Written by 9:26 am Activities, Featured, Interviews, Patani Notes

สามจังหวัดภาคใต้กับความรุนแรงที่ผู้หญิงต้องรับมือ

ภายใต้ความสนใจที่จับไปที่ปัญหาสถานการณ์ความรุนแรงถึงเลือดถึงเนื้อที่เกิดขึ้นในสามจังหวัดภาคใต้ตลอดสิบหกปีที่ผ่านมา มีอีกหลายเรื่องราวที่ถูกกลบอยู่ภายใน มาในวันนี้ปัญหาบางประการเริ่มได้รับการจัดการ

รอซีดะห์ ปูซู เป็นทั้งผู้สื่อข่าวและคนทำงานภาคประชาสังคม งานทั้งสองด้านทำให้เธอคลุกคลีปัญหาความรุนแรงหลายมิติตั้งแต่ความรุนแรงจากสถานการณ์ซึ่งก็มีผลต่อชุมชนและครอบครัว กับความรุนแรงในครอบครัวเอง  รอซีดะห์บอก Patani NOTES ถึงประสบการณ์จากการทำงานในประเด็นที่ถือว่ายากมากเรื่องหนึ่งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้

รอซีดะห์บอกว่า เธอทำงานภาคประชาสังคม เริ่มตั้งแต่เรื่องการสร้างชุมชนเข้มแข็ง ต่อมาจับประเด็นเรื่องโครงการรัฐที่ก่อให้เกิดผลกระทบ ก่อนเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงระลอกใหม่ที่ถือจุดระเบิดขึ้นเมื่อ 4 ม.ค. 2547 รอซีดะห์และเพื่อนๆขับเคลื่อนเรื่องสิทธิของผู้หญิงในรัฐธรรมนูญ ช่วงปี 2546 เริ่มปรากฎเหตุการณ์ความรุนแรงให้เห็น พอปี 2547 ก็เกิดเหตุปล้นปืนที่ค่ายปิเหล็ง ซึ่งรอซีดะห์เรียกมันว่าเป็นอาการ “พลุแตก” โดยเฉพาะช่วง 2547-2550 เป็นช่วงที่สถานการณ์หนักมากและในฐานะนักข่าว นั่นเป็นช่วงที่ “เราก็รู้ว่ามีข้อมูลบางอย่างที่เราไม่สามารถนำเสนอข่าวได้”ขณะที่เกิดความรุนแรงของสถานการณ์ที่มีเรื่องอันเสนอเป็นข่าวไม่ได้

.

เรื่องของความรุนแรงต่อผู้หญิงก็มีและซุกอยู่ภายใน สิ่งที่รอซีดะห์และเพื่อนๆรับมือก่อนอื่นใด ก็คือความรุนแรงจากสถานการณ์ซึ่งกลายเป็นเสมือนประตูเปิดไปสู่ปัญหาในครอบครัว

“สามปีนั้นกดดัน มีถูกกระทำเยอะช่วงนั้นหลายครอบครัว เยียวยาก็ไม่มี เราคุยกับเพื่อนนักข่าวว่าจะทำอย่างไร เพราะเราเจอบางเคสไม่ได้เรียนหนังสือ ไม่มีเงินไปโรงเรียน ก็ทำโครงการใต้ฟ้าเดียวกันกับนักข่าวส่วนกลาง ระดมทุนให้น้อง ๆ ตอนนั้นที่ปะแตก็แรงมาก แล้วก็ไปที่ควนโนรี ที่เทียรยา ตอนนั้นชุมชนตาแกะโดน ปีแรกระดมได้ 27 ทุน

แต่มาสรุปงานปัญหาคือเขาไม่บริจาค ไปช่วยทำไมครอบครัวโจร ปล่อยให้อยู่ไปแบบนั้นแหละ ระดมทุนไม่ออก เราก็เริ่มทำความเข้าใจ คนข้างนอกเริ่มเห็นปัญหาปี 51, 52 เริ่มคลาย เพราะเริ่มจับคนร้ายได้ เราเริ่มรู้ว่ามีขบวนการจริง  ไม่ใช่ของปลอมนะ

.

