Written by 6:06 pm Patani Notes

ความหวัง ความฝัน ความสัมพันธ์ บนหน้าแผ่นดิน

Patani Notes ชวนอาจารย์แพร ศิริศักดิ์ดำเกิง นักมานุษยวิทยา จากคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้ที่ทำงานด้านวัฒนธรรม มาร่วมสนทนาถึงสิ่งที่อาจารย์แพรเฝ้ามองความเป็นไปทั้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้และสังคมไทย ตลอดสองทศวรรษที่ผ่านมา 

“ก่อนอื่นเลย อาจารย์แพรเป็นคนที่ไหนกันแน่” 

เป็นคนยะลาแต่เกิดที่กรุงเทพฯ ชีวิตไม่ควรจะไปอยู่ที่ยะลาเพราะว่าพ่อแม่อยู่กรุงเทพฯ มันมีอุบัติเหตุในชีวิตทำให้ถูกส่งไปอยู่ที่ยะลาตั้งแต่อายุ 10 เดือน หลังจากนั้นก็มาเรียนมัธยมปลายที่กรุงเทพฯ 15 ปีที่อยู่ยะลาเป็นความผูกพัน เคยถามอาม่าซึ่งเกิดและอยู่ในยะลาทั้งชีวิตว่าถ้าเขาแบ่งแยกดินแดนอาม่าจะย้ายไหม อาม่าบอกว่าไม่ไป จะอยู่ที่นี่ ที่นี่เป็นบ้านของอาม่า และเป็นบ้านของพวกเรา หลาน ๆ ทุกคนก็คิดเช่นนั้น แม้วันนี้เราจะอยู่และทำงานนอก 3 จชต. แต่ก็ยังหาทางกลับมาทำงานที่บ้านเสมอ 

“อะไรคือสิ่งที่เป็นความผูกพันระหว่างคนเชื้อสายจีนกับพื้นที่สามจังหวัด”

อาจไม่ใช่เรื่องของคนจีนที่ผูกพันกับพื้นที่ แต่น่าจะเป็นเรื่องของคนจีนกับคนที่เป็นเจ้าของพื้นที่มากกว่า อาม่าเกิดและโตที่ท่าสาป (อยู่ในเขตอำเภอเมือง จังหวัดยะลา) ก่อนย้ายเข้ามาอยู่ในเขตตัวเมือง เขาเป็นลูกคนจีนที่มีฐานะ มีเพื่อนที่คอยดูแลกันมาตั้งแต่เด็กเหมือนพี่เลี้ยงเป็นผู้ชายมลายูมุสลิมชื่อเจ๊ะซอ เราไม่เคยรู้สึกว่าเจ๊ะซอเป็นลูกจ้างแต่เจ๊ะซอเป็นผู้ใหญ่ที่เราจะต้องให้ความเคารพ ทุกครั้งที่เจ๊ะซอมา เราก็ต้องเข้าไปทำความเคารพ

ทุกครั้งที่เจ๊ะซอเข้ามาในเมือง ก็ต้องแวะมาหาอาม่า ซึ่งเป็นเด็กผู้หญิงที่เขาเคยดูแล พวกเขาคุยกันเป็นภาษามลายู หลานๆ ไม่รู้หรอกว่าเขาคุยอะไรกัน มันเป็นความผูกพันคนสองคน พวกเขาไปมาหาสู่จนกระทั่งตายจากกัน

“ทุกวันนี้เยื่อใยแบบนี้ยังมีอยู่อีกไหม” 

ไม่แน่ใจเหมือนกัน แต่ถ้ามองจากชีวิตตัวเอง หรือการทำงานในพื้นที่ ความสัมพันธ์ระหว่างคนจีน คนไทยพุทธ และมลายูมุสลิมเปลี่ยนไปมาก สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือมุสลิมมีความเคร่งครัดมากขึ้น เราไม่ได้จะบอกว่าความเคร่งครัดไม่ดี แต่บางครั้งทำให้เกิดระยะห่างระหว่างกัน เช่นเรื่องอาหารที่เราอาจต้องแยกกันกิน อันนี้ยังพอเข้าใจได้ แต่ว่าความเปลี่ยนแปลงบางเรื่องอาจทำให้คนพุทธและคนจีนรู้สึกแปลกไป คนพุทธมักพูดว่าเมื่อก่อนเพื่อนมุสลิมมางานศพญาติพี่น้องเราได้ เรื่องแบบนี้มันเป็นวิกฤติของชีวิต มันเป็นหน้าที่ของเพื่อน เป็นความคาดหวังว่าคนที่เรารักที่จะมาแสดงความเสียใจ แต่ทำไมเขามาไม่ได้ ทำไมเวลาเราไปหาเขา เราไปได้ มันเป็นคำถามหลายอย่างที่คาใจคนจีน คนพุทธ มันเป็นความเปลี่ยนแปลงที่มาก่อนปี 2547 

