ณัฐพงศ์ นิธิอุทัยแห่งกลุ่ม Trash Hero ปัตตานีไปร่วมกิจกรรมพายเรือเก็บขยะในแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นเวลาสิบวัน เป็นการพายเรือลักษณะเล็กและแคบที่เรียกกันว่าเรือคายัค ซึ่งพายได้คนละลำ เริ่มออกเดินทางจากปากน้ำโพ นครสวรรค์และเรื่อยมาตามลำน้ำเจ้าพระยาจนไปถึงสมุทรปราการ ในระหว่างสิบวันนั้น ณัฐพงศ์โพสต์เฟซบุ๊คทุกวัน หลายวันมีไลฟ์ให้ดูสภาพของเจ้าพระยากับปัญหาขยะในแม่น้ำด้วย
บันทึกนี้ Patani NOTES เรียบเรียงมาจากบางส่วนของโพสต์ระหว่างพายของ ณัฐพงศ์ หรืออจ.อาร์ม และนำมาเผยแพร่ต่อด้วยความยินยอมของเจ้าตัว ขอขอบคุณอจ.อาร์มมา ณ ที่นี้ด้วย
พวกเขาเริ่มกันในวันที่ 1 ต.ค.2562 ที่ผ่านมา ก่อนเริ่มงานมีการเสวนาปัญหาขยะในแม่น้ำ จากนั้นก็ลงเรือพายกันมาจากนครสวรรค์ วันแรกกำหนดระยะทาง 31 กิโลเมตร และแต่ละวันจะมีการกำหนดระยะทางและเป้าหมายชัดเจน บางแห่งมีผู้คนไปต้อนรับพร้อมอาหารและบางทีก็มีงานเสวนาพูดคุยปัญหาการจัดการขยะประกบแถมเข้าไปด้วย แน่นอนว่าที่พักที่พวกเขาแวะนอนกันส่วนใหญ่ก็คือวัดที่อยู่ตามริมน้ำนั่นเอง ในการต้อนรับหลายจุด ผู้พายเรือก็พบว่า ตัวเองได้กินอาหารและน้ำผ่านภาชนะบรรจุที่พวกเขาพยายามรณรงค์ให้ลดและเลิกใช้เนื่องจากมันกลายเป็นขยะลอยอยู่ในแม่น้ำ เช่นน้ำขวดพลาสติกเป็นต้น ก็นับว่าสร้างความอิหลักอิเหลื่อให้เป็นเรื่องแรกๆ
ไลฟ์ทางเฟซบุ๊กของอจ.อาร์มเปิดโอกาสให้เราได้เห็นสายสัมพันธ์ระหว่างคนกับน้ำ ช่วงแรกๆ ดูเหมือนจะไม่ค่อยได้เห็นเรือของชาวบ้านหรือแม้แต่บ้านเรือนผู้คนมากนัก แม่น้ำไม่สกปรกเท่าไหร่ แถมบางช่วงตอนมีความสวยงามน่าชมอย่างยิ่งโดยเฉพาะบรรยากาศยามเช้าตรู่ ในช่วงอุทัยธานีเป็นต้นมา ผู้พายอธิบายว่าสภาพสองฝั่งเป็นที่ตั้งของเมืองใหญ่ บางส่วนมีการสร้างเขื่อนกั้นน้ำท่วมสูงลิ่ว
ขยะที่ผู้คนทิ้งลงแม่น้ำ หรือทิ้งลงคลองแล้วไหลไปลงแม่น้ำเจ้าพระยานั้นมีหลายประเภทเรียกความแปลกใจจากผู้พบเห็น นอกจากขยะพลาสติกต่างๆ อจ.อาร์มโพสต์ว่าเขาพบผ้าอ้อมผู้ใหญ่จำนวนมาก ผู้ไปร่วมพายเรือคนหนึ่งโพสต์ไว้ว่า ที่ไหนมีกอผักตบชวา ที่นั่นจะมีขยะไปติดอยู่มากมายไปหมด มีทุกอย่าง แม้แต่ชิ้นส่วนไมโครเวฟ
ในระหว่างทางมีการแวะเสวนาเรื่องปัญหาขยะและการจัดการขยะเป็นระยะๆ เขาสะท้อนความเห็นไว้ในเรื่องนี้ว่า สิ่งสำคัญอันหนึ่งที่ดูจะยังไม่ทะลุคือ ทุกคนดูเหมือนคิดว่าเป็นเรื่องที่คนอื่นต้องทำ