Patani NOTES:    ปี 2547 ชีวิตผู้หญิงชายแดนใต้เปลี่ยนเยอะไหม

รอซีดะห์: เปลี่ยนเห็นชัดเลยจากหน้ามือเป็นหลังมือ  เรารู้อยู่แล้วส่วนใหญ่คนบ้านเราจะเลี้ยงลูกอยู่บ้าน แล้วถ้าเป็นภรรยาผู้นำเช่นกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ภรรยาก็จะไม่ทำงาน   แต่เราไม่ได้ทำเรื่องสถานการณ์ เพราะเรารู้เราคุยเรื่องนี้ไม่ได้ ในชุมชนคุยไม่ได้ ไม่มีใครกล้า เราเลยบอกว่าเราใช้มิติเรื่องปัญหาผู้หญิงกับเด็ก ก็เป็นเรื่องความรุนแรงในครอบครัว เรื่องการล่วงละเมิดทางเพศ  เรื่องสุขภาวะผู้หญิงเป็นตัวขับเคลื่อนเวลาเอาผู้หญิงมาคุยกัน จัดเวทีแรกก็ไม่มีใครกล้าคุย คุยไม่ได้หรอกเรื่องสามี ภรรยา เรื่องความรุนแรงทางเพศมีไหม เด็กถูกข่มขืนมีไหม เขาบอก มี แล้วใครทำ ก็คนในหมู่บ้านทำ คนมุสลิมทำ  ทำได้ยังไง ก็พูดไม่ได้อีก

ต่อเรื่องทุนก็เริ่มดีขึ้น เงินบริจาคเริ่มดีขึ้นจาก 27 โครงการมาเป็นร้อย  เป็นสองร้อย สูงสุดได้ห้าล้าน ประมาณ 500 เคส เคสละ 4,000 ก็เน้นครอบครัวที่รัฐไม่ช่วย ในขณะเดียวกันเราผลักดันเรื่องการเยียวยา รัฐต้องดูแลเด็ก เพราะว่าคนตาย ตายไปแล้ว

มันก็เป็นจุดเปลี่ยนของผู้หญิงหลังจากที่เจอเรื่องความมั่นคง รวมกลุ่มกันมาทำงานมิติการเยียวยา แต่มีกลุ่มจัดตั้งเยอะ

Patani NOTES:    หลายปีมานี้ ความคิดของผู้หญิงต่อเรื่องความรุนแรงในครอบครัวเปลี่ยนไหม

รอซีดะห์:      ก่อนปี 44 ไม่ยอมรับว่ามี ส่วนผู้หญิงยอมรับแต่ไม่กล้าคุย เพราะไม่มีเวทีให้เขาคุย พอเรามาทำงานเราก็เปิดเวทีให้ผู้หญิง ก็เริ่มมีเคสเข้ามา ทุกคนก็ยอมรับว่ามันมีจริง

เราเชื่อว่าถ้าผู้หญิงรวมตัวกันและมีศักยภาพระดับหนึ่ง ในที่สุดมันก็ต้องไปทำงานกับผู้ชาย

จะเห็นว่าช่วงปี 2019 กับ 2020 ทุกคนเริ่มพูดชัดขึ้นว่ามันถึงเวลาที่เราจะทำงานกับผู้ชาย และเราเห็นว่ามีปัญหาหลายอย่างเกิดขึ้นกับผู้ชายในชุมชนเช่นปัญหายาเสพติด เป็นที่มาว่าทำไมเราต้องขอให้กรรมการอิสลามมาทำงานกับเรา อันนี้เรายังยืนยันว่าเป็นหน้าที่ผู้นำศาสนา ไม่ใช่หน้าที่เรา ผู้หญิงก็ทำหน้าที่ผู้หญิง บริบทของที่นี่เราเชื่อว่ายังต้องแยกกันทำงานระหว่างผู้หญิง ผู้ชาย  เรารู้ว่ากรรมการอิสลามจะเป็นทั้งกลไกสนับสนุน และกลไกที่จะต้องขับเคลื่อนเองด้วย ภายใต้หน้าที่ของเขาโดยตรง

Patani NOTES:    ความหวังไปถึงขนาดไหน

รอซีดะห์:      ถ้าเรื่องผู้หญิง ผู้ชาย มันก็กลับไปตรงบทบาทหน้าที่ เราจะหลุดกว่านั้นไม่ได้ จะบอกว่าเสมอภาคเท่าเทียม เราคิดว่าไม่ใช่ ความเป็นมุสลิมสำหรับเรามันจะกลับไปที่บทบาทหน้าที่ เราเชื่อว่ามันมีกรอบอยู่แล้ว ถ้าผู้ชายทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด ผู้หญิงทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุดแล้วไปพัฒนากลไกร่วมกันก็จะไปได้

Patani NOTES:    ตอนนี้มีเสียงวิจารณ์ว่าผู้ชายไม่ทำหน้าที่ของตัวเอง

รอซีดะห์:      มันเป็นปรากฎการณ์อย่างนั้นจริง เป็นเรื่องท้าทายที่เราจะต้องยอมรับ คนที่ยอมรับก็เป็นคนทำงานแบบเรานี่แหละ การจะยอมรับ ไม่ยอมรับ มันต้องมีพื้นฐานของข้อมูลที่เป็นจริง  มันมีพ่อข่มขืนลูกจริงนะ มีสามีทำร้ายร่างกายภรรยาจริง มันต้องคุย แต่วันนี้ยังไม่มีพื้นที่นี้ที่จะคุย