อันที่สองปฏิเสธไม่ได้ว่าความรุนแรงยื้ดเยื้อยาวนานส่งผลมากกับความสัมพันธ์ เราไม่สามารถไปมาหาสู่กันได้เหมือนเดิม ร้านน้ำชาที่เคยเป็นพื้นที่ปฏิสัมพันธ์ก็ลดลง โรงเรียนเป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่ทำให้คนกลุ่มต่างได้มาเจอกัน แต่ด้วยเหตุปัจจัยหลายอย่าง เช่นคนไทยพุทธ คนจีนส่งลูกหลานไปเรียนนอกพื้นที่ ขณะที่ในพื้นที่โรงเรียนเอกชนสอนศาสนามีมากขึ้นและเป็นทางเลือกของมุสลิม การไปเรียนโรงเรียนรัฐบาลด้วยกันก็ลดลง พื้นที่ที่เคยเป็นพื้นที่ร่วมกันหลายแห่งหายไป ไทยพุทธหรือจีนรู้จักเพื่อนมุสลิมน้อยลง หรือเพื่อนมุสลิมก็รู้จักเพื่อนจีนและไทยพุทธน้อยลง โอกาสที่เราจะได้เรียนรู้กัน แลกเปลี่ยนทุกข์สุขกันน้อยลงไปมาก ข้อค้นพบที่เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยที่ทำมา คือ ในระหว่างความสัมพันธ์รเราเป็น “คนคุ้นเคยที่แปลกหน้า” ของกันและกัน ในหมู่บ้านที่เราทำวิจัย เห็นว่าเป็นเพื่อนบ้านกันอาจเคยเล่นด้วยกัน พูดคุยทักทายกัน อาจเคยเป็นเพื่อนกันสมัยเรียนประถม แต่เมื่อเกิดความรุนแรงยาวนานและตัวแปรอื่นๆ ในพื้นที่ เราต่างห่างกันไปจนท้ายสุดกลายป็นคนแปลกหน้า ความแปลกหน้าคือความไม่ไว้วางใจ ความไม่ไว้วางใจนำไปสู่ความไม่ปลอดภัย เรากำลังอยู่บนความรู้สึกที่ไม่มั่นคง ไม่วางใจคนที่อยู่ข้างบ้าน ตอนนี้ความสัมพันธ์ของคนใน 3 จชต. บางพื้นที่อยู่ในสถานะ “คนคุ้นเคยที่แปลกหน้า” นี้ 

“ต่างคนต่างอยู่ไม่ดีหรือ” 

ดีนะถ้าเราเป็น “คนแปลกหน้าที่คุ้นเคย” อันนี้ต่างกับคนคุ้นเคยที่ที่แปลกหน้า เพราะตอนแรกเป็นคนแปลกหน้าก่อนแล้วมาคุ้ยเคยกันนั่นแปลว่าในความสัมพันธ์ไม่เคยมีสิ่งที่ทำให้เรากลายเป็นคนที่ไม่ไว้วางใจกัน เหมือนเราอยู่ในหมู่บ้านจัดสรรในกรุงเทพฯ แรกๆ เราเป็นคนแปลกหน้ากัน พอเห็นหน้ากันไปทุกวันก็เป็นคนคุ้นเคยด้วย แม้ไม่ได้คุยกันก็คุ้นเคย ถ้าวันหนึ่งมีเรื่องเดือดร้อนก็กล้าที่จะไปขอความช่วยเหลือ เพราะพอจะคุ้นหน้าคุ้นตา แต่สำหรับคนคุ้นเคยที่แปลกหน้ากลับกันเคยไว้วางใจกล้าขอความช่วยเหลือกัน แต่เมื่อกลายเป็นคนคุ้นเคยที่แปลกหน้า นั่นแปลว่าความสัมพันธ์มันคลอนแคลน หลายหมู่บ้านในพื้นที่จชต.ยังมีความสัมพันธ์ที่ดี แต่ว่าหลายหมู่บ้านไม่หนีไปจากสิ่งที่เราเห็นจากงานวิจัย ต่างคนต่างอยู่ดีไหม ถ้าอยู่แบบคนแปลกหน้าที่คุ้นเคยก็อาจจะดี แต่อยู่แบบคนคุ้นเคยที่แปลกหน้าอาจจะอันตราย 

