นั่นคือน้ำเสียงของอามีเนาะห์ หะยีมะแซ หนึ่งในกลุ่มผู้ก่อตั้งร้านวานีตาที่เพิ่งจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชนเพื่อสังคมได้ราวหนึ่งปีที่ผ่านมา และเป็นหนึ่งในโมเดลการทำงานที่ผสมผสานกันระหว่างการสร้างศักยภาพของกลุ่มผู้หญิงในพื้นที่และการตอบโจทย์ทางธุรกิจ วันนี้ชื่อของวานีตากระทั่งสินค้าที่ทำมาจากสมาชิกของกลุ่มเริ่มติดตลาดติดปากของผู้คนจำนวนไม่น้อย
Patani Notes ได้มีโอกาสนั่งคุยกับอามีเนาะห์ หะยีมะแซ ในฐานะประธานของกลุ่มวานีตาที่ล่าสุดเพิ่งได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในสปีคเกอร์ของรายการ TEDx Chiangmai เพื่อแลกเปลี่ยนการทำงานของเขาให้พี่น้องชาวเหนือได้รับฟัง อามีเนาะห์ปลีกเวลามาเล่าบางส่วนบางตอนของการเปิดร้านวานีตา ผลิตภัณฑ์ล่าสุดที่พวกเขากำลังทุ่มเทปลุกปั้นคือกล้วยหินกรอบแก้ว และคือเป้าหมายต่อไปในการทำงานของตัวเขาและกลุ่ม
“ยังต้องทำอีกเยอะ แม้จะมีหน้าร้านขายของ แต่ยังต้องทำอีกเยอะ”
คือคำตอบที่เราได้รับในทันทีเมื่อถามอามีเนาะห์ถึงร้านวานีตาซึ่งตั้งอยู่ในเขตหมู่บ้านออมทองของเมืองปัตตานี ว่านี่คือโมเดลที่พอจะเห็นเค้าลางของความสำเร็จหรือยัง อามีเนาะห์เกริ่นว่ากว่าจะเป็นร้านแบบนี้มันไม่ง่าย มันเริ่มต้นจากการสนับสนุนของ Oxfam ที่ลงมาทำงานเพื่อเพิ่มศักยภาพให้กลุ่มผู้หญิง จนเราสามารถพัฒนาตัวเองขึ้นมาเปิดร้านได้
อามีเนาะห์ย้ำว่าตัวเขาและทีมนั้นยังมีงานที่ต้องทำอีกมาก เพราะมันไม่ได้เดิมพันแค่อาชีพการงานของเขา แต่มันหมายถึงกลุ่มแม่บ้านที่ร่วมทำงานอีกด้วย “เราคิดตลอดว่าเราจะทำยังไงให้อยู่รอดด้วยตัวเองเราต้องเดิมพันด้วยชีวิตเราเอง ด้วยชีวิตกลุ่มแม่บ้านที่เข้าร่วมโครงการ” อามีเนาะห์ขยายความว่า ถ้าทำให้มันสำเร็จได้ ตัวทีมของวานีตาเองก็จะสามารถยืนหยัดอยู่ได้และแม่บ้านที่ร่วมโครงการก็จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีรายได้ที่เขาต้องการ ถ้าร้านไม่รอดบรรดาแม่บ้านจะยังอยู่ได้ แต่โอกาสที่จะขยายผลพลอยได้ไปสู่คนอื่นๆในครอบครัวคงจะน้อยลงกว่าเดิม
“เพราะเราอยากเปลี่ยน เลยลาออกจากการเป็นพนักงานราชการซึ่งเป็นอาชีพที่ดูมั่นคง เราออกมาหาความท้าทาย”
