Written by 12:00 am Local History

เกลือเค็มบ้านแหลม เกลือหวานปัตตานี

อุษาคเนย์มีหาดที่เป็นเลนเหมาะแก่การทำนาเกลือและเป็นแหล่งผลิตเกลือสมุทรเพียงไม่กี่แห่ง แหล่งเกลือสมุทรที่ขึ้นชื่อและเป็นที่รู้จักของชาวมลายูมาตั้งแต่อดีตคือเกลือจากบ้านแหลม(จังหวัดเพชรบุรี)และเกลือจากปัตตานี ในอดีตสมัยที่การใช้เรือในการสัญจรเป็นหลัก ชาวมลายูจากเมืองตรังกานู (Terengganu Malaysia) ใช้เรือใบมาซื้อเกลือทั้งจากแหล่งผลิตที่บ้านแหลมและปัตตานี

เกลือจากปัตตานีถูกเรียกขานว่า “เกลือหวาน (Garam Manis)” เนื่องด้วยเกลือที่ผลิตจากนาเกลือปัตตานีมีรสชาติหวานมันและมีความเค็มน้อยกว่าเกลือจากที่อื่น แต่ผู้เขียนก็ไม่เคยชิมเพื่อเปรียบเทียบเลยสักครั้งว่าจะรสชาติแตกต่างหวานเค็มกันอย่างไร แค่ไหน ฟังแต่เขาพูดถึงเท่านั้นว่าเกลือปัตตานีหวานมันกว่าเกลือที่อื่น

ผู้เขียนเคยไปที่ บ้านแหลม บางตะบูนและยี่สาร คนที่นั่นพูดถึงชาวตรังกานูที่มาซื้อเกลือว่ามาด้วยเรือใบที่เรียกว่า “เรือปราหู” ซึ่งคงจะเป็นความเข้าใจผิดจากการได้ยินชาวตรังกานูเรียกเรือว่าว่า “ปราหู” อาจเข้าใจว่าเป็นชื่อเรือหรือชนิดของเรือ ที่จริงคำว่า “ปราหูหรือปราฮู(Perahu)” ในภาษามลายูแปลว่าเรือนั่นเอง ซึ่งมีปราฮูหรือเรือมลายูที่ใช้บรรทุกสินค้าอยู่หลายแบบ เช่น ปราฮูดอฆอ ปราฮูแบดา ชาวบ้านแหลมเล่าว่า เมื่อเรือปราหูเข้่ามาซื้อเกลือ ชาวบ้านจะเข้าไปเอาทรายที่ชาวตรังกานูใช้เป็นอับเฉาถ่วงเรือขนไปเทบริเวณลานรอบบ้าน เพราะดินแถวนั้นเป็นดินเลน การเอาทรายไปเทหรือถมรอบๆบ้าน ทำให้ดินมีสภาพที่ดีขึ้น ไม่ชื้นและเลอะเทอะมากนัก

ขณะเดียวกันผู้เขียนก็ได้ทราบข้อมูลจากการพูดคุยกับเพื่อนลูกหลานชาวเรือตรังกานูด้วยเช่นกันว่า ชาวตรังกานูในอดีตจะเดินเรือใบไปซื้อเกลือเพื่อมาขายทั้งที่บ้านแหลมและปัตตานี ใช้เรือขนาดใหญ่ไปที่บ้านแหลมและเรือขนาดที่ย่อมกว่ามาที่ปัตตานี เพราะร่องน้ำในอ่าวปัตตานีตื้นกว่าร่องน้ำที่บ้านแหลม โดยก่อนเดินทางจะต้องขนทรายบรรทุกใส่เรือเป็นอับเฉาเพื่อให้เรือมีน้ำหนัก ไม่โคลงเคลงเวลาเจอคลื่นลม

การเดินเรือไปบ้านแหลมของชาวตรังกานูนั้น นอกจากจะเพื่อซื้อเกลือสมุทรกลับมาขายแล้ว บรรดานักเลงไก่ชนมักจะเที่ยวเสาะแสวงหาไก่ชนจากบ้านแหลมกลับมาเพื่อเลี้ยงไว้ตีไก่ด้วย ชาวตรังกานูเชื่อกันว่า พันธุ์ไก่ชนจากบ้านแหลมที่เขาเรียกว่า “อาแย บาแล(ไก่บ้านแหลม)” เป็นไก่นักสู้ที่ทน อึด สู้ไม่มีถอย ดีกว่าไก่จากที่อื่น ซึ่งเรื่องนี้ผู้เขียนไม่มีความรู้ว่าดีชั่วอย่างไร ด้วยเคยแต่กินไก่ ไม่เคยตีไก่เลยสักครั้ง เลยไม่มีข้อมูลมาเล่าให้ฟัง

