Written by 4:31 am Interviews

อักษรยาวี ยังไม่ตายหรอก

Solar Garia ผู้สังเกตการณ์ทางภาษามลายูปาตานี

“ผมในฐานะนักเทคนิคทางภาษามลายูตัวเขียนยาวี คิดว่าได้ทำหน้าที่ตามความสามารถตัวเองแล้ว ทั้งคีย์บอร์ดยาวีและแนะนำฟอนต์ยาวี ที่สามารถใช้สอดคล้องกับเทคโนโลยีในปัจจุบัน รวมทั้งสอดคล้องกับบริบทในพื้นที่ปาตานี
ต่อไปขอยกหน้าที่สืบสานภาษามลายูตัวเขียนยาวีให้ผู้รู้ทางภาษา ผู้เชี่ยวชาญทางภาษา รวมทั้งผู้ใช้ภาษามลายูตัวเขียนยาวีทุกๆท่าน เพื่อร่วมกันธำรงไว้ซึ่งอัตลักษณ์มลายูปาตานีต่อไป หากติดขัดหรือมีปัญหาในทางเทคนิค สามารถติดต่อสอบถามได้ ตรงไหนที่พอจะแนะนำ ก็จะแนะนำ ตรงไหนที่ไม่สามารถแนะนำ เราจะร่วมกันหาหนทางแก้ปัญหานั่นต่อไป ..อินชาอัลลอฮ์”

ข้อความข้างบนนี้เป็นโพสต์ของซอลาหุดดีน กริยา จากกลุ่ม AWAN BOOK ในเฟซบุ๊กของตัวเอง ที่ใช้ชื่อว่า Solar Garia หลังจากเขารู้สึกว่าได้ทำภารกิจลุล่วงไประดับหนึ่งในด้านการพัฒนาเทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อให้สามารถใช้งานภาษามลายูตัวเขียนยาวีกับอุปกรณ์อิเล็คทรอนิค ทั้งคอมพิวเตอร์และมือถือ

ตลอดเส้นทางของซอลาหุดดีน ที่ได้รวมกลุ่มกับเพื่อน ๆ เพื่อช่วยฟื้นฟูภาษาไม่ได้ราบรื่นอย่างที่คิด ภายใต้บริบทของพื้นที่ความขัดแย้ง โดยเฉพาะเรื่องที่เปราะบางอย่างประเด็นภาษามลายูตัวเขียนยาวี ที่มีอัตลักษณ์แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับความเป็นไทย มีปัญหาว่าพวกเขาอาจถูกมองว่ามีความเป็นชาตินิยมมลายูมากไป Patani NOTES ได้คุยกับซอลาหุดดีนกับงานของเขาในเรื่องภาษา บทสัมภาษณ์นี้ได้รับเรียบเรียงโดยตัดบางส่วนที่ซ้ำซ้อนเพื่อให้กระชับเหมาะกับการเผยแพร่ทางเฟซบุ๊ก

ถาม : ดูเหมือนจะมีความตื่นตัวมากขึ้นในการใช้ภาษามลายูตัวเขียนยาวีในหมู่มลายูในภาคใต้ที่ใช้โซเชียลมีเดีย อันนี้คาดว่าเพราะอะไร
Solar Garia : น่าจะเป็นเพราะกระแสในช่วงหลังที่เกิดวิกฤตชายแดนใต้ ส่วนหนึ่งที่หลีกเลี่ยงไม่พ้นก็คือเป็นการตระหนักของคนในพื้นที่ เมื่อก่อนนี้อาจจะไม่รู้ว่าตัวเองมีที่มาอย่างไร แค่ดำเนินชีวิตประจำวัน แค่เป็นพลเมืองหนึ่งในประเทศนี้ บางทีในชีวิตของเขาไม่มีเกี่ยวข้องกับเรื่องการเมืองเลย แค่ทำมาหากินไปวัน ๆ จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างคนกลุ่มหนึ่งกับรัฐ จากความขัดแย้งนี้ก็มีหลาย ๆ กลุ่มที่ชูประเด็นอัตลักษณ์