อามีเนาะห์ย้อนความหลังให้ฟังว่าเขาเริ่มต้นจากการทำงานในวงการสหกรณ์มากว่าหกปี สิ่งที่อามีเนาะห์ตระหนักดีว่าหัวใจสำคัญในการมีอยู่ของสหกรณ์คือการอยู่รอดของสมาชิก แต่โมเดลสหกรณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่กลับคิดเพียงสนองความต้องการของตัวผู้บริหารสหกรณ์ คำถามสำคัญที่ผุดขึ้นมาในหัวของอามีเนาะห์คือถ้าลองสมมติตัวเองเป็นชาวบ้านซึ่งเป็นสมาชิกสหกรณ์ มันจะอยู่ได้ยังไง เมื่อบางสหกรณ์ตั้งเงื่อนไขการให้สินเชื่อรายย่อยเพื่อเอาไปลงทุนทำธุรกิจยากมากแม้จะมีเงินฝากอยู่ในสหกรณ์ก็ตาม “เราคิด คิดเยอะแยะมากมาย พยายามเปลี่ยนวิธีการทำงานของสหกรณ์ แต่เปลี่ยนไม่ได้” ขณะเดียวกันในวงการการทำงานในพื้นที่ อามีเนาะห์ก็มีโอกาสได้เห็นเงินโครงการที่มันหมุนเวียนในระบบเยอะมาก แต่ชาวบ้านได้อะไรจริงๆในท้ายที่สุด คือคำถามเฝ้าถามตัวเองตลอด จนเกิดความรู้สึกอยากจะเปลี่ยน อยากออกมาทำกลุ่มของตัวเอง เพื่อให้ชาวบ้านได้ประโยชน์อย่างแท้จริง เพราะอามีเนาะห์ตระหนักดีว่าถ้าอยู่ในสภาพแบบเดิมมันเปลี่ยนไม่ได้ เพราะนโยบายหรือตัวชี้วัดที่กำหนดจากหน่วยงานราชการมันตายตัว มันเปลี่ยนระบบไม่ได้ จนมันมีคำถามขึ้นมาในใจว่าโครงการต่างๆที่ลงมายังพื้นที่มันมีประโยชน์จริงๆเหรอ
จนวันหนึ่งอามีเนาะห์บอกว่ามีเพื่อนมาชวนทำงานในโครงการวานีตาที่กำลังก่อร่างเพื่อส่งเสริมอาชีพผู้หญิง พินิจดูแล้วน่าสนใจแต่ก็มีข้อจำกัดที่มีเวลาทำงานแค่สิบแปดเดือน ไม่มั่นคง อามีเนาะห์บอกว่าเพื่อนถามคำแรกเลยว่ารับได้ไหม ซึ่งอามีเนาะห์ตอบกลับทันทีว่ารับได้ เพราะกำลังอยู่ในช่วงอยากเปลี่ยนแปลง อยากท้าทายตัวเอง เลยลาออกจากการเป็นพนักงานราชการซึ่งเป็นอาชีพที่ดูมั่นคง เพื่อมาหาความท้าทาย อามีเนาะห์บอกว่า ตอนนั้นวานีตายังไม่ได้ตั้งร้านด้วยซ้ำ แค่ทำโครงการส่งเสริมอาชีพผู้หญิง แต่เมื่อได้ลงมือทำก็พบว่าปัญหาสำคัญของโครงการประเภทส่งเสริมอาชีพคือ ชาวบ้านอาจผลิตเป็น แต่ไม่มีทักษะการขายและการบริหาร จึงนำไปสู่ความพยายามที่จะเปิดร้านเป็นของตัวเอง เพื่อให้มันมีการขายเกิดขึ้นจริง ไม่ใช่ทำเพียงโครงการส่งเสริมอาชีพแล้วก็เดินจากไป ร้านวานีตาเริ่มด้นด้วยขายผลิตภัณฑ์คราฟต์ที่ทำจากกลุ่มแม่บ้าน ผลิตภัณฑ์ล่าสุดที่กำลังปลุกปั้นคือกล้วยหินกรอบแก้ว ที่ตั้งความหวังว่าจะต้องอยู่รอดให้ได้ด้วยตัวเองในเร็ววัน
“ขอรายได้สักเดือนละหนึ่งหมื่นก็พอ”
