Written by 2:17 pm World

สิทธิในการกำหนดการตายด้วยตนเอง (ein Recht auf selbstbestimmtes Sterben) การยืนยันและรื้อฟื้น “ความเป็นมนุษย์”?

บทความพิเศษโดย สุทธิชัย งามชื่นสุวรรณ

“เราอาจจะเสียใจต่อการตัดสินใจ(จบชีวิต)ของเขา เราอาจจะพยายามทำทุกวิถีทางให้เขาเปลี่ยนใจ แต่ในท้ายที่สุด เราต้องยอมรับการตัดสินใจโดยอิสระของเขา”  Andreas Voßkuhle ประธานศาลรัฐธรรมนูญเยอรมัน

(“Wir mögen seinen Entschluss bedauern, wir dürfen alles versuchen, ihn umzustimmen, wir müssen seine freie Entscheidung aber in letzter Konsequenz akzeptieren.”)

นาย ก. ประสบความล้มเหลวในชีวิต มีหนี้สินล้นพ้นตัว เขามีสิทธิจะฆ่าตัวตายหรือไม่?

นาย ข. เจ็บปวดทรมานจากความเจ็บป่วยจนไม่อาจทนมีชีวิตอยู่ได้อีกต่อไป เขาจะร้องขอยาเพื่อฆ่าตัวตายจากแพทย์ได้หรือไม่?

นาย ค. เห็นบิดาของตนต้องทนทุกข์ทรมานจากการรักษาทางการแพทย์ และไม่อยากให้บิดาต้องเจ็บปวดแบบนั้น เขาสามารถช่วยเหลือให้บิดาของเขาจบชีวิตและยุติความทรมานได้หรือไม่

การถกเถียงกันเรื่องการฆ่าตัวตายเป็นประเด็นที่ถูกถกเถียงกันมานาน หนึ่งในประเด็นสำคัญ ได้แก่ การการุณยฆาต ซึ่งแนวโน้มดูเหมือนจะยอมรับการการุณยฆาตในแบบ passive ซึ่งหมายถึงการถอดเครื่องช่วยชีวิต งดการรักษาทั้งหมด และปล่อยให้ผู้ป่วยตายโดยสงบ ในขณะที่การการุณยฆาตแบบ active ซึ่งเป็นกรณีที่คนคนหนึ่งกระทำประการใดเพื่อให้ผู้ที่ตัดสินใจจบชีวิตถึงแก่ความตาย เช่น การฉีดยาเพื่อให้ตาย ยังไม่เป็นที่ยอมรับให้กระทำได้ นอกจากนี้ข้อถกเถียงว่าการฆ่าตัวตายเป็นความผิดหรือไม่ รวมถึงการให้ความช่วยเหลือสนับสนุนการฆ่าตัวตายจะเป็นความผิดหรือไม่ ก็ยังเป็นประเด็นถกเถียงอย่างสำคัญในทางกฎหมาย 

ไม่มีครั้งใดในประวัติศาสตร์ของกระบวนการยุติธรรมเยอรมัน ที่ศาลรัฐธรรมนูญของประเทศที่รัฐธรรมนูญมีรากฐานจากการรับรอง “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” และ “สิทธิในการกำหนดตนเองของปัจเจกบุคคล” อย่างแน่วแน่ชัดเจนซึ่งปรากฎในมาตรา 1 และ 2ของรัฐธรรมนูญ จะกล่าวถึงและยอมรับ “สิทธิในการกำหนดการตายของตนเอง” (สิทธิในการตัดสินใจจบชีวิตของตนเอง) อย่างชัดเจนเช่นครั้งนี้

ศาลรัฐธรรมนูญของเยอรมันได้มีคำพากษาเมื่อวันที่26กุมภาพันธ์ 2020 ที่ผ่านมา วินิจฉัยให้มาตรา 217ของประมวลกฎหมายอาญาที่กำหนดให้การให้ความช่วยเหลือหรือสนับสนุนการฆ่าตัวตายเป็นความผิด ขัดรัฐธรรมนูญ และเป็นโมฆะ

รัฐสภาเยอรมันได้แก้ไขประมวลกฎหมายอาญาในปี2015กำหนดในมาตรา 217 ประมวลกฎหมายอาญาให้การกระทำที่เป็นการช่วยเหลือหรือสนับสนุนในการฆ่าตัวตายที่ทำเป็นปกติทางการ(geschaeftsmassig- หมายถึงตั้งใจที่จะกระทำเป็นปกติ (auf Wiederholung angelegt) มิใช่การตัดสินใจทำเพียงครั้งเดียว) เป็นความผิดอาญา ซึ่งมีโทษจำคุกสูงสุด 3 ปี

กฎหมายฉบับดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อห้ามการกระทำที่เริ่มมีมากขึ้นในเยอรมัน ที่มีองค์กรเอกชนถูกตั้งขึ้นมาเพื่อให้ความช่วยเหลือหรือสนับสนุนการฆ่าตัวตายของผู้ที่ตัดสินใจฆ่าตัวตาย โดยเฉพาะผู้ป่วยโคม่า โดยอาจจะช่วยเหลือในลักษณะของการให้ยาที่ทำให้ถึงตายได้แก่ผู้ที่ต้องการฆ่าตัวตาย โดยผู้ที่ต้องการฆ่าตัวตายเป็นผู้กินยานั้นด้วยตนเอง (ในขณะที่การฆ่าผู้อื่นตามคำร้องขอของผู้นั้น เป็นความผิดอาญาอีกฐานหนึ่งตามมาตรา 216 ซึ่งเป็นกรณีที่ผู้กระทำลงมือฆ่าผู้ที่ร้องขอด้วยตนเอง – ในกรณีนี้คือการการุณยฆาตแบบ active)

ความน่าสนใจคือเหตุผลที่ศาลให้ในการตัดสินว่าบทบัญญัติข้างต้นขัดรัฐธรรมนูญ

เป็นครั้งแรกที่ศาลรัฐธรรมนูญตีความมาตรา1วรรคแรก (ว่าด้วยศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์) และมาตรา 2 วรรคแรก (ว่าด้วยสิทธิในการกำหนดการพัฒนาตนเองของบุคคล – das Recht auf die freie Entfaltung seiner Persönlichkeit) ของรัฐธรรมนูญ โดยตีความว่าสิทธิดังกล่าวหมายความรวมถึงสิทธิในการจบชีวิตของตนเอง และการตัดสินใจอย่างอิสระในการขอความช่วยเหลือจากบุคคลที่สามในการจบชีวิตของตนเอง ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงการกำหนดตนเองโดยอิสระของบุคคล (Ausdruck persönlicher Autonomie) การตัดสินใจจบชีวิตของตนเองที่สอดคล้องกับความเข้าใจในคุณค่าของชีวิตและความหมายของการมีชีวิตอยู่ของตนเอง เป็นการกำหนดตนเองอย่างอิสระที่รัฐและสังคมต้องเคารพ (Das allgemeine Persönlichkeitsrecht (Art. 2 Abs. 1 in Verbindung mit Art. 1 Abs. 1 GG) umfasst ein Recht auf selbstbestimmtes Sterben. Dieses Recht schließt die Freiheit ein, sich das Leben zu nehmen und hierbei auf die freiwillige Hilfe Dritter zurückzugreifen. Die in Wahrnehmung dieses Rechts getroffene Entscheidung des Einzelnen, seinem Leben entsprechend seinem Verständnis von Lebensqualität und Sinnhaftigkeit der eigenen Existenz ein Ende zu setzen, ist im Ausgangspunkt als Akt autonomer Selbstbestimmung von Staat und Gesellschaft zu respektieren.)

การที่มาตรา 217 ห้ามการกระทำที่เป็นการช่วยเหลือสนับสนุนในการฆ่าตัวตาย มีผลทำให้การฆ่าตัวตายโดยการช่วยเหลือหรือสนับสนุนของบุคคลที่สามเป็นไปไม่ได้ในความเป็นจริง แต่ไม่ได้หมายความว่าฝ่ายนิติบัญญัติไม่อาจกำหนดกฎเกณฑ์ในการให้ความช่วยเหลือสนับสนุนการฆ่าตัวตายได้ เพียงแต่ฝ่ายนิติบัญญัติจะต้องให้หลักประกันได้ว่าปัจเจกบุคคลยังสามารถตัดสินใจใช้สิทธิในการกำหนดการตายด้วยตนเองได้

