Written by 2:19 am Environment, Patani Notes

บทเรียนจากนิคมอุตสาหกรรมและท่าเรือแหลมฉบังกับคนจะนะ

วลัย บุปผา

เราติดตามการเดินทางของ “รุ่งเรือง ระหมันยะ” ชาวบ้านจาก อ.จะนะ จ.สงขลา มาที่ อ.แหลมฉบัง จ.ชลบุรี เพื่อร่วมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่องสิทธิชุมชนประมงพื้นบ้านในการจัดการทะเล การประมงและเพาะเลี้ยง บนฐานนิเวศที่ยั่งยืนและเป็นธรรม ตัวอย่างสถานการณ์ของชุมชนพื้นบ้านภาคตะวันออก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อ่าวแหลมฉบังและอ่าวบางละมุง ฉายให้เห็นภาพที่ย้อนกลับไปได้กว่า 30 ปี

กรณีของท่าเรือแหลมฉบังที่มีการเวนคืนที่ดินเพื่อก่อสร้างโครงการท่าเรือน้ำลึกตั้งแต่ปี 2521 ปัจจุบัน ครอบครัวที่ถูกเวนคืนที่ดิน ขณะนี้มีลูกหลานเป็นรุ่นที่ 3 แล้วนับจากวันก่อสร้างท่าเรือก็ยังไม่ได้เงินทดแทนการเวนคืนที่ดิน อมรศักดิ์ ปัญญาเจริญศรี ตัวแทนชาวประมงพื้นบ้านอ่าวอุดมยังกล่าวด้วยว่า ตำแหน่งงานและการปันหุ้นที่ “เขา” เคยสัญญาว่าชาวบ้านในพื้นที่จะได้รับนั้น ปัจจุบันก็พิสูจน์แล้วว่าไม่ได้เป็นเช่นนั้น หุ้นไม่ได้ถูกปันส่วนให้ชาวบ้าน ไม่มีใครในแหลมฉบัง อ่าวอุดม เป็นหุ้นส่วนท่าเรือแหลมฉบัง ตำแหน่งงานกว่าร้อยละ 80 เป็นแรงงานต่างถิ่นที่อพยพเข้ามาอยู่ในจังหวัดชลบุรี

สายตาของบังนี หรือ ชื่อเดิม อับดุลฆอนี แต่ต้องเปลี่ยนชื่อเนื่องจากถูกจดจำและติดตามจากเจ้าหน้าที่ตั้งแต่เริ่มเคลื่อนไหวและเรียกร้องให้ทบทวนการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมจะนะ เมื่อทอดมองท้องทะเลหน้าอ่าวอุดม จ.ชลบุรี ภาพที่ประจักษ์ตรงหน้า เห็นได้ว่าพื้นที่ทะเลที่ชาวประมงพื้นบ้านอ่าวอุดมสามารถทำมาหากินได้มีเหลือเพียง 20% พื้นที่ทางทะเลทั้งหมด เนื่องจากในบริเวณอ่าวอุดมถึงแหลมฉบัง มีท่าเรือพาณิชย์ จำนวน 8 ท่า และขณะนี้กำลังมีโครงการขยายท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 เข้ามาจ่อที่หน้าอ่าวย่านนี้

เมื่อนึกถึงชายหาดจะนะที่มีความยาวมากกว่า 26 กิโลเมตร ระดับน้ำห่างจากฝั่งออกไปกว่า 10 กิโลเมตร มีความลึกอยู่ที่ระดับ 9 เมตร บังนีกล่าวว่าทะเลหน้าบ้านเขาเป็นทะเลตื้น ไม่เหมาะกับการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สัตว์น้ำเศรษฐกิจที่มีมากกว่า 100 ชนิด บังนีและชาวบ้านใฝ่ฝันว่าจะทำให้จะนะเป็นฐานทรัพยากรอาหารของสงขลาและอาเซียน

            “ถ้าหน้าบ้านผมเป็นแบบนี้ ผมและพี่น้องผมต้องแย่แน่ๆ แย่ถึงขั้นขีดสุด แย่ชนิดที่ว่าอยู่ไม่ได้”

.