“ผมเคยเสวนา ประชุม ร่วมกับหลายๆ ฝ่ายเรื่องราวเกี่ยวกับขยะ และในแต่ละภาคส่วนจะมีมุมมองที่ว่า กระบวนวิธีของตนนั้น และเท่านั้น ที่จะประสบผลสำเร็จ มีนัยยะ และสร้างความเปลี่ยนแปลง หลายเวที วนเวียนพูดกันถึงกระบวนวิธี มีน้อยมากที่จะมีการปฏิบัติกันอย่างจริงจัง หรือแม้แต่มีความคิด หรือ ไทม์ไลน์ที่จะปฏิบัติ แต่นั่นไม่สำคัญเท่าไร ความไม่เห็นด้วยกับกระบวนวิธีอื่นต่างหาก ที่บางครั้งเป็นอุปสรรคเป็นอย่างมากที่จะร่วมมือกันเพื่อต่อสู้กับปัญหา ในระหว่างที่รอกระบวนวิธีของตนเองจะเริ่มทำงาน ประชุมกับ NGO ก็มองเห็นแต่แคมเปญ งานประท้วง กาายื่นหนังสือการกดดัน อีเว้นท์ ทำใหญ่ๆ แต่นานๆ ทำที
เสวนากับบริษัทขนาดใหญ่ ก็มองว่าทั้งหมดก็ขึ้นกับพวกเขา พวกเขาก็ขึ้นกับกรรมการ (รัฐ) และผู้ชม (ลูกค้า) สรุปไม่ต้องทำอะไร รอกรรมการกับผู้ชมตกลงกันเอง
คุยกับประชาชน คนมันเยอะก็ชี้กันไปมา คนเมืองชี้ไปบ้านนอก ปลายน้ำชี้ไปต้นน้ำ ต้นน้ำชี้ไปเชิงเขา ชี้ไปคนเรียนน้อย ชี้ไปคนนั่งยอดดอย นายทุน นักการเมือง สรุปทำอะไรไม่ได้
พอฟังนักการเมือง ก็ต้องมีคณะกรรมการ ต้องทำหนึ่ง ทำสอง ทำสาม ต้องมีสอนในโรงเรียน ต้องมีระบบควบคุม ต้องมีการจัดเก็บให้ถูกต้อง แต่ก็รู้กัน นั่งคุยให้จบก็ยากแล้ว
มองมาทุกเวที สรุปได้ว่าทุกคนต้องทำ ทำเลยในส่วนของตน เราทำของเราไม่ได้ทำของคนอื่นก่อน ทำด้วยกัน ทำร่วมกัน นักการเมืองต้องไปร่วมประท้วง บริษัทต้องตัดสินใจเปลี่ยนแปลงด้วยตัวเอง ประชาชนต้องกดดันนักการเมือง ต้องเปลี่ยนที่ตัวเอง เรียกร้องบริษัท ทั้งการเมืองทั้งบริษัทก็มองเสียงส่วนใหญ่ มองกระแส
เสวนาไป ฟังดี ไม่มีอะไรเกิดขึ้น เสียพลัง” เขาว่า
ในการเสวนาอีกหน เขาถึงกับโพสต์ว่าทนฟังไม่ไหวและต้อง “เดินหนี”
“งานเสวนากับผู้ประกอบการ หลากผู้ประกอบการที่น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับศักยภาพการดูแลลำน้ำของเรา คำตอบแรกของผู้ประกอบการ ต้องมีบรรจุภัณฑ์
“เราขายสินค้าที่มีบรรจุภัณฑ์ เหมือนทุกๆ สินค้าที่มีบรรจุภัณฑ์ ไม่ใช่เราคนเดียว เราทำงาน CSR มานานแล้ว รณรงค์แยกขยะ พายเรือเก็บขยะที่อัมพวา เมื่อปีมะโว้ เราไม่ใช่ต้นเหตุไม่ใช่คนทิ้ง แต่คนทิ้งคือผู้บริโภค เราเรียกกลุ่มนี้ว่า “บวร” บ้าน วัด โรงเรียน ต้องไปบอกให้พวกนี้ไม่ทิ้ง ให้จัดการให้ดีๆ ………………..”
