ฌัชชา นูนคาน
.
กริชรามันจำนวนหนึ่งวางอยู่บนแท่นแสดงงานในพื้นที่ของกลุ่มมลายูลิฟวิ่ง สีไม้ต่างเฉดกันไปบนกริชที่ดูอ่อนช้อยแต่ก็เข้มแข็งในเวลาเดียวกัน ตีพะลี อะตะบู เป็นครูช่างศิลปหัตถกรรมชื่อดัง ประธานกลุ่มกริชรามันห์ เขาเป็นเจ้าของงานกริชที่นำไปแสดงหนนั้นเมื่อหลายสัปดาห์มาแล้ว อ.ตีพะลีอธิบายว่าหัวกริชเหล่านี้มีที่มาและแต่ละอย่างมีความหมายในตัวของมันเอง
.
หัวกริชที่แสดงในวันนั้นมีสามแบบด้วยกัน คือ ‘ดือรอ’ ‘บอตอกาลอ’ และ ‘ตามืองง’ อ.ตีพะลีเล่าว่าหัวกริชเหล่านี้เป็นเอกลักษณ์ของกริชปัตตานีที่ไม่เหมือนใคร
.
อ.ตีพะลีเล่าว่า กริชเป็นของเดิมมีมานาน แต่ผ่านการเปลี่ยนแปลงตามห้วงเวลาและการเปลี่ยนแปลงอันมาจากการที่ผู้คนในพื้นที่หันไปนับถือศาสนาอิสลาม อิทธิพลจากหลักคิดอิสลามทำให้มีการแปลงโฉมหัวกริชมาเป็นรูปแบบใหม่ และหิวกริชแบบของปัตตานีที่มีหน้าตาไม่เหมือนใครนั้น ก็เป็นผลพวงอันหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงนี้ด้วย
ในกลุ่มหัวกริช 3 รูปแบบที่อ.ตีพะลีนำไปแสดง ชื่อของหัวกริชอาจต้องการคำอธิบายเพิ่มเติม คำว่าดือรอ บอตอกาลอ และตามืองง มีผู้รู้อธิบายศัพท์เหล่านี้ที่เป็นมลายูถิ่น โดยคำว่าดือรอ ในภาษามาลายูกลางและมลายูอินโด อาจหมายถึงเทวาหรือกึ่งเทพ ในขณะที่ในภาษามลายูถิ่นมีคำที่ใกล้เคียงเทียบได้คือจือดือรอ แปลว่าไม่สมบูรณ์ ส่วนบอตอกาลอนั้น ถ้าแยกคำ บอตอแปลว่าอสูร ส่วนกาลอคือพระกาฬ และท้ายสุดคำว่า ตามืองง Tememgong คนไทยรู้จักกันคือคำว่า ตำมะหงง เสนาบดี
.
คำอธิบายแบบนี้น่าจะทำให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นเมื่อ อ.ตีพะลีบอกว่าหัวกริช ‘ดือรอ’ นั้นในอดีตประชาชนทั่วไปใช้ มีลักษณะเด่นคือตาจะสื่อถึงความเศร้าน่าสงสาร เปลือกตาหนา แววตาและหัวก้มลง สื่อถึงความจงรักภักดีต่อเจ้านายหรือกษัตริย์ มีลวดลายหยาบๆ ใช้ลายกนกปารวะหรือดอกลายมลายูโบราณ
.
ส่วน หัวกริช ‘บอตอกาลอ’ นั้นเป็นกริชใช้กันในเหล่าขุนนาง แม่ทัพนายกอง ลักษณะเด่นคือดูแล้วน่ากลัว น่าเกรงขาม มีความดุดันก้าวร้าว เข้มแข็ง ตาโต หัวเงยขึ้น ผงาด คอเชิด ปลายดอกคมเหมือนหนาม
.