ในประเด็นของการต่อต้านการพัฒนานั้น บังนีอธิบายว่า เขาและชาวบ้านถูกมองว่าขัดขวางการพัฒนา เป็นพวกหวงแหนพื้นที่ เห็นแก่ตัว บีงนีกล่าวว่า ไม่ใช่ ไม่ยินดีกับการพัฒนา แต่การพัฒนานั้นควรจะดำเนินควบคู่ไปด้วยกันของหลายภาคส่วน

            “ไม่ใช่ทิ้งให้ชาวบ้านอยู่ข้างหลัง แล้วนายทุนหรือคนที่มีทุนทรัพย์มากกว่าค่อยๆ เฟื่องฟู แต่ในขณะที่เจ้าของพื้นที่ เจ้าของฐานทรัพยากรค่อยๆ ตกต่ำลงและถูกเบียดขับไปอยู่ที่อื่น”

บทเรียนจากแหลมฉบังทำให้คนจะนะอย่างบังนีมองเห็นว่าสัญญาที่รัฐเอ่ยว่าจะให้หุ้นแก่ประชาชนที่เข้าร่วมลงชื่อสนับสนุน ดูท่าทางแล้วคงจะเป็นไปได้ยาก เช่นเดียวกับตำแหน่งงานที่สัญญาไว้กว่า 100,000 ตำแหน่ง มากไปกว่านั้น เมื่อวิกฤติโควิด 19 ระบาดทำให้ภาคการท่องเที่ยวและอุตสาหรรมต้องชะงักตัวลง แต่ประมงพื้นบ้านของจะนะยังหล่อเลี้ยงผู้คนในชุมชน และส่งเป็นฐานอาหารให้กับโรงพยาบาลท้องถิ่นและชุมชนใกล้เคียง แม้การขนส่งอาหารทะเลสดในระยะไกลจะทำไม่ได้ แต่ก็ยังสามารถขายได้กับจังหวัดใกล้เคียง วิกฤติที่ทำให้คนจะนะเห็นทางรอดอยู่บนพื้นฐานทรัพยากรที่มีอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์หน้าบ้าน

ภาพ Somboon Khamhang

บทเรียนจากภูมิภาคอื่นๆ ที่ฉายภาพผลกระทบต่อชุมชนชาวประมงท้องถิ่น ทั้งหมดนี้ผลักดันให้บังนี เดินทางไกลจากบ้านมาร่วมรับฟังและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และยืนยันในสิทธิของผู้คนบนฐานทรัพยากร

ล่าสุดเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2563 บังนีและเพื่อนไปยื่นหนังสือที่กรมโยธาธิการและผังเมือง เพื่อคลี่คลายข้อสงสัยเรื่องกฎหมายผังเมืองที่เขตอำเภอจะนะถูกเปลี่ยนเป็นพื้นที่สีม่วง โซนอุตสาหกรรมทั้งที่เพิ่งประกาศเป็นพื้นที่สีเขียวสำหรับเกษตรกรรมได้ไม่ถึง 3 ปี  

ขณะที่โลกกำลังขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจสีน้ำเงิน (Blue Economy) เป็นวาระสำคัญ ที่เน้นย้ำถึงความยั่งยืนของการใช้ฐานทรัพยากรทะเลในการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างเป็นธรรม มีการจัดการประมงทั้งพาณิชย์และพื้นบ้านอย่างเท่าเทียม คำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม การท่องเที่ยวและการจัดการขยะ แต่สิทธิของของคนประมงพื้นบ้านในประเทศไทยยังต้องถูกทวงถามหาความเป็นธรรมโดยเจ้าของฐานทรัพยากร การจัดการของภาครรัฐจึงเป็นเรื่องที่ต้องจับตากันต่อไปโดยประชาชน

(Visited 418 times, 1 visits today)
Close