Written by 6:16 pm Lifestyle, Patani Notes

ชีวิตสุดขีดของ “ซูปา” อดีตนักสเก็ตบอร์ดทีมชาติคนแรกจากสามจังหวัด

สุภา ประดู่ อาจเป็นชื่อของเด็กหนุ่มมลายูที่ไม่มีใครรู้จักมากนัก แต่หากเอ่ยชื่อ “ซูปา” หรือ แบรนด์ “Suprado” ผู้คนในวงการสเก็ตบอร์ดและบรรดาเด็กแนวในพื้นที่จะรู้จักกันเป็นอย่างดี เพราะซูปาเป็นผู้ที่ขึ้นสู่จุดสูงสุดของวงการด้วยการเป็นนักกีฬาสเก็ตบอร์ดทีมชาติคนแรกจากสามจังหวัดชายแดนใต้ ผู้ที่มีแบรนด์สเก็ตบอร์ดเป็นของตัวเอง และ ตกต่ำถึงขีดสุดจนสูญสิ้นสิ่งที่สร้างมากับมือ

Patani Notes ได้มีโอกาสคุยกับชีวิตของมนุษย์สุดคูลคนนี้ ผู้ที่ตอนนี้ใช้เวลากว่าสองปีทำมาหากินอยู่ที่เกาะลันตาใหญ่ในจังหวัดกระบี่ ในวันที่ทะเลเงียบสงบบนหาดทรายที่ดูเหมือนจะร้างราไร้คนเพราะเป็นช่วงโลว์ซีซั่นของเกาะลันตา ซูปาปรากฎตัวพร้อมมอเตอร์ไซค์วิบากคันเก่าๆ พร้อมรอยยิ้มแบบขวยเขิน รวบขากางเกงจนถึงหน้าแข้ง มองเห็นถุงเท้าสองสีที่เขาใส่สลับข้าง ซูปาบอกว่ามันเป็นสไตล์ หากเป็นคนอื่นๆอาจดูแปลกประหลาด แต่นี่คือซูปา หนึ่งในมนุษย์สุดเท่ห์ผู้มีชะตาชีวิตเหมือนกีฬาเอ็กสตรีมที่เขาหลงรัก

“พยายามทำหลายอย่างตอนอยู่บ้าน แต่ทำแล้วเจ๊ง เลยต้องออกข้างนอกมาทำอย่างอื่น”

คือคำอธิบายที่ซูปาบอกเราไว้ถึงเหตุผลของการที่ต้องออกมาขวนขายทำมาหากินอยู่ที่เกาะลันตาใหญ่ และเขาก็ทำหลายอย่างจริงๆไม่ว่าจะเป็น เฝ้าร้านขายเครื่องเงิน ดูแลรีสอร์ทเล็กๆแห่งหนึ่ง ให้นักท่องเที่ยวเช่ามอเตอร์ไซค์เที่ยวบนเกาะ รวมทั้งขายของบนเว็บไซต์อีเบย์ ซูปาบอกว่าเขาทำสารพัดอย่างเพื่อทำให้ตัวเองมีรายได้ เหตุผลส่วนหนึ่งที่ทำให้ซูปามาทำงานเลี้ยงชีพที่นี่ เพราะซูปาบอกว่าเขาเคยมาเที่ยวที่นี่เมื่อสิบปีก่อน และมาเที่ยวบ่อยจนพอจะรู้จักคนที่อยู่บนเกาะแห่งนี้อยู่บ้าง เลยเห็นช่องทางทำมาหากิน และแน่นอนที่สถานที่ท่องเที่ยวแบบนี้ซูปายอมรับเลยว่ามันหาเงินง่ายกว่าที่บ้านมาก

ขณะที่ตอนอยู่บ้านแม้จะอุดมสมบูรณ์จนเพื่อนๆฝรั่งที่ซูปาเคยพาไปเที่ยวยังต้องร้องว้าวกับสไตล์การแต่งตัวของผู้คนที่เจอตามร้านกาแฟ กับธรรมชาติอันเขียวขจี แต่ประสบการณ์ส่วนตัวของซูปาที่พยายามทำธุรกิจขายน้ำดื่มและเพาะเห็ดจนเจ๊ง กระทั่งงานทำสวนที่พยายามอยู่หลายปีแต่ผลผลิตมันออกช้าและไม่แน่นอน มันทำให้ต้องออกจากบ้านเพื่อหาช่องทางทำมาหากินที่ง่ายกว่าเดิม

