสองเส้นคู่ขนานแบบของเมืองไทย หากแต่เป็นรางเดี่ยวขนาดประมาณ 10 นิ้ว แล้วเจ้ารถโมโนเทรนก็ขึ้นคร่อมเหมือนตัวอักษร U คว่ำลง ความรู้สึกตอนมองลงไปข้างล่างจังหวะเลี้ยวให้อารมณ์เดียวกับขึ้นเครื่องเล่นรถไฟเหาะ เพียงแต่มันไม่ตีลังกาเท่านั้นเอง ถัดจากนั้นเรานั่งแท็กชี่ต่อไปโรงแรม คนขับแท็กซี่ที่นี่จะเป็นคนสูงอายุ เพราะโอกินาวาเป็นจังหวัดที่มีคนสูงอายุเฉลี่ยสูงในญี่ปุ่นอันดับต้น ๆ ของประเทศ ที่นี่เป็นสังคมผู้สูงอายุมาหลายปีแล้ว

สำหรับตอนแรกนี้ผมจะแนะนำความเป็นมาของจังหวัดโอกินาวาเท่านั้น คนปตานีรู้จักโอกินาวาน้อยนัก แม้แต่คนไทยก็อาจรู้จักโอกินาวาเพราะเป็นเมืองแห่งการท่องเที่ยว พื้นที่หมู่เกาะและทะเลที่สวยงามทำให้ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกมาที่เกาะแห่งนี้ จึงไม่แปลกที่เวลาพูดเรื่องพื้นที่ความขัดแย้ง คนทำงานภาคประชาสังคมชายแดนใต้ไม่ค่อยนึกถึงเมืองโอกินาวาสักเท่าไร ส่วนใหญ่จะนึกถึงพื้นที่ความขัดแย้งที่ใกล้เคียงเสียมากกว่า เช่น อาเจะห์ มินดาเนา เป็นต้น นั่นคงจะเนื่องด้วยบริบทความขัดแย้งที่มีการต่อสู้ด้วยอาวุธและมีกลุ่มขบวนการที่ต้องการปลดปล่อยเอกราชด้วยกระมัง จึงทำให้ในพื้นที่แถบอาเซียนด้วยกันมีการไปศึกษาเรียนรู้บทเรียนบ่อยครั้ง หากแต่ที่โอกินาวากลับต่างออกไป

จังหวัดโอกินาวา (ญี่ปุ่น:Okinawa) เป็นเกาะที่อยู่ใต้สุดของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งประชาชนมีอัตลักษณ์ที่ต่างจากคนญี่ปุ่นและเป็นจังหวัดที่มีความหลากหลาย ทั้งประวัติศาสตร์ โบราณสถานที่เป็นของตัวเองในอดีต คืออาณาจักร ‘ริวกิว’ Ryukyu ยุคทองการค้าทางทะเล (Golden Age of Trade) ของอาณาจักรริวกิวนั้นอยู่ในช่วงศตวรรษที่14-16 มีการติดต่อการค้ากับอาณาจักรต่างๆ เช่น อยุธยา มะละกา ปาเล็มบัง อาเจะห์ รวมถึงปาตานีด้วย (Patani ในช่วง 1490-1543) โดยมีสินค้านำเข้าสำคัญ เช่น ไม้ฝาง, พริกไทย, หนังกวาง, หนังปลาฉลาม, ตะกั่ว, ดีบุก ฯลฯ ส่วนสินค้าส่งออก มีพวกเครื่องเคลือบดินเผา, ผ้าชนิดต่าง ๆ จานลายครามของจีน กำมะถัน ดาบ พัด เป็นต้น

หลังจากเข้าเก็บข้าวของในที่พักเสร็จสรรพ เราก็ไปดูหนึ่งในมรดกโลก นั่นคือ ปราสาทชูริ (Shurijo Castle) “ชูริ” คือเมืองหลวงเดิมของอาณาจักรริวกิว ศูนย์กลางการปกครองอยู่ที่ปราสาทชูริ ปราสาทหลังนี้เป็นที่ประทับของราชวงศ์ริวกิวที่ปกครองอาณาจักร (เมื่อปีค.ศ. 1429 จนถูกผนวกกลายเป็นจังหวัดหนึ่งของญี่ปุ่นเมื่อ ค.ศ.1879) ตัวปราสาทดั้งเดิมสร้างขึ้นราวปลายศตวรรษที่ 14 ส่วนที่เราไปดูเป็นการสร้างจำลองเสมือนจริง โดยยึดตามหลักฐานประวัติศาสตร์เท่าที่จะหามาได้ เพราะตัวปราสาทถูกทำลายไม่เหลือซากเมื่อตอนอเมริกายกพลขึ้นบกที่โอกินาวาในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง (Battle of Okinawa)