การฟื้นอัตลักษณ์ในพื้นที่นี้ทำให้คนส่วนหนึ่งได้รู้จักที่มาของตัวเอง ก็จะมีความรู้สึกว่าอะไรคือความเป็นส่วนหนึ่งของชาติพันธุ์ ซึ่งง่ายต่อการรับรู้ที่มาอันเดียวกัน เช่นเครื่องแต่งกาย ในช่วงสองปีนี้ก็จะเห็นมีการฟื้นฟูการแต่งกายแบบมลายูอย่างชัดเจน แต่ว่าเครื่องแต่งกายนี้เป็นเรื่องที่ไม่ยากต่อการรื้อฟื้น ส่วนเรื่องของภาษาจะมีความยุ่งยากกว่า แต่ในจุดนี้เห็นหลาย ๆ คนก็มีความพยายามชูว่าตัวเองเป็นคนมลายู แต่มีข้อจำกัดทางการใช้ภาษา ก็คือใช้ภาษามลายูใน social media มากมาย มีเพจเฉพาะเลยที่ว่ามีความตั้งใจจะฟื้นฟูภาษามลายูตัวเขียนยาวีผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด

ถาม : ทำไมถึงคิดว่าภาษาฟื้นฟูยาก
Solar Garia : เพราะว่าภาษาเป็นการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมที่ค่อนข้างสลับซับซ้อน ในการที่เราจะใช้ภาษาหนึ่งในชีวิตประจำวันมันต้องใช้ปัจจัยแวดล้อม อย่างสมัยเด็ก ๆ เราใช้ภาษามลายูเกือบ 100% ที่บ้านก็ใช้มลายูเกือบ 100% เราจะใช้ภาษาไทยเฉพาะในสถานที่ราชการ ในที่ทำงานและที่โรงเรียน แต่ในปัจจุบัน เราเองหรือว่าคนรุ่นใหม่นั้น ที่บ้านก็ใช้ภาษาไทย สังคมในหมู่บ้านก็ยังใช้ภาษาไทย ภาษามลายูแทบจะไม่มี ในระยะเวลาหลายสิบปีในเมื่อไม่มีปัจจัยแวดล้อมที่จะให้คงภาษามลายูไว้ในสังคม คนในสังคมก็ไหลไปตามสิ่งแวดล้อม เพราะว่าสื่อต่าง ๆ ในสังคมจะมีแต่ภาษาไทยเป็นหลัก เช่น วิทยุ สื่อวิทยุโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ หนังสืออ่านนอกเวลา วรรณกรรม เป็นภาษาไทยทั้งหมด แทบไม่มีพื้นที่ของภาษามลายู ภาษามลายูในสังคมนี้โดนกดดันเรื่อย ๆ จนหดแคบลง

พื้นที่ที่จะรักษาไว้ซึ่งภาษามลายูก็คือโรงเรียนตาดีกา สถาบันทางศาสนาหรือองค์กรทางศาสนา แต่ว่าในปัจจุบันองค์กรเหล่านี้หรือว่าโรงเรียนคล้ายกับว่าโดนกดดันลดความสำคัญทางภาษาลง ยกตัวอย่างเช่น โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามเมื่อมีการปรับหลักสูตรในแต่ละครั้งเวลาในการใช้ภาษามลายูก็ลดลง แต่ยังมีสถาบันที่ยังยืนหยัดในภาษามลายูก็คือ สถาบันปอเนาะ ซึ่งถือว่าปอเนาะเป็นสถาบันหลักในการนำพาภาษามลายูให้มีอยู่ในสังคม

ดังนั้นความยากของการรื้อฟื้นภาษาคือมันต้องใช้เวลา เพราะกว่าจะมาถึงจุดนี้ จุดที่เมื่อก่อนพ่อแม่จะดุลูกเวลาลูกพูดภาษาไทยในบ้าน แต่ตอนนี้พ่อแม่พูดภาษาไทยกับลูกเพราะหวังจะให้ลูกพูดภาษาไทยได้เก่ง จากจุดนี้สังคมใช้เวลาถึงยี่สิบสามสิบปี เพราะฉะนั้นในการที่เราจะรื้อฟื้นภาษามลายูให้เป็นภาษาหลักอีกครั้งก็ต้องใช้เวลาเท่ากัน และอยู่ที่การยอมรับของประชาชนด้วย ถ้ามวลชนในสังคมเห็นความสำคัญของภาษามลายูที่เป็นภาษาแม่ของเรา อันนี้การรื้อฟื้นก็จะเร็วยิ่งขึ้น แต่ว่าถ้าสังคมยังไม่เห็นความสำคัญจุดนี้ สิ่งนี้ก็คงต้องใช้เวลานานมาก

