โดย Awan Patani
หากการเจรจาที่เกิดขึ้นนั้น เป็นการเจรจาระหว่าง รัฐบาลไทย Royal Thai Government (RTG) กับบีอาร์เอ็น Barisan revolusi Nasional (BRN) ในฐานะตัวแทนชาวปาตานี หรือ Representative of Patani People ไม่ได้สร้างความเสียหายมากมายต่อความรู้สึกของนักศึกษานักกิจกรรมปาตานีที่เคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย และเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิในการกำหนดอนาคตทางการเมืองของตนเอง
ความรู้สึกโกรธ ที่เป็นอิทธิพลจากบรรยากาศทางการเมืองที่ฝ่ายประชาธิปไตยไทยถูกกระทำมาโดยตลอดจนถึง กรณีกรณีการยุบพรรคอนาคตใหม่ ไม่ว่าความรู้สึกไม่ได้รับความยุติธรรมถูกส่งต่อถึงปาตานีในฐานะใดก็ตาม คนที่มีความรู้สึกว่าเราคือคนไทยด้วยกัน หรือคนที่เห็นอกเห็นใจเป็นพันธมิตรกัน มีคำถามว่าฝ่ายปาตานีเข้าสู่กระบวนการเจรจาสันติภาพกับรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากประชาชนอย่างถูกต้องชอบธรรมทำไม
การเจรจาสันติภาพกับผู้แทนรัฐบาลไทยที่ถูกแต่งตั้งโดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาจะชอบธรรมหรือไม่ และประชาชนที่ไม่ยอมรับในการดำรงอยู่ของรัฐบาลทหารประยุทธ์ จันทร์โอชาจะมองเห็นขบวนการเอกราชปาตานีอย่างไร ทำไมจึงเข้าสู่กระบวนการเจรจาสันติภาพ ที่ถูกกำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ 20 ปี โดยการใช้อำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คณะผู้ยึดอำนาจการปกครองจากประชาชนโดยการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 ที่ผ่านมาเท่ากับว่า
“การกำหนดในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี จึงไม่ใช่วาระแห่งชาติที่ถูกกำหนดโดยสภาตามระบอบประชาธิปไตย ”
หากจัดวางการเจรจาสันติภาพระหว่างรัฐบาลไทยกับบีอาร์เอ็นว่า การที่รัฐไทยจะเป็นรัฐบาลประชาธิปไตยหรือไม่ ล้วนเป็น เรื่องภายใน ของรัฐไทย การจัดวางเช่นนี้จะไม่สร้างความเสียหายต่อความรู้สึกมากนัก
ขอทวนความเข้าใจอีกครั้งว่า การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยเป็นเรื่องภายในรัฐไทย และ การเจรจาสันติภาพไม่ใช่เรื่องภายใน ไม่ใช่เรื่องของคนในครอบครัวเดียวกัน แม้นว่าโดยตัวอย่างที่ปรากฎทั่วไปนั้น การเจรจาสันติภาพที่บรรลุข้อตกลงอย่างยั่งยืนเห็นได้ว่าต้องอาศัยบรรยากาศทางการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยก็ตาม
แต่หากคิดกันในฐานะ ” คนไทยด้วยกัน ” ตามที่รัฐบาลไทยสื่อสารมาโดยตลอดว่า เป็นลักษณะความขัดแย้งภายในครอบครัว และยังคงพยายามทำให้เป็นเรื่องภายใน การประเมินสถานการณ์การเมืองภายในจึงเป็นเรื่องสำคัญมากว่า
ปาตานีควรมีจุดยืนและท่าทีทางการเมืองอย่างไรในสภาพการเมืองที่เป็นแบบนี้
ทำไมจึงไม่ควรมองว่าเป็นเรื่องภายในครอบครัวเดียวกัน
การเจรจาสันติภาพ ระหว่างฝ่ายไทยกับฝ่ายปาตานี หนึ่งในเงื่อนไขการต่อสู้ด้วยอาวุธที่เกิดขึ้น จนนำมาสู่การเจรจาสันติภาพ ก็คือความรู้สึกของพวกเขาที่สื่อสารออกมาว่าคนปาตานีไม่ใช่คนไทย ความรู้สึกในเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นชาติที่ต่างกัน หลายขบวนการเอกราชตั้งขึ้นมาบนฐานความเป็นชาติ เช่นเดียวกับ BRN (Barisan Revolusi Nasional) การดำรงสถานะเป็นขบวนการแห่งชาติคือหนึ่งในสาระสำคัญ ดังนั้นการพยายามทำให้เป็นเรื่องภายในครอบครัวเป็นหนึ่งในเงื่อนไข ที่ต้องตระหนักและพิจารณาว่า ต้องแลกและต้องยอมรับหรือไม่ เมื่อคนปาตานีที่ต่อสู้เพื่อเอกราชนั้นไม่ได้รู้สึกว่าตนคือคนไทย เพื่อให้กระบวนการเจรจาสันติภาพนั้นตอบโจทย์กับปัญหารากเหง้าทางการเมือง
สิ่งที่ตัวแทนชาวปาตานีที่นำการต่อสู้ด้วยอาวุธที่เข้าสู่การเจรจาสันติภาพ ควรพิจารณาคือ เมื่อประเด็นความรู้สึก ศักดิ์ศรี และการยอมรับในการมีอยู่ของชนชาติปาตานี ถูกปฏิเสธตลอดกระบวนการเจรจาที่ผ่านมา คำถามอย่างตรงไปตรงมาคือ พวกเขาเข้าสู่การเจรจานี้เพื่ออะไร ! …
อะไรคือ ประโยชน์ ที่พวกเขาจะได้รับจากการเจรจาสันติภาพ
เมื่อพิจารณาถึงเงื่อนไข 5 ข้อของบีอาร์เอ็นที่ผ่าน ก็พอที่จะตีความได้ว่า พวกเขาค่อนข้างระมัดระวังที่จะเข้าสู่กระบวนการเจรจาอย่างเป็นทางการ อาจด้วยเพราะการเป็นองค์กรใต้ดิน หรือเพราะเสถียรภาพทางการเมืองของรัฐไทย แนวนโยบายที่ดูเหมือนให้ความสำคัญกับการจัดการปัญหาด้วยแนวทางทางทหารที่มุ่งปราบปราม ทำให้มีการยื่นข้อเสนอ 5 ข้อ เพื่อเป็นเงื่อนไขในการออกจากการเจรจาสันติภาพ
อย่างไรก็ตามการเจรจาสันติภาพก็ดำเนินมาโดยตลอด และแม้นว่าสภาพทางการเมืองของคู่เจรจาจะเป็นอย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่เป็นข้อเรียกร้องจากทุกขบวนการมาโดยตลอดคือ สิทธิที่จะได้รับการคุ้มครอง (Immunity) เพื่อการทำงานทางการเมืองที่สะดวกมากขึ้น
คำถามคือ การคุ้มครองทางกฎหมาย จะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ในสภาพทางการเมืองแบบนี้ แบบที่ผู้พิพากษาคณากร เพียรชนะ ทำให้เราเห็น เรื่องราวที่เกิดขึ้นกับพรรคอนาคตใหม่ที่ทำให้เราต้องทบทวน ความเละเทะไม่เหลือหลักการทางกฎหมายไว้อ้างอิง การคุ้มครองที่จะเกิดขึ้นจึงเป็นการอุปถัมภ์เท่านั้น เมื่อกระบวนการสันติภาพหยุดที่เรื่องภายใน
อะไร คือ ประโยชน์ ของรัฐบาลไทย ที่จะได้รับจากการเจรจาสันติภาพ
สำหรับฝ่ายไทย เรารับรู้มาโดยตลอดถึงข้อกังวลว่าการเจรจาสันติภาพนั้น จะพัฒนาความขัดแย้งนี้ไปสู่ประเด็น ระหว่างประเทศ หรือไม่ แล้วเหตุผลที่พวกเขาดำเนินการเจรจาอย่างเป็นทางการต่อไป ที่มากไปกว่าความอยากรู้และอยากเข้าถึงข้อมูล ตามที่หลายคนคาด
เมื่อพิจารณา การหยุดยิง (Ceasefire) ที่คุณอนัส อับดุลเราะห์มาน กล่าวถึงในการให้สัมภาษณ์กับ The Reporter ผู้เขียนคิดว่า หากการหยุดยิงคือหนึ่งในความต้องการของรัฐบาลไทย คือประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นหลังบรรลุข้อตกลง เราต้องขอบคุณรัฐบาลไทยที่ต่อรองจนทำให้เกิดสภาวะหยุดยิง นี่คือประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ จากความพยายามของรัฐไทย
แม้ว่าการใช้อาวุธจะเป็นวิธีการต่อต้านเจ้าอาณานิคมในเชิงสัญลักษณ์ ขณะเดียวกันมันก็เป็นปัญหาต่อวิถีชีวิตของประชาชนทุกคนด้วย นี่คือสิ่งที่ขบวนการเอกราชปาตานีต้องทบทวน ว่าพร้อมที่จะลบภาพแห่งการต่อต้านแบบเดิมออกไป และฟื้นฟูชีวิตประชาชนที่ตกอยู่ในสภาพแวดล้อมแห่งความกลัวที่เกิดขึ้นจากปฏิบัติการทางอาวุธของตนเองหรือไม่
หลังจากหยุดไปแล้วพวกเขาจะสู้ในแบบที่ต่างไปจากเดิมอย่างไร สัญลักษณ์แห่งการต่อต้านด้วยอาวุธ จะถูกแทนที่ด้วยการต่อต้านแบบไม่ใช้อาวุธได้จริงหรือไม่ ในเมื่อเรื่องเล่าเกี่ยวกับการต่อสู้อย่างสันติวิธีมีราคาที่ต้องจ่ายมากมายและไม่คุ้นเคย แนวทางนี้จะสามารถนำมาใช้เป็นแนวทางหลักได้หรือไม่ และมีเงื่อนไขที่เรามักได้ยินกันเสมอว่า เพราะประเทศไทยไม่เป็นประชาธิปไตย ไม่มีเสรีภาพทางการเมือง การต่อสู้ด้วยอาวุธจึงเกิดขึ้น
คำถามคือ การหยุดยิงจะสามารถทำให้เกิดทางเลือกใหม่ในการต่อสู้ได้หรือไม่ ในสภาพทางการเมืองที่เป็นแบบนี้ หากคำตอบคือ ไม่ และแน่นอนว่าการต่อสู้ด้วยอาวุธระลอกใหม่มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา
ทำไมขบวนการเอกราชไม่ประกาศหยุดยิงฝ่ายเดียว ประกาศหยุดยิงด้วยตัวเอง การประกาศที่มิได้เกิดจากการต่อรองทางการเมือง
การประกาศหยุดยิงฝ่ายเดียวน่าจะเป็นทางที่ดีกว่าการหยิบยกเครดิตให้ฝ่ายรัฐบาลไทย หากการใช้อาวุธของขบวนการเป็นปัญหาต่อวิถีชีวิตประชาชน การเลือกประกาศสัตยาบัน บันทึกข้อตกลงในการปกป้องพลเรือน แล้วปรับยุทธศาสตร์การใช้อาวุธ กำหนดหลักปฏิบัติอย่างชัดเจน หลีกเหลี่ยงพลเรือนให้มากที่สุด น่าจะเป็นสิ่งที่ควรทำมากกว่าการเจรจาสันติภาพที่นำไปสู่ข้อตกลงหยุดยิงอันเป็นผลจากการต่อรองทางการเมือง ซึ่งมันทำให้คำถามโดยทั่วไป ได้รับการยืนยันว่า อำนาจการต่อรองของพวกเขาคือการใช้อาวุธ การใช้ความรุนแรงอย่างเดียว
สุดท้ายนี้คือข้อคิดเห็นหลังจากที่มีการรวบรวมข้อเสนอผ่าน กลุ่มคนที่เรียกตนเองว่า ภาคประชาชน ที่มีการเสนอประเด็นสำคัญต่าง ๆ ต่อคณะผู้แทนฝ่ายไทย เช่น ความเป็นธรรม , การยกเลิกกฎอัยการศึก การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม , ความปลอดภัย , เสรีภาพทางการเมือง , การยอมรับเคารพในอัตลักษณ์ศักดิ์ศรี , การกระจายอำนาจ เป็นต้น
การรับฟังอย่างตั้งใจที่เกิดขึ้นทุกครั้งเมื่อมีกระบวนการเจรจา คือประโยชน์ที่ชาวปาตานีจะได้รับจากการเจรจาเช่นนั้นหรือไม่ หากเป็นเช่นนั้นมันก็สะท้อนว่าระบอบการเมืองการปกครองของประเทศนี้มีปัญหามากมายและฝังรากลึก
ทั้งที่จริงแล้วประเด็นดังกล่าวข้างต้น เป็นปัญหาที่พลเมืองทั้งประเทศต้องการ เรายังจำชัยภูมิ ป่าแส , บิลลี่ , 99 ศพ ราชประสงค์ , การอุ้มฆ่าในต่างแดน ได้ใช่ไหมครับ
ดังนั้นสิ่งเหล่านี้จึงไม่ควรเป็นสารัตถะในการเจรจาต่อรองใด ๆ เลย สิ่งเหล่านี้ประชาชน คนในพื้นที่ทำงานได้เรียกร้องต่อสู้มาโดยตลอด และรัฐที่ดีก็ควรเปลี่ยนแปลงสิ่งเหล่านั้นให้มันดีขึ้นโดยไม่จำเป็นต้องเจรจากับขบวนการเอกราช
สำหรับประชาชนชาวปาตานี/สามจังหวัดสี่อำเภอ
“เราเชื่อกันจริง ๆ หรือว่า ความเลวร้ายทั้งระบอบจะเปลี่ยนแปลงได้จากการเจรจาสันติภาพ”
#พูดคุยสันติภาพ
#สามจังหวัดชายแดนภาคใต้