ท้ายสุดหัวกริช ‘ตามืองง’ นั้นมีไว้สำหรับระดับเจ้าเมือง รัฐมนตรี หรือกษัตริย์ใช้ ลักษณะเด่นคือมีลวดลายที่ละเอียดกว่าหัวกริชแบบอื่นๆ ดอกลายอ่อนช้อย ดูแล้วน่านับถือ สง่างามมีราศี หัวก้มลงเล็กน้อย ตาไม่โตมากนักและมองต่ำ เอียงหน้าเล็กน้อย เสมือนกำลังเฝ้าดูประชาชนอยู่
อ.ตีพะลีเล่าว่า กริชมีลักษณะเป็นอาวุธก็จริง แต่โดยสถานะเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องแต่งกายประจำกายของผู้ชายที่แสดงถึงฐานะทางสังคมและยศถาบรรดาศักดิ์ของทั้งไทยพุทธและมุสลิมในพื้นที่ภาคใต้สมัยก่อน ถือเป็นศาสตราภรณ์ เป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งในการบริหารบ้านเมืองที่เป็นการแบ่งระบบการเมืองการปกครองและชนชั้นทางสังคมในสมัยก่อน โดยประชาชนทั่วไปจะใช้กริช 5 คต แม่ทัพนายกองใช้กริช 7 คต และกษัตริย์หรือเจ้าเมืองใช้กริช 9 คตขึ้นไป คตที่ว่านี้หมายถึงลักษณะการคดโค้งไปมาของใบมีดนั่นเอง
.
กริชเป็นสิ่งที่ทำกันขึ้นตั้งแต่สมัยที่ชาวมลายูยังนับถือผีบรรพบุรุษ มีหมอผีและหัวหน้าเผ่า การทำหัวกริชในช่วงนั้นไม่มีการแบ่งชนชั้น ต่อมามีการเผยแพร่ศาสนาฮินดู-พราหมณ์ในพื้นที่ ทำให้ชาวมลายูเปลี่ยนความเชื่อจากการนับถือผีมานับถือเทพ จึงเริ่มมีการทำหัวกริชที่บ่งบอกชนชั้นวรรณะของเจ้าของ
.
อ.ตีพะลีเล่าว่าคนทั่วไปมักมองว่าหัวกริชแบบปัตตานีเหล่านี้มีหน้าตาเป็น ‘นกพังกะ’ เพราะสังเกตจากจมูก แต่ความจริงแล้วหัวกริชเหล่านี้เป็น ‘ยักษ์พระพิราพ’ ซึ่งเป็นปางหนึ่งของพระศิวะ
.
อ.ตีพะลีบอกว่าเมื่อศาสนาอิสลามเข้ามาเผยแพร่ ทำให้ช่างไม่สามารถใช้หัวกริชแบบเดิมที่หน้าตาเป็นเทพหรือยักษ์ได้ จึงต้องแปลงโฉมหัวกริชใหม่ หัวกริชใหม่ที่ว่านั้นลดรูปแบบเดิมจนเกือบหมดเหลือเพียงเขี้ยว ขา และกำไลขาของยักษ์เอาไว้ เพิ่มในส่วนของจมูกเพื่อใช้เป็นสนับมือ สิ่งสำคัญของการแปลงโฉมเช่นนี้ อ.ตีพะลีบอกว่าทำให้เทพเหล่านี้ลดเหลือเป็นเพียงนามธรรม หัวกริชแบบนี้เรียกว่า ‘หัวกริชตาญง’ มุสลิมสามารถใช้ได้ และผู้หญิงก็สามารถใช้ได้
.
การทำหัวกริชหนึ่งชิ้นใช้เวลาประมาณ 4 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับว่าลวดลายมีความละเอียดมากน้อย อ.ตีพะลีบอกว่าเขาทำกริชขายเพราะกริชเป็นสิ่งที่มีความเชื่อมโยงกับวิถีชีวิตของชาวมลายูรุ่นแรก เป็นการเอาทุนทางวัฒนธรรมดั้งเดิมมารักษาไว้และ “บอกต่อ” ไปเรื่อยๆ
.
นอกจากนี้ อ.ตีพะลียังได้สอนการทำกริชให้แก่เด็กมัธยมต้นในพื้นที่อ.รามัน จ.ยะลา อีกด้วย อ.ตีพะลีเล่าว่า การสอนทำกริชเปรียบเสมือนการถ่ายทอดความรู้และปลูกฝังศิลปวัฒนธรรมให้คนรุ่นใหม่เห็นคุณค่าของวัฒนธรรมเดิม ให้เข้าใจถึงวัฒนธรรมและสังคมพหุวัฒนธรรมของชาวมลายูที่ถูกทับซ้อนกันมา และเพื่อเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยผลักดันให้คนรุ่นใหม่ในพื้นที่ห่างไกลจากยาเสพติด