ขอตัวเดินหนี ผมบอกแล้วในวันที่สมัครมาพาย narrative ที่เราพกพามาในการพายเรือเก็บขยะครั้งนี้ ล้าหลังวงการสิ่งแวดล้อมโลกไปเกือบ 10 ปี แบบนี้เตะหมูเข้าปากหมา Define the polluters ยังไม่ได้เลย
เศร้า!!!!! เดินหนี ฟังต่อไม่ได้”
แต่ถึงจะพูดเช่นนั้นแต่อจ.อาร์มก็เตรียมจะไปร่วมวงเสวนาต่อไป วันที่ 26 ต.ค.นี้ก็มีโพสต์ว่าจะจะไปร่วมอีกวงที่ชุมพร
ที่ชัยนาทพวกเขาเข้าสู่ช่วงประตูปรับระดับน้ำซึ่งดูน่าตื่นเต้น วันที่สี่เข้าสู่สิงห์บุรี บางวันพวกเขาก็กินข้าวเช้ากันในเรือ ที่วัดไทร ใต้เขื่อนที่ชัยนาทเริ่มปรากฎหาดทรายริมแม่น้ำให้เห็น และมีชาวบ้านพายเรือหาปลา ยามค่ำคืนนักพายเรือเก็บขยะแวะนอนกันตามวัด “สนุกดี นอนวัด วันนี้วันที่ 4 กล้ามเนื้อเริ่มแสดงอาการปวดเมื่อย” สเตตัสของนักพายเรือบอกเล่า ช่วงสิงห์บุรีและชัยนาทมีการต้อนรับกันด้วยรำวงกลองยาว มีการแวะกราบพระจุดที่เขาเรียกว่า unseen คือไม่ค่อยมีใครได้เห็นมากนัก
วันที่ 5 พวกเขาพายที่อ่างทองอีก 42 กิโลเมตร มาถึงปากแม่น้ำลพบุรีที่ไปบรรจบกับแม่น้ำเจ้าพระยา มีภาพปัญหาปากแม่น้ำลพบุรีที่กำลังตื้นเขินและใกล้จะปิดตัวเองลงเพราะน้ำไม่ไหล เขาบอกว่าเป็นอาการที่ “แม่น้ำลพบุรีกำลังจะตายลง” ประเด็นคือ การควบคุมน้ำที่เขื่อนชัยนาทอาจมีผลต่อปริมาณน้ำในสาขาของแม่น้ำใหญ่ และเกิดตะกอนสะสม ซึ่งเป็นปัญหาคล้ายกับปัญหาในแม่น้ำปัตตานี แต่ที่แม่น้ำปัตตานีมีการขุดคลองสองสามตำแหน่งเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมบางพื้นที่ และมีการลอกปากแม่น้ำทุกปี เนื่องจากที่ปัตตานีมีอุตสาหกรรมประมงขนาดใหญ่จึงทำให้ต้องมีการดำเนินการในเรื่องเหล่านี้ แต่แม่น้ำลพบุรีไม่มี “คุณค่าทางเศรษฐกิจ” เช่นนั้น ทำให้แม่น้ำนี้กำลังตื้นเขินขึ้นเรื่อยๆอย่างน่าห่วง
หลังสิงห์บุรี พวกเขาพบว่าเขื่อนรอบริมแม่น้ำสูงมาก เพราะเหตุที่น้ำท่วมหนักก่อนหน้านี้ทำให้มีการสร้างเขื่อนสูงยิ่งกว่าหลังคาบ้าน จนอจ.อาร์มบอกว่า “ดูๆเหมือนพายอยู่ในคุก” และหากอยู่ในเมืองเชื่อว่าจะมองไม่เห็นแม่น้ำแน่นอน ภาพสายสัมพันธ์ระหว่างคนกับแม่น้ำหายไปในช่วงนี้ “ก็เข้าใจว่าเวลาสร้างกำแพงสูงๆเพื่อป้องกัน แต่เรามีโอกาสออกแบบกำแพงอย่างไรไหม เชื่อมโยงมนุษย์ ผู้ใช้งาน โปรโมทอินเตอร์แอคชั่น (การปฏิสัมพันธ์) คนกับแม่น้ำ เพราะแม่น้ำเป็นทรัพยากรสำคัญ” สเตตัสว่า