อามีเนาะห์เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการขายกล้วยหินกรอบแก้วว่า เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา กิจกรรมได้เริ่มจากการไปถามสมาชิกกลุ่มแม่บ้านที่รวมตัวกันในอำเภอยะหริ่งว่า อะไรคือความฝันของพวกเขา แทบจะทุกคนบอกว่าในเดือนๆหนึ่งขอให้มีรายได้สักเดือนละหนึ่งหมื่นบาทก็พอแล้ว เมื่อได้ยินเช่นนั้นอามีเนาะห์รู้สึกว่าโลกนี้ช่างไม่ยุติธรรม เพราะมองเห็นความรับผิดชอบที่บรรดาแม่บ้านแต่ละคนต้องดูแลและรายได้จากการทำอาชีพขายของตามตลาดนัดที่ได้อยู่เพียงเดือนละไม่กี่พัน แถมยังต้องเลี้ยงลูกอีกหลายคน มันเลยทำให้อามีเนาะห์สงสัยว่า ถ้าหารตัวรายได้กับลูกๆซึ่งแต่ละคนมีอยู่สี่ห้าคน พวกเขาจะเอาเงินจากไหนมาซื้ออาหารที่ดีมีโปรตีนดีให้ลูกๆเขากิน จากจุดนั้นมันเลยทำให้อามีเนาะห์คิดว่าจะทำยังไงให้บรรดาแม่บ้านได้บรรลุความฝันของพวกเขาเอง
“เราเริ่มที่กล้วยซึ่งชาวบ้านแถวนั้นเขาปลูกกันอยู่แล้ว ใครมีที่ดินว่างๆเราก็แนะนำให้เขาปลูกกล้วยเพิ่ม”
นั่นคือจุดเริ่มต้น จากนั้นจึงเป็นการรักษาระดับของรสชาติให้นิ่ง ที่ผ่านการทดลองครั้งแล้วครั้งเล่า พยายามออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้สวยงาม ผ่านการการลงทุนด้วยเงินไม่น้อย แต่โชคดีที่ได้รับการสนับสนุนจากบางโครงการ เลยช่วยแบกภาระตรงนี้ไว้ได้ ระหว่างที่ทำอามีเนาะห์บอกว่าต้องพยายามสื่อสารกับบรรดากลุ่มแม่บ้านอย่างสม่ำเสมอว่างานนี้ต้องทดลองไปด้วยกันและรักษาระดับของกำลังใจให้ได้ตลอดทาง “ความฝันนี้เราต้องเดินไปด้วยกัน ต้องเสี่ยงไปด้วยกัน ถ้าสำเร็จความฝันนั้นก็จะบรรลุ”
เมื่อทำแพ็คเกจเสร็จ ก็เริ่มด้วยการไปเสนอสินค้าให้โรงแรมต่างๆในโซนอันดามันให้ได้ดูชิม แม้จะยังขายไม่ได้ แต่ฟีดแบ็คจากทางโรงแรมทำให้เห็นปัญหา ไม่ว่าจะเป็นด้านแพ็คเกจจิ้ง คุณภาพสินค้า และเอามาปรับปรุง เมื่อได้ที่ก็เริ่มตีตลาดในสามจังหวัด อามีเนาะห์บอกว่าเริ่มต้นด้วยการเอาไปฝากขายตามร้นกาแฟ แม้จะขายได้เพียงห้าห่อก็ขาย ขายไปเรื่อยๆจนสามารถเอาไปฝากขายได้ถึงสามสิบร้านในจังหวัดปัตตานี จนวันหนึ่งมีร้านจากกรุงเทพฯติดต่อมาขอซื้อและซื้อทุกเดือน ทำให้เกิดความคิดว่าต้องขยายการขายไปนอกพื้นที่โดยเริ่มจากการไปออกบู๊ธงานแสดงสินค้าที่นครศรีธรรมราช และที่หาดใหญ่ อามีเนาะห์บอกว่าตอนไปออกบู๊ธนั้น แม้จะมีคนซื้อพอสมควร แต่เป็นการซื้อครั้งเดียวแล้วจบ อามีเนาะห์และทีมจึงตัดสินใจเดินออกไปตระเวนเสนอขายตามร้านกาแฟในนครศรีธรรมราช ให้เจ้าของร้านเขาได้ชิมและฝากพวกเขาขาย ปรากฎว่าบรรดาร้านกาแฟเขาก็ยอมทดลองเอาไปขายและขายได้