ปราสาทชูริแบ่งพื้นที่เป็นสองส่วน เมื่อเดินผ่านซุ้มประตูชูเรมอน (Shureimon Gate) เข้าไป จะพบเขตพระราชฐานชั้นนอก ส่วนนี้ไม่เสียค่าเข้าชม สามารถชมโบราณสถานต่าง ๆ ได้โดยรอบ และทางเข้าก่อนถึงเขตพระราชฐานชั้นในจะมีประตูหินโบราณโซโนฮัน อุทาคิ อิชิม่อน (Sonohyan Utaki Ishimon) ก็เป็นมรดกโลกอีกแห่งด้วยเช่นกัน

เมื่อเราขึ้นไปถึงจุดชมวิวเมืองนาฮา ตรงลานกว้างทางเข้าปราสาทจะต้องเสียค่าเข้าชมเพื่อเข้าพระราชฐานชั้นใน 820 เยน คิดเป็นเงินไทยประมาณ 235 บาท ด้านในมีอาคารหลายหลัง อาคารตรงกลางเรียกว่า เซเด็น (Seiden) หรือท้องพระโรง เป็นอาคารไม้สีแดงสดสูงสองชั้น ประดับด้วยลายมังกรสีทองมุงหลังคากระเบื้องแบบสถาปัตยกรรมจีนโบราณ ดูยิ่งใหญ่มาก ชั้นหนึ่งของอาคารเป็นโถงกว้าง ชั้นสองมีบัลลังก์ของกษัตริย์ ลานกว้างด้านหน้าเรียก อุนะ (Una) เป็นสถานประกอบพิธีและบริพารเข้าเฝ้า ส่วนอาคารอื่น ๆ มีอาคารนันเด็น (Nanden) อาคารบันโดโกโระ (ฺฺBandokoro) และอาคารโฮกุเด็น เคยใช้เป็นสถานที่ต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองของราชวงก์ และเคยใช้เป็นที่ประชุมของกลุ่มประเทศ G8 เมื่อปี 2000 ด้วย แต่ตอนนี้กลับกลายเป็นพิพิธภัณฑ์ ห้องจัดนิทรรศการและร้านขายของที่ระลึก

สำหรับในปัจจุบัน โบราณสถานในโอกินาวาที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกมีถึง 9 แห่ง อีกทั้งยังเป็นจังหวัดที่มีการผสมผสานทางวัฒนธรรมถึงสามประเทศ คือ ญี่ปุ่น จีนและสหรัฐอเมริกา อย่างมหัศจรรย์ เพราะแม้แต่ผู้ว่าการของโอกินาวา คือ แดนนี ทามากิ ก็เป็นลูกครึ่งอเมริกา-ญี่ปุ่น ที่สำคัญเขาได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนเข้ามาตามระบอบประชาธิปไตยครับ

ความขัดแย้งที่โอกินาวา อัตลักษณ์สำคัญกว่าอุดมการณ์ทางการเมือง

ผมมีเรื่องเล่าเป็นน้ำจิ้มสำหรับคณะเดินทางชุดนี้ในช่วงไปถึงนิดหน่อย จะเรียกมันว่าเป็นการเกริ่นนำทำให้เราเข้าสู่บรรยากาศในโอกินาวาได้อย่างมีสีสันก็อาจจะไม่ผิดนัก

คณะเราใช้เวลาเดินทางจากกรุงเทพ 4 ชม.ก็มาถึงสนามบินโอกินาวา ในเช้าวันที่ 20 มิถุนายน 2562 ทันทีที่มาถึงประตูด่านตรวจคนเข้าเมืองก็มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของสนามบินมาต้อนรับพร้อมชูป้ายระบุชื่อคนในคณะเรา 4 คน ผมก็มีชื่ออยู่ในนั้นด้วย แรก ๆ ก็ดีใจที่ญี่ปุ่นให้การต้อนรับอย่างดี มีการยกป้ายชื่อคณะ แต่ฉุกคิดขึ้นมาได้ว่าทำไมมีแค่ 4 ชื่อทั้ง ๆ ที่คณะเดินทางของเรามีกัน 16 คน รู้สึกผิดสังเกตยิ่งขึ้นเมื่อเขาแยกเราทั้ง 4 ออกไปเข้าห้องกักคนเข้าเมือง แถมยึดหนังสือเดินทางและไม่แจ้งอะไรแก่เราเลย ทีมเราพยายามจะถามเหตุผลแต่สื่อสารกันไม่เข้าใจเพราะ จนท.ใช้แต่ภาษาญี่ปุ่นในขณะที่เราก็ใช้ภาษาอังกฤษแบบ งู ๆ ปลา ๆ