ในภาพจะมีภาพเรือใบที่ถูกยกขึ้นบกที่พิพิธภัณฑ์เมืองตรังกานู เรือลำนี้เป็นเรือของคหบดีชาวตรังกานูที่เคยกางใบมาซื้อเกลือจนถึงบ้านแหลม ชาวตรังกานูเรียกเรือประเภทนี้ว่า เรือ Pinis Dogol หรือเรียกในภาษามลายูถิ่นว่า “ปราฮู ดอฆอ” เรือลำนี้เดิมเป็นของ Haji Awang หมู่บ้าน Losong สร้างขึ้นในปี 1925 ใช้เวลาในการต่อเรือประมาณ 2 ปีจึงแล้วเสร็จ โดยมีขนาดกว้าง 18’ 10” (8.89 m.) ยาว 74’ 5” (35.15 m.) ลึก 8’ 6” ( 4.01 m.) น้ำหนักเรือ 89.27 ตัน มีระวางบรรทุก 2,500 หาบ (Pikul) เรือ Seri Telaga เดินเรือครั้งแรกไปยังสยามในปี 1927 เพื่อบรรทุกเกลือจากสยามมายังตรังกานู โดยนาโกดา(กัปตันเรือ) Haji Embong

ภายหลังเมื่อเกิดสภาวะการค้าเกลือซบเซา เรือ สรี เตอลาฆา ก็ถูกจอดเทียบท่าหลายปีจนเริ่มทรุดโทรม กระทั่งปี 1952 เรือลำนี้ถูกขายให้กับคหบดีชาวจีนชื่อ Salleh Kin ( Tio Tiong Kin) และเรือลำนี้ได้ถูกซ่อมและขยายขนาดเรือใหม่เพื่อเพิ่มน้ำหนักบรรทุกโดยช่างชื่อ Haji Muda ซึ่งหลังจากนั้น Wee Hian Chee (ภรรยาของ Salleh Kin) ได้จดทะเบียนเรือหมายเลข T.82 โดยใช้ชื่อเรือ Sabar และเดินเรือขึ้นใหม่ภายใต้การเดินเรือโดยนาโกดาชื่อ Haji Abdul Rahman Bin Yusof และลูกเรือ 13 คน จนถึงปี 1970 จึงยุติการเดินเรือและขายให้กับพิพิธภัณฑ์ตรังกานูในปี 1982

สำหรับนาเกลือปัตตานีถึงแม้ว่าจะยังคงมีการทำนาเกลืออยู่จนถึงปัจจุบัน แต่พื้นที่นาเกลือลดน้อยลงกว่าเดิมมาก ด้วยเหตุจากหลายปัจจัย เช่น ที่ดินที่ราคาแพงขึ้น เมืองปัตตานีขยายตัวมากขึ้น เขตอุตสาหกรรมที่ไปทดแทนพื้นที่นาเกลือ ฯลฯ ผู้เขียนเคยได้รับการบอกเล่าจากนายดอเลาะ เจ๊ะแต ซึ่งเกิดและโตที่บ้านดาโต๊ะ ริมอ่าวปัตตานีว่า เขาเห็นเรือใบที่มาจากตรังกานูลำสุดท้ายเมื่อประมาณ 40 กว่าปีที่แล้ว ปัจจุบันผู้ที่รู้จักเกลือหวานปัตตานีคาดว่าคงมีไม่มากนักนอกจากคนปัตตานีและพื้นที่ใกล้เคียง ด้วยกำลังการผลิตที่ไม่มากเหมือนอดีตและผู้บริโภคส่วนใหญ่ก็มักจับจ่ายซื้อหาเกลือแกงในบรรจุภัณฑ์ที่ผลิตเป็นอุตสาหกรรมเสียมากกว่าที่จะไปซื้อหาที่นาเกลือปัตตานี เกลือหวานปัตตานีจึงเป็นเพียงความทรงจำของชื่อและรสชาติของคนกลุ่มหนึ่งเท่านั้น และอาจรอเวลาอีกไม่นานในการจะสูญหายไปตลอดกาล

(Visited 97 times, 1 visits today)
Close