ถาม : หากภาษาต้องฟื้นฟูแสดงว่ามันวิกฤต มองภาษามลายูวิกฤตอย่างไร
Solar Garia : ตอนนี้เรายอมรับว่าภาษามลายูเป็นภาษาหลักของเราเทียบเท่ากับภาษาไทย แต่ในทางความเป็นจริงแล้วภาษามลายูของเรานี่แย่มาก หากเปรียบเทียบภาษากับต้นไม้ รากแก้วหรือรากฝอยก็คือโครงสร้างทางภาษา หลักภาษา คู่มือทางภาษา Panduan Bahasa เป็นสิ่งจำเป็น พจนานุกรมหรือว่าหนังสือต่าง ๆ ที่เป็นวิชาการเกี่ยวกับภาษามลายู ซึ่งจะเห็นว่าในสังคมเรานี่แทบจะไม่มีเลย หรืออาจจะมีแต่ไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ต่างคนก็ต่างมีแนวภาษาของตัวเอง คนที่จบอินโดนีเซียก็จะเขียนแบบอินโดนีเซีย คนที่จบมาเลเซียก็จะเขียนแบบมาเลเซีย คนที่อยู่ปอเนาะก็เขียนแบบคลาสสิคไปเลย คือเราไม่มีความเป็นมาตรฐานเมื่อไม่มีมาตรฐานอันนี้ ก็ไปไม่ได้ในการที่จะต่อยอดพัฒนา ซึ่งทำให้เราก็ขัดกันเองในขั้นตอนนี้
ในส่วนของลำต้นและกิ่งก้านคือการผลักดันให้ภาษามลายูเป็นภาษามวลชน ภาษาที่สื่อสารในสังคม ภาษาหนังสือที่เป็นมาตรฐาน แต่เนื่องจากรากของเราอ่อนแอก็ทำให้การยกระดับเป็นภาษามวลชนก็จะลำบาก เพราะพื้นฐานทักษะฟังพูดเขียนอ่าน เมื่อรากของเราอ่อนแอสังคมเราเด่นแต่ทักษะฟังกับพูด เรามีภาษาที่ใช้สอนใช้บรรยาย แต่ไม่มีหนังสือที่เขียนโดยอุลามะเพื่อถ่ายทอดความรู้ แทบจะไม่มี

ในเมื่อหนังสือไม่มี ทักษะการอ่านก็ลดลง ในเมื่ออ่านกับเขียนลดลงการที่จะพัฒนาทางภาษาต่อไปก็ยิ่งแย่เลย เพราะฉะนั้นเราต้องผลักดันในส่วนของภาษามลายูให้ครบทั้ง 4 ทักษะคือฟังพูดเขียนอ่าน ภาษาหนังสือ ภาษาราชการ ภาษาถิ่น อาจจะถึงภาษาวรรณกรรมด้วย เช่น กวี เพราะว่าภาษาจะมีหลายระดับ แต่ที่ผ่านมาพวกเราจะมีแต่ภาษาพูดกับภาษาวรรณกรรมเลยเหมือนที่ทำอยู่ตอนนี้คือที่รณรงค์ในเพจ Awan Book ก็รวบรวมประโยคสนทนาง่าย ๆ สำหรับชีวิตประจำวัน ซึ่งตรงนี้แปลกใจมาก ไม่ค่อยมีอย่างชัดเจนเลย จนกระทั่งเราเองนี่แหละที่สนทนากันถึงประโยคหนึ่งแล้วคิดไม่ออกว่าจะใช้คำไหน เช่น ยินดีที่ได้พบกัน พอจะเขียนเป็นภาษามลายูเขียนไม่ออก เพราะมันไม่มีอยู่ในสมองเลย ทำไมถึงไม่มีในสมอง เพราะไม่มีในการเรียนการสอนเลย เมื่อไม่มีประโยคสนทนาในการทักทาย ประโยคสนทนาในการขอความช่วยเหลือ ประโยคสนทนาในสถานการณ์ต่าง ๆ เรายังไม่มี แล้วในเมื่อมันไม่มี คน/ผู้ใช้ ก็ไม่สามารถจะใช้ เมื่อไม่สามารถใช้ในภาษามลายูเขาก็จะไปใช้ในภาษาอื่น ๆ ฉะนั้นเราต้องสร้างตรงนี้ให้ครบ เพื่อที่จะเป็นภาษาของมวลชนได้ ภาษาที่ใช้สื่อสารในสังคมได้จริง ๆ
สุดท้ายส่วนของดอกและผลคือเป็นขั้นสูง เป็นผลจากภาษาของมวลชน ในเมื่อมีการใช้ มีการพัฒนาก็จะเป็นภาษาแห่งวรรณกรรมขึ้น ภาษาชั้นสูงหรือว่ามีการผลิตคำศัพท์ใหม่ ๆ ทำให้ภาษานั้นเกิดพลวัตขึ้น เมื่อมีพลวัตก็เหมือนกับแม่น้ำ ถ้าแม่น้ำอยู่นิ่ง ๆ ไม่นานมันก็จะเน่าเสีย ฉะนั้นเราต้องให้เป็นแม่น้ำที่ไหล มีพลวัตมีการใช้จริง ทำให้ภาษามลายูไม่ตาย ทำยังไงกับตอไม้ รากกำลังจะเน่า ให้แตกกิ่งก้านใหม่ขึ้นมา ใช้เวลานานฟูมฟักต่อไป ต้นไม้นี้ก็จะเป็นไม้ใหญ่ต่อไปในสังคมได้