เพื่อนในคณะที่ผ่านเข้าเมืองไปได้ย้อนกลับมาเพื่อช่วยเจรจา แต่ไม่เป็นผล ทางเจ้าหน้าที่ตตรวจคนเข้าเมืองญี่ปุ่นไม่ยอมความ ยึดหนังสือเดินทางเพิ่มอีกสามคน ทำให้เรานั่งยัดกันอยู่ในห้องกักตัวถึงเจ็ดคน กว่าจะออกมาได้ใช้เวลานานถึง 5 ชม. เจ้าหน้าที่สอบสวนประวัติของ 4 คนแรกละเอียดยิบ กระเป๋าเดินทางทั้งหมดถูกละเลงเทออกเพื่อตรวจหาของต้องสงสัย ทุกชิ้น ซึ่งในกระเป๋าผมมีบะหมี่รสหมูสับที่เพื่อนไทยพุทธฝากใส่กระเป๋า เพราะกระเป๋าของเขาเต็ม กลายเป็นว่าผมมีความผิดปกติ เพราะเป็นมุสลิมแต่มีบะหมี่รสหมูสับ เป็นประเด็นเล็ก ๆ ที่อดขำไม่ได้ แต่ก็พอจะเข้าใจการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ที่ต้องเข้มงวดในการตรวจคนเข้าเมืองเพราะในช่วงเวลาที่เรามานี้ กำลังจะมีการชุมนุมใหญ่ของชาวโอกินาวา ในกิจกรรมรำลึกเหตุการณ์สงครามที่มีผู้เสียชีวิต 200,656 คน งานจะจัดขึ้นในวันที่ 23 มิ.ย.ของทุกปี และมีกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อต่อต้านขับไล่ฐานทัพอเมริกาให้ออกไปจากโอกินาวาเข้าร่วม ที่สำคัญนั้น ในปีนี้ ชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่นจะเดินทางมาร่วมในกิจกรรมด้วย นั่นอาจเป็นเหตุผลที่ต้องเข้มงวดในการตรวจคนเข้าเมืองของสนามบินก็เป็นได้

ดังนั้นวันแรกที่เราได้ไปเยี่ยมชมปราสาทชูริ จึงเป็นการเยียวยาความรู้สึกจากการถูกกักตัวเป็นผู้ต้องสงสัยได้ระดับหนึ่ง และวันที่สอง คณะของเราก็ได้เดินทางไปดูจุดที่เครื่องบินอเมริกาเกิดอุบัติเหตุตกที่อาคารมหาวิทยาลัย ในช่วงเกิดเหตุการณ์นั้นยังนับว่าโชคดีที่เป็นช่วงปิดเทอม แต่เด็กในโรงเรียนประถมไม่โชคดีอย่างนั้นเพราะมีเหตุการณ์ที่เครื่องบินตกแล้วมีเด็กตายจำนวนมาก

การที่ฐานทัพอเมริกามาตั้งอยู่ใจกลางเมืองและทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบทางเสียง เกิดอุบัติเหตุ ทั้งมีการละเมิดสิทธิต่างๆ อย่างยาวนาน ทำให้ชาวบ้านเรียกร้องให้มีการย้ายฐานทัพ ความขัดแย้งเรื่องกองทัพสหรัฐฯ ยังกลายเป็นปมขัดแย้งระหว่างชาวญี่ปุ่นด้วยกันเอง เพราะรัฐบาลท้องถิ่นและประชาชนในโอกินาวาเกือบทั้งหมดคัดค้านการตั้งฐานทัพสหรัฐฯ แต่รัฐบาลกลางอ้างว่า จำเป็นต้องพึ่งพาสหรัฐฯในการป้องกันประเทศ ชาวเมืองหลวงหลายคนยังระบุว่า ชาวโอกินาวา “ไม่รักชาติ” ทั้ง ๆ ที่คนเมืองเหล่านั้นไม่เคยรับรู้ถึงความขมขื่นที่ชาวโอกินาวาต้องจำทน “เสียสละเพื่อประเทศ” มาหลายสิบปี