หลังอ่างทองกลุ่มนักพายเรือเริ่มเข้าสู่เขตอุตสาหกรรม ปกติแม่น้ำมักมีขยะตามขอบหรือชายฝั่ง แต่ที่นั่นพวกเขาเริ่มเก็บขยะได้จากบริเวณกลางแม่น้ำเพราะมีขยะลอยมาอย่างสม่ำเสมอ
หลังจากที่ผ่านวัดป่าโมก สภาพริมน้ำเริ่มเปลี่ยนมีบ้านเรือนอยู่อาศัยมาแทนที่เขื่อนกั้นน้ำขนาดใหญ่ที่หายไป บ้านริมน้ำมีหน้าตาเป็นบ้านทรงไทย มีต้นไม้ขนาดใหญ่ประกอบด้วยเสมอ การใช้แม่น้ำของประชาชนมีให้เห็นชัดเจน พวกเขาเห็นร้านอาหาร เห็นการใช้พื้นที่ริมน้ำเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ มีโรงแรมและมีวัด มีอาคารคล้ายสำนักงานราชการและมีท่าเรือต่างๆ แต่ก็มีปัญหาขยะเข้ามาเช่นกัน บางส่วนที่เป็นบ้านหรือร้านก็จะเห็นมีการเผาขยะและทิ้งขยะลงแม่น้ำด้วย
ช่วงเข้าสู่อยุธยาพวกเขาเก็บขยะได้เป็นจำนวนมาก โพสต์ของอจ.อาร์มบอกว่าได้ถึง 250 ก.ก.
วันที่หกของการพาย อจ.อาร์มเปิดเผยว่าผื่นที่เขาเริ่มเป็นหลังจากลงพายเรือ ไม่ชัดว่านี่คือเพราะคุณภาพของน้ำหรือไม่อย่างไร แต่มันก็ได้พัฒนาจนกลายเป็นการติดเชื้อที่อักเสบและบวมจนต้องกินยาฆ่าเชื้อ และมันได้กลับกลายเป็นอาการ “ก้นบวม” ในเวลาต่อมาซึ่งเป็นปัญหากับการพายเรือที่ต้องนั่งพายตลอดทางและต้องใช้แรง ก่อนงานพิธีปล่อยตัวอย่างเป็นทางการในวันที่ 6 ต.ค. ในวันที่ 7 คือวันถัดมาเป็นวันที่เขาเก็บ “ส้วม” ได้ รวมไปถึงของบางอย่างที่ “ห่อกระดาษอย่างดีลอยอยู่ด้วย”
อาการบวมที่ก้นกลายตัวไปเป็นฝีหัวช้าง ต้องพยายามประคบประหงมตลอดเวลา ความเป็นอจ.อาร์มทำให้เขาประเมินความเสี่ยงของตัวเองผ่านการหารือเพื่อนที่เป็นหมอที่เขาเชื่อว่าเข้าใจเขาและไม่ตื่นตระหนกจนสั่งให้หยุดพายเรือ แต่ก็หมายความว่าต้องพายด้วยความทรมาน
“ถามว่ากระทบอะไร เรื่องจากฝีมีมาก ยาจึงทำงานช้า หลายวันที่พายจึงทรมานมาก เหมือนนั่งทับสิวหัวช้างอักเสบหนัก 25 เม็ด เพราะต้องขย่มพายไปทั้งวัน หลายๆ วัน นอนเปล หลบสิวไม่ได้ เปียกซ้ำซ้อน กดทับ หายช้าลง แต่ผมเองวิเคราะห์ดูว่าต่อมน้ำเหลืองยังไม่บวม ไม่มีอาการไข้ ร่างกายและยาฆ่าเชื้อที่ใช้ยังควบคุมได้ จึงไปต่อไปได้”
สรุปว่าอจ.อาร์มก็พายไปจนถึงเป้าหมายจนได้แม้จะนั่งทับฝีหัวช้าง 25 เม็ดอยู่หลายวัน ฉากสุดท้ายของแม่น้ำเจ้าพระยาเขาบอกว่าเป็นการปิดที่สวยงาม
