จบไปแล้วกับงานที่หลายคนพูดถึงนั่นคือ Pattani Decoded วันนี้เราได้นั่งคุยกับคนตัวเล็กแต่เสียงดังของทีมมลายูลิฟวิ่ง คือ ดี้ หรือ สมโภช เจ๊ะอาลี หนุ่มจะบังติกอ หนุ่มที่ฝันเสมอว่าอยากให้เมืองปัตตานีแห่งนี้กลับมาสนุกสนานขึ้นอีกครา
สมโภชเป็นสถาปนิกที่รับงานอิสระและเป็นตากล้องถ่ายรูปที่สามารถเค้นเรื่องราวของวัตถุหรือผู้คนที่ถ่ายทอดออกมาได้อย่างนวลตาและเต็มไปด้วยเรื่องราว ด้วยวิชาชีพแบบนี้นี่เองที่ทำให้สมโภชน์มองเมืองที่ตัวเองอยู่ด้วยสายตาที่วาดหวังว่า เมืองจะกลับมาคึกคักเหมือนสมัยที่เขายังเด็ก
เมืองและความฝัน
สมโภชเริ่มต้นความฝันที่อยากสร้างบรรยากาศของเมืองกับเพื่อนรักที่คบหากันตั้งแต่สมัยเรียนที่กรุงเทพฯคือ ซี หรือ อาซีซี ยีเจ๊ะแว ด้วยการเปิดสตูดิโอสถาปนิกและเลยเถิดไปจนถึงการทำร้านน้ำชาที่ผู้คนพูดถึงอย่างร้าน In_t_af cafe & Gallery บนถนนปัตตานีภิรมย์ สมโภชบอกว่า บทสนทนาที่พูดคุยกับเพื่อนรักเมื่อสี่ปีก่อนคือ จะทำยังไงจากเมืองที่ใคร ๆ ก็มองว่า แดง เปลี่ยนโทนสีของเมืองด้วยการทำให้ความสดของสีแดงอันหมายถึงความรุนแรงนั้นเจือจางลงไปอย่างน้อยที่สุดในเรื่องของบรรยากาศและ ความรู้สึก ด้วยการทำให้คาเฟ่เล็กๆของเขากลายเป็นที่จัดแสดงงานศิลปะที่กลายเป็นพื้นที่พบปะพูดคุย กลายเป็นพื้นที่การทำงานในเชิงบวก เพื่อทำให้เมืองแห่งนี้ตื่นตัวจากความเงียบเหงา และเป็นเหมือนเกลียวคลื่นที่ส่งต่อให้เกิดการรวมตัวให้เกิดกลุ่มสถาปนิกที่ลุกขึ้นมาทำอะไรต่อมิอะไรอย่างมลายูลิฟวิ่งที่เขาเองก็เข้าร่วมเป็นสมาชิกคนสำคัญคนหนึ่ง
สมโภชยอมรับว่าการทำงานเป็นกลุ่มมันเปลี่ยนนิสัยของเขาเอง สมโภชบอกว่าเจอกลุ่มคนที่ดี ทำงานด้วยกันมันช่วยเกลาความคิดมาก จากเป็นคนขวานผ่าซาก การทำงานกับกลุ่มมันเปลี่ยนนิสัย จากการทำคาเฟ่ก็ทำให้สมโภชเห็นว่า จริงๆเด็กในเมืองปัตตานีนั้นเก่งมาก “มันอยู่ที่ว่าเราจะมีให้โอกาสให้พวกเขาหรือเปล่า ให้เขาได้ลอง เหมือนกับเรา ตอนอยู่กรุงเทพแทบจะไม่มีพื้นที่ให้ลอง แต่วันหนึ่งถ้าเราได้ลอง เราจะไม่ทิ้งโอกาส คือการให้โอกาสซึ่งกันและกัน มันเป็นการสร้างมิตรมากกว่า”
ความสุข
จากก้าวแรกวันนั้น สมโภช มักบอกเสมอว่า มีความสุขเวลาที่ได้เห็นร้านคาเฟ่ของเขา ค่อยๆเปลี่ยนถนนเส้นที่แทบจะเรียกได้ว่าอับที่สุด เงียบที่สุด ของเมือง กลับคึกคักขึ้นอีกครา และนั่นดูเหมือนจะเป็นจุดที่ทำให้ผู้คนเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงของย่าน ที่สำคัญคือเหล่าสถาปนิกที่มารวมตัวกันเปลี่ยนเมืองในฐานะกลุ่มมลายูลิฟวิ่ง
“มันเดินสวยนะ แต่มันเดินไม่เร็ว มันเดินช้า ๆ ของมัน” นั่นคือจังหวะหรือความเร็วของความพยายามที่จะเปลี่ยนเมืองในรอบหลายปีที่ผ่านมาที่สมโภชบอกเล่า ที่มีกลุ่มออกมาทำงานมากขึ้น และมีสีสันมากขึ้น จากที่เมื่อก่อนจะมีแต่สีขาว ดำ แดง แต่เดี๋ยวนี้ สมโภชบอกว่ามันหลากหลาย มันมีกิจกรรมที่คนอื่นก็กล้าที่จะทำงานอีเวนท์มากขึ้น และสมโภชก็ย้ำว่า ไม่มีใครลืมเรื่องเหตุการณ์หรอก แต่งานศิลปะ งานที่สร้างสรรค์มันทำให้ผู้คนรู้สึกดี ทำให้เมืองมันน่าอยู่ ให้ใจคนมันเปลี่ยนแปลงบ้าง
เมื่อถามว่าชอบงานไหนมากที่สุด สมโภชบอกว่าเขาชอบทุกงานที่ทำภายใต้ความร่วมมือแบบมลายูลิฟวิ่ง หรือ In_t_af เพราะอยู่กันแบบพี่น้อง มันมีโอกาสให้ทุกคนได้กล้าที่จะแสดงความคิดเห็นของตัวเองออกมา