โอกินาวานั้นเป็นที่เดียวในญี่ปุ่นที่อเมริกายกพลขึ้นบกในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองและมีการรบทางภาคพื้นดินอย่างหนักหน่วง (Battle of Okinawa) ที่อื่นในญี่ปุ่นเป็นการรบภาคอากาศโดยการทิ้งระเบิดด้วยเครื่องบินมากกว่า ยุทธศาสตร์ของกองทัพสหรัฐฯ ในขณะนั้น คือ ยึดโอกินาวาเพื่อใช้เป็นฐานบัญชาการในการบุกญี่ปุ่นทั้งประเทศ ปัจจุบันในเกาะโอกินาวามีฐานทัพอเมริกามากถึง 32 แห่งพร้อมทหารสหรัฐเกือบ 30,000 คน

นับตั้งแต่ปีค.ศ. 1972 ที่มีการคืนโอกินาวาให้ญี่ปุ่น จนถึงสิ้นปีค.ศ. 2016 ได้เกิดอุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับเครื่องบินของกองทัพสหรัฐฯ ถึง 709 เหตุการณ์ ในจำนวนนั้นมีอุบัติเหตุเครื่องบินตก 47 ครั้ง เฉลี่ยแล้วคือตกปีละมากกว่า 1 ครั้ง นอกจากเรื่องเครื่องบินตกบ่อยแล้ว ยังมีเหตุการณ์ในเดือนมกราคมปี 2016 คดีทหารอเมริกันฆ่าข่มขืนหญิงสาววัย 20 ปีที่เมืองอุรุมะ กลายเป็นเหตุการณ์ที่ชาวโอกินาวาออกมาชุมนุมกดดันทางการญี่ปุ่นเพื่อให้ความเป็นธรรมแก่เหยื่อสาว ในขณะเดียวกันการที่ไม่สามารถนำตัวทหารอเมริกันมาขึ้นศาลญี่ปุ่นได้ ก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ชาวโอกินาวาเรียกร้องให้มีการแก้ไข

ต่อจากจุดที่มีเครื่องบินตก เราได้ไปดูการประท้วงของชาวโอกินาวาให้ย้ายฐานทัพออกไปจากเมือง คณะเราโชคดีได้พบกับแกนนำต่อต้านฐานทัพอเมริกัน ของโอกินาว่า ที่ออฟฟิศชั่วคราว ริมทะเล เปิดทุกวัน เวลา 08.00-16.00 น. คุณลุงที่ต่อสู้เรื่องฐานทัพมากว่า 20 ปี คือตั้งแต่หนุ่มจนแก่ด้วยความรู้สึกที่ว่า ญี่ปุ่นเจ็บปวดกับสงครามอย่างยิ่งยวดจนไม่อาจที่จะให้อเมริกามาใช้บ้านของเขาเพื่อไปทำสงครามที่อื่น ๆ ทั่วโลกได้ (สงครามที่เกาหลี เวียดนาม อิรัก อัฟกานิสถาน สหรัฐใช้ฐานทัพที่นี่ส่งเครื่องบินไปโจมตี) การประท้วงที่มีอย่างยาวนานผ่านมาแล้ว 5,542 วัน แต่ชาวโอกินาวากลุ่มนี้ (จากรุ่นสู่รุ่น) ก็ไม่ยอมท้อถอยในการคัดค้านการตั้งฐานทัพสหรัฐอเมริกา

เมื่อเราถามว่าความสำเร็จของการประท้วงคืออะไร คุณลุงบอกว่าคือการย้ายฐานทัพของอเมริกาออกมาจากตัวเมือง และการลดขนาดของฐานทัพที่จะสร้างใหม่ คุณลุงยังบอกอีกว่า สิ่งที่ชาวเมืองร่วมกันต่อสู้คือต้องการสภาพไม่มีสงคราม การไม่มีทหารไม่ว่าจะเป็นทหารอเมริกาหรือญี่ปุ่น

การที่พวกเขาไม่ต้องการสงครามใด ๆ ทำให้มีการสอนเรื่องสันติภาพให้กับคนรุ่นลูกรุ่นหลานรวมไปถึงการบอกต่อ การใช้เรื่องเล่าในการเตือนความจำ การสอนว่าไม่ควรใช้ความรุนแรง และการย้ำว่าผลกระทบของสงครามนั้นเป็นสิ่งที่เลวร้าย รัฐบาลท้องถิ่น โดยผู้ว่าฯของโอกินาวาทั้งคนเก่าและใหม่ต่างก็ไม่เห็นด้วยกับการมีฐานทัพฯ และร่วมคัดค้านกับประชาชนอย่างจริงจัง มันเป็นการร่วมมือของทุกกลุ่มการเมืองที่อุดมการณ์แตกต่างกันแต่สามารถรวมกันได้เพราะความเป็นอัตลักษณ์เดียวกันและการมีเป้าหมายร่วมกัน นั่นคือขับไล่ฐานทัพอเมริกาออกไป

