Written by 11:42 am Local History, Staff's Picks, Trending

ศิลาจารึกตรังกานู

ในพิพิธภัณฑ์รัฐตรังกานู บริเวณโถงทางเข้ามีวัตถุโบราณชิ้นสำคัญที่สุดของพิพิธภัณฑ์ฯจัดแสดงตรงโถงทางเข้าของอาคารหลัก นั่นก็คือ Batu Bersurat Terengganu หรือศิลาจารึกตรังกานู ซึ่งเป็นจารึกอักษรญาวีที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในคาบสมุทรมลายู เชื่อว่าจารึกเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ.1846 ศิลาจารึกหลักนี้เป็นหลักฐานสำคัญที่เป็นข้อพิสูจน์ว่าศาสนาอิสลามได้เข้ามายังดินแดนแห่งนี้ก่อนปีพ.ศ.1869 หรือ คศ.1929 หรือร่วม 700 ปีมาแล้ว ศิลาจารึกนี้มีลักษณะเป็นแท่งหินสี่เหลี่ยม แต่ส่วนบนของแท่งหินหักหายไปเสี้ยวหนึ่ง จารึกข้อความเป็นภาษามลายูอักษรญาวี โดยข้อความตอนท้ายระบุอายุ ฮศ. 702

ประวัติการค้นพบศิลาจารึกนี้เล่ากันว่าในปี 1887 ถูกค้นพบที่หมู่บ้านกำปงบูโล๊ะห์ริมตลิ่งแม่น้ำเตอร์ซัต ที่กัวลาเบอรัง (Sungai Tersat Kampung Buluh di Kuala Berang, Hulu Terengganu) หลังจากเกิดน้ำท่วม โดยชาวบ้านได้นำแผ่นหินที่ค้นพบริมตลิ่งแม่น้ำมาวางเป็นแท่นหินสำหรับล้างเท้าที่บันไดสุเหร่า ต่อมาในปี 1902 พ่อค้าชาวอาหรับชื่อ Sayid Husin bin Ghulam Al-Bokhari สังเกตุเห็นจารึกบนแผ่นหินว่าเป็นอักษรญาวี ไซยิดฮุสเซนจึงขออนุญาติผู้ใหญ่บ้านและชาวบ้านนำศิลาจารึกนี้บรรทุกแพเพื่อให้สุลต่านไซนาลอาบีดีนที่ 3 ทอดพระเนตร สุลต่านจึงให้นำศิลาจารึกนี้ไปเก็บรักษาที่ Bukit Putri ต่อมาในปี 1922 H.S. Peterson รองที่ปรึกษาข้าหลวงอังกฤษได้ให้ N.Suzuki ช่างภาพชาวญี่ปุ่นถ่ายรูปข้อความบนศิลาจารึกส่งให้ C.O. Blegden ทำการศึกษาอ่านข้อความบนจารึกนี้

ปี 1923 พิพิธภัณฑ์รัฟเฟิลสิงคโปร์(Muzium Raffles Singapura.)ได้ยืมศิลาจารึกนี้ไปจัดแสดง จนเมื่อพิพิธภัณฑ์แห่งชาติมาเลเซียสร้างเสร็จจึงได้ส่งมาเก็บรักษาที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติมาเลเซียที่กัวลาลัมเปอร์ และวันที่ 12 กุมภาพันธุ์ 1987 รัฐบาลรัฐตรังกานูได้ทำหนังสือถึงพิพิธภัณฑ์แห่งชาติมาเลเซียเพื่อขอคืนศิลาจารึกนี้ จนมาสู่การจัดแสดงที่พิพิธภัณธ์ตรังกานูได้ในปี 1991 และองค์กร UNESCO ขึ้นทะเบียนมรดกโลกเมื่อวันที่ 13 กรกฏาคม 2009

ความน่าสนใจของจารึกนี้อย่างหนึ่งก็คือการใช้คำ دىوٮ ملىا راى Dewata Mulia Raya (เทวดาผู้เป็นใหญ่สูงสุด) เรียกแทนชื่อ “อัลลอฮ์” ซึ่งเป็นพระเจ้าในศาสนาอิสลามในคำจารึกด้านหน้า เชื่อว่าในสมัยนั้นด้วยความที่ศาสนาอิสลามยังไม่แพร่หลาย จึงแทนด้วยคำว่า “เทวดาผู้เป็นใหญ่สูงสุด” เพื่อความเข้าใจของคนท้องถิ่น

(Visited 368 times, 1 visits today)
Close