“อยู่เกาะลันตาก็เจอเด็กนายูน่ะ”

ซูปาเล่าว่าเขามีโอกาสได้เจอผู้คนจากสามจังหวัดที่มาทำมาหากินที่นี่อยู่บ้าง บางคนมาเปิดร้านอาหาร บางคนมาทำงานตามรีสอร์ท แม้แต่เด็กที่ทำงานตามบาร์ก็ยังเคยเห็น ซูปาบอกว่าพวกเขาต่างมาแสวงหาโอกาสในการทำมาหากินที่นี่ และแน่นอนรายได้ที่ดีกว่าที่บ้านโดยเฉพาะในช่วงไฮซีซั่น ที่เริ่มตั้งแต่ช่วงปลายเดือนตุลาคมจนกระทั่งถึงเดือนพฤษภาคมของปีถัดไป สำหรับคนที่มาเป็นลูกจ้าง หากไม่ถือตัวมากนักในช่วงช่วงโลว์ซีซั่นของที่นี่ก็ยังพอมีงานให้ทำอยู่บ้าง เช่น รับจ้างทำสวนตามรีสอร์ท ที่ยังพอเป็นแหล่งรายได้

“เรามีโครงการทำสเก็ตปาร์คที่นี่”

ด้วยความที่ยังคงเล่นสเก็ตอยู่สม่ำเสมอ และความบังเอิญทำให้ซูปาได้เจอกับชาวอเมริกันคนนึงที่แต่งงานกับคนบนเกาะลันตาน้อยผู้ซึ่งพยายามจะทำลานสเก็ต ซูปาบอกว่ามีคนแนะนำให้ฝรั่งนายนี้มาเจอเขา เมื่อไปดูลานสเก็ตที่ฝรั่งคนนี้ออกแบบ ซูปาก็แนะให้ทุบทิ้งทันทีเพราะสร้างผิดแบบผิดองศา ไม่เหมาะกับการไถสเก็ตบอร์ด ท้ายที่สุดจึงลงเอยด้วยการย้ายโปรเจคต์ลานสเก็ตบอร์ดมาทำที่เกาะลันตาใหญ่ที่ซูปาบอกว่า พื้นที่บนเกาะลันตาใหญ่มันกว้างกว่า และตอนนี้ก็อยู่ในขั้นตอนของการเตรียมงานที่ซูปาบอกว่าได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากกำนันและอบต.ท้องถิ่น

“จริงๆที่นี่มีคนเล่นสเก็ตบอร์ดเยอะ เป็นทั้งคนพื้นที่และคนที่ย้ายมาจากที่อื่นๆ” ขณะเดียวกันซูปาก็บอกว่ายังมีรุ่นเด็กๆอีกหลายคนที่อาศัยบนเกาะแห่งนี้ที่อยากเล่นสเก็ตบอร์ด โดยเฉพาะเหล่าบรรดาลูกครึ่ง ที่พ่อแม่ของเด็กๆหลายคนชวนซูปามาเป็นโค้ชให้ ซึ่งซูปาก็ไม่ปฏิเสธเพราะการเป็นโค้ชให้เด็กๆโดยเฉพาะบนเกาะแห่งนี้มันหมายถึงรายได้เล็กๆน้อยๆด้วย แม้ไม่มากแต่ก็ถือว่าเป็นกำลังใจที่คอยหล่อเลี้ยงการปั้นนักสเก็ตวัยเยาว์ ซูปายังบอกอีกว่า รีสอร์ตที่นี่ก็พร้อมจะสนับสนุนการทำลานสเก็ตหรือส่งเสริมให้ผู้คนเล่นสเก็ตบอร์ดเพราะถือว่าจะเป็นอีกหนึ่งแหล่งดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวบนเกาะแห่งนี้ เมื่อถามว่าที่สามจังหวัดสามารถจัดกิจกรรมแบบนี้ได้ไหม ซูปาตอบมาแทบจะในทันที่ว่าทำได้ เพียงแต่จะได้รับการสนับสนุนน้อยกว่าที่นี่มากเท่านั้นเอง

ในช่วงเวลาอันรุ่งโรจน์ ซูปาเคยเป็นนักกีฬาสเก็ตบอร์ดทีมชาติ เป็นคนแรกจากสามจังหวัดที่เล่นทีมชาติ ส่วนแบรนด์สเก็ตบอร์ดนั้น แม้ไม่ได้เป็นเจ้าแรกแต่ก็เป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกที่ทำแบรนด์สเก็ตเป็นของตัวเองและตั้งชื่อว่า Suprado