สิ่งที่ผมได้เห็นและเราได้เห็น มันคือคุณค่าของการต่อสู้ร่วมกันด้วยความแน่วแน่ในอนาคตของชาวโอกินาวา

ร้านอาหาร, ความเหมือนและความต่าง โอกินาวา-ปตานี

ตลอดเวลาที่ผมอยู่โอกินาวาสามวัน ฝนฟ้าตกไม่เคยเว้นวัน วันที่ 22 มิถุนายน 2562 คณะเราในโอกินาวาต้องตื่นแต่เช้าเพราะต้องเดินทางค่อนข้างไกล เรามีนัดเสวนากับทางนักวิชาการของมหาวิทยาลัยริวกิว แต่ก่อนไปที่นั่นเราได้ไปชมพิพิธภัณฑ์ประจำจังหวัดโอกินาวา(Okinawa Prefectural Museum) ที่เป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของโอกินาวา สถานที่แห่งนี้เปิดให้เข้าชมตั้งแต่ปี 2007 โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วนได้แก่ พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ และพิพิธภัณฑ์ศิลปะ เรามองเห็นถึงความเป็นอาณาจักร ความเป็นพลเมือง ศิลปะ วัฒนธรรมและภาวะสงคราม ที่ทำให้เราเข้าใจความเป็นโอกินาวา ที่สำคัญการเก็บรักษาหลักฐานทางประวัติศาสตร์ วัตถุอุปกรณ์ในอดีตได้อย่างละเอียดละออสมกับเป็นประเทศญี่ปุ่น แม้แต่ไม้จิ้มฟันของคนสมัยก่อนยังมีให้เราได้ชม อีกทั้งเทคโนโลยีในการนำเสนอภายในพิพิธภัณฑ์ก็ทำให้พวกเราตื่นตาตื่นใจราวกับกลับไปเป็นเด็กนักเรียนอีกครั้ง

หลังจากอิ่มอกอิ่มใจกับการเที่ยวชมเรื่องราวของโอกินาวาในพิพิธภัณฑ์ เราก็ได้มาถึงร้านอาหารไทยในโอกินาว่า ซึ่งอยู่ติดกับมหาวิทยาลัยริวกิวที่เราจะมาเสวนาในช่วงบ่าย ‘ร้านอาหารสยามปิ่นโต’ เป็นร้านของคนไทย คนยะลาเรานี่เอง เจ้าของร้านคือ คุณธนพัชญ์ จันทร์ดิษวงษ์ หรือ เน ร้านใช้ ไก่ฮาลาล ขายอาหารแต่เมนู ไก่ กับ ปลา อาหารทะเล และมีเมนู สำหรับมังสวิรัติ ทุกศาสนา โดยเฉพาะนักศึกษาต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นมุสลิมคนอินโด มาเลย์หรือ แอฟริกา บังคลาเทศ หรือจะเป็นฮินดู จากอินเดีย มาใช้บริการ

เน บอกกับเราว่า “ที่ตั้งใจขายไก่ฮาลาล เพราะคิดว่าสักวันจะได้รับใช้ พี่น้องจากจังหวัดภาคใต้ และไม่มีเมนูเนื้อเพราะเพื่อนศาสนาอื่นเช่นฮินดูก็จะได้มากินด้วย” ผมอดทึ่งไม่ได้กับแนวคิดดังกล่าวของหนุ่มเจ้าของร้าน

ถัดจากมื้อเที่ยง เราก็เดินลัดเลาะเข้ามาในมหาวิทยาลัยริวกิว บรรยากาศสถานที่เหมาะน่ามาเรียน มีหญ้าเขียวขจี ดอกไม้และต้นไม้ใหญ่ทั้งสองข้างทางตลอด ผมเพิ่งสังเกตว่าในมหาวิทยาลัยของเขา มีสถานที่สำหรับคนสูบบุหรี่โดยเฉพาะเป็นสัดส่วนอย่างดี ไม่รบกวนคนทั่วไป

เราเข้าไปในห้องจัดสัมมนาที่คณะสังคมศาสตร์ หัวข้อเสวนาคือ – How Can Both the Deep South and Okinawa Create the Space of Communication to Resolve Conflicts Peacefully? (ชายแดนใต้และโอกินาวาจะสรรค์สร้างพื้นที่การติดต่อสื่อสารเพื่อคลายความขัดแย้งอย่างสันติได้อย่างไร?) เราได้รับเกียรติจาก MR. Hideo Tone ตัวแทนจากทาง Toyota Foundation ผู้สนับสนุนทริปโอกินาวาครั้งนี้ กล่าวเปิดโครงการและร่วมการเสวนากับเราด้วย