“เป็นการปิดฉากการพายที่สวยงามมาก เมื่ออาทิตย์อัสดง ภาพความสวยงามของเจ้าพระยาก็บังเกิด ราวกับเพื่อที่จะบอกเราว่า เมื่อแม่น้ำไร้ขยะหน้าตาจะมีศักยภาพเช่นไร
กว่า 370 กม. ที่ผ่านมาด้วยหยาดเหงื่อ คงเหลือไว้มากกว่าความทรงจำกับผิวคล้ำๆ ก็ฝี 25 เม็ดที่ก้นนี่แหละ ที่จะทำให้โครงการนี้อยู่ในใจตลอดไป พร้อมกับบอกเราว่ามีงานอีกมากที่ต้องทำต่อไป”
เขาจบลงด้วยการโพสต์ข้อคิดไว้ให้ผู้ที่เข้าไปอ่านช่วยคิดต่อ
10 ของฝากที่มีไว้ใคร่ครวญ
- พื้นน้ำเป็นที่ว่างอันกว้างใหญ่ไซส์ 2 ใน 3 ของโลกเรา ทวีปเปรียบเสมือนเกาะที่ลอยเท้งเต้งใน water world
- น้ำที่ใช้อาบ ดื่ม กิน มีสัดส่วนเพียง 4% และใน 4% นั้น เราใช้มันอย่างทิ้งขว้าง สิ้นเปลือง ทิ้งทุกสิ่งอย่าง ลงในแหล่งน้ำทั้งบนฟ้า บนดิน และใต้ดิน
- ความหนาแน่นของถุงพลาสติก ใต้ผืนน้ำมันมหาศาล พลาสติกที่กึ่งจมกึ่งลอย ผลุบโผล่ใต้ผืนน้ำราวกับว่าไม่มีอยู่จริง
- ขวดพลาสติก รองเท้า หลังยาง โฟม ถุงพลาสติก ขวกแก้วที่ปิดฝา เป็นขยะที่เหลือรอดจากการเดินทางบนสายน้ำมาสู่ปลายทางปากแม่น้ำ บริเวณที่มีการสะสมสูงที่สุด
- กรมควบคุมมลพิษบอกว่าการควบคุมมาตรฐานโรงงานปล่อยน้ำเสียทำได้ยากเพราะระบบบำบัด และการปล่อยน้ำเสียสามารถเปิดปิดได้ การตรวจตราเหมือนการวิ่งไล่จับหนู ราวกับว่าราชการไม่สามารถแอบตรวจได้
- ชาวบ้านริมน้ำ ใช้น้ำและรักน้ำ การทิ้งขยะลงแม่น้ำจะสกปรกเขาไม่ทิ้ง แต่สายน้ำที่พาไปทำให้ไม่สกปรกจึงทิ้งไว้ ขยะที่เห็นไม่ใช่ของเขาเป็นของคนต้นน้ำที่ทิ้งมา
- ขยะบรรจุภัณฑ์เป็นความสับเพร่าของผู้บริโภค ผู้ผลิต ทำ CSR ปีละครั้ง ก็รอดตัว
- ทุกคนมีวิธีที่ดีกว่า อำนาจที่มากกว่า เสียแต่ว่าไม่มีใครทำอะไร
- สื่อช่วยให้หลายคน aware (ตระหนัก) คนชื่นชม แต่คนที่ไม่ได้มามีส่วนร่วม ยากที่จะเปลี่ยนแปลง awareness doesn’t lead directly to change” (คนตื่นตัวตระหนักรู้แต่อาจไม่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเสมอไป)
- Core message ยังอ่อนและบางเบา “อย่าทิ้งขยะลงแม่น้ำ” แต่การป้องกันการสร้างขยะ หรือแม้แต่พฤติกรรมของผู้เข้าร่วมเอง สปอนเซอร์ และส่วนต้อนรับ ยังห่างไกลจากคำว่า Zero Waste Event เราสร้างขยะพลาสติกมหาศาลจากน้ำขวด เครื่องดื่ม พลาสติกที่ฝ่ายจัดงานเตรียมไว้ให้ ป้องกันได้แค่ข้าวกล่อง เราสร้างคาร์บอนฟุตปรินท์มหาศาลจากการขนเรือจำนวนมาก ทีมสื่อจำนวนมากที่ติดตามไปทุกที่