“เราวางเป้าไว้ที่ สองหมื่นห่อต่อเดือน แม้ว่าตอนนี้จะขายได้แค่หลักพัน แต่เราต้องทำให้ได้”
ความพยายามในการขายกล้วยหินกรอบแก้ว เป็นเรื่องที่ทีมวานีตาทำอย่างจริงจังมาก อามีเนาะห์เล่าว่า ในช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมาขณะเดินทางไปพูดในงาน Ted X ที่เชียงใหม่ ก็ได้ชักชวนทีมให้เดินทางไปด้วยกัน ภายในระยะเวลาสิบวันอามีเนาะห์บอกว่าตัวเขาและทีมได้ไปคุยกับร้านกาแฟราวหนึ่งร้อยยี่สิบร้าน และมีสามสิบร้านที่แสดงความสนใจที่จะซื้อกล้วยหินทอดไปตั้งในร้านกาแฟ เมื่อถามว่าตั้งเป้าว่าจะขายกล้วยทอดนี้ยังไง อามีเนาะห์บอกว่าเขาตั้งเป้าไว้ที่สองหมื่นห่อต่อเดือน แม้ว่าตอนนี้อามีเนาะห์จะบอกว่าตอนนี้ยังขายได้ในระดับหลักพันห่อต่อเดือน แต่อามีเนาะห์ยืนยันด้วยสายตาที่เปี่ยมไปด้วยความหวังว่า จะต้องเดินไปถึงจุดนั้นให้ได้ จุดที่ขายได้เดือนละสองหมื่นห่อ และจุดที่แม่บ้านที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มผลิตกล้วยหินทอดได้รายได้เพื่อเลี้ยงครอบครัวที่หนึ่งหมื่นบาทต่อเดือน
อามีเนาะห์บอกว่าในส่วนบรรดาสมาชิกของกลุ่มผู้หญิงที่มาพัฒนาผลิตภัณฑ์กล้วยด้วยกันนั้นมีอยู่ประมาณยี่สิบคน ทั้งผู้หญิงโสด ผู้หญิงที่มีครอบครัวแล้ว หรือบรรดาหญิงหม้าย ในตำบลปิยามุมัง อำเภอยะหริ่ง มีกลุ่มที่เป็นเกษตรกรอีกสักสองร้อยครัวเรือนที่ปลูกกล้วยและส่งกล้วยให้กับกลุ่ม อามีเนาะห์ยังบอกอีกว่าพวกเขาโชคดีที่กำนันตำบลนี้มีวิสัยทัศน์ที่ดี ผันงบประมาณที่รัฐช่วยสนับสนุนปลูกพืชเกษตรด้วยการซื้อหน่อกล้วยให้ชาวบ้านไปปลูก ตอนแรกก็โดนต้าน แต่กำนันยังคงยืนยันที่จะเดินหน้าต่อ พอถึงตอนนี้อามีเนาะห์ยิ้มและพูดว่า ชาวบ้านเอาดอกผลของกล้วยมาขายให้ โดยที่หนึ่งคันรถพ่วงข้างจะขายได้ประมาณ สองสามพันบาท ทำประโยชน์ให้กลุ่มเกษตรกรได้มากถึงหลักร้อยคน นอกจากนี้อามีเนาะห์ยังเสริมอีกว่าตอนนี้บรรดาสมาชิกยี่สิบคนของกลุ่มกล้วยหินทอดได้เริ่มจ้างงานคนมาช่วยงานเพิ่มโดยเฉพาะคนที่เคยทำงานในประเทศมาเลเซีย ซึ่งอามีเนาะห์บอกว่าเป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะลึกๆแล้วตัวเขาเชื่อว่าผู้คนในพื้นที่ต่อให้ไปทำงานที่ไกลๆก็อยากกลับบ้าน แต่หลายคนกลับบ้านไม่ได้เพราะค่าตอบแทนในบ้านนั้นน้อยเกินกว่าที่จะรับไหว
หมายเหตุ – ขอบคุณภาพประกอบจากทีม Wanita