Written by 3:56 pm Culture

เลอปัส…เลอค่าในความทรงจำ

ตู้เสื้อผ้าเก่าของโต๊ะเจ๊ะ

บันทึกความทรงจำของ ดลยารัตน์ บากา

ตู้เสื้อผ้าไม้เก่าสี่เหลี่ยมถูกจัดวางไว้ในมุมห้องนอนของโต๊ะเจ๊ะ (คุณยาย) ภายในตู้เต็มไปด้วยของรักของหวง ผืนผ้าหลากหลายรูปแบบ สีสันละลานตาถูกจัดวางทับซ้อนกันไปมาอย่างเป็นระเบียบ เรามักจะแวะเวียนไปบ้านโต๊ะเจ๊ะ และก็ไม่พลาดที่จะไปด้อมๆมองๆ ชื่นชมความสวยงามผ่านกระจกใสๆของตู้ใบนี้ จนบางครั้งก็ได้ผ้าติดไม้ติดมือกลับมา แต่ก็จะมีผ้ากองหนึ่งที่ไม่ว่าจะอย่างไร โต๊ะเจ๊ะก็มักจะพูดอยู่เสมอว่า ผ้านี้ยังคงต้องเก็บไว้ใช้ รอให้เขาไม่อยู่ก็ค่อยมาเอาไป นั่นก็คือ “ผ้าเลอปัส”

ผ้าเลอปัส ผ้าอเนกประสงค์หลากหลายสีสันลวดลายฉูดฉาดที่กลับมาเป็นกระแสนิยมกันอยู่ในขณะนี้ คนส่วนใหญ่มักจะคุ้นเคยกับการนำมาใช้โพกพันศีรษะ ผูกเอว คลุมฮิญาบ นอกจากจะใช้ห่อหุ้มทั้งร่างกายแล้ว ผ้าเลอปัสยังถูกนำไปใช้ห่อสิ่งของอีกด้วย นับตั้งแต่จำความได้ ก็เห็นถ้วย จาน ชาม ที่ล้นตู้เก็บของ ถูกนำมาจัดวางเรียงซ้อนกันเป็นชั้นๆห่อด้วยผ้าเลอปัส แล้วนำไปวางเรียงรายเป็นแถวๆ อย่างเป็นระเบียบอยู่ใต้ตั่งเตียงของโต๊ะเจ๊ะ 

สีสันของผ้าเลอปัสปรากฎเด่นชัดขึ้นยามเมื่อไปเดินตลาด สมัยก่อนตอนเด็กๆ เวลาไปเดินตลาด ก็จะเห็นเหล่าบรรดาพ่อค้าแม่ค้าโพกหัว พันผ้าทบไปทบมา จับมิกซ์แอนด์แม็ตช์ เป็นทั้งผ้าโพกหัว ผ้าถุง เสื้อบานง ก็ต้องเข้าชุดกัน ประหนึ่งว่ากำลังเดินประชันกันอยู่บนแคทวอล์ก ถือเป็นสีสันของตลาดในยุคนั้นเลยทีเดียว 

ผ้าเลอปัสไม่เพียงแต่สะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมการแต่งกายของคนมลายูที่ใช้กันได้ทุกเพศทุกวัยเท่านั้น หากแต่ยังได้แทรกซึมไปในวิถีมลายูทุกช่วงจังหวะของชีวิต 

คอลเล็คชั่นผ้าเลอปัสของโต๊ะเจ๊ะ

ยามแรกเกิด ก็ใช้ผ้าเลอปัสรองเบาะนอน ห่อห่มตัวเด็กน้อยให้สบายกาย เติบโตขึ้นมาเมื่อถึงเวลาเข้าสู่พิธีสุนัต ผู้ใหญ่ก็มักจะเตรียมผ้าเลอปัสไว้ให้หนุ่มน้อยได้นุ่งหลังจากเข้าพิธี ครั้นเมื่อยามเจ็บป่วยก็นำมาใช้ปูรองหมอนนอน แม้กระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิต ยามหมดลมหายใจก็ยังใช้ผ้าเลอปัสในการปกปิดคลุมเรือนร่างของมัยยิต(ศพ)ในช่วงของพิธีอาบน้ำศพ  ผู้เฒ่าผู้แก่บางคนถึงกับสั่งเสียลูกหลานไว้เลยว่า ได้เตรียมผ้าเลอปัสผืนไหนที่จะเอาไว้ใช้สำหรับอาบน้ำศพให้ตัวเองอีกด้วย

“เอาผืนอื่นไปดีกว่าไหม ผืนนั้นมันมีรอยขาด” 

เสียงของหญิงสาววัยกลางคน ที่ยังคงถามย้ำซ้ำอีกครั้ง

ผ้าเลอปัสบางผืน ที่แม้จะมีร่องรอยขาดวิ่น ตามสภาพการณ์ที่ถูกใช้งาน แต่สีสันและลวดลายยังคงชัดเจนอยู่บนผืนผ้า ไม่เลือนหายไปตามกาลเวลา เฉกเช่นเดียวกับเจ้าของผืนผ้า แม้เรือนร่างจะสลายไปตามกาลเวลา แต่หัวใจที่แข็งแกร่งยังคงเป็นเช่นนั้นตลอดไป 

เลอปัสผืนหนึ่งจึงมีค่ามากกว่าราคาที่ตั้งไว้ แต่มันคือความทรงจำในผืนผ้าที่ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น…

การใช้ผ้าเลอปัสของผู้คนในอำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส มากกว่าสามสิบปีที่แล้ว (คลังภาพ Patani Notes)
(Visited 527 times, 1 visits today)
Close