สิทธิในการกำหนดการตายด้วยตนเองนี้ดำรงอยู่ในทุกช่วงชีวิตของมนุษย์ และไม่ควรจำกัดอยู่เพียงแค่ในสถานการณ์ที่คนอื่นกำหนดให้เท่านั้น เช่น ในช่วงที่ป่วยหนักมากจนไม่อาจรักษาได้ การจำกัดเหตุแห่งการตัดสินใจในการจบชีวิตเอาไว้ให้แคบเฉพาะบางกรณีเท่านั้นจึงเป็นสิ่งที่ไม่สอดคล้องกับแนวคิดว่าด้วยเสรีภาพของรัฐธรรมนูญ การตัดสินใจจบชีวิตของตนเองจึงเป็นสิ่งที่ไม่อาจตัดสินได้ด้วยคุณค่าที่สังคมโดยทั่วไปยึดถือ ไม่อาจตัดสินได้ด้วยหลักการทางศาสนา ไม่อาจตัดสินได้ด้วยภาพของชีวิตที่ดีที่สังคมกำหนด และไม่อาจตัดสินได้ด้วยเหตุผลในเชิงภาวะวิสัย การตัดสินใจจบชีวิตของตนเองเป็นสิ่งที่ไม่ต้องการเหตุผลหรือการให้ความชอบธรรมใด ๆ และเป็นการตัดสินใจกำหนดตนเองที่รัฐและสังคมต้องยอมรับ

น่าสนใจว่าการตัดสินในกรณีนี้ว่าขัดรัฐธรรมนูญ ไม่ได้มีเหตุผลมาจากการขัดแย้งกับสิทธิของบุคคลที่ต้องการให้ความช่วยเหลือสนับสนุนการฆ่าตัวตาย แต่มีเหตุมาจากการขัดแย้งกับสิทธิของบุคคลที่ตัดสินใจฆ่าตัวตาย มาตรา  217 ไม่ได้จำกัดสิทธิของผู้ที่ตัดสินใจฆ่าตัวตายโดยตรง เพียงแต่ห้ามผู้ที่ต้องการให้ความช่วยเหลือในการฆ่าตัวตายของบุคคลอื่นเท่านั้น แต่ศาลบอกว่ามาตรการของรัฐไม่ว่าจะเป็นมาตรการที่กระทบสิทธิโดยอ้อม หรือกระทบสิทธิในทางข้อเท็จจริง ก็อาจเป็นการจำกัดสิทธิที่รัฐธรรมนูญรับรอง และถูกตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญได้ 

การห้ามมิให้มีการช่วยเหลือในการฆ่าตัวตาย มีผลเป็นการจำกัดสิทธิของบุคคลที่ต้องการจะฆ่าตัวตาย และทำให้การฆ่าตัวตายของเขาแทบจะเป็นไปไม่ได้

ประเด็นหลักที่ทำให้บทบัญญัติดังกล่าวขัดรัฐธรรมนูญก็คือมาตรการดังกล่าวที่ห้ามการให้ความช่วยเหลือในการฆ่าตัวตายขัดหลักความได้สัดส่วน ศาลยอมรับว่าวัตถุประสงค์ในการห้ามดังกล่าวนั้นเป็นวัตถุประสงค์ที่ชอบธรรม และมาตรการกำหนดโทษทางอาญาก็เป็นมาตรการที่เหมาะสม แต่มาตรการดังกล่าวขัดกับหลักความได้สัดส่วนในความหมายอย่างแคบ เพราะแทบจะไม่มีความเป็นไปได้ในการจบชีวิตตนเองด้วยวิธีอื่นนอกเหนือจากการช่วยเหลือให้จบชีวิต และประโยชน์ที่สังคมได้จากมาตรการดังกล่าวก็ไม่ชัดเจนเพียงพอที่จะจำกัดสิทธิในการกำหนดการตายด้วยตนเอง

ความก้าวหน้าทางการแพทย์ในปัจจุบัน ทำให้การตายตามธรรมชาติเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก เราสามารถยื้อชีวิตของมนุษย์ออกไปได้ รวมถึงทำให้การตายเกิดขึ้นได้ง่ายมากขึ้น ภายใต้ความเป็นไปได้เหล่านี้ย่อมกระทบต่อสิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคล โดยเฉพาะสิทธิในการกำหนดตนเองของบุคคล จะมีสักกี่คนที่กำหนดการตายของตนเองได้ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน สิ่งเหล่านี้สามารถใช้อธิบายการเกิดขึ้นขององค์กรเอกชนทั้งหลายที่ช่วยเหลือในการตายที่สามารถกำหนดได้ด้วยตนเองและไม่ต้องทรมาน

การยืนยันสิทธิในการกำหนดการตายด้วยตนเอง จึงอาจเป็นการยืนยันและรื้อฟื้น “ความเป็นมนุษย์” ของเราทุกคนขึ้นมาอีกครั้ง

(Visited 214 times, 1 visits today)
Close