สำหรับผู้นำเสนอประเด็นคนแรกคือ คุณธนพัชญ์ จันทร์ดิษวงษ์ (เน) นักศึกษา ป.เอก มหาวิทยาลัยแห่งริวกิว คนเดียวกับเจ้าของร้านอาหารไทยแสนอร่อย เขานำเสนอประเด็นเรื่องความเหมือนเชิงโครงสร้างระหว่างชายแดนใต้กับโอกินาวา ซึ่งมีประเด็นน่าสนใจคือจุดเปลี่ยน ความเป็นรัฐ-ชาติ ใหม่ ญี่ปุ่นผนวกริวกิว(ปัจจุบันโอกินาวา) ในปี1879 ต่อมาอีก 30 ปี สยามผนวกปาตานี(ปัจจุบัน จชต.) เมื่อปี 1909 (ก่อนใช้ชื่อประเทศไทย) การเปรียบเทียบ ความเหมือนและความต่าง คนริวกิว เป็นคนญี่ปุ่น เพราะญี่ปุ่นสร้างชาติอย่างเข้มข้น และสร้างความเป็นโอกินาวา แต่อเมริกามาฟื้นฟูความเป็นริวกิว ส่วนคนมลายูปตานี เป็นคนไทยจากการสร้างชาติของจอมพล ป.เพราะ จอมพล ป.อยากสร้างรัฐชาติไทยสมัยใหม่ผ่านนโยบายรัฐชาตินิยม ซึ่งประเด็นแหลมคมเช่นนี้ย่อมต้องมีข้อถกเถียงต่อไป


ตัวแทนจากคณะเราที่ได้ร่วมในการนำเสนอประเด็นด้วยคือ ผศ.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี DSW/CSCD ม.อ.ปัตตานี ในเรื่องกระบวนการสันติภาพเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในชายแดนใต้ของประเทศไทย การนำเสนอของผศ.ศรีสมภพ ใช้วิธีการทั้งเชิงปริมาณและการวิเคราะห์เรื่องเล่าประมวลให้เราเข้าใจหน้าตาของ การเมืองเชิงอัตลักษณ์ ในชายแดนใต้/ปาตานีได้เป็นอย่างดี และศ.เออิชิ โอชิโนะ มหาวิทยาลัยริวกิว นำเสนอเรื่องการต่อต้านฐานทัพอเมริกันในโอกินาวาปัจจุบัน

ด้านผู้เข้าร่วมวงเสวนามีความหลากหลายทั้งอายุ เพศ และความสนใจ มีทั้งอาจารย์ นักศึกษาป.ตรี โท เอก นักศึกษาแลกเปลี่ยนจากประเทศสาธารณะประชาชนลาว นักเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านการตั้งฐานทัพอเมริกา นักเคลื่อนไหวเพื่อเอกราชโอกินาวา องค์กรศึกษาการเป็นเอกราชของโอกินาวา ประชาชนที่สนับสนุนญี่ปุ่น และตัวแทนสหรัฐอเมริกา

เราได้เห็นถึงความต้องการที่ชัดเจน ความเห็นที่หลากหลายแต่พูดกันอย่างสุภาพมาก พวกเราที่มาจากพื้นที่ความขัดแย้งรุนแรงอย่างจังหวัดภาคใต้ ไม่เคยนึกภาพออกเลยว่า การแสดงออกทางการเมืองที่คนคนหนึ่งพูดขึ้นว่า “ผมไม่เห็นด้วยกับคุณ และชาวญี่ปุ่นไม่เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวของพวกคุณ” แล้วคนที่เป็นเป้าหมายของความเห็นนั้นก็นั่งเฉย ๆ และตอบคำถามอย่างสุภาพ ส่วนนักเคลื่อนไหวภาคประชาชนที่ต่อต้านฐานทัพอเมริกาเองก็อภิปรายอย่างสุภาพ เราต่างฉงนว่าการประท้วง การต่อต้านรัฐบาลกลางแบบสุภาพจะนำมาซึ่งความสำเร็จได้อย่างไร ? เพื่อนของเราคนหนึ่งตั้งคำถาม .