ซูปาบอกว่าเขาติดทีมชาติตั้งแต่ปี 1998 เคยได้แชมป์จากการแข่งขันในประเทศบ้าง ส่วนในระดับเอเชียเขาบอกว่าในหลายรายการเขาเคยติดอยู่ในท็อปเท็น มีโอกาสได้เดินทางไปแข่งขันในหลายที่ ทัวร์นาเม็นต์ใหญ่ที่เคยลงแข่งในนามทีมชาติคือ การแข่งขัน X Games ทั้งในปี 1998 และ 1999 ซึ่งจัดขึ้นที่จังหวัดภูเก็ต ซูปาเล่นให้ทีมชาติหลายปีจนถึงปี 2006 ก็ผันตัวไปเป็นคนขายสเก็ตบอร์ดแทน

เมื่อถามถึงจุดเริ่มต้นกับกีฬาสเก็ตบอร์ด ซูปาบอกว่ามันเกิดจากการที่พ่อแม่จับเขาส่งไปเรียนภาษาที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ตอนปี 1996 เพราะรับมือกับความเกเรในวัยเด็กของซูปาไม่ไหว ซูปาบอกว่าตอนแรกก็แค่ชอบดู เห็นในทีวีแล้วชอบ เลยไปซื้อแผ่นมือสองราคาสามพันกว่าบาท ในยุคสมัยนั้นถือว่าแพงมาก ในตอนแรกซูปาเริ่มหัดเล่นกับเพื่อนสองสามคน จนมีงานหนึ่งที่ทำให้เขาได้เจอกับ Padin Musa โปรสเก็ตบอร์ดระดับตำนานของประเทศมาเลเซียในปี 1997 เมื่อเจอกันแล้วคุยกันถูกคอ Padin เลยชวนซูปาไปออกทัวร์แข่งสเก็ตบอร์ดในมาเลเซียด้วยกัน ซูปาบอกว่านั่นคือจุดเปลี่ยนอย่างแท้จริง

ซูปาติดสอยห้อยตามรถบรรทุกของพ่อ Padin ที่พาพวกเขาออกทัวร์ไปทั่วมาเลเซีย ซูปาบอกว่า “พอเราไปอยู่กันคนเก่ง เขาก็สอนเราให้เล่น บอกทริก สอนท่าให้เรา เราก็เลยเก่งไปด้วย” และภายในปีเดียวซูปาก็สามารถก้าวขึ้นมาติดทีมชาติไทย

ซูปาบอกว่าในปี 1998 ซูปาได้ชักชวนเพื่อนให้ขึ้นไปคัดตัวที่สนามศุภชลาศัย กรุงเทพฯ ซูปาพูดอย่างถ่อมตัวว่า “ตอนนั้นคนเก่งไม่ค่อยเยอะ เราเลยพลอยติดทีมชาติไปด้วย”

หลังจากที่เริ่มโรยราจากการเป็นนักกีฬาทีมชาติ ซูปาพยายามต่อยอดด้วยการเปิดร้านขายอุปกรณ์สเก็ตบอร์ดเป็นของตัวเอง

“แบรนด์ Suprado ตอนนั้นขายดีมาก ขายทั้งปลีกทั้งส่ง” นัยตาเป็นประกายแวววาวเมื่อซูปาเล่าถึงช่วงเวลาที่มีแบรนด์สินค้าที่เกี่ยวข้องกับกีฬาสเก็ตบอร์ดเป็นของตัวเอง ซูปาบอกว่าช่วงปี 2006 ถึงปี 2011 ที่เปิดร้านเป็นช่วงที่พีคมากสำหรับเขา “เปิดร้านได้แค่สองเดือนก็ขายดีแบบเทน้ำเทท่า” ลูกค้าที่มาอุดหนุนแบรนด์ Suprado ส่วนใหญ่ก็เป็นผู้ที่หลงไหลกีฬาสเก็ตบอร์ดในเมืองไทย ขณะเดียวกันซูปาก็ไปร่วมเป็นสปอนเซอร์การแข่งขันสเก็ตบอร์ดในกรุงเทพฯบ้างเพื่อรักษาสถานะและตอกย้ำภาพความสำเร็จของการเป็นนักกีฬาที่มีแบรนด์กีฬาเป็นของตัวเอง