Terima Kresek
ปีที่แล้ว สมโภชและกลุ่มมลายูลิฟวิ่งจัดงานที่น่าจะเรียกได้ว่าตื่นตาตื่นใจที่สุดแห่งปี นั่นคือ Terima Kresek สมโภชเล่าว่าเขาโตมากับกรือเซะ แม้จะเป็นงานที่ทำเพื่อโปรโมทการท่องเที่ยวแนวฮาลาลทัวริสม์ เผชิญกับความไม่เห็นด้วยกับทีมงานหลายคน แต่ในท้ายที่สุด สมโภชและทีมงานมลายูลิฟวิ่งก็ตัดสินใจทำ ด้วยเหตุผลที่ว่า “การให้คนอื่นมานั่งทำ คนในพื้นที่มีพลังแต่ไม่ทำ โอกาสมาแล้วจะทิ้งไปทำไม ลองดูซักตั้งไหม”
การไปทำงานที่กรือเซะถือว่าเป็นโจทย์ที่ยาก สิ่งที่สมโภชเน้นย้ำคือ การที่ทีมจะไม่มีใครไปแตะต้องโบรานสถาน และ สองคือการให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมให้มากที่สุด สมโภชบอกว่า อุปสรรคนั้นมีแน่นอน ประเด็นสำคัญคือ เราจะแก้อุปสรรคยังไงมากกว่า ยิ่งกับชาวบ้านหรือคนในชุมชนประเด็นสำคัญคือเรื่องความไม่เข้าใจ เพราะสิ่งที่ชาวบ้านเจอเป็นประจำคือการที่มีคนไปจัดงานเสร็จแล้วก็ออกมาเลย ชาวบ้านแทบไม่ได้อะไร แต่กับงาน Terima Kresek สมโภชบอกว่า การที่พวกเขาโปรโมตเรื่องอาหารที่ทำมาจากชาวบ้านเอง มันทำให้ได้รับความร่วมมือ เพราะชาวบ้านเองก็ได้รายได้จากการจำหน่าย และที่สำคัญขนมที่ทำมาจากชุมชนคือขนมที่แทบจะหาทานได้ยากในทุกวันนี้
งาน Pattani Decoded
ปีนี้ สมโภชและกลุ่มเพื่อนจากมลายูลิฟวิ่ง ยกระดับการทำงานขึ้นอีกขั้นด้วยการจัดงานที่ชื่อว่า Pattani Decoded ซึ่งได้รับกระแสตอบรับที่ดีเกินคาด และที่น่าสนใจกว่านั้นคือ การจัดงาน Pattani Decoded นั้นเกิดขึ้นในย่านเมืองเก่า บนถนนปัตตานีภิรมย์ ถนนอาเนาะรู และ ถนนฤาดี ที่ยังมีคนเก่าแก่อาศัยอยู่ ในบ้าน Shophouse ในชุมชนที่อยู่กันมาหลายชั่วอายุคน
สมโภชบอกว่าต้นทุนเดิมที่เกิดจากการเปิดร้านคาเฟ่ ทำกิจกรรมสนุกๆในย่านนี้ทำให้ได้รับการยอมรับจากชุมชน แต่ก็ยังต้องอาศัยการลงไปคุยกับเจ้าของบ้านกับเจ้าของที่ จนในท้ายที่สุดจึงได้บ้านที่ปิดร้างมานานเข้ามาร่วมจัดกิจกรรม และที่สำคัญสมาชิกหลายคนในชุมชนคือคนที่คอยอธิบายแทนทีมทำงานว่ากำลังทำอะไรกัน แม้ว่าจะยากมากว่าในท้ายที่สุดงาน Pattani Decoded คืองานอะไรกันแน่ เพราะรวมไปด้วยหลายสิ่งไม่ว่าจะเป็นงานออกแบบ งานศิลปะ ตลาด ดนตรี ทว่าผลตอบรับนั้นกลับเกินคาดทั้งกระแสการตอบรับจากคนข้างนอกและที่สำคัญที่สุดคือจากคนในชุมชนเอง
สีของเมืองและอนาคต
หลังจบงาน Pattani Decoded ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 29 สิงหาคม – 1 กันยายน ที่ผ่านมา สมโภชยอมรับว่ามันเห็นอย่างชัดเจนว่าสีของเมืองมันเปลี่ยนไป ตอนนี้จังหวะการเดินมันเหมือนกำลังเร่งสปีด จากสัมผัสความรู้สึกของผู้คนที่อยู่รอบๆชุมชน สมโภขเล่าว่าชาวบ้าน ดูตื่นตัวมาก พวกเขาออกมาร่วมงาน โดยเฉพาะจากชุมชนรอบๆงาน ขณะที่ผลตอบรับจากข้างนอกก็ดีมาก ก้าวต่อไปก็คือขยายพื้นที่ตรงนี้ให้ดีขึ้น และต้องร่วมมือกับผู้คนให้มากขึ้น สมโภชยืนยันว่าตัวเขาและทีมจะทำงานต่อไปเรื่อยๆ ทำจนดี ทำจนหมดสนุก ทำจนกว่าชาวบ้านจะบอกให้หยุด
แต่สิ่งที่ยังคาใจที่สมโภชยอมรับอย่างตรงไปตรงมาคือ ย่านจะบังติกอที่ตัวเองเติบโตนี่แหละ ที่สมโภชรู้สึกว่าจะต้องกลับไปทำ จะต้องปลุกย่านนั้นของเมืองให้ตื่นตัว แม้จะไม่แน่ใจว่าเมื่อไหร่ก็ตาม