รายงานจากออสเตรเลียระบุจีนเก็บดีเอ็นเอประชากรเพศชายร่วม 10% ที่อยู่นอกข่ายผู้ต้องสงสัยในคดีอาชญากรรม มีกิจการเอกชนทั้งของจีนและต่างชาติป้อนอุปกรณ์และเทคโนโลยีให้ ชี้ผิดกฎหมายและละเมิดสิทธิ กลายเป็นการเก็บข้อมูลเพื่อควบคุมมอนิเตอร์ประชาชน
รายงานที่ว่านี้เป็นขององค์กรศึกษายุทธศาสตร์ของการทำนโยบาย ASPI หรือ Australia Strategic Policy Institute ได้ออกรายงานจากผลการศึกษาล่าสุดเมื่อ 17 มิ.ย.ที่ผ่านมาเป็นการศึกษาเรื่องระบบการจัดเก็บข้อมูลดีเอ็นเอประชากรของรัฐบาลจีน มีความยาวกว่าห้าสิบหน้า มีทั้งข้อมูลทั่วไปและเฉพาะในเรื่องของโครงการจัดเก็บดีเอ็นเอขนานใหญ่ เป็นจำนวนมากและไม่เลือกของเจ้าหน้าที่ตำรวจจีนที่รายงานคาดว่า จำนวนมากไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องของการคลี่คลายคดี ทำให้เชื่อได้ว่าเอาไปใช้เพื่อควบคุมมอนิเตอร์ประชาชน
รายงานฉบับนี้มีสื่ออย่างเช่นนสพ.นิวยอร์คไทมส์นำไปรายงานต่อเอาไว้ด้วย เวบไซท์รายงานเนื้อหาหลายประเด็นจากการที่ตำรวจจีนเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอด้วยการเก็บเลือดจากประชากรเพศชายทั้งที่เป็นผู้ใหญ่และเป็นเด็กทั่วประเทศ
สำหรับตัวรายงานของ Australian Strategic Policy Institute หรือ ASPI นั้นมีนำเสนอไว้ในหน้าเวบไซท์ขององค์กรซึ่งเรียกตัวเองเป็น think tank ที่ศึกษาเรื่องต่างๆเพื่อประโยชน์ของการทำงานของบุคคลต่างๆในแผนยุทธศาสตร์และด้านความมั่นคงของออสเตรเลีย ผู้สนใจสามารถเข้าไปอ่านและดาวโหลดได้
โดยสรุปเนื้อหาของรายงานระบุว่า จีนได้พัฒนาการเก็บสารพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอจนขยายกลายเป็นโปรเจคใหญ่ โดยเริ่มจากเป้าหมายแรกที่เป็นการใช้ดีเอ็นเอเพื่อช่วยงานสืบสวนสอบสวนในอาชญากรรมต่างๆ โดยรายงานชี้ว่า ในวงการสอบสวนคดีหรืออาชญากรรมสมัยใหม่นั้น มีการใช้ดีเอ็นเอของบุคคลประกอบด้วย แต่ตามหลักเกณฑ์ระหว่างประเทศยอมให้มีการทำเรื่องนี้ได้ในวงจำกัดเพื่อไม่ให้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน สำหรับจีน เริ่มทำเรื่องนี้ในปี 2003 เมื่อกระทรวงความมั่นคงสาธารณะของจีนจัดตั้งคลังดีเอ็นเอเพื่อสนับสนุนการทำงานของตำรวจ โดยให้ตำรวจเก็บดีเอ็นเอบุคคลในระหว่างที่สืบสวนสอบสวนอาชญากรรมต่างๆ และทำให้ตร.จีนมีตัวอย่างดีเอ็นเอของคนที่มีประวัติก่ออาชญากรรมรวมทั้งผู้ต้องสงสัย แต่หลังจากนั้นในปี 2013 จีนได้ขยายวงงานเก็บดีเอ็นเอออกไปสู่กลุ่มชาติพันธุ์บางกลุ่มที่อาศัยในจีน รวมไปถึงบุคคลธรรมดาทั่วไปที่ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับคดีหรีืออาชญากรรม การเก็บนี้รวมทั้งบุคคลทั่วไปเรื่อยไปจนถึงเด็กๆ และรายงานระบุว่า เป็นการเก็บโดยที่ไม่ได้ดำเนินการขออนุญาตอย่างครบถ้วนถูกต้องหรือโดยที่ผู้ถูกเก็บมีความเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่ากำลังทำอะไรมีผลกระทบอย่างไร ตลอดจนไม่เข้าใจในเรื่องผลกระทบและอื่นๆ
ปี 2013 จีนเก็บข้อมูลที่เรียกว่าข้อมูลอัตลักษณ์บุคคลหรือ Biomatric ของประชากรเกือบทั้งหมดที่มี 3 ล้านคนในเขตปกครองตนเองธิเบต โดยที่ทำภายใต้ชื่ออื่น ปีถัดมาก็ดำเนินการแบบเดียวกันในซินเจี๋ยง กับประชากรส่วนใหญ่ของจำนวนทั้งหมด 23 ล้านคนที่นั่นซึ่งซินเจี๋ยงนั้นส่วนใหญ่เป็นอุยกูร์ ข้อมูลที่เก็บมีทั้งภาพถ่ายที่มีรายละเอียดภาพสูง แผนผังองค์ประกอบเสียงหรือ voiceprint ลายนิ้วมือ ภาพสแกนดวงตา รายงานบอกว่า ถ้านำข้อมูลที่ได้นี้ไปบวกกับข้อมูลอื่นๆที่ตำรวจมีอยู่แล้วจากระบบจัดเก็บข้อมูลส่วนบุคคลเดิมรวมทั้งจากการเฝ้าจับตาดูพฤติกรรมแล้ว สรุปว่าข้อมูลใหม่ที่ได้ทำให้จีนควบคุมประชาชนส่วนนี้ได้แน่นหนามากยิ่งกว่าเดิม แต่นั่นก็ยังเป็นแค่จุดเริ่มต้น