“เป็นช่วงพีคมาก มีเงินในมือเป็นล้าน พอได้ปุ๊ปเราก็ใช้เลย เกเรมาก อยากได้อะไรก็ซื้อ พอมันลง มันก็ลงไปเลย”

และในช่วงที่ประสบความสำเร็จทางธุรกิจอย่างรวดเร็วนี้เองที่ซูปายอมรับอย่างไม่อายเลยว่าเป็นช่วงที่เขากลับมาเกเรอีกครั้ง อาจด้วยความอ่อนพรรษาในทางธุรกิจ ลำพองใจ คึกคะนองและไม่เคยจับเงินเยอะมาก่อน เลยฟุ่มเฟื่อย บริหารไม่ดี จ่ายเงินไปกับของที่ไม่มีประโยชน์ กว่าจะรู้ตัวอีกทีก็เป็นช่วงที่รับมือกับหนี้สินและความล้มเหลวทางธุรกิจไม่ได้แล้ว

เมื่อเส้นทางของธุรกิจล่มสลาย ซูปาตัดสินใจเดินทางกลับบ้านไปเลียแผลใจของตัวเองที่สายบุรี ซูปายอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่าทำใจได้ยากมากสำหรับการยอมรับความล้มเหลวของตัวเอง แต่ก็ต้องลุกขึ้นสู้ใหม่อีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการพยายามเปิดชั้นเรียนสอนภาษาอังกฤษ ขายน้ำดื่ม หรือ การเพาะเห็ด แต่ก็ล้มเหลวไม่เป็นท่า

ประสบการณ์ความล้มเหลวนี่เองที่ทำให้ซูปาไม่กลัวกับการจะต้องมาเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง แม้จะเป็นที่เกาะลันตาแห่งนี้ก็ตาม “ก็พยายามจะทำงานที่นี่ในช่วงหน้าไฮซีซั่น และลงไปทำสวนที่สายบุรีตอนหน้าโลว์ซีซั่น” คือแผนการที่ซูปาวางไว้สำหรับอนาคตของตัวเอง

ในขณะเดียวกันซูปาก็เริ่มความพยายามที่จะฟื้นฟูแบรนด์ Suprado อีกครั้ง ตอนนี้ซูปากำลังออกแบบแผ่นสเก็ตบอร์ด รวมทั้งเริ่มคุยกับเพื่อนๆในวงการสเก็ตบอร์ดถึงการกลับมาฟื้นฟูแบรนด์ตัวเอง ซูปาย้ำว่าเขาพยายามที่จะทำงานอย่างค่อยเป็นค่อยไป “เราหยุดมานาน พยายามเรียนรู้จากความผิดพลาดในตอนนั้น ชีวิตตอนรุ่งๆมันขึ้นเร็วลงเร็ว เหมือนจรวด ตอนนี้เรารู้ว่าเราไปทีละขั้นดีกว่า” คงเป็นบทเรียนที่ซูปาตระหนักได้จากความล้มเหลวในอดีต

“ตอนนี้เรามีสติมากขึ้นน่ะ เรารู้ว่าถ้าเราอยากได้อะไรตอนนี้ก็จะค่อยๆเก็บเงินสะสมไป”

เมื่อถามถึงบทเรียนชีวิตที่อาจจะส่งต่อให้คนอื่นๆ กระทั่งบรรดาคนมลายูที่มาทำงานนอกบ้าน ซูปาตอบว่า “ก็ต้องคิดเอง” และต้องขยันทำงานรวมทั้งมีวินัยในการอดอม ซูปาบอกว่ามีเงินในมือแล้วมันมีอำนาจต่อรองอยู่บ้าง มีน้อยใช้น้อย มีมากก็ต้องหัดเก็บ ซูปาบอกว่าสิ่งหนึ่งที่เขาเห็นบรรดาเพื่อนๆฝรั่งที่มาทำธุรกิจอยู่บนเกาะลันตาแห่งนี้คือ ความมัธยัสถ์ การบริหารเงิน การออมเงินไว้ใช้ในยามลำบาก ที่ควรจะเลียนแบบ “เพราะมันทำให้ชีวิตเราดีน่ะ ชีวิตที่ไม่ต้องลำบากมากนักเมื่อเจอปัญหาเข้ามาในชีวิต”

(Visited 217 times, 1 visits today)
Close