“ความสัมพันธ์ของผู้คนในสามจังหวัดมีโอกาสจะดีขึ้นไหม” 

ตอบยากนะ มีตัวแปรเยอะ มันไม่ใช่แค่เรื่องความรุนแรง หลายคนเลือกที่จะต่างคนต่างอยู่ อย่ามายุ่งกันดีกว่า ความสัมพันธ์ที่มีมันเปราะบาง วันหนึ่งถ้าเราขัดแย้งกันจะนำไปสู่ความรุนแรงได้ง่ายและเร็วกว่า เพราะว่าไม่มีสายใยใด ๆ ต่อกัน ตอนทำโครงการหนังสั้นขัดกันฉันมิตรในปีแรก มีหนังเรื่องหนึ่งชื่อ เพื่อนแท้ ทีมที่ทำเป็นน้องๆจากโรงเรียนรอมาเนีย จังหวัดนราธิวาส พวกเขาทำเรื่องความสัมพันธ์พุทธ-มุสลิม เป็นเรื่องของเพื่อนที่ช่วยเหลือกัน เติบโตไปด้วยกัน รักกัน สำหรับคนที่รุ่นเราเห็นเรื่องนี้เป็นเรื่องอดีตเป็นความทรงจำที่วันนี้ไม่มีแล้ว แต่น้องๆที่ทำหนังบอกว่า เรื่องที่เขาทำมันคือความฝัน ฝันว่าวันหนึ่งเขาจะมีเพื่อนพุทธแบบในหนัง เพราะตลอดชีวิตที่เติบโตมาจนอายุ17ปี ไม่มีเพื่อนพุทธเลย มันแปลว่าสำหรับคนรุ่นเรากับรุ่น 10-30 ปี เรามีปัจจุบันเหมือนกัน แต่เรามีอดีตไม่เหมือนกัน คำถามคือแล้วอนาคตของเราทั้งหมดที่มีอดีตไม่เหมือนกันคืออะไร 

“อีกหนึ่งปัญหาสำคัญในพื้นที่คือคนรุ่นใหม่ติดยาเสพติดเยอะ” 

ตอนที่ลงไปทำวิจัยมีคนหนึ่งที่ยังจดจำได้ถึงทุกวันนี้ เขาชื่อชัย เป็นหนุ่มน้อยผมยาว มีรอยยิ้มสดใส อยู่ในค่ายญาลานันบารู (ค่ายบำบัดฟื้นฟูจิตใจให้เยาวชนผู้เคยเสพยาเสพติด) มีความฝัน รักกล้อง รักการถ่ายภาพ ชัยนอนกอดกล้องทุกคืน พอถามชัยถ้าว่าจบจากญาลานันบารูแล้วจะไปไหนต่อ ชัยบอกว่าเขาไม่อยากไปจากญาลานันบารู เพราะญาลานันบารูมีกล้อง เขารู้สึกมีความหมายเพราะเขาเป็นช่างกล้องที่นี่ ถ้าเขาออกไปเขาก็อยากเป็นช่างกล้องแต่ไม่มีเงินซื้อกล้อง ไม่มีเงินจะไปเปิดร้านเลยรู้สึกว่าอยู่ที่นี่เขามีตัวตน เขารู้ว่านี่คือสิ่งที่เขารัก นี่คือความฝันของเขา ถ้าเขาออกไปความฝันของเขาจะอยู่ที่ไหน หลายปีต่อมาก็มาทราบว่าชัยออกจากค่ายญาลานันบารูไม่นานก็ถูกจับ 

คนชอบถามว่าทำไมเด็กๆ ติดยา เราไม่มีคำตอบที่มั่นใจนะ แต่ยังคิดเรื่องที่ว่าเด็กในสามจังหวัดมีความฝันให้เลือกน้อยเหลือเกิน ไม่มีผู้ใหญ่ช่วยให้เขาเห็นว่า เราฝันแบบนี้ก็ได้ เราฝันแบบนั้นก็ได้ ทำให้ความฝันของหลายคนไม่มีความหมาย

สภาพสามจังหวัดมีหลายอย่างที่เป็นตัวแปร กระทั่งความรุนแรงที่เกิดขึ้นทำให้เด็กไม่มีพื้นที่ อาจมีคนบอกว่าเด็กที่นี่มีโอกาสมากขึ้น ได้ทุน ได้โครงการมากมาย แต่โครงการต่างๆ นั้นทำให้เด็กได้รู้จักความฝันอย่างแท้จริงไหม ไม่ใช่โครงการที่ผู้ใหญ่คิดแล้วเอาไปให้เด็กทำ แต่มันควรจะเป็นโครงการที่พัฒนาจากศักยภาพหรือความฝันของเด็กเอง 