เสียงของความทรงจำ สวนแห่งสันติภาพและเสียงที่จะขับขานอนาคต

เวลา’เดินทางโดยไม่รั้งรอสิ่งใด วันสุดท้ายในโอกินาวาของคณะเราผ่านไปอย่างรวดเร็วจนตั้งตัวแทบไม่ติด
เราไปร่วมกิจกรรมรำลึกวันยุติสงครามที่โอกินาวาซึ่งจัดที่ชายทะเล ระหว่างทางเราเห็นผู้คนใส่ชุดขาว ชุดดำ ชุดพื้นเมือง พระ นักพรต คนแก่วิ่งออกกำลังกายสวนทางกับขบวนที่กำลังจะไปงานรำลึก กลุ่มนักเคลื่อนไหวตีกลองเดินฝ่าฝนไปยังสวนสันติภาพหรือที่เรียกว่า สวนแห่งสันติภาพ(Okinawa Peace Memorials Park) สถานที่แห่งนี้เคยเป็นสมรภูมิรบใหญ่ที่สุดในยุทธการโอกินาวา ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ภายในมีอนุสาวรีย์ที่เป็นอนุสรณ์สถานถึงเหตุการณ์ครั้งนั้น กำแพงหินอ่อนสีดำจารึกรายชื่อผู้เสียชีวิตกว่า 240,000 รายโดยไม่แบ่งแยกเชื้อชาติหรือฝักฝ่าย รวมทั้งหอนาฬิกาและเนินแห่งสันติภาพที่ตั้งอยู่ในลานสนามหญ้ากว้างใหญ่ ซึ่งริมขอบชายฝั่งทะเลมีจุดคบเพลิง ที่จะจุดปีละครั้งเพียงเฉพาะวันที่ 23 มิถุนายนเท่านั้น



ส่วนต่อมาเป็นพิพิธภัณฑ์รำลึกสันติภาพ(Okinawa Prefectural Peace Memorial Museum) ที่จัดแสดงข้อมูลต่างๆเกี่ยวกับจุดเริ่มต้นสงคราม ผลเสียหายของการต่อสู้ และจุดจบ ทั้งยังพูดถึงการบูรณะฟื้นฟูเมืองโอกินาวาผ่านทางภาพถ่าย วีดีทัศน์และรูปแบบจำลอง จุดเด่นที่สุดคือที่ทางออกซึ่งเราจะมองเห็นทะเล ที่ตรงนี้เราเห็นหน้าผาที่ผู้หญิง เด็ก และชาวโอกินาวากระโดดลงไปเพื่อฆ่าตัวตายในเวลานั้น เพราะทหารญี่ปุ่นใช้การโฆษณาชวนเชื่อทำให้ชาวโอกินาวาเชื่อว่าทหารอเมริกาโหดร้าย หากตกเป็นเชลยศึกจะตกนรกทั้งเป็น นอกจากนี้ทหารญี่ปุ่นยังพยายามให้ชาวโอกินาวายอมสละชีพตัวเองเพื่อองค์จักรพรรดิด้วยการผูกระเบิดกับตัวแล้วพุ่งเข้าหาศัตรู

คณะเราเดินดูพิพิธภัณฑ์ที่แสดงให้เห็นถึงความโหดร้ายของสงครามโลกครั้งที่ 2 หลายคนแทบน้ำตาร่วง เพราะภาพที่แสดงให้เราดูนั้นเป็นภาพจริงสมัยสงคราม รวมถึงเทปบันทึกวีดีโอจากทหารอเมริกันที่บันทึกความโหดร้ายของสมัยนั้นไว้ได้ ในพิพิธภัณฑ์เราสามารถรับหูฟังเพื่อฟังคำบรรยายซึ่งสามารถเลือกภาษาต่าง ๆ ได้หลายภาษาแต่ไม่มีภาษาไทย พวกเราฟังบรรยายผ่านภาษาอังกฤษและมลายู

ลมแรงกว่าที่เราคิด แถมฝนก็กระหน่ำไม่ขาดสาย ช่วง 11 โมงกว่า ๆ นายกรัฐมนตรี “อาเบะ ชินโซ” เดินทางมาถึงสถานที่รำลึก เป็นช่วงเวลาที่คนมาร่วมงานแล้วเป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นผู้มีอายุ

โอกินาวามีผู้ว่าการจังหวัดชื่อ ‘แดนนี ทามากิ’ ที่เป็นลูกครึ่งอเมริกาญี่ปุ่น พ่อของเขาเป็นทหารนาวิกโยธินสหรัฐทิ้งเขาไปตั้งแต่ยังเด็ก เขาเพิ่งได้รับการเลือกตั้งเมื่อไม่นานมานี้และมีจุดยืนต่อต้านนโยบายขยายฐานทัพอเมริกันอย่างชัดเจน มันปรากฎอย่างไม่อ้อมค้อมในคำแถลงของเขา ในพิธีรำลึก 74 ปีของสงคราม เขาใช้โอกาสนี้พูดถึงสันติภาพ และช่วงชิงการให้ความหมายสันติภาพที่ต้องให้ความสำคัญกับความมั่นคงปลอดภัยของประชาชน มากกว่าความมั่นคงของชาติของญี่ปุ่น ต่อหน้าญาติพี่น้องผู้สูญเสีย สื่อมวลชน ทหารอเมริกัน(ในชุดเต็มยศ) ชาวโอกินาวาปรบมือกันสนั่นแทบขนลุก พวกเขาต้องการสันติภาพที่ยั่งยืนด้วยการแสดงความไม่ต้องการสัญลักษณ์ของสงครามใดๆเลย ซึ่งความต้องการอันนี้มันสะท้อนผ่านผลการลงประชามติอย่างท่วมท้นมาแล้วถึง 2 ครั้งในปี 1996 และเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