Patani NOTES:   ช่วงโควิดระบาด ผู้หญิงทำงานหนักขึ้นไหม

รอซีดะห์:      คนที่ขับเคลื่อนงานเดิมก่อนหน้านั้นส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงอยู่แล้ว พอมีโควิดยิ่งชัดว่าทุกคนต้องออกมาช่วยกัน ซึ่งก็เป็นผู้หญิงอีก แต่ถามว่าผู้ชายช่วยไหม ก็มี เรายังมองว่าเมื่อเทียบกับก่อนหน้า ผู้ชายออกมาทำงานมากกว่า แต่ประเด็นคือพอเกิดโควิด เดิมผู้หญิงต้องทำงานอยู่แล้วในแง่การดูแลครอบครัว พอผู้หญิงทำงานไม่ได้มันช็อกเลย  เมื่อก่อนถ้าผู้ชายไม่ทำงาน ผู้หญิงออกมาทำงาน ก็สามารถช่วยดูแลครอบครัวได้ พอเจอโควิดทุกคนต้องอยู่บ้าน ถามว่าเกิดอะไรขึ้นกับครอบครัว แน่นอนเรื่องอาหารการกิน เรื่องรายได้

เราก็เจอว่าภาวะความเครียดสูงขึ้น ทั้งครอบครัวที่มีผู้หญิงเดี่ยวที่แบกรับภาระคนเดียว ครอบครัวที่มีผู้ชายผู้หญิงที่เป็นสามีภรรยาก็มีความเครียดมากขึ้น สามีไม่ทำงาน ภรรยาทำไม่ได้ รายได้ลด เงินเก็บก็ไม่มี ในเชิงตัวเลขจากเคสเรา 500 เคส คนที่อยู่ได้ก็เป็นกลุ่มข้าราชการที่กินเงินเดือนประจำ ข้อมูลที่บอกให้เราเห็น ในกรณีที่เป็นครอบครัวสมบูรณ์ มีสามีภรรยาช่วยกันทำมาหากิน เป็นความเครียดที่อยู่ในบ้าน แต่กรณีแม่เลี้ยงเดี่ยวและมีปัญหาในครอบครัว จะแสดงออกมาในรูปแบบของการฟ้องหย่า ซึ่งเราเห็นชัดจากตัวเลขของกรรมการอิสลาม มีผู้หญิงไปขอฟ้องหย่าสูงขึ้นเท่าตัว ไล่ตั้งแต่เดือนพ.ค.  มิ.ย. ก.ค. (2563) เกิดอะไรขึ้นกับผู้หญิง มันสุดแล้ว ต้องปลดความทุกข์ นั่นอาจจะเป็นแค่ทางออกหนึ่งเท่านั้น แต่ถามว่าคนไม่อยู่ในเงื่อนไขที่ต้องหย่าก็มีอีกเยอะ แต่เราไม่รู้ตัวเลขเหล่านั้น

Patani NOTES:    แล้วผู้ชายมีร้องเรียนบ้างไหม

รอซีดะห์:      มี แต่ไม่เยอะ ผู้ชายจะมาร้องเรียนว่าตามหาภรรยา ภรรยาไม่ได้ดูแลครอบครัว ทิ้งลูกให้ต้องดูแล แล้วก็ไปมีใหม่ เราไม่รู้ว่าจริง หรือไม่จริง แต่เรารับรู้ว่ามีเรื่องแบบนี้ มองแบบไม่ได้เข้าข้างผู้หญิง เราคิดว่าก็น่าจะมี

Patani NOTES:   เกิดอะไรขึ้น ผู้ชายไม่รับผิดชอบหรืออย่างไร

รอซีดะห์:    ต้องไปถามผู้ชาย ถามสังคมว่าเกิดอะไรขึ้น แต่คิดว่าถึงจะเกิดอะไรก็แล้วแต่ความรับผิดชอบก็ยังคงเป็นความรับผิดชอบของผู้หญิง ผู้ชาย ที่ต้องทำงานร่วมกัน ไม่ว่าสถานการณ์ความมั่นคง หรือในอนาคตก็เป็นโจทย์ใหญ่ที่เราต้องนั่งคิด ว่าจะทำอย่างไรที่จะทำให้ทั้งผู้หญิง ผู้ชายมีหน้าที่ร่วมกัน สุดท้ายก็เพื่อครอบครัวตัวเอง ก็กลับไปที่รากของปัญหาที่เราบอกว่าก่อนที่คุณจะแต่งงาน คุณได้คุยเรื่องนี้ไหม 