ปัญหายาเสพติดมันไม่ได้เกี่ยวกับความเป็นพุทธ มุสลิมอะไรเลย นี่คือปัญหาร่วม มันมีตัวแปรเหมือนที่อื่นๆ ในสังคมไทย เช่นโรงเรียนทำให้เด็กอยากไปโรงเรียนหรือเปล่า คนใช้ยาหลายคนที่เคยให้สัมภาษณ์ถามว่าไปโรงเรียนแล้วได้อะไร ครูไม่เห็นพวกเขาอยู่ในสายตา ครูเห็นแต่เด็กเรียนเก่งอยู่ในสายตา พวกเขาไม่มีตัวตน นี่คือปัญหาของทั้งประเทศ ท้ายที่สุดแล้วมันทำให้เด็กบอกตัวเองว่า ไปบันเทิงกับยาเสพติดดีกว่า เพราะยาเสพติดทำให้หลุดไปอยู่อีกโลกหนึ่ง ทำให้เขามีตัวตน มีความหมาย

“เด็กที่มีความฝันเรื่องเอกราชรู้สึกมีตัวตน มั่นใจในตัวเองกว่าเด็กคนอื่นๆไหม” 

อย่างน้อยที่สุดเขามีเป้าหมาย เด็กที่เติบโตมาด้วยความฝันเรื่องนี้มีความมั่นใจในตัวเอง เชื่อว่าคนที่มีความฝันตรงนี้เขาไม่ยุ่งเรื่องยาเสพติด เพราะเขารู้ว่านี่คือเป้าหมายของชีวิต คือความฝันของเขาและพลังของเขา สิ่งสำคัญคือจะทำยังไงที่ทำให้เขาได้ปลดปล่อยพลังของเขาออกมา คือพลังของแต่ละคนไม่เหมือนกัน แสงที่ปล่อยออกมาจากเด็กทั้งหลาย มันไม่ใช่สีเดียวกัน ผู้ใหญ่ต้องเคารพว่าเขามีสีที่แตกต่างกัน 

“พลังที่ถูกปิดกั้นของเด็กมันมีโอกาสถูกหยิบฉวยเอาไปใช้เป็นความรุนแรงหรือไม่” 

ไม่รู้ว่ามีแนวโน้มไหม เราไม่ได้เชี่ยวชาญเรื่องนี้เลย แต่คิดว่าทั้งโครงสร้างของสังคมไม่ว่าวัฒนธรรม โครงสร้างการศึกษา หรือโครงสร้างอื่นๆที่อยู่ในสังคมไทย มักกดทับพลังของเด็กๆ ที่โรงเรียนครูมักจะมีวิธีจัดการกดทับพลังของเด็ก การที่ไปกดเขาเรื่อย ๆ เขาไม่มีโอกาสปล่อยพลังตามวัยของเขาแล้วถ้าเกิดวันหนึ่งมีคนมาบอกว่าช่วยไปใช้พลังแบบนี้ในแนวความรุนแรงหน่อย เขาก็อาจจะรู้สึกว่า ถ้าใช้พลังแบบนี้แล้วเขามีตัวตนขึ้นมา เขาใช้ก็ได้ 

“การที่ท่านจุฬาราชมนตรีไปเจอพระสังฆราช มันจะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างคนพุทธและมุสลิมดีขึ้นไหม”

คิดว่าปัญหาใหญ่กว่านั้นในสังคมตอนนี้ คือการแบ่งคนเป็นสองขั้ว มันไม่เปิดโอกาสให้ขั้วที่เป็นเทา ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเมืองหรือความคิดสุดโต่งทางด้านศาสนา ฉะนั้นภาพการปรากฏของจุฬาฯ กับพระสังฆราชก็ถูกตีความหลากหลายในในแบบสุดขั้ว คือไม่มีใครรู้สึกว่านี่มันเป็นนิมิตรหมายอันดี คนที่สุดโต่งก็ตีความสองด้าน ว่าจะไปเจอกันทำไมกับพวกหัวรุนแรง แต่ปัญหามันไม่ได้อยู่ตรงนี้ ปัญหามันมาจากตอนแรกว่าเราถูกแบ่งขั้วแยกข้างไปแล้ว 