รายงานบอกว่า ในปี 2017 จนท.ตร.ของจีนเริ่มโครงการเก็บข้อมูลดีเอ็นเอทั่วประเทศที่ใหญ่กว่าเดิม คราวนี้ไม่เก็บหมดทุกอย่างแบบในธิเบตและซินเจี๋ยง แต่เก็บแบบเลือกสรรซึ่งช่วยลดค่าใช้จ่ายแต่ได้ผลในเชิงข้อมูลไม่น้อยหน้ากัน รายงานอธิบายว่า พวกเขาเลือกเก็บเฉพาะดีเอ็นเอของประชากรเพศชาย และเก็บสิ่งที่เรียกว่าข้อมูล Y-STR
คำว่า STR ย่อมาจาก Short Tandem Repeat นั่นคือข้อมูลดีเอ็นเอที่มีลักษณะพิเศษของมันเองอยู่ในตัวโครโมโซมวาย (Y) ซึ่งเป็นของเพศชายและเป็นสิ่งที่ส่งต่อกันเฉพาะในหมู่ผู้สืบสายเลือดที่เป็นผู้ชาย
ตัวอย่างเหล่านี้เมื่อบวกกับข้อมูลอื่นๆ รายงานบอกว่าจะทำให้ตำรวจสามารถทำแผนผังของตระกูลต่างๆ สามารถเชื่อมโยงบุคคลเพศชายที่ไม่รู้ที่มาที่ไปเข้ากับตระกูลของเขาได้ หรือแม้แต่บุคคลคนใดคนหนึ่งในตระกูลนั้นๆก็ยังได้
รายงานระบุว่า ในบางพื้นที่มีการเก็บตัวอย่างจากเด็กๆวัยก่อนเข้าโรงเรียน และแม้แต่ในช่วงโควิดระบาดก็ยังคงมีการเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอกันอยู่ คนเขียนรายงานบอกว่าขนาดของโปรเจคนี้ใหญ่มาก คาดว่าตั้งแต่ 2017 จนท.จีนเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอของประชากรเพศชายได้ประมาณ 5-10% ของจำนวนทั้งหมด หรือคำนวณแบบหยาบๆคือ 35-70 ล้านคน และว่าประชาชนทั่วไปไม่มีอำนาจจะไปขัดขืนได้ รวมทั้งไม่สามารถจะมีส่วนร่วมกำหนดได้ด้วยว่า จนท.จะเอาดีเอ็นเอนั้นไปใช้อย่างไร เมื่อรวมทั้งของใหม่และของเก่า ประมาณการว่า ในปัจจุบันคลังข้อมูลของจีนน่าจะมีข้อมูลพันธุกรรมหรือ Genome จากดีเอ็นเอของบุคคลต่างๆมากกว่า 100 ล้านเคส อาจจะถึง 140 ล้านด้วยซ้ำ ถือเป็นคลังเก็บข้อมูลดีเอ็นเอที่ใหญ่ที่สุดของโลก และจนถึงขณะนี้ก็ยังขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ
รายงานระบุว่า การเก็บข้อมูลดีเอ็นเอแบบที่ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องของการสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมถือว่าขัดต่อหลักกฎหมายทั้งของสากลและของจีนเอง ทั้งยังละเมิดสิทธิของประชาชนเหล่านั้นด้วย
รายงานบอกด้วยว่า โครงการนี้จีนได้รับความร่วมมือจากบริษัทที่ทำงานด้านเทคโนโลยีทั้งของจีนและต่างประเทศซึ่งขายอุปกรณ์และเทคโนโลยีให้จีนเพื่อนำไปใช้ในการจัดเก็บดีเอ็นเอจากบุคคล และทำระบบจัดเก็บข้อมูลที่ได้มาตลอดจนระบบวิเคราะห์ข้อมูล Y-STR มีการยกตัวอย่างกิจการหลายราย รวมไปถึงกิจการของสหรัฐฯที่เป็นธุรกิจไบโอเมดดิคอล ถ้าธุรกิจเหล่านี้ร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์อะไรใหม่ๆก็จะต้องให้จนท.ตร.จีนได้รับรู้ด้วย รายงานบอกว่า การผลิตผลิตภัณฑ์ใดๆก็ตามที่มีส่วนทำ profile ดีเอ็นเอบุคคลให้กับฝ่ายความมั่นคงของจีนถือว่าไม่สอดคล้องกับข้ออ้างของกิจการเหล่านี้ที่ว่าเป้าหมายของพวกเขาคือยกระดับคุณภาพชีวิตผู้คนและชุมชนที่พวกเขาเป็นส่วนหนึ่งอยู่
สำหรับผู้ที่สนใจเรื่องของโครโมโซม โปรดอ่านเพิ่มเติมได้จากงานเขียนของน.พ.อภิชัย แผลงศร คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เรื่อง “การระบุบุคคล” ‘Identitification’ และสำหรับรายงานของ ASPI ดูได้จาก เวบไซท์ขององค์กร Australian Strategic Policy Institute https://www.aspi.org.au/