วันนี้ถ้าเรามองว่า ต้นของปัญหามันอยู่เริ่มต้นของการวางแผนการมีครอบครัว กระบวนการแต่งงานระหว่างผู้หญิง ผู้ชาย ที่เป็นคนรุ่นใหม่ ถ้ากลไกที่มีอยู่แล้วน่าจะมีส่วนอยู่แล้ว ถ้าไปทำตรงนี้จะช่วยได้ไหม น่าจะช่วยได้ คนรุ่นใหม่จะรู้สึกว่าถ้าเขาจะมีครอบครัว เขาต้องคำนึงถึงอะไร อย่างน้อยเขาต้องมีงานทำ  เมื่อมีลูก มีภรรยาเขาจะต้องรับผิดชอบอะไรในเชิงสังคม หรือมีปัญหา มีวิธีการจัดการยังไง  ถ้ามีปัญหาจนนำไปสู่การหย่าร้างจะดูแลยังไง

เราก็เริ่มใช้มาตรการทางกม.มาคุ้มครองผู้หญิง ให้ได้รับความเป็นธรรมในเรื่องการดูแล หลายเคสเราเริ่มพาไปฟ้อง เป็นตัวอย่างว่าผู้ชายทิ้งลูก ภรรยาคุณไม่ได้แล้วนะ มันไม่ใช่ง่ายเพราะบ้านเราเป็นแบบนี้อยู่

คนทำงานแบบเรามองว่าทำได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ไหม ก็ไม่ได้ มันก็ต้องมีกลไกอื่นมาช่วย กลไกที่มาช่วยต่อมันต้องเกี่ยวข้องกับโครงสร้างเชิงอำนาจทั้งโครงสร้างของรัฐไทย และโครงสร้างในท้องถิ่นซึ่งมันมีอยู่แล้ว มีผู้นำศาสนามีส่วนเกี่ยวข้อง คือสำนักงานคณะกรรมการอิสลาม เป็นโครงสร้างเชิงอำนาจหนึ่งที่เขาต้องจัดการ

Patani NOTES:     มีคนไม่ชอบไหม ที่มาทำงานแบบนี้

รอซีดะห์:      ปกติ เราเจอมาตั้งแต่ทำข่าว เราผ่านมาได้ แล้วเราคิดว่าในมิติที่มันเกี่ยวข้องกับความรับผิดชอบเรา ในฐานะที่เป็นมุสลิมทำไมเราต้องกลัว เพราะสิ่งที่เรากำลังพูดมันเป็นอามานะที่เราต้องทำ

Patani NOTES:     ถ้าเปลี่ยนอะไรได้ อยากเปลี่ยนอะไรที่สุด

รอซีดะห์:      เราขอให้ทุกคนเปลี่ยนตัวเอง เราเชื่อว่าถ้าทุกคนเปลี่ยนตัวเองได้ภายใต้บทบาทที่ตัวเองมีอยู่ มันจะทำให้สังคมเปลี่ยน เราเป็นผู้หญิงทำงานประเด็นผู้หญิง เราก็ต้องทำให้ผู้หญิงที่อยู่ภายใต้โครงการเรา หรือกิจกรรมเปลี่ยนแปลงตัวเอง

กระบวนการทำงานของเรา เราสร้างคนใหม่ ๆ ขยายพื้นที่ตลอดเพราะเราเชื่อว่าการเปิดพื้นที่ เหมือนน้ำ โยนไปต้องสร้างแรงกระเพื่อมให้ได้ ถ้าเราโยนคนเดียวก็ไม่แรงพอ เธอต้องมาช่วยกันโยน แต่เราอยู่สามจังหวัดมันไม่ใช่แค่แรงกระแทกมุสลิมกับมุสลิม

ถ้าพูดเชิงพหุวัฒนธรรมเราก็ต้องดูแลคนที่เป็นชนกลุ่มน้อยที่อยู่ในสังคมเรา หมายถึงพี่น้องพุทธ ในขณะที่เราพูดถึงสังคมใหญ่เราก็เป็นชนกลุ่มน้อยเราก็เรียกร้องให้ชนกลุ่มใหญ่ดูแลเรา เพราะฐานที่เราทำงานเราทำทั้งพุทธ มุสลิม เราจะทิ้งไม่ได้ เราจะบอกว่าเราไม่สนใจพี่น้องพุทธไม่ได้

เครดิตภาพ :รอซีด๊ะห์ ปูซู

(Visited 222 times, 1 visits today)
Close