Written by 6:56 pm Culture, Stories

ปอซอแน รายอแน

ถึงแม้ว่าจะถือศีลอดจนครบเดือนในเดือนรอมฎอนแล้ว แต่หลังจากวันตรุษอีดิลฟิตรีซึ่งเป็นการฉลองสิ้นสุดการถือศีลอด แต่ยังปรากฎว่ามีมุสลิมจำนวนหนึ่งในสามจังหวัดภาคใต้ที่ถือศีลอดต่อเนื่องไปอีก

ชาวบ้านร่วมมือกันทำความสะอาดกุโบร์

การถือศีลอดต่อเนื่องที่ว่านี้หากใครปฏิบัติ ก็ใช้เวลา 6 วัน เรียกการถือศีลอดในช่วงนี้ว่า “ปอซอแน ” เรื่องนี้มาจากการที่ศาสนาอิสลามส่งเสริมให้ถือศีลอดในเดือนซาวาล (ซึ่งเป็นเดือนถัดมาจากเดือนรอมฎอนตามปฏิทินอิสลาม) โดยมีคำกล่าวของศาสดามุฮำมัดว่า

“ผู้ใดที่ถือศีลอดในเดือนรอมฎอนแล้ว เขาได้ถือศีลอดต่ออีกหกวันในเดือนซาวาล นั่นเสมือนกับว่าเขาได้ถือศีลอดหนึ่งปี (รายงานฮาดีษโดยมุสลิม 1164)”

เนื่องด้วยฮาดิษนี้ได้กล่าวส่งเสริมการถือศีลอดเพิ่มอีกหกวันในเดือนซาวาล โดยที่ไม่ได้ระบุว่าส่งเสริมให้ถือศีลอดเพิ่มในวันไหนแน่ ทำให้มุสลิมส่วนหนึ่งถือศีลอดต่อเนื่องโดยทันทีหลังวันอิดิลฟิตรี  อีกส่วนหนึ่งเว้นห่างจากวันอีดิลฟิตรี และบางส่วนก็ถือศีลแยกวันอย่างไม่ต่อเนื่องแต่ว่าจนครบหกวันภายในเดือนซาวาล สำหรับมุสลิมในสามจังหวัดภาคใต้ส่วนใหญ่แล้วนิยมถือศีลอดต่อเนื่องหกวันทันทีในวันถัดไปของวันตรุษอีดิลฟิตรี

หลังจากสิ้นสุดการถือศีลอดหกวันหรือปอซอแนแล้ว มีประเพณีปฏิบัติที่ทำกันอย่างต่อเนื่องยาวนานในสังคมมลายูมุสลิมสามจังหวัดภาคใต้และพื้นที่ใกล้เคียงจนกลายเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของสังคมคือ รายอแน เป็นการนัดแนะกันทำกิจกรรมหรือ “ลงแขก” กันไปทำความสะอาดและพัฒนาพื้นที่กุโบร์ (สุสาน) ในชุมชน เพื่อถากถางวัชพืชที่รกรุงรังในบริเวณพื้นที่กุโบร์ จะมีการเตรียมอาหาร ขนมและเครื่องดื่มไปบริการให้กับคนที่มาร่วมลงแรงในการทำความสะอาดเรียบร้อยให้กุโบร์ และปิดท้ายด้วยการดุอาร์ (สวดวิงวอนหรือขอพรจากอัลลอฮ์) ให้กับผู้ที่ล่วงลับ

ในวันนี้กุโบร์(สุสาน) ต่างๆจะปรากฏภาพรถยนต์และมอเตอร์ไซค์ไปจอดเรียงรายเป็นแถวจำนวนมาก แต่ละกุโบร์จะเต็มไปด้วยผู้คน กลุ่มผู้ชายจะอยู่ในพื้นที่กุโบร์ ส่วนกลุ่มผู้หญิงจัดอาหารเตรียมพร้อมอยู่ที่ศาลาด้านข้างกุโบร์

วันนี้เป็นวันสำคัญของท้องถิ่นที่เรียกว่ารายอแน ไม่ใช่วันสำคัญทางศาสนาแต่มีนัยทางวัฒนธรรม คำว่ารายอแน เป็นการตั้งชื่อให้สอดคล้องกับ บริบท บรรยากาศ ที่อยู่ในช่วงหลังจากวันรายออิดิลฟีตรี

วันรายอแน ผู้คนจะไปเยี่ยมกุโบร์ ขอดุอาร์และทำความสะอาดกุโบร์ของบรรพบุรุษ ทานอาหารร่วมกันพร้อมทั้งไปเยี่ยมญาติ บางพื้นที่มีกิจกรรมแข่งขันกีฬาท้องถิ่น วันรายอแนเป็นวันทางวัฒนธรรมมลายูที่ปฎิบัติสืบต่อกันมานานแล้ว แม้ช่วงหลังจะเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการบิดเบือนทางศาสนาเพราะสมัยศาสดาไม่ได้มีการปฎิบัติเช่นนี้ และมุสลิมประเทศอื่นๆก็ไม่มี ทำให้เรื่องของรายอแนกลายเป็นประเด็นทางสังคม แต่ในเชิงวัฒนธรรม วันรายอแนถือเป็นภาพสะท้อนให้เห็นการให้คุณค่ากับการอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มของคนในวัฒนธรรมเดียวกัน มีกิจกรรมร่วมกัน ทั้งชายหญิงเด็กวัยรุ่นและคนแก่ต่างไปเยี่ยมกุโบร์ด้วยกันและกินอาหารร่วมกัน เมื่อทุกคนไปรวมทำกิจกรรมกันที่กุโบร์ กุโบร์จึงกลายเป็นพื้นที่ร่วมสำหรับการทำกิจกรรมทางสังคมในวันนั้น ความสำคัญของกิจกรรมระหว่างคนต่างวัยแต่ในครอบครัวดังเช่นที่ว่ามานี้ คือเป็นการช่วยระยะห่างของคนต่างวัยลงทำให้มีความใกล้ชิดกันมากขึ้น ทำให้พวกเขามีความรู้สึกว่าต่างมีบรรพบุรุษคนเดียวกัน และเป็นคนท้องถิ่นเดียวกัน สร้างสำนึกความเป็นหนึ่งเดียว ซึ่งหากจะว่าไปแล้่ว อาจจะถือว่าคล้ายกับวัฒนธรรมของคนภาคใต้แถบจังหวัดพัทลุง สงขลา ที่มีวันรวมเครือญาติหรือรวมลูกหลาน อาทิ วันรวมญาติลูกหลานตาชู วันรวมญาติลูกหลานยายเนียน เป็นต้น ซึ่งจะทำให้ผู้คนตระหนักว่าพวกเขามีบรรพบุรุษคนเดียวกัน ทำให้รักและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน”

หมายเหตุ
ฮาดิษ : คำพูดหรือคำสอนของศาสดามุฮัมมัด
รายงานฮาดีษโดยมุสลิม : การบันทึก การตรวจสอบและรายงานฮาดิษโดยปราชญ์ท่านหนึ่งชื่อ มุสลิม

(Visited 574 times, 1 visits today)
Close