ส่วนนายกรัฐมนตรีอาเบะนั้น เมื่อไหร่ที่เขาพูด จะมีคนตะโกนว่าโกหก แถมยังโดนตะโกนไล่ให้กลับไปโตเกียว บางกลุ่มชูป้ายขับไล่นายกรัฐมนตรี ซึ่งพวกเขาก็ทำได้ เรามองไม่เห็นเจ้าหน้าที่ทหารในงาน ตำรวจเองก็ไม่พกอาวุธให้เห็น และการชุมนุมประท้วงเป็นไปอย่างสงบสันติ เด็กนักเรียนมาอ่านบทกวี และร้องเพลงประสานเสียงไพเราะจับใจ มันทำให้เห็นถึงระบบคุณภาพของการเรียนการสอนของบ้านเมืองเขา การเรียนรู้เรื่องสันติภาพที่ส่งต่อระหว่างคนรุ่นต่อรุ่นเพื่อให้จดจำความโหดร้ายของสงคราม และร่วมมือในการไม่ให้มันเกิดขึ้นอีก

สุดท้ายก่อนกลับบ้าน คณะเราได้ร่างแถลงการณ์ร่วมสั้นๆ จากการที่ได้ร่วมจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการที่มหาวิทยาลัยริวกิวเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2562 เป็นแถลงการณ์เพื่อแสดงท่าทีร่วมระหว่างประชาชนของโอกินาวา ประเทศญี่ปุ่นกับปาตานีหรือจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประเทศไทย หลังจากที่เราได้อภิปรายถึงแนวทางที่ทั้งโอกินาวาและปาตานีจะสร้างสรรค์พื้นที่ในการติดต่อสื่อสารเพื่อคลี่คลายปัญหาความขัดแย้งโดยสันติ เราต่างเห็นพ้องในการกำหนดท่าทีร่วมกันต่อไปนี้
1. เราจักต้องสร้างการสนทนาเกี่ยวกับอนาคตของพวกเราอย่างเปิดเผย
2. รัฐบาลกลางจักต้องรับฟังเสียงของผู้คนในท้องถิ่น
3. เราจักมุ่งมั่นพยายามเปลี่ยนแปลงความคิดเห็นสาธารณะของผู้คนนอกพื้นที่ให้สนับสนุนสันติภาพและประชาธิปไตย
4. ประเด็นเรื่องการตั้งฐานทัพใหม่ จะต้องเคารพเสียงของประชาชนโอกินาวา และจะต้องไม่มีความรุนแรงเกิดขึ้นอีกในภูมิภาคปาตานีหรือจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทยอีกต่อไป
5. เราเห็นพ้องว่าสิ่งสำคัญคือการบรรลุถึง พิทักษ์ปกป้อง และรักษาไว้ซึ่งสันติภาพ เสรีภาพ ความเท่าเทียมเสมอภาค สิทธิมนุษยชน การแบ่งปันอำนาจ และประชาธิปไตย

คณะเรามาถึงที่สนามบินโอกินาวา ท่ามกลางฝนที่บางเบาแล้ว เราไม่ได้เปียกปอนมากนัก ผมเหลือบดูเวลาที่นาฬิกาติดผนังมุมซ้ายบนเหนือศรีษะของเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง เวลาญี่ปุ่นเร็วกว่าประเทศไทยสองชั่วโมง แต่เวลาก็ยังคงเดินทางอย่างเสมอต้นเสมอปลาย ผมถอนหายใจเมื่อผ่านด่านตรวจคนเข้าเมือง ไม่ใช่เพราะว่าโล่งใจที่เขาไม่กักตัวเหมือนวันแรกที่มาถึง หากทว่าผมเริ่มรู้สึกไม่อยากกล่าวคำว่า ‘ซาโยนาระ’แก่โอกินาวา อยากกล่าวเพียงแค่ แล้วพบกันใหม่ โอกินาวา ริวกิว

(Visited 99 times, 1 visits today)
Close