ถาม : คิดอย่างไรกับการที่การเคลื่อนไหวเรื่องภาษามลายูถูกมองว่าเป็นชาตินิยมมลายู
Solar Garia : ภาษาแน่นอนเป็นเรื่องของชาตินิยม ในอดีตคนปาตานีกลัวมากกับคำว่า “ชาตินิยม” เพราะมีแนวคิดหนึ่งในพื้นที่ที่พยายามโยงว่าใครที่มีความคิดชาตินิยมนี้คือบาป แต่ถึงจุดนี้ผมมองว่าชาตินิยมแบบยุคใหม่ คือชาตินิยมที่เน้นการรักษาผลประโยชน์ของเพื่อนร่วมชาติพันธุ์ ทำไมถึงให้ความสำคัญกับเผ่าพันธุ์ เพราะว่าพระเจ้าก็ไม่ได้กำหนดว่าอาหรับดีเลิศกว่า เอาง่ายๆ คือในสวนดอกไม้ ถ้าสวนนั้นมีดอกกุหลาบเพียงพันธุ์เดียว จะเป็นสวนดอกไม้ที่สมบูรณ์หรือไม่ เพราะฉะนั้นแนวคิดของโลกยุคใหม่ ในสวนดอกไม้นอกจากมีดอกกุหลาบแล้วแม้กระทั่งดอกขี้ไก่ก็มีความสำคัญที่จะทำให้สวนดอกไม้นั้นสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ดอกขี้ไก่ก็มีสีสัน มีความสำคัญต่อระบบนิเวศ มันไม่จำเป็นที่ว่าต้องทำลายพันธุ์ไม้อื่น ๆ เพื่อที่จะปลูกดอกกุหลาบอย่างเดียวในสวน

ในสังคมของเราก็มีความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีน-มลายู ในการนี้เราก็จำเป็นต้องประกาศว่าเรานี่ชาตินิยมมลายู เพราะเรามีความมุ่งมั่นที่จะรักษาผลประโยชน์ของชาติพันธ์ุ เพื่อที่จะให้คงอยู่ต่อไป เช่นวัฒนธรรมประเพณี ภาษา แม้กระทั่งจารีตต่าง ๆ ที่เป็นผลดีต่อสังคม การที่เราชูความเป็นชาตินิยมคือในส่วนของกลุ่มชาติพันธ์ุหนึ่งในประเทศที่เป็นชายขอบ ทำยังไงให้กลุ่มพวกนี้สามารถที่จะรักษาความเป็นตัวตนและเข้าถึงทรัพยากรของดินแดนนั้น ๆ ได้ ไม่อยากให้แนวคิดในอดีตของชาตินิยมที่เน้นความความหมายของความขัดแย้งกัน “ของกูดีกว่าเหนือกว่าของมึง” แต่ว่าชาตินิยมแบบใหม่นี้คือร่วมกันรักษาผลประโยชน์ของกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกันบนพื้นฐานของสิทธิมนุษยชน ไม่มีชาติพันธุ์ไหนดีกว่า เคารพในความเป็นมนุษย์เและต้องรักษาความเป็นธรรมในสังคม

“สิ่งที่อยากเห็นในอนาคตคือ เราต้องพยายามที่จะให้ภาษามลายูยาวีอยู่คู่กับคนปาตานี”

(Visited 136 times, 1 visits today)
Close