หรือกรณีผู้พิพากษายิงตัวเองที่ยะลา ท้ายสุดตอนนี้กลับมีคนมาเถียงว่า ทำไมผู้พิพากษาพกปืนเข้าไป ทำไมผู้พิพากษาจัดฉากยิงตัวตายเหรอ ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ควรมาเถียงกัน เพราะสาระสำคัญคือ 25 หน้าที่ผู้พิพากษาเขียน เราควรจะให้ความสำคัญตรงนั้น เพราะมันเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่กระทำต่อผู้คน และเป็นครั้งแรกที่ปัญหากระบวนการยุติธรรมถูกพูดถึงโดยคนของรัฐอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร แต่ความหมายและสาระสำคัญกลับถูกเบี่ยงเบนเพราะความเห็นต่างของคนสองขั้ว เราคิดว่าการแบ่งคนเป็นสองขั้วไม่เป็นไร แต่ฟังกันบ้างไหม ฟังเขาสักนิดไหมว่าเขาคิดอะไร ไม่ใช่ว่าสงสัยหรือคิดว่าคนพูดสีอะไร เราก็ปิดการรับรู้รับฟังทันที 

“มันเกิดอะไรขึ้น ทำไมสังคมไทยจึงเป็นแบบนี้” 

เราควรตั้งคำถามแบบนี้กับทุกคนให้ได้ทบทวนว่ามันเกิดอะไรขึ้น เรามีส่วนทำให้อะไรนี่เกิดขึ้นไหม แล้วถามต่อว่าเรากำลังเดินไปไหน เรามักจะเห็นแต่ว่าเราอดทนต่อคนที่เห็นต่างเท่านั้น แต่ทำไมเราไม่คิดว่าคนที่เห็นต่างจากเราก็ต้องอดทนกับเราด้วย ทุกคนคิด เห็น แต่มุมของตัวเอง ซึ่งก็ไม่ผิด แต่เราต้องเท่าทันว่าบางวันเราเห็นแต่มุมของตัวเองเกินไปหรือเปล่า ทุกคนมีสิทธิที่จะรักและปกป้องสิ่งที่แตกต่าง เราจะบังคับให้คนอื่นรัก หรือศรัทธาสิ่งเดียวกับเราไม่ได้ ทำไมวันหนึ่ง คนคนหนึ่ง เลือกที่จะมือเปื้อนเลือดเพื่อปกป้องคุณค่าหรือสิ่งที่เขารัก ทั้งที่ถูกวัฒนธรรมหล่อหลอมให้รู้ว่าความรุนแรงเป็นสิ่งที่คนไม่ยอมรับ เป็นสิ่งที่ไม่ใช่ศีลธรรมอันดี แต่วันหนึ่งทำไมคนที่ถูกหล่อหลอมแบบนี้ลุกขึ้นมาแล้วบอกว่า ขอเลือกทางเปื้อนเลือดเถอะ แปลว่าไม่มีทางเลือกอื่นๆแล้วใช่ไหม เราอาจต้องตั้งคำถามต่อว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเพราะเขาเลือกอย่างเดียว หรือพวกเรา หรือ คนอื่นๆ ในสังคมเป็นส่วนหนึ่งที่ผลักให้เขาต้องเลือกสิ่งนั้นหรือเปล่า 

หลังจากมีเรื่องผู้พิพากษาพยายามยิงตัวเองตาย และเรื่องมาตรา 116 (นักวิชาการ นักกิจกรรม ถูกแจ้งความข้อหายุยงปลุกปั่นจากการจัดเวทีสาธารณะ) รู้สึกสิ้นหวังกับสังคมนี้มาก เราควรจะทบทวนตัวเองว่าเราเดินมาถึงจุดที่สังคมเป็นแบบนี้ได้อย่างไร สังคมที่ชอบใช้ศีลธรรมและกฎหมายผิดที่ ผิดทาง ผิดเวลา เพื่อประโยชน์ของคนบางกลุ่ม การทำแบบนี้ทำให้รู้สึกว่าไม่ปลอดภัยแม้จะอยู่ในบ้านของตัวเอง เพราะเราจะโดน “ตัดสิน” อย่างไม่ชอบธรรมเมื่อไรก็ได้ คิดถึงขนาดที่ว่าจะต้องหาทางส่งลูกไปอยู่ที่อื่น ลำพังเราไม่เท่าไหร่ แต่ว่าลูกหรือหมายถึงคนทุกคนรุ่นลูกเราจะมีชีวิตที่อยู่ในสังคมที่เขาไม่สามารถคิดและปฏิบัติอย่างแตกต่างด้วยความปลอดภัยได้อย่างไร 

(Visited 40 